fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#TechGeek | 7 ความ fail ที่คนมักจะทำเวลาซื้อหูฟังไร้สาย
date : 22.พฤศจิกายน.2018 tag :

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หูฟังนับว่าเป็นอีกหนึ่ง gadget ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นมากตามความนิยมของอุปกรณ์ mobile แต่พักหลังมานี้ดูเหมือนว่าที่มาแรงแซงทางโค้งจะเป็นหูฟังแบบไร้สายซึ่งเหมาะกับ lifestyle ของผู้คนในยุคนี้มากกว่า

แต่หูฟังไร้สายนั้นก็มีเรื่องให้ต้องปวดหัวอีก เพราะราคานั้นมีตั้งแต่ยี่ห้อโนเนมราคาไม่กี่ร้อยบาท จนถึงยี่ห้อแบรนด์เนมราคาหลายหมื่นบาท มีความแตกต่างหลากหลายกันไปทั้งเรื่องของดีไซน์ ฟังก์ชัน และคุณภาพเสียง ทำให้เวลาจะเลือกซื้อนั้นบางคนบอกว่าแทบไม่ต่างอะไรจากการทำข้อสอบเลยทีเดียว

เนื่องจากเรามี lifestyle ที่แตกต่างกัน บทความนี้จึงไม่ได้มาแนะนำวิธีเลือกซื้อ แต่จะมาบอกว่าอะไรบ้างที่มักเป็นความผิดพลาดเวลาเราไปเลือกซื้อหูฟังไร้สาย

1. คิดว่ายูสเซอร์รีวิวเชื่อถือได้เสมอ

เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว ในอุดมคติแล้วยูสเซอร์รีวิวหรือรีวิวจากผู้ใช้งานน่าจะเป็นอะไรที่ดีมาก เมื่อผู้ใช้นำเอาประสบการณ์ของตัวเองมาบอกต่อ

แต่ปัญหาก็คือผู้ใช้แต่ละคนไม่ได้มีทักษะหรือมาตรฐานการประเมินคุณภาพอยู่ในระดับเดียวกัน ทำให้หลายครั้งยูสเซอร์รีวิวมีความขัดแย้งกันเองชนิดขาวกับดำ หรือหน้ามือกับหลังมือเลยทีเดียว

เช่น หูฟังไร้สายรุ่นหนึ่ง มียูสเซอร์รีวิวบอกว่าเสียงมันทุ้มเกินไป ขณะที่ยูสเซอร์รีวิวบางรายบอกว่าเสียงทุ้มมันน้อยเกินไป ถ้าไม่แจงกันให้ละเอียดว่ายูสเซอร์ท่านนั้นใช้งานอย่างไร ใช้ฟังกับอะไรบ้าง ข้อมูลเหล่านั้นถือว่าแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลยนะครับ

อย่างไรก็ดีบางครั้งยูสเซอร์รีวิวก็มีประโยชน์เหมือนกันในกรณีที่เป็นข้อมูล fact เช่น หูฟังไร้สายรุ่นนี้มีฟังก์ชันอะไรบ้าง ชาร์จไฟแต่ละครั้งแบตเตอรี่ใช้ได้นานแค่ไหน หรือเรื่องของระยะเวลาในการรับประกัน

2. ไม่ได้ลองฟัง ลองใส่ใช้งาน

ในยุคที่ใคร ก็ช้อปปิ้งออนไลน์ ใช้นิ้วจิ้มสั่งซื้อของสินค้าจากหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต โอกาสที่เราจะพลาดในเรื่องนี้เป็นไปได้ง่ายมาก

จึงอยากเตือนให้อย่าวู่ว่าม อย่าเห็นแก่ของ sale หรือแม้แต่อย่าไว้ใจในแบรนด์เนม แบรนด์ดังกว่าไม่ได้การันตีว่าจะให้เสียงถูกใจกว่าเสมอไป โดยเฉพาะในรุ่นราคาประหยัด ถ้ามีโอกาสลองฟังก่อนเป็นดีที่สุด จะไปลองที่โชว์รูมของตัวแทน หรือถ้าเพื่อนฝูงใช้อยู่ก็ขอเขาลองฟังเลยก็ดีครับ

อีกอย่างหูฟังไร้สายบางตัวเสียงดีก็จริง แต่ใส่แล้วบีบหัวมาก หรือไม่ก็มีน้ำหนักมาก ใส่แล้วเจ็บ ใส่แล้วรู้สึกหนักก็มีเยอะครับ ลองด้วยตัวเองชัวร์ที่สุดแล้ว

ปัจจุบันร้านขายหูฟัง 99% ยอมให้ลูกค้าลองฟังลองใช้งานก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้นหมายตาตัวไหนไว้ฟังแล้วชอบใจในเสียง แนะนำให้ลองใส่ฟังเพลงยาวต่ออีกสัก 10-15 นาทีเป็นอย่างน้อย ถ้ายังรู้สึกสบาย ไม่เจ็บ ไม่หนักนั่นแหละครับคุณมาถูกทางแล้ว!

