เคยไหม? เวลาเลื่อนฟีดในเฟซบุ๊กทีไร เห็นเพื่อนอัพรูปกับเช็คอินที่เที่ยว ร้านอาหาร คาเฟ่ หรือแม้แต่เสื้อผ้าคอลเลกชั่นใหม่ๆ เห็นแล้วน้ำตาจะไหล ได้แต่กดไลค์และอิจฉาเบาๆ เพราะพอมองดูเงินในกระเป๋าแล้วก็ต้องปลอบใจตัวเองว่าควรเก็บเงินไว้ใช้ให้พอถึงสิ้นเดือนก่อนเหอะ (เศร้า) จริงๆ เราว่าใครก็ต้องเคยผ่านจุดนี้มาบ้าง โดยเฉพาะสายกินแหลก สายเครียดแล้วต้องช้อป และสายเที่ยวทุกวันหยุด งั้นวันนี้มาดูวิธีง่ายๆ เอาใจคนชอบกิน ช้อป เที่ยว แต่ก็ยังอยากมีเงินเก็บอยู่ แค่ฟังก็รู้สึกดีแล้วใช่ไหมหละ งั้นไปเริ่มต้นปูทางกันเลย
1. สำรวจตัวเอง
บอกเลยว่าการเก็บออมในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยแต่แบ่งหลายส่วน จะได้เงินออมน้อยกว่าคนที่เขาแบ่งออมเงินในเปอร์เซ็นต์มากๆ ดังนั้นแนวทางนี้จึงอาศัยค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หวังผลว่าในแต่ละปีจะต้องมีเงินออมเยอะมากๆ แต่จะเน้นหนักไปทางสรรหาความสุขได้ด้วยมากกว่า และหากจะให้พูดถึงหลักการออมของแต่ละคน เราว่าไม่มีกฎตายตัวว่าต้องออมกี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ เพราะปัจจัยแต่ละคนต่างกัน เป้าหมายในการออมก็ต่างกันด้วย ยิ่งบางคนชอบเที่ยว รักการกิน หรือฟินเวลาช้อปปิ้ง ก็คงต้องย้อนกลับมาถามตัวเอง ว่าจะให้ทิศทางการออมเป็นแบบไหน และอยากมีความสุขกับการใช้เงินในแต่ละวันอย่างไร
2. การแบ่งเงิน วิธีเบสิกที่ไม่ทำไม่ได้
เมื่อรู้เป้าหมายชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดระเบียบเงินของเราอยู่ที่การแบ่งเงิน โดยให้แบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้
50% — สำหรับรายจ่ายทุกเดือนหรือทุกปี
25% — กับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน
15% — เป็นรายจ่ายเพื่ออนาคต (แบ่งออมและทำตามความฝัน)
10% — ไว้ใช้เพื่อความสุข ทั้งความสุขของคนชอบเที่ยว ชอบกิน และช้อป
เคสเงินเดือนมาตรฐาน 15,000 บาท :
รายจ่ายทุกเดือนหรือทุกปีเป็นเงิน 7500 บาท
รายจ่ายในชีวิตประจำวัน 3,750 บาท
รายจ่ายเพื่ออนาคต 2,250 บาท
มีเงินซื้อความสุข 1,500 บาท (หากเงินเดือนมากกว่านี้จำนวนเงินส่วนนี้ก็ขยับขึ้นได้)
[ เปอร์เซ็นต์ความสุข ]
สายกินแหลก : จะมีเงินซื้อของกินได้ทั้งเดือนสบายมาก ไม่ว่าเพื่อนจะนัดอาทิตย์ไหนก็มีเงินเฉลี่ยอาทิตย์ละ 375 บาท จะกินบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง หรือชาบูทุกอาทิตย์ยังได้
สายช้อปกับสายเที่ยว : มีเงินใช้แบบเหลือๆ ทุกเดือน เดือนละ 1,500 บาท แต่หากราคาของมากกว่าเงินนี้ก็สะสมเงินสองเดือนขึ้นไป รับรองได้ของที่อยากได้ ได้เที่ยวไม่ว่าจะใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ตาม ส่วนสายเที่ยวที่นับรวมการเที่ยวเป็นหนึ่งในความฝัน ก็ยังสามารถแบ่งเปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายเพื่ออนาคตอีกสัก 5% มารวมได้อีกด้วย
3. ซื้อในปริมาณที่มากแต่น้อยครั้ง แทนการซื้อบ่อยๆ ถี่ๆ
