เริ่มจากการเป็นแบรนด์ที่ราชวงศ์และชนชั้นสูงไว้วางใจให้ทำเครื่องประดับคริสตัลแกะสลักให้ในโอกาสสำคัญต่างๆ เวลายาวนานกว่า 125 ปี Swarovski (สวารอฟสกี้) คือแบรนด์เครื่องประดับที่สร้างพลังให้กับผู้หญิงทุกคนบนโลกมีโอกาสที่จะสง่างามอย่างเท่าเทียมเมื่อได้สวมใส่มัน
เบื้องหลังความแวววาวของเครื่องประดับทุกชิ้น สิ่งที่ทำให้สวารอฟสกี้เป็นแบรนด์จิวเวลรี่อันดับต้นๆ ของโลกมาตลอด 1 ศตวรรษไม่ใช่เพียงแค่การเคารพภูมิปัญญาของคนรุ่นบรรพบุรุษหรือเคารพรากเหง้าของตัวเองเท่านั้น แต่สวารอฟสกี้ยังเห็นคุณค่าของมนุษย์และธรรมชาติด้วย
เราคุยกับ ลาร์ส ชมิธ (Lars Schmidt) กรรมการผู้จัดการธุรกิจสินค้าสำหรับผู้บริโภคคนใหม่ของสวารอฟสกี้ถึงการสร้างพลังให้กับผู้หญิงมาตลอด 125 ปี พร้อมกับแพชชั่นของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อให้โลกนี้ดีขึ้นกว่าเดิม
หลักการทำงานที่แบรนด์สวารอฟสกี้ยึดถือมาตลอดคืออะไร
นอกจากงานฝีมือ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สวารอฟสกี้ยึดถือมาตลอดนั่นก็คือ ‘คน’ เพราะคนเป็นตัวแปรหลักที่กำหนดทิศทางของแบรนด์มาตั้งแต่ปี 1895 ที่ แดเนียล สวารอฟสกี้ (Daniel Swarovski) เริ่มก่อตั้งแโรงงานทำจิวเวลรี่ในเมืองแวทเทินส์ (Wattens) ประเทศออสเตรีย เขาให้ความสำคัญกับคนรอบข้างเขาเสมอ โดยเฉพาะคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง ช่างฝีมือ ไปจนถึงครอบครัวของคนเหล่านั้น เขาต้องแน่ใจว่าทุกคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อทำงานกับเขา ผมว่าสิ่งที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะแดเนียล สวารอฟสกี้ให้โอกาสคนเหล่านั้นนี่แหละ ทำให้องค์กรแข็งแกร่งอย่างรวดเร็วตั้งแต่ตอนนั้น อีกสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งเรายึดถือในการทำเครื่องประดับมาตลอด นั่นก็คือการสร้างพลังให้กับผู้หญิงในทุกยุคทุกสมัย
เมื่อพูดถึงสวารอฟสกี้ เราจะนึกถึงความคราฟต์ สวารอฟสกี้หาสมดุลของความคราฟต์ของงานฝีมือกับเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างไรในปัจจุบัน
เราให้ความสำคัญกับงานฝีมือมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่การทำจิวเวลรี่ การแกะสลักคริสตัล รวมถึงการทำนาฬิกา ผมอาจจะไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ถึงกระบวนการทั้งหมด แต่แน่นอนว่ากว่า 125 ปีที่ผ่านมา เราทำงานฝีมือเหล่านี้ด้วยความประณีต มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนที่ไหน สิ่งที่คนอาจจะนึกไม่ถึงคือยุคเริ่มต้นก่อตั้งโรงงาน เราก็เปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยในการผลิตตั้งแต่เวลานั้น เรียกว่าเราไม่เคยหยุดพัฒนาเลย ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีอาจไม่ได้เป็นคีย์หลักของเราขนาดนั้น เพราะถึงอย่างไรเรายังให้ความสำคัญกับงานฝีมือจากมนุษย์อยู่
ผมมองว่ามันเข้ามาช่วยให้การสื่อสารของแบรนด์ง่ายขึ้นมากกว่า เพราะเมื่อ 125 ปีที่แล้ว เราไม่ได้มีโซเชียลมีเดียเหมือนอย่างทุกวันนี้ หรือแม้แต่ 25 ปีที่แล้วมันก็ไม่ใช่แบบนี้ จริงไหมครับ ทุกวันนี้เราใช้โซเชียลฯ ในปล่อยแคมเปญ ในการทำการตลาดต่างๆ มันให้เรากับลูกค้าใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก นี่คือข้อดีของเทคโนโลยีที่ชัดเจนที่สุด
สวารอฟสกี้ปรับตัวอย่างไรกับผู้บริโภคที่กว้างขึ้นและหลากหลายมากขึ้น
ด้วยความที่ลูกค้าของสวารอฟสกี้ทั่วโลกมีความหลากหลายมาก มีรายละเอียดความต้องการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เราจึงต้องตอบโจทย์ให้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้หญิง ในทุกไลฟ์สไตล์ ในทุกโอกาส เครื่องประดับของเราจึงต้องใส่ไปทำงานได้ ใส่ไปร้านกาแฟ ใส่ไปช้อปปิ้ง ใส่ในวันสบายๆ จนถึงหยิบมาใส่โอกาสพิเศษต่างๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเรื่องของดีไซน์เราถึงกว้างมากๆ และทีมดีไซเนอร์ของเราก็ใหญ่มากขึ้นด้วยเพื่อตอบโจทย์ตรงนี้
เรามีการคอลลาบอเรชั่นกับเเบรนด์อื่นๆ มีการร่วมงานกับแฟชั่นดีไซเนอร์คนดังของโลก อย่างคอลเล็กชั่นฤดูร้อน 2020 นี้ เราคอลเเลบฯ กับ LINE Friends ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่เอาใจคนยุคมิลเลนเนียลสุดๆ ตัวการ์ตูน LINE เหมือนเป็นตัวสื่อสารระหว่างเรากับคนรุ่นใหม่ได้ดีเลยทีเดียว นอกจากนั้นสัญลักษณ์ไอคอนิกของแบรนด์อย่าง ‘หงส์’ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นชิ้นที่ขายดีที่สุดอันดับต้นๆ ทั่วโลกอยู่ ทั้งหมดนี้ เราพยายามตอบรับความหลากหลาย ทั้งรสนิยม ความชอบ และวัฒนธรรมอันแตกต่างของลูกค้าเราให้ได้มากที่สุด
แรงบันดาลใจในการออกแบบแต่ละครั้งของสวารอฟสกี้ได้มาจากไหน
ในแต่ละคอลเล็กชั่น เรามีคอนเซ็ปต์หลักที่เหมือนกันทั่วโลก เช่น ในปี 2020 นี้ มีโจทย์คือคำว่า ‘Energy’ คอลเล็กชั่นวันวาเลนไทน์ เราก็มีธีม ‘Emotional Energy’ เล่าเรื่องความรัก ความรู้สึกของผู้คน เชื่อมโยงกับคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิที่เราพูดถึงการกลับสู่ธรรมชาติ การเคารพธรรมชาติ หรือ ‘Mother Nature’ โปรดักซ์ของเราจึงออกมาเป็นลวดลายใบไม้ ดอกไม้ พอมาถึงฤดูร้อน ซึ่งเป็นไฮไลต์ของปี เราเล่นกับคำว่า ‘High Energy’ กับความสดใสของหน้าร้อน หรืออย่างล่าสุดที่เราคอลเเลบฯ กับหนังเรื่อง Wonder Woman ที่กำลังจะเข้าฉายในปีนี้ หลักๆ แล้วงานออกแบบของเราอิงกับฤดูกาลและเทรนด์ เรามีเครื่องประดับแบบดั้งเดิมของเราอยู่ ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะหยิบแฟชั่นใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลามาใช้ในการออกแบบด้วยเหมือนกัน
ในยุคแห่งความหลากหลาย สวารอฟสกี้มองถึงการผลิตเครื่องประดับที่ไม่ได้มีกรอบของเพศ หรือความไร้เพศ (Genderless) บ้างหรือไม่
เราให้ความสำคัญกับการทำเครื่องประดับสำหรับผู้หญิงเป็นหลักก็จริง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป แน่นอนว่าในหลายๆ คอลเล็กชั่นที่ผ่านมาเราก็พยายามคิดถึงเรื่องความ Unisex และความหลากหลายในการออกแบบเพื่อคนทุกเพศมาโดยตลอด อย่างจะเห็นว่าเรามีไลน์เครื่องประดับและนาฬิกาสำหรับผู้ชายแยกย่อยออกมาด้วยเหมือนกัน หรืออย่างสิ้นค้าขายดีที่สุดชิ้นหนึ่งของเราก็คือ Tennis Bracelet ที่มีความ Unisex อยู่ในนั้น และเราเองอยากจะพัฒนาโปรดักซ์ของเราต่อไปในโลกแห่งความหลากหลายให้มากขึ้นกว่านี้ในอนาคตด้วย
การสร้างพลังให้กับผู้หญิงสำคัญกับแบรนด์อย่างไร
