fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

ทำความรู้จัก “Nakagin Capsule Tower” แคปซูลทาวเวอร์แห่งแรกของโลกในโตเกียว ผ่านชุดภาพถ่ายของ Noritaka Minami
date : 3.มีนาคม.2020 tag :

จากผลงานภาพถ่ายชุด “1972” ของช่างภาพ Noritaka Minami ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นในอพาร์ทเมนต์แบบ Capsule ที่เคยโด่งดังในอดีต จนถึงวันนี้ผ่านมากว่า 47 ปีแล้ว สภาพของอาคารจะเป็นยังไงบ้าง มาดูกัน

“Nakagin Capsule Tower” ผลงานชิ้นสำคัญของสถาปนิกรุ่นใหญ่ชาวญี่ปุ่น “Kisho Kurokawa” (1934-2007) อีกหนึ่ง Landmark ของ Tokyo ที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันดี ในฐานะสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของวงการสถาปัตย์ญี่ปุ่นในยุค Modernism ที่ตอนนั้นกำลังบูมอย่างมาก

ย้อนไปตามชื่อผลงาน ในปี 1972 เป็นปีที่ตึกนี้สร้างเสร็จพอดี ช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวได้หลังจากที่โดนถล่มย่อยยับแพ้สงครามโลกครั้งที่สองมา สำหรับ Kurokawa และอีกหลายสถาปนิกในยุคนั้นเอง ด้วยความที่ซึมซับศิลปะและการออกแบบแนวโมเดิร์นมาเยอะ จึงเกิดการเคลื่อนไหวทางวงการสถาปัตย์ของญี่ปุ่นแนวใหม่เรียกว่า “Metabolist” แนวทางการออกแบบที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ Space ภายใต้พื้นที่จำกัดและการใช้งบประมาณที่ประหยัดด้วย 

ไม่ต่างจากหลักเมตาบอลิซึ่มทางการแพทย์ ที่พูดถึงเรื่องการสร้างและการละลายตัวในกระบวนการผลิตของเซลล์ ตึก Capsule นี้ ที่ใช้หลักการผลัดเปลี่ยนเก่าใหม่เหมือนกัน เริ่มต้นด้วยการวางโครงสร้างแกนหลักตรงกลางเป็นคอนกรีตอย่างหนาแข็งแรง จากนั้นจึงค่อยๆนำห้องแต่ละห้อง (ในที่นี้คือกล่อง Capsule) เข้ามาประกอบเสียบเข้าไปเป็นชั้นๆ รวมกันเป็นอาคารพักอาศัยหน้าตาไม่เหมือนใครอย่างที่เห็น…

ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงในวงการสถาปัตยกรรมทั้งในญี่ปุ่นหรือในโลกเลยก็ว่าได้ ตามเป้าที่ Kurokawa วางไว้มันสามารถอยู่ได้ถึง 200-300 ปี แต่ต้องเปลี่ยนห้อง Capsule ตลอดเวลารอบละไม่เกิน 25 ปี ซึ่งเรื่องจริงมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเอาไว้ เมื่อลูกค้าซื้อขาดแต่ละห้องแล้วกระบวนการที่ว่าก็ทำได้ยากขึ้น ประจวบกับเจ้าของ Nakagin Tower เกิดล้มละลายงบประมาณก็มีไม่พอ จนผ่านไปกว่า 40 ปีแล้วก็ยังไม่เคยได้เปลี่ยน Capsule เลย สภาวะของสถาปัตกรรมชิ้นนี้ก็เลยตกอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคง ดูเป็นอันตราย และเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา

โปรเจคต์ชุดนี้ของ Noritaka Minami จึงเหมือนกับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของชาวญี่ปุ่นเอาไว้ พอเห็นภาพในแต่ละห้อง(ทุกวันนี้ยังมีเจ้าของอาศัยอยู่เป็นปกติ) แล้วไม่น่าเชื่อเลยว่าจะสร้างในต้นยุค 70’s จริงๆ การออกแบบข้างในเอามาเทียบกันกับทุกวันนี้ก็ยังดูทันสมัยอยู่ Noritaka เลือกใช้มุมมองนำเสนอแต่ละภาพแบบตรงๆมี Perspective จุดเดียวตรงกลางได้ออกมาสวย เรียบๆ เหมาะกับห้องแคปซูลเหล่านี้ที่มีหน้าต่างกลมๆกลางห้องบานเดียว นอกนั้นภาพรอบๆก็เป็นสิ่งของเครื่องใช้ เตียงที่นอน บอกเล่าบรรยากาศความเป็นอยู่ของแต่ละห้องแตกต่างกันออกไป ต่อให้บางห้องจะรกหรือบางห้องดูหรูยังไงรวมๆแล้วก็ยังดูสวยและโมเดิร์นสุดๆ แสดงให้เห็นเลยว่ามันเป็นผลงานออกแบบของสถาปนิกที่อยู่เหนือกาลเวลาจริงๆ

ปัจจุบัน “Nakagin Capsule Tower” ยังคงเปิดให้เช่ารายเดือนเป็นบางแคปซูล มีให้เลือก 3 แบบ คือแคปซูล Muji แคปซูลออริจินัล และแคปซูลหน้าต่างโซฟา โดยสนนราคาค่าเช่าต่อเดือนที่ 120,000 เยน หรือราวๆ 35,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีเปิดทัวร์เป็นรอบๆ รอบละ 45 นาที สำหรับใครที่ต้องการเข้าชมสถาปัตยกรรมของที่นี่ โดยราคาทัวร์ภาษาญี่ปุ่น 3,000 เยน ทัวร์ภาษาอังกฤษ 4,000 เยน โดยค่าใช้จ่ายจากทัวร์จะถูกนำไปใช้อนุรักษ์และฟื้นฟูอาคารนี้ต่อไป ซึ่งต้องติดต่อผ่าน nakagincapsule@gmail.com เท่านั้น

Source 1, Source 2

RECOMMENDED CONTENT

18.กรกฎาคม.2019

“MALEE” เดินหน้าพลิกโฉมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องให้มีความทันสมัย หลังได้รับความสำเร็จจากการเปิดตัวผลไม้กระป๋องสูตรหวานน้อยลงกว่าสูตรปกติ 40% แคลอรี่ต่ำ และปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่าสูตรปกติประมาณ 35% ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนทำงาน ประชาชนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย