จบช่วงวันหยุดยาวทั้งที หลายๆ คนที่เพิ่งกลับมาทำงานก็ต้องใช้ความพยายามในการปรับตัวกลับสู่โหมดการใช้ชีวิตแบบปกติ แทบทุกคนยังคงค้างเติ่งอยู่กับความสุขจากการได้ไปเที่ยว ไปทำกิจกรรมฟรีสไตล์ ได้ไปนอนสบายๆ อ่านหนังสือ ฟังเสียงธรรมชาติ ต่างๆ เหล่านี้ชอบทำให้หวนกลับมานึกถึงเสมอเมื่อต้องประสบพบเจอกับชีวิตในเมืองหลวง และก็พลันทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยดี จนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า อยากไปเที่ยวอีกรอบใจจะขาดแล้ว
วันนี้ Dooddot มีเคล็ดลับในการทำจิตทำใจ และปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้ความรู้สึกแย่ๆ ทำลายชีวิตและการทำงาน อีกทั้งยังสามารถเตรียมความพร้อมในการไปเริ่มต้นทริปถัดไปในอีกสองสามเดือนข้างหน้าได้อีกด้วย ไปดูกัน…
—————
1. กลับสู่การใช้ชีวิตปกติที่บ้านอย่างรวดเร็ว
เมื่อเดินทางในช่วงวันหยุดยาวเสร็จสิ้นแล้ว รีบนำข้าวของออกจากกระเป๋าทันทีที่กลับถึงบ้าน ปรับนาฬิกาข้อมือให้กลับมาอยู่ในเขตเวลาเดิม รวมถึงอาจจะแวะซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของกินของใช้มาเตรียมพร้อมใช้ชีวิตปกติได้อย่างสะดวกสบาย ยิ่งท่านรู้สึกถึงความสบายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในช่วงที่เรากลับถึงบ้านมากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้การกลับสู่โหมดการใช้ชีวิตปกติเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นเท่านั้น
2. ค่อยๆ กลับสู่โหมดการทำงาน
หลีกเลี่ยงการทำงานเป็นบ้าเป็นหลังทันทีหลังจากที่ท่านกลับมาถึง แต่ให้ทำแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป โดยทำรายการสิ่งที่ต้องทำซึ่งสมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้ขึ้นมาสำหรับใช้ในช่วงวันแรกๆ จนกระทั่งเราสามารถสะสางงานต่างๆ ได้ทันตามกำหนด นอกจากนี้ การกลับมาทำงานในวันพฤหัสบดีหรือวันศุกร์ก็ฟังดูน่าสนใจไม่น้อย เพราะเท่ากับว่าวันหยุดสุดสัปดาห์นั้นรออยู่ไม่ไกล!
3. อย่าอุดอู้อยู่ในห้อง
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การเดินทางนำไปสู่ความสุขใจนั้นเป็นเพราะ เราได้ใช้เวลาท่ามกลางแสงแดดแทนที่จะอุดอู้อยู่แต่ในห้องทั้งวัน และแม้ว่าท่านอาจไม่สามารถไปเดินเลียบชายหาดได้ แต่อย่างน้อยลองไปเดินเล่นเป็นระยะทางสั้นๆ เดินลงมาซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใต้คอนโด หรือจะออกไปเดินห้างดูของดูนู่นนี่นั่น วันละครั้งก็ยังดี กิจกรรมเช่นนี้จะทำให้ท่านรู้สึกแตกต่างจากเดิมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
4. ดูว่ามีอะไรให้ตั้งตาคอยบ้าง
การจดบันทึกในไดอารี่ว่ามีอะไรให้เราตั้งตาคอยบ้างนับเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการรับมือกับความซึมเศร้าหลังช่วงเทศกาล สิ่งที่ตั้งตาคอยนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่หรือเลิศเลอ การจองโต๊ะที่ร้านอาหารโปรด การไปพักผ่อนสั้นๆ ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ การวางแผนไปดูหนังฟอร์มใหญ่หรือฟอร์มอินดี้ที่อยากดูสักเรื่อง หรือการใช้เวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์สักวันเพื่อออกเที่ยวทั่วเมืองล้วนเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับตัวเองในช่วงที่เรารู้สึกหดหู่
5. ติดต่อกับคนรอบข้าง
แม้ว่าการเก็บตัวอยู่คนเดียวจะฟังดูน่าสนใจ แต่แท้จริงแล้วการออกไปพบเจอครอบครัวและเพื่อนฝูงนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เราได้นึกถึงสิ่งที่ชื่นชอบเวลาอยู่ที่บ้าน รวมทั้งยังช่วยให้เรากลับไปใช้ชีวิตตามกิจวัตรเดิมๆ ได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง
6. อย่าลืมดูแลตัวเอง
พักผ่อนให้เต็มที่ ทานอาหารที่มีประโยชน์ กลับไปออกกำลังกายเป็นประจำตามเดิม และต้องไม่ลืมดูแลตัวเอง นี่คือสิ่งที่ผู้คนมักมองข้ามแต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพองค์รวมของเรา ผลของมันนะหรือ ก็เพื่อให้การไปเที่ยวครั้งต่อไป เรามีแรงมีพลังไปพร้อมรับความสนุกได้อย่างเต็มที่ยังไงล่ะ
7. จดจำและระลึกถึงความทรงจำดีๆ
รักษาความทรงจำดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดยาวให้คงอยู่ต่อไป โดยบอกเล่าเรื่องราวในช่วงดังกล่าวตามกระทู้ท่องเที่ยว แจกจ่ายประสบการณ์ บอกเล่าให้เพื่อนฝูงฟัง ตลอดจนเปิดดูภาพถ่ายของท่านหรือแม้กระทั่งนำภาพถ่ายไปใส่กรอบ ก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจได้ไม่น้อยเลย
8. ทำอะไรใหม่ๆ
ตั้งปณิธานหลังการไปชาร์ตแบตของตัวเองให้เต็มที่ว่าเราจะลองทำอะไรใหม่ๆ หางานอดิเรกใหม่ๆ ทำ เรียนภาษาใหม่ๆ หรือเข้าร่วมคลาสหรือเวิร์กช้อปที่สนใจมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยแทบไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรมากมายกับสิ่งเหล่านี้ ทว่าวิธีนี้จะทำให้ท่านรู้สึกดีอย่างยิ่งจากการได้ลองทำสิ่งเหล่านี้เป็นครั้งแรก
9. วางแผนทริปวันหยุดครั้งถัดไป
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะความซึมเศร้าหลังช่วงเทศกาลคือ การวางแผนทริปถัดไปแม้จะเป็นทริปที่อีกนานกว่าจะออกเดินทางก็ตาม การวางแผนทริปวันหยุดช่วยให้ท่านมีสิ่งให้ตั้งตาคอย โดยผู้เดินทางเกือบ 8 ใน 10 (79%) กล่าวว่าการได้เปิดดูภาพถ่ายของจุดหมายต่างๆ และที่พักที่สวยงามตั้งแต่อพาร์ตเมนต์ ไปจนถึงวิลลา โรงแรม และเบดแอนด์เบรกฟาสต์ในช่วงก่อนวันเดินทางนั้นทำให้พวกเขามีความสุข และอยากเดินทางในครั้งต่อไปได้มากทีเดียว
10. คิดเสียว่ามันเป็นเรื่องปกติ
อย่าลืมว่าช่วงเทศกาลส่งท้ายปีนั้นเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ให้เราได้หยุดพักจากกิจวัตรประจำวัน พักผ่อน ใช้เวลากับคนที่เรารัก และมีความสุขกับตนเอง ซึ่งคงจะไม่มีความพิเศษอะไร หากเราไม่มีการใช้ชีวิตตามกิจวัตรเดิมๆ ให้กลับไปเผชิญ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลไปหากต้องใช้เวลาสักพักในการปรับเข้าสู่โหมดปกติของชีวิต มองมันเป็นเรื่องธรรมดา และอย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้ว่า เรามีจิตวิญญาณของนักท่องเที่ยวอยู่ในตัวเหมือนกันนะเนี่ย ไม่งั้นคงฝ่ออยากอยู่แต่บ้านกันพอดี.
RECOMMENDED CONTENT
สมการรอคอยจริง ๆ สำหรับเพลงใหม่ล่าสุด “สอนใคร” (Teach) จากอีพีอัลบั้ม “Arakgochina” (อาราโกชิน่า) ของศิลปินหนุ่มหล่อมาดเซอร์ “เป้ อารักษ์” หรือ “เป้ – อารักษ์ อมรศุภศิริ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck ที่ก่อนหน้านี้ปล่อยเพลงสร้างเซอร์ไพร์สแฟนเพลงมาแล้ว 2 เพลง