ช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นการเติบโตของสตาร์ทอัพจากสเกลเล็กไปบุกตลาดกระแสหลักดังเช่น Uber ตื่นเต้นกับความสำเร็จติดไฮ-สปีดของ Airbnb ที่ปรุงแต่งรสชาติใหม่ของการเดินทางด้วยการเปลี่ยน ‘บ้าน’ ของคนทั่วโลกให้กลายเป็น ‘ที่พัก’ สำหรับนักท่องเที่ยวและดึงดูดนักลงทุนได้มหาศาล ยังไม่รวมบรรดา Co-Working Space และ Tech Start-up ที่ทยอยผุดขึ้นตามย่านสุดฮิปในเมือง
เมื่อย้อนรอยกลับไปหาต้นทางของความสำเร็จ เราสังเกตว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้ล้วนเติบโตมาจากไอเดียดีๆ ที่ไม่ไกลจากสิ่งรอบตัว บางไอเดียดูเรียบง่าย แต่กลับนำเสนอ ‘แง่มุมที่แตกต่าง’ ซึ่งยังไม่มีในตลาดและตรงกับ ‘ความต้องการ (need)’ ของผู้ซื้อพอดิบพอดี แต่ใช่ว่าทุกไอเดียจะสามารถพัฒนาให้เป็นจริงได้ในเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงผลกำไรและความยั่งยืนไปพร้อมกัน
4 ขั้นตอนสู่การปั้นสตาร์ทอัพให้ ‘รอด’ และ ‘รุ่ง’
จริงอยู่ที่ว่าวันนี้ เรามีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจไร้พรมแดนตลอด 24 ชั่วโมง มีแหล่งทุนแบบ Crowdfunding ซึ่งไม่ต้องพึ่งการกู้ยืมเหมือนสมัยก่อน แต่การเปลี่ยนไอเดียให้เป็นสินค้าที่โดนใจตลาดและประคองธุรกิจให้อยู่รอดตลอดฝั่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การศึกษาวิธีการทำงานอย่างมืออาชีพจึงน่าจะเป็นไกด์นำทางที่ดีสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพหน้าใหม่เช่นกัน
1. เปลี่ยนแรงบันดาลใจรอบตัวให้เป็นไอเดียสุดเจ๋ง (Inspiration)
ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ลองสังเกตปัญหาใกล้ตัวหรือเรื่องราวที่ตัวเองสนใจก่อน โดยมีข้อแม้ว่า คุณจะต้องตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้น ปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด และพยายามเก็บข้อมูลให้มีความหลากหลาย ทั้งเคสที่ประสบความสำเร็จและเคสที่มีปัญหา แต่ทางที่ดีที่สุด เราแนะนำให้คุณออกไปพูดคุย สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย (target users) ด้วยตัวเอง เพราะจะได้ข้อมูลสดใหม่กว่าและเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้น
2. ไอเดียจะเวิร์คจริงก็ต่อเมื่อตกตะกอนแล้ว (Ideation)
นำข้อมูลทั้งหมดจากการค้นคว้าและสัมภาษณ์มากลั่นกรองใหม่ อาจเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “เราจะสามารถ…ได้อย่างไร (How may we…?)” เพื่อหาไอเดียที่ใช่ที่สุด เช่น เราจะสามารถผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่ปลอดภัยสำหรับคนเมืองที่อยากดูแลสุขภาพ แต่ไม่มีเวลาได้อย่างไร เมื่อได้ประเด็นที่น่าสนใจแล้ว ลองตัดไอเดียด้วยการเรียงลำดับความสำคัญ (prioritize) เปรียบเทียบว่าไอเดียไหนใช้เวลาทำน้อย แต่สร้างอิมแพคได้มากกว่ากัน และสุดท้ายไม่แต่ท้ายสุด คัดให้เหลือเพียง 3 ไอเดียที่คิดว่าดีที่สุด แล้วทำสเก็ตช์ภาพและสตอรี่บอร์ดเพื่ออธิบาย Consumer’s Journey Map ว่าลูกค้าจะซื้อและใช้สินค้า/บริการที่ออกแบบได้อย่างไรบ้าง
3. ลงมือทำเลย! (Implementation)
ลำพังแค่ไอเดียบนหน้ากระดาษ คงไม่สามารถตัดสินได้ว่าโปรเจ็กต์นั้นจะทำได้จริงหรือเปล่า ถ้าผลิตออกมาแล้วจะถูกใจคนซื้อไหม เราแนะนำให้คุณสร้างโมเดลต้นแบบ (Prototype) ขึ้นมาเลย จะช่วยให้ไอเดียที่เป็นนามธรรม จับต้องได้มากขึ้น อ๋อ แล้วอย่าลืมทดสอบการใช้งาน (Usability Test) ด้วยล่ะ ยิ่งถ้าคุณเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการทดลองบ่อยมากเท่าไร คุณก็ยิ่งสามารถตรวจสอบความผิดพลาดของการใช้งานและนำฟีดแบ็คไปปรับปรุงเพิ่มเติมได้มากเท่านั้น
4. สร้างดีเอ็นเอของทีมงาน
- คิดต่าง
- สนใจเทรนด์ แต่ไม่จำเป็นต้องก้าวตามทุกอย่าง
- คิดและทำซ้ำเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ไอเดียที่มีศักยภาพมากที่สุด
- ทำงานบนพื้นฐานของความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมาย/ผู้ใช้งานโดยไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวหรือตัดสินแทนคนอื่น (Empathy)
- รักษาคุณภาพของการทำงาน หมั่นเติมพลังและแพสชั่นของตัวเองอยู่เสมอ
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการคิดและกระบวนการทำงานที่ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ควรมองข้าม เพราะในตลาดการแข่งขันยุคใหม่ ผู้ชนะไม่ใช่คนที่เป็นเจ้าของไอเดียที่ ‘WOW’ ที่สุด แต่เป็นไอเดียที่แข็งแรงมากพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ ออกแบบประสบการณ์ใหม่ และพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา
Writer: Piyaporn Aroonkriengkrai
Credit: ideo.com
RECOMMENDED CONTENT
หากผู้บริโภคต้องการเห็นการตลาดแบบเดิม ๆ นิสสันเอเชีย และโอเชียเนีย ขอเตือนว่า อย่าเปิดดูแบรนด์แคมเปญล่าสุด หรือเข้าไปดูเว็บไซต์ใหม่ของนิสสัน ซึ่งเริ่มเปิดตัวในประเทศออสเตรเลีย ประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ เร็วๆ นี้ นิสสันนำเสนอกลยุทธ์ทางการตลาดล่าสุด