3. เห็นแก่ของถูก (ของหิ้ว ของปลอม)

อันนี้น่าจะเป็นสัจธรรมเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใด เห็นของถูกที่ไหนให้สงสัยไว้ก่อนครับว่ายังไว้ใจไม่ได้ โดยเฉพาะที่ถูกจนผิดปกติ

ถามว่ายังไงคือถูกผิดปกติ? ประเมินง่ายว่าถูกกว่าราคาปกติเกินครึ่ง ตีไปก่อนเลยครับว่า ถ้าไม่ใช่ของปลอมเกรดมิเรอร์ ก็เป็นของหนีภาษีไม่มีประกัน พบได้ส่วนใหญ่ตามเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ หรือตามแหล่งร้านค้าที่นิยมจำหน่ายสินค้าประเภทนี้

สำหรับหูฟังไร้สายแนะนำให้เลือกของแท้มีประกันเถอะครับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้โอกาสพบแจ็คพอตมีตั้งแต่ตอนแกะกล่องใหม่หรือใช้งานไปได้ไม่นาน หากไม่มีการรับประกันแล้วคงเป็นเรื่องที่น่าเตะก้นตัวเองโทษฐานเห็นแก่ของถูก

ประสบการณ์ส่วนตัวผู้เขียนเคยสั่งซื้อหูฟังของแท้ยี่ห้อดังจากเว็บช็อปปิ้งออนไลนแห่งหนึ่ง เมื่อได้รับของพบว่าหูฟังข้างหนึ่งมีเสียงแตก จึงจัดการส่งกลับไปเคลมได้ตัวใหม่มาแทนภายในไม่กี่วัน ลองเทียบราคาของหิ้วแล้วต่างกันไม่ถึงสองร้อยมาก งานนี้ถือว่าคิดไม่ผิดที่ยอมจ่ายแพงกว่าในราคาที่ยังยุติธรรม

4. ซื้อหูฟังไร้สายที่ไม่เหมาะกับการดูวิดีโอ

ทราบหรือไม่ว่าหูฟังไร้สายหลายรุ่นนั้นเหมาะกับการใช้ฟังเพลงเพียงอย่างเดียว ไม่เหมาะกับการใช้รับชมภาพยนตร์หรือคลิปวิดีโอต่าง   เพราะมันมีปัญหาภาพกับเสียงไม่ตรงกัน

ปัญหาดังกล่าวอาจมีสาเหตุได้ทั้งจากตัวหูฟังไร้สายเอง หรือที่ตัวเครื่องเล่น นอกจากการทดลองใช้งานจริงตามคำแนะนำในข้อที่ 2. การดูจาก specification บางครั้งก็สามารถการันตีได้เหมือนกันว่าจะไม่มีปัญหาดังกล่าว เช่น หูฟังไร้สายที่ระบุมาว่ารองรับ aptX Low Latency เป็นต้น

จากประสบการณ์ของผู้เขียนหูฟังไร้สายที่มักจะมีปัญหา ภาพกับเสียงไม่ตรงกันมักพบในหูฟังไร้สายแบบ True Wireless มากที่สุด ใครที่สนใจหูฟังไร้สายแบบนี้อยู่หากจะนำไปใช้ชมวิดีโอ อย่าลืมพิจารณาในส่วนนี้ให้ดีนะครับ

5. ซื้อหูฟังไม่สปอร์ตมาใช้แบบสปอร์ต

หูฟังสปอร์ตหรือไม่สปอร์ตในที่นี้ ไม่ได้ดูที่ความโฉบเฉี่ยวเฟี้ยวห้าวมะพร้าวแก้วในการออกแบบนะครับ แต่หูฟังสปอร์ตในที่นี้คือ หูฟังไร้สายที่ออกแบบมาให้ใช้ใส่ในเวลาออกกำลังกายได้ด้วย

คุณสมบัติที่แตกต่างไปของหูฟังไร้สายประเภทนี้ก็อย่างเช่น การกันน้ำ กันเหงื่อ กันฝุ่น กันการกระแทกกระทั้น หรือบางรุ่นอาจมีเซ็นเซอร์วัดชีพจรติดมาด้วย

นอกจากนั้นก็อาจเป็นเรื่องของดีไซน์ที่มีน้ำหนักเบา คล่องตัว สวมใส่แล้วไม่หลุดง่าย เช่น เวลาใส่วิ่งจ๊อกกิ้ง ขี่จักรยานหรือเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่มีความผาดโผน

