ใครที่เคยเดินทางไปยังกรุงโฮจิมินท์ซิตี้ (ไซ่ง่อน) เมืองหลวงทางเศรษฐกิจของเวียดนามใต้ (ส่วนเมืองหลวงทางการเมืองการปกครอง อยู่ที่ฮานอย ของเวียดนามเหนือ) จะพบกับบ้านเมืองหนาแน่นที่กำลังแผ่ขยายออกไปตามความเจริญ ในขณะที่ความทันสมัยกำลังคืบคลานเข้ามาสู่เมืองที่เคยเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสเมืองนี้ ความเก่าแก่ก็ยังคงอยู่ และทำหน้าที่เป็นเสน่ห์และอัตลักษณ์ของเมืองเอาไว้อย่างน่ารัก
บ้านเรือนของคนเมืองไซ่ง่อน รวมถึงเมืองใหญ่เมืองอื่นๆ ของเวียดนามนี้มักมีลักษณะโดดเด่นอยู่อย่างหนึ่งคือบ้านทรงสูงที่มักมีจำนวนชั้นตั้งแต่ 3-10 ชั้น หรือที่เรียกกันว่า Rocket House
ต้องเท้าความก่อนว่า บ้านแบบดั้งเดิมของชาวเวียดนามเรียกกันว่า Tube House คือบ้านที่หน้าบ้านมีขนาดแค่หนึ่งคูหา แต่ตัวบ้านจะลึกเข้าไปในที่ดินและดูกว้างขวางกว่าที่คิด หน้าบ้าน Tube House ส่วนใหญ่มักเป็นส่วนสำหรับค้าขาย ลึกลงมาคือส่วนรับแขก courtyard ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องครัวที่ท้ายสุดของตัวบ้าน และบ้านแบบ Tube House ส่วนใหญ่มักมีแค่ชั้นเดียว เพราะความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนว่า บ้านไม่ควรมีความสูงกว่าวังของกษัตริย์
ส่วนมาในยุคสมัยใหม่ จากเดิม Tube House ที่พื้นที่ขยับขยายในแนวนอน ก็เริ่มเกิดเป็น Rocket House ที่พื้นที่อยู่อาศัยเริ่มขยับขยายในแนวตั้ง และเนื่องด้วยรัฐบาลเวียดนามมีการจัดเก็บภาษีหน้าบ้าน บ้านไหนมีพื้นที่หน้าบ้านติดถนนมากก็ต้องจ่ายภาษีมาก คนเลยหันมาทำบ้านสูงๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดแทน
เอกลักษณ์บ้านแบบ Rocket House ได้ถูกนำมาใช้ใน Saigon House ที่ออกแบบโดยทีมสถาปนิกจาก a21studio แห่งเมืองไซ่ง่อน โดยทำการปรับปรุงการตกแต่งภายใน ภายใต้โครงสร้าง Rocket House เดิม โดยดึงเอาเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการตกแต่งได้อย่างน่ารัก แถมยังตอบโจทย์ทุกฟังก์ชั่น
บ้านเวียดนามแบบดั้งเดิมนั้น อย่างที่บอกว่ามักมี courtyard อยู่กลางบ้าน นอกจากประโยชน์เรื่องแสงที่ส่องถึงไปทั่วทุกบริเวณบ้านแล้ว ยังช่วยในการถ่ายเทอากาศให้หมุนเวียนไปในทุกส่วน นับเป็นภูมิปัญญาที่มีเสน่ห์มากๆ ของสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของที่นี่ พื้นที่ใช้สอยที่ทางทีมสถาปนิกออกแบบนั้นยึดคอนเซ็ปต์ของคำว่า ‘ครอบครัว’ เป็นหลัก และเล่นสนุกกับวัสดุต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้สนุกกับการปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่
นี่จึงเป็นบ้านที่แม้ว่าจะดูออกแบบมากในทุกพื้นที่และสัดส่วน แต่เพราะการเลือกที่จะใส่ใจกับคน ในฐานะของผู้อยู่อาศัย และผู้ส่งผ่านสืบทอดวัฒนธรรม บ้านที่ดูสมัยใหม่หลังนี้ ก็อาจจะกำลังอนุรักษ์วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไซ่ง่อนเอาไว้อย่างแนบเนียน
—
RECOMMENDED CONTENT
เป็นครั้งแรกที่บริษัทผู้สร้างตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Monotype ได้ทำการออกแบบตกแต่งตัวชุดอักษรที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกอย่าง Helvetica หลังจากที่พยายามปลุกปล้ำกันอยู่นานกว่าสองปีเพื่อที่จะปรับปรุงชุดตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบ swizz font