ข้อนี้ใช้ได้กับการซื้อของกินกับของใช้ อย่างของกินถ้าเราซื้อหลายอย่างราคาเบาๆ แต่ซื้อทุกวัน วันละหลายมื้อจะทำให้ควบคุมเงินลำบาก เพราะเรามักคิดว่าการซื้อในหนึ่งครั้งราคาไม่แพง แต่ถ้านับรวมแล้วซื้อขนมยกแพ็ค หรือห่อใหญ่กินได้หลายครั้งจะคุ้มกว่า เช่นเดียวกับของใช้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า บางคนช้อปบ่อยแบบวันเว้นวัน สามวันครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้ง คิดดูสิว่าเราต้องเสียค่าเดินทางในแต่ละครั้งรวมๆแล้วได้ชุดเพิ่มหลายชุดเลยนะ ลองเปลี่ยนมาช้อปให้หนำใจแบบเดือนละครั้งหรือสองครั้ง แต่ซื้อตามที่คิดไว้ทั้งหมด นอกจากจะได้ของที่อยากได้ครบแล้ว ยังมีเวลาเหลือให้ได้ส่องดูคอลเลกชั่นต่อไปทางออนไลน์ได้นั่นเอง
4. รอโปรโมชั่น
เรียกได้ว่าแค่ได้ยินคำนี้แต่ละคนคงเกิดอาการดี๊ด๊าอย่างบอกไม่ถูก เพราะไม่ว่าจะเป็นสายไหน ป้าย sale หรือโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ก็ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบแถมยังมีให้เห็นบ่อยๆ ด้วย บางคนนี่แทบไม่ต้องรอเพจไหนรีวิวว่ามีลดราคา ก็ช้อปด้วยช่วงเวลาโปรโมชั่นอยู่แล้ว แต่ใครที่ไม่ค่อยได้ช้อปช่วง sale บอกเลยว่าคุณพลาดมาก! เนื่องจากเงินส่วนที่ถูกลดราคาสามารถรวมซื้อเสื้อผ้าเพิ่มได้อีกหลายชิ้น แถมของเหล่านี้ยังคุณภาพดีสมราคาด้วย เอาเป็นว่าให้เริ่มจากลองเดินแวะเข้าไปดูแบรนด์ที่ชอบช่วงเปลี่ยนซีซั่น ก็จะมีลดราคา 50% ขึ้นไป เราจะได้ของใช้ครบทั้งปีพอดี หรือใครไม่มีเวลาไปเดินบ่อยๆ ตามไลค์เพจแบรนด์ที่ชอบไว้จะได้ไม่พลาด ส่วนโปรโมชั่นของกินนี่แถมบ่อยมากขึ้นอยู่กับสินค้านั้นๆ ยิ่งป้ายเหลืองแดงตามซุปเปอร์มาร์เก็ตก็มีให้เห็นเดือนละหลายครั้งอยู่
สุดท้ายเอาใจคนชอบเที่ยว ด้วยการแนะนำให้จัดวางแผนเที่ยวล่วงหน้า และรอโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินลดราคา หรือลองไปเดินหาข้อมูลในงานท่องเที่ยว เพราะจะมีห้องพักราคาพิเศษทั้งถูกและดี นอกจากนี้บางสายการบินนี่มีแพ็กเกจราคารวมครบทุกอย่างทั้งที่พัก เที่ยวบิน รถรับส่ง เราจะได้เก็บเงินไว้เที่ยวได้อย่างเต็มที่
5. บันทึกรายรับ-รายจ่าย
แม้จะฟังดูน่าเบื่อแต่ก็อยากให้ทำ เพราะไม่ใช่ว่าแบ่งเงินแล้วเราจะทำได้ตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะมือใหม่อ่อนไหวง่าย การสำรวจการใช้เงินแต่ละวันจะทำให้เราควบคุมเงินได้อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน แถมยังรู้ด้วยว่าเรามีเงินออมเท่าไหร่ แถมยังสามารถมีความสุขในการใช้เงินไปกับสิ่งที่ชอบได้อย่างสบายใจ
6. ทุกเหรียญมีค่า
อีกหนึ่งการออมที่แม้จะช้าแต่ชัวร์ คือการเก็บเหรียญและเงินทอน ทั้งเหรียญบาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ จากค่าเดินทาง หลังจากซื้อของ เงินทอนจากการเติมน้ำมัน ถ้าเอาส่วนนี้เก็บรวมๆ ไว้ ปลายเดือนเราก็นำเงินนี้ไปเพิ่มความสุขได้อีก หรือใครจะนำไปใส่ในส่วนของเงินออมก็ได้
รู้เทคนิคซื้อความสุขในแบบต่างๆกันไปแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาใช้ชีวิตให้สุดอย่างที่ต้องการ แถมไม่ต้องกังวลว่าเงินจะไม่พอถึงสิ้นเดือนอีกด้วย ถ้าพร้อมแล้วก็ลงมือเลย!
—
RECOMMENDED CONTENT
อาดิดาส เปิดตัวซีรีส์ภาพยนตร์ต้อนรับการแข่งขันยูโร 2020 (UEFA EURO 2020TM) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก้แฟนบอล นักฟุตบอล และทุกคนได้มองเห็นถึงโลกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงสิ่งความแตกต่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การแข่งขันและเราทุกคนแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น