ผมมองว่ายุคนี้เป็นยุคที่ผู้หญิงมั่นใจมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน กล้าที่จะเปิดเผยตัวตนผ่านเสื้อผ้าที่ใส่ ผ่านสิ่งที่เรียกว่าแฟชั่นมากขึ้น รวมถึงเครื่องประดับเองก็เช่นกัน ผมว่าตอนนี้แหละที่เครื่องประดับจะมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เมื่อก่อนคนอาจคิดถึงการซื้อเครื่องประดับในแง่ของการลงทุน ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ผู้หญิงยุคมิลเลนเนียลมองหาเครื่องประดับที่ไม่ได้เพียงแค่ใส่แล้วสวยอีกต่อไป แต่มองหาอะไรที่มีเรื่องราวที่อยู่ในนั้น เครื่องประดับที่จะใส่เพื่อแสดงออกถึงตัวตน และสิ่งที่อยู่ภายในของพวกเธอได้ชัดเจนที่สุด ทำให้เครื่องประดับของเรามากกว่าเรื่องของดีไซน์ ยังจำเป็นต้องมีเรื่องราวอยู่ในนั้นทุกชิ้น
และในคอลเล็กชั่นครบรอบ 125 ปี ของสวารอฟสกี้ เรารวบรวมเครื่องประดับชิ้นไอคอนิก 17 ชิ้นที่เคยมีมาในแต่ละยุคสมัย โดยใส่สีน้ำเงิน สีประจำของแบรนด์ลงไปในแต่ละไอเท็มเหล่านั้น ให้คนรับรู้เรื่องราวของการสร้างพลังให้กับผู้หญิงทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ของเรา
สวารอฟสกี้ก้าวต่อไปกับการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างไรบ้าง
นอกจากการสร้างพลังให้กับผู้หญิง แดเนียล สวารอฟสกี้ทำธุรกิจโดยตระหนักอยู่ 3 สิ่งมาตลอดคือ เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) การทำงานออกแบบด้วยจิตสำนึก (Conscious Design) และการร่วมธุรกิจอย่างเป็นธรรม (Fair Partnership) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์ ทุกอย่างที่เขาทำ เขาจะคิดจากความยั่งยืนก่อนเสมอ
เหตุผลที่ว่าทำไมโรงงานของสวารอฟสกี้ถึงเลือกที่จะตั้งอยู่ ณ เมืองแวทเทินส์ ก็เพราะว่าเป็นชัยภูมิที่มีแม่น้ำไหลผ่าน ทำให้สามารถใช้พลังงงานไฮโดรอิเล็กทริก (Hydro-electric Power) ในกระบวนการผลิตจิวเวลรี่เมื่อกว่า 125 ปีที่แล้วได้ ซึ่งพอมองย้อนกลับไป ผมว่ามันเป็นอะไรที่ล้ำสมัยมากๆ สำหรับตอนนั้น น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อเรามากๆ ทำให้สวารอฟสกี้สร้างโรงเรียน Swarovski Waterschool มากว่า 20 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2000 เราให้ความรู้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กๆ เยาวชน รวมถึงครอบครัวของพวกเขาให้เรียนรู้ที่จะรักษาทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และการทำให้ทรัพยากรน้ำให้สะอาด เพื่อประชากรในหลายๆ ประเทศที่ไม่มีแม้แต่น้ำใช้ จะได้เข้าถึงน้ำสะอาดเหล่านี้ รวมถึงเราให้ความรู้เรื่องกระบวนการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และกระบวนการรีไซเคิลจากการผลิตของเราแก่เยาชนทั่วโลกด้วย สิ่งแวดล้อมป็นเรื่องสำคัญที่เราตระหนัก ทำมาตลอด 20 ปีนี้ และจะทำต่อไปแน่นอน เพื่อจะสร้างความยั่งยืนให้โลกของเราครับ
ขอบคุณสถานที่ : The Athenee Hotel, a Luxury Collection Hotel, Bangkok
เลขที่ 61 ถนนวิทยุ แขวงลมุพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
RECOMMENDED CONTENT
“MALEE” เดินหน้าพลิกโฉมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องให้มีความทันสมัย หลังได้รับความสำเร็จจากการเปิดตัวผลไม้กระป๋องสูตรหวานน้อยลงกว่าสูตรปกติ 40% แคลอรี่ต่ำ และปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่าสูตรปกติประมาณ 35% ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนทำงาน ประชาชนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย