HTM เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ระดับสุดยอดของไนกี้ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 ดีไซน์เนอร์ระดับหัวกะทิ อย่าง ฮิโรชิ ฟูจิวาระ ผู้ก่อตั้ง Fragment Design ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์ รองประธานฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ของไนกี้ และมาร์ค ปาร์คเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไนกี้
โดยที่ชื่อของ HTM มาจากตัวอักษรตัวแรกของชื่อดีไซน์เนอร์ทั้ง 3 คน ที่มาพร้อมกับแนวคิดการดีไซน์ที่เฉียบแหลมตามแบบฉบับของไนกี้ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต
นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา HTM ได้เกิดความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มาแล้ว 32 รายการ โดยที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆล้วนได้รับการพัฒนามาจากเทคโนโลยีที่โดดเด่นของไนกี้ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีเส้นใยฟลายนิต เป็นต้น
และต่อไปนี้ จึงเป็นบทสนทนาของฮิโรชิ ฟูจิวาระ ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์ และมาร์ค ปาร์คเกอร์ ที่ทั้ง 3 คน ได้มาร่วมบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจคต์ HTM
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ
อะไรคือ จุดเริ่มต้นของ HTM
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: ตอนที่ผมพบกับมาร์คครั้งแรกๆ ก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไนกี้ เขาถามผมว่า “ถ้าหากคุณได้รับโอกาสให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้กับไนกี้ คุณจะสร้างสรรค์สิ่งใด?” ซึ่งผมตอบเขากลับไปว่า “ผมอยากจะยกระดับผลิตภัณฑ์บางอย่างของไนกี้ให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นหนึ่ง”
มาร์ค ปาร์คเกอร์: ผมเคยไปประเทศญี่ปุ่นหลายครั้งและได้มีโอกาสพบกับฮิโรชิ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมกับทิงเกอร์ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันมาหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแอร์แม็กซ์ 1 รองเท้าแอร์เทรนเนอร์ เอซีจี รองเท้าตระกูลจอร์แดน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งตอนที่เราพูดคุยกับฮิโรชิ เราพูดคุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่า แทนที่จะมัวแต่นั่งพูดคุยกัน เราน่าจะมาร่วมลงมือทำอะไรบางอย่างกันจริงๆ เสียที
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: ผมคิดว่า HTM เกิดจากความคิดของมาร์ค และผมชอบความคิดของเขามาก เพราะโปรเจคต์นี้เป็นการรวบรวมคนที่เหมาะสมเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
มาร์ค ปาร์คเกอร์: ผมเชื่อว่าการรวมกันที่ดีที่สุดต้องเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนจริงๆ และนี่คือจุดเริ่มต้นของ HTM ซึ่งมันเป็นโปรเจคต์ที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: หลายๆ บริษัทชอบใช้ชื่อย่อเป็นชื่อโปรเจคต์พิเศษ ผมก็เลยใช้ชื่อ HTM ที่เกิดจากชื่อย่อของผม ทิงเกอร์ และมาร์ค แต่ผมไม่ได้คิดว่าชื่อนี้จะกลายเป็นชื่อของทีมหรือโปรเจคต์ในระยะเวลาต่อมาอย่างเป็นทางการ
มาร์ค ปาร์คเกอร์: เราสร้างเอกลักษณ์ให้กับทีมของเราด้วยการใส่คำว่า HTM ลงบนผลิตภัณฑ์ที่พวกเราร่วมกันพัฒนาในแต่ละชิ้น ซึ่งตอนแรกคำนี้ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับคนส่วนใหญ่ เนื่องจากมันฟังดูง่าย แต่ท้ายที่สุดมันกลายเป็นชื่อที่สื่อถึงผลิตภัณฑ์ที่พวกเราร่วมกันสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์
มาร์ค ปาร์คเกอร์
อะไรคือความสามารถและทักษะเฉพาะบุคคลของแต่ละคน