ดังนั้นก่อนเลือกหูฟังไร้สายไปใส่ทำกิจกรรมโปรด ศึกษาให้ดีเสียก่อน ถ้าไม่มั่นใจแนะนำให้ปรึกษาตัวแทนจำหน่าย สอบถามไปตรง นี่แหละครับว่าหูฟังรุ่นนั้น เหมาะกับกิจกรรมหรือการเล่นกีฬาของเราหรือไม่ และมีขำจำกัดอะไรบ้าง เพราะหูฟังบางตัวที่บอกว่ากันน้ำได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใส่ลงสระหรือลงทะเลไปว่ายน้้ำได้ ในขณะที่บางรุ่นสามารถทำเช่นนั้นได้โดยปราศจากปัญหา

6. มองข้ามเรื่องแบตเตอรี่

หูฟังยิ่งมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา มักจะมีอายุใช้งานแบตเตอรี่ที่สั้น แม้ว่าจะไม่เสมอไปแต่ก็เป็นส่วนใหญ่ หูฟังไร้สายแบบคาดศีรษะโดยมากมักจะชาร์จแต่ละครั้งมักใช้งานได้นานระดับเกิน 8-10 ชั่วโมงขึ้นไป บางรุ่นใช้ได้ถึง 20 ชั่วโมงเลยก็มี

ขณะที่หูฟังแบบ True Wireless อย่าง Apple AirPods ซึ่งมีแบตเตอรี่ขนาดเล็ก มักจะใช้งานต่อเนื่องได้ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง แม้ว่ากล่องใส่หูฟังสามารถทำหน้าที่ชาร์จได้แต่นั่นก็หมายความว่าเราต้องหยุดใช้งานก่อน ถ้ากำลังดูซีรีส์อย่างติดพันอยู่รับรองว่ามีหงุดหงิดแน่นอนครับ

นอกจากนั้นหูฟังไร้สายที่มีระบบตัดเสียงรบกวน เมื่อเปิดใช้งานระบบตัดเสียงรบกวนซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่มากขึ้น ก็จะทำให้อายุใช้งานต่อการชาร์จ 1 ครั้งสั้นกว่าปกติลงไปอีก

อย่างไรก็ดี หูฟังไร้สายแบบคาดศีรษะส่วนใหญ่มักจะออกแบบเผื่อให้สามารถใช้งานได้ในโหมดไม่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ด้วยการให้สายหูฟังสำรองมาให้เสียบใช้ในระหว่างรอการชาร์จไฟด้วย อย่างนี้ก็สะดวกดีเหมือนกันนะครับ

7. ยึดติดแบรนด์มากกว่าคุณภาพสินค้า

ของดีมักจะมาจากยี่ห้อดัง แต่ของยี่ห้อดังไม่การันตีกว่าเป็นของดีเสมอไปนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัจธรรมที่พบเจอในวงการหูฟัง โดยเฉพาะในกลุ่มหูฟังไร้สายที่มีการแข่งขันกันย่างดุเดือดทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี การออกแบบ และการตลาด

หูฟังยี่ห้อที่บางครั้งเราเห็นบรรดาเซเลบฯ ชอบใช้กัน อาจเป็นหูฟังที่ดัง (มีชื่อเสียง) แต่ไม่ใช่หูฟังที่ดีสำหรับเราก็ได้ ผู้เขียนเจอว่าหูฟังไร้สายโนเนมแบรนด์จีน (ไม่ใช่ของปลอม) ราคา 700-800 บาท เสียงไม่ได้ด้อยกว่าหูฟังไร้สายรุ่นเบสิกของยี่ห้อดังราคาเกือบ 2 พันบาทเลย

ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือ เซฟบทความนี้ติดตั้งไว้แล้วใช้เป็นคู่มือเบื้องต้นก่อนเลือกซื้อหูฟังไร้สายตัวใหม่ อย่างน้อยคุณก็จะรอดพ้นจาก 7 เรื่องเฟล นี้อย่างแน่นอนครับ

RECOMMENDED CONTENT

30.พฤษภาคม.2019

ย้อนรอยสู่จุดกำเนิดแห่งดนตรีเทคโนกับผลงาน Black to Techno โดยผู้กำกับฯ หญิงชาวอังกฤษ - ไนจีเรียน Jenn Nkiru ผู้จะพาเราไปสัมผัสวัฒนธรรมดนตรีเทคโนจากจุดกำเนิดที่เมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา จากดนตรีกระแสรองสู่ความนิยมสุดขีดช่วงปลายยุค 1980s นำไปสู่ดนตรีที่สะท้อนต่อสู้เพื่อบทบาทในสังคมและเสรีภาพของกลุ่มคนผิวสีในดีทรอยท์