มาร์ค ปาร์คเกอร์: เรามีสไตล์และวิธีการทำงานที่ต่างกัน ซึ่งมันช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่เราสร้างขึ้นมีความแข็งแกร่ง การทำงานของพวกเราอาจจะคล้ายๆ กับวงดนตรีแจ๊ซ ที่แต่ละคนในวงต่างใช้ทักษะของตนเองเพื่อสร้างสรรค์เพลงหรือแลกเปลี่ยนความคิดกัน บางครั้งเราก็สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกัน แต่บางทีเราก็ทำงานเป็นอิสระจากกัน ฮิโรชิเป็นนักออกแบบ ดังนั้นเขาจึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับงานออกแบบ เขามักจะเน้นสไตล์ การใช้งานจริง และความเรียบง่าย เขาเป็นคนที่สามารถผสานงานออกแบบเข้ากับวิถีชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ส่วนทิงเกอร์นั้นเป็นคนที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย เขาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่โลกไม่เคยเห็น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยกระดับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทางการกีฬาที่เขาทำงานร่วมกับนักกีฬา รวมถึงการศึกษาข้อคิดเห็นของนักกีฬาทั้งขณะที่พวกเขาลงแข่งขัน และขณะที่พวกเขาอยู่นอกสนาม
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: มาร์คเป็นนักออกแบบที่ดี นอกจากนี้ เขายังเป็นนักวิจัยที่ทำงานในห้องแล็ปอีกด้วย เขายังเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์มาก เพราะเขาสามารถเลือกคนที่จะมาทำงานกับเขาได้อย่างเหมาะสม เขายังเป็นคนที่มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้อย่างลงตัว แม้กระทั่งออฟฟิสของเขาก็ยังตกแต่งอย่างมีสไตล์ด้วยงานศิลปะและของสะสมมากมายที่อาจดูไม่เข้ากัน แต่เมื่อมันมาอยู่รวมกันก็ดูลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งออฟฟิสของเขาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของกระบวนการคิดของเขาอีกด้วย
มาร์ค ปาร์คเกอร์: บทบาทของพวกเราจะแตกต่างกันไปตามแนวคิดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ดังนั้นถ้าจะเปรียบกับวงดนตรี แต่ละคนจะผลัดกันขึ้นมาอยู่ตรงกลางตามแต่ละโปรเจคต์ และแต่ละคนก็อาจจะแสดงจุดเด่นในการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างกัน โดยสังเกตเห็นได้จากผลิตภัณฑ์จริง
อะไร คือโอกาสของ HTM
มาร์ค ปาร์คเกอร์: HTM เป็นโปรเจคต์ที่เราศึกษาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เรามีอิสระที่จะทำงานตามที่เราต้องการ และเราทำงานได้เร็วเพราะทีมงานของเรามีไม่กี่คน โดยปกติแล้ว HTM ได้รับแรงบันดาลใจมาจากทีมงานนักออกแบบอื่นๆ ด้วย ซึ่งบางครั้งเราก็เป็นฝ่ายนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้กับบริษัท เราเคยนำเสนอเทคนิคการถักเส้นใยซึ่งอาจจะทำให้หลายๆ คนประหลาดใจ เราเคยสร้างรองเท้าที่ใช้เทคโนโลยีการถักจาก Sock Dart และ Flyknit ซึ่งรองเท้าเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเส้นใยที่ใช้ในผลิตภัณฑ์จริง
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปในปี 2002 ซึ่งเป็นปีแรกของโปรเจคต์ HTM ไนกี้ได้นำรองเท้าแอร์ฟอร์ซ 1 อันเป็นเอกลักษณ์ของไนกี้มาพัฒนาใหม่อีกครั้ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่อยากเห็นรองเท้าที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างพิถีพิถัน โดยรองเท้าแอร์ฟอร์ซ 1 รุ่นดังกล่าวจึงได้ถูกดัดแปลงให้ส่วนหน้ารองเท้าที่ทำมาจากหนังสีดำหรือสีน้ำตาล สำหรับสวมใส่ในงานที่เป็นทางการ นอกจากนี้ยังมีการสลักคำว่า HTM ไว้ด้านหลังรองเท้า โดยใช้ด้ายสีที่ตัดกับสีของหนังรองเท้า เพื่อสร้างความโดดเด่นอีกด้วย
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: ตอนแรกนั้น HTM เป็นโปรเจคต์ที่เราจะผสมผสานสีสันกับวัสดุใหม่ๆ เข้ากับรูปลักษณ์คลาสสิก
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: ในอดีต รองเท้ากีฬาที่ดูหรูหรานั้นเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ ดังนั้นโปรเจคต์ HTM จึงเป็นโครงการที่เราตั้งใจจะสร้างสรรค์รองเท้ากีฬาให้มีความหรูหรามากขึ้น
มาร์ค ปาร์คเกอร์: HTM เป็นโปรเจคต์ที่ไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย เราสามารถเลือกใช้วัสดุใดๆ ก็ได้ตามที่เราต้องการ เพราะผลิตภัณฑ์ของเราจะไม่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก สำหรับรองเท้าแอร์ฟอร์ซ 1 นั้น เราอยากจะทำรองเท้ารุ่นที่หรูหราเป็นพิเศษโดยใช้หนังที่มีคุณภาพสูงร่วมกับสีสันที่ดูทรงพลัง ดังนั้นเราจึงผสมผสานรูปแบบรองเท้าที่คลาสสิกกับการตัดเย็บที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ถัดมาในปี 2004 HTM ได้นำเสนอรองเท้ารุ่น Nike Sock Dart ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรองเท้าที่ท้าทายทีมงานของไนกี้มากที่สุด รองเท้ารุ่นพิเศษนี้ผลิตจากแนวคิดพื้นฐานของรองเท้ารุ่น Sock Racer โดยใช้หน้ารองเท้าแบบถักที่มีการคำนวณและสร้างลวดลายจากคอมพิวเตอร์เพื่อให้พอดีกับสัดส่วนของเท้า และมีสายรัดที่ผลิตจากซิลิโคนที่ได้รับการออกแบบให้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นรองเท้าด้วย
มาร์ค ปาร์คเกอร์: รองเท้า Nike Sock Dart เป็นผลลัพธ์ของการพัฒนาร่วมกันระหว่างทีมงานของทิงเกอร์กับเครื่องปั่นด้าย รองเท้ารุ่นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนารองเท้าที่ให้ความรู้สึกเหมือนใส่ถุงเท้า
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: โปรเจคต์ HTM เป็นอะไรที่ท้าทายมาก เนื่องจากต้องใช้เครื่องปั่นด้ายเป็นวงกลม ซึ่งอันเป็นเครื่องมือที่เราบอกกับทุกคนว่าเทคนิคนี้จะเป็นอนาคตของการผลิตรองเท้า แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ผลิตรองเท้าจากเทคโนโลยีนั้นเป็นจำนวนมากและคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้ จนกระทั่งฮิโรชิต้องการใช้เทคโนโลยีนี้กับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กลุ่มHTM
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: ตอนที่ผมเห็นรองเท้ารุ่นนี้ที่ญี่ปุ่น ผมบอกมาร์คและทิงเกอร์ว่ารองเท้ารุ่นนี้ทันสมัยมาก และเราน่าจะนำรองเท้ารุ่นนี้มาพัฒนาใหม่ภายใต้โปรเจคต์ HTM
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: หนึ่งในเหตุผลที่ผมร่วมโครงการนี้ คือการได้รับโอกาสให้สรรสร้างผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจ เราจึงต้องใช้งานออกแบบของอนาคต รองเท้า Sock Dart ได้ช่วยให้หลายๆ คนได้ล้วนคิดถึงโครงการใหม่ๆ ในอนาคตในระยะเวลาต่อมา
มาร์ค ปาร์คเกอร์: รองเท้ารุ่นนี้เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การผลิตรองเท้าที่ใช้เส้นใยฟลายนิต พูดง่ายๆ คือเราสร้างสรรค์สิ่งที่นำไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ของไนกี้
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: แทนที่จะอัพเดทสิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด HTM เป็นโปรเจคต์ที่เราใช้นำเสนอสิ่งต่างๆ เป็นครั้งแรกสู่ท้องตลาด
ในอีก 8 ปี ต่อมา ไนกี้ ได้ยกระดับนวัตกรรมรองเท้าที่ผลิตจากเส้นใยไปอีกขั้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีฟลายนิต ซึ่ง HTM ถือเป็นโปรเจคต์แรกๆ ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการผลิตรองเท้า โดยรองเท้า HTM Flyknit Racer และรองเท้า Nike HTM Flyknit Trainer+. จึงถือเป็นรองเท้าที่สร้างสรรค์จากแนวคิดใหม่ล่าสุด มีน้ำหนักเบา พอดีกับเท้าของแต่ละคน และยังสามารถลดขยะจากการกระบวนการผลิตให้น้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย
มาร์ค ปาร์คเกอร์: เราทราบว่าเส้นใยฟลายนิตมีอนาคตอีกมาก เรารู้ทันทีว่าเส้นใยฟลายนิตสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการกีฬา และเราต้องการใช้เส้นใยฟลายนิตแทนที่การตัดและประกอบชิ้นส่วนรองเท้าแบบเดิม เพราะเส้นใยฟลายนิตจะคล้ายคลึงกับการระบายสีและการตัดปะส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน เส้นใยฟลายนิตทำให้เราตกแต่งรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำที่สุด เราสามารถปรับแต่งรายละเอียดต่างๆ ตามที่เราต้องการไม่ว่าจะเป็นความกระชับ ความยืดหยุ่น หรือการระบายอากาศด้วยการปรับแต่งเส้นด้ายหรือการเชื่อมต่อจุดต่างๆ
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: รองเท้าที่ผลิตจากเส้นใยฟลายนิตจะดูเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยนวัตกรรมที่ซับซ้อน ผมทราบดีว่าเทคโนโลยีนี้มีความพิเศษอย่างไร ตอนที่ทำตัวอย่างแรกๆ นั้นมันยากมากที่เราจะจินตนาการถึงรองเท้าที่ใช้หน้ารองเท้าผลิตจากเส้นใยถัก เพื่อให้คนทั่วไปเห็นเส้นใยที่เราใช้อย่างเห็นได้ชัด ผมแนะนำให้ทีมใช้สีเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของเส้นใยฟลายนิต เช่น การผสมผสานเส้นใยสีต่างๆ เข้าด้วยกัน
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: HTM เป็นโอกาสอันดีที่เราสามารถใช้เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่ท้องตลาด เมื่อรองเท้าที่ใช้เทคโนโลยีฟลายนิตออกวางจำหน่าย ผมถือว่ามันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสำเร็จและศักยภาพของโปรเจคต์นี้
ล่าสุดในปี 2014 HTM ได้นำเสนอ รองเท้ารุ่น The KOBE 9 Elite Low HTM ซึ่งเป็นรองเท้าบาสเกตบอลทรงโลว์คัทรุ่นแรกที่ผลิตจากเส้นใยฟลายนิต โดยรองเท้ารุ่นนี้ยังเป็นรองเท้าที่ผสานสไตล์และประสิทธิภาพการเล่นของโคบี้ ไบรอันท์ ในสนามเข้าไว้ด้วยกัน โดยหน้าผ้ารองเท้ามีการใช้วัสดุฟลายนิต ขณะที่ส่วนปลายเชือกรองเท้าเคลือบด้วยวัสดุโลหะและมีสัญลักษณ์ของ HTM นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่เหมือนหนังงู เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดและเป็นเอกลักษณ์ของรองเท้าตระกูลโคบี้
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: รองเท้า The KOBE 9 Elite Low HTM เป็นรองเท้าที่เราใช้โชว์ว่านวัตกรรมเส้นใยฟลายนิตนั้นก้าวหน้าไปมากเพียงใด จากเดิมที่มันถูกใช้เป็นนวัตกรรมที่ใช้กับรองเท้าวิ่งเท่านั้น แต่มันถูกพัฒนาให้ใช้กับรองเท้าบาสเกตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวของเท้าหลากรูปแบบได้สำเร็จแล้ว
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบรองเท้ารุ่นนี้โดยตรง แต่ผมก็พูดคุยกับเอริก อาวาร์ นักออกแบบของเราอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผมคิดว่ามันเป็นหนึ่งในรองเท้าที่ได้รับการออกแบบอย่างดีที่สุด เพราะมันคือการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและข้อคิดเห็นจริงจากนักกีฬาอย่างสมบูรณ์แบบ
มาร์ค ปาร์คเกอร์: โคบี้เป็นนักบาสเกตบอลที่ชื่นชอบรองเท้ารุ่นใหม่มาก และเราจำเป็นต้องออกแบบรองเท้าให้เข้ากับเอกลักษณ์ของโคบี้ด้วย เขาตื่นเต้นกับรองเท้ารุ่นนี้มาก และรู้สึกสนุกที่ได้ทำงานร่วมกับเราในโปรเจคต์ HTM
ตำนานของ HTM
มาร์ค ปาร์คเกอร์: ตอนแรก HTM ถือกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะศึกษาและลงมือทำในสิ่งที่น่าตื่นเต้น โดยผสานการออกแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไนกี้ไว้ เพราะไนกี้เป็นบริษัทที่สร้างความสำเร็จจากการร่วมมือกันของทุกคน
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไนกี้สร้างตัวตนขึ้นจากการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการสร้างสิ่งที่ใครยังไม่เคยทำได้สำเร็จมาก่อน HTM จึงเป็นโปรเจคต์ที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายดังกล่าว และเป็นที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับโปรเจคต์นี้ ที่สำคัญการทำงานกับทีมนี้มันสนุกมาก เพราะเราได้ท้าทาย กฎต่างๆ อย่างมากมาย
RECOMMENDED CONTENT
เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จึงนำ “เสียง” หรือความคิดเห็นจากประชาชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการส่งเสียงผ่านการสำรวจของ ‘Business of the People Poll’ ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโดย สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในจัดทำการสำรวจผ่านตัวแทนผู้ประกอบการไทยจำนวน 451 ตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นหัวข้อไปที่ ‘ปัจจัย, ความท้าทาย, โอกาส และคำแนะนำ ในการเสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ เพื่อที่จะทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจของประเทศไทย