เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี ได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจร (Press Tour) ขึ้นที่จังหวัดสระบุรี ภายใต้โครงการ “จัดส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ป่าสัก” โดยมี นายสุฤกษ์ ศิลปอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี เขาร่วมกิจกรรมกับสื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นและสื่อโซเชียลมีเดียรวมกว่า 40 ชีวิต ลงสัมผัสเส้นทางท่องเที่ยว “วิถีชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสัก” เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงาม ชิมอาหารพื้นถิ่น และสัมผัสวิถีชีวิตชาวนาในพื้นที่จังหวัดสระบุรี หนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวตัวอย่างที่จัดขึ้นเฉพาะกิจในแบบ On day Trip (เช้าไปเย็นกลับ) โดยเริ่มต้นช่วงเช้ากันที่ “ชาวนาวิถีหนองแซง” อ.หนองแซง หลังสักการะหลวงพ่อขอมและชมพิพิธภัณฑ์วัดอู่ตะเภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้พักรับประทานอาหารเช้าเมนูพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและเป็นเมนูแสนอร่อยมีคุณค่าทางโภชนาการที่หาชิมได้ยากยิ่งอย่างเมนู “ข้าวหยด” ซึ่งตัวข้าวหยดทำจากข้าวเจ๊กเชย ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดีที่มีแหล่งกำเนิดที่จังหวัดสระบุรี ก่อนจะตบท้ายด้วยขนมหวานพื้นบ้านแสนอร่อย “ขนมเปียกปูน” ที่เหนียวนุ่มหอมอร่อยและ “ขนมตาล” ที่ใช้ตาลสดจากต้นมาเป็นส่วนผสมหลัก หลังจากนั้นก็ออกเดินทางสู่ท้องนาด้วยรถอีแต๊ก เพื่อร่วมกิจกรรม “หว่านแห้ง” โดยใช้ข้าวพันธุ์เจ๊กเชยซึ่งวิธีการหว่านแห้งนี้เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะทำในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการทำนา ซึ่งการสัมผัสการทำนาในรูปแบบหว่านแห้งนี้ ก็เป็นที่ประทับใจสื่อมวลชนทุกสำนัก เนื่องจากยังไม่เคยเห็นและเป็นความรูใหม่และประทับใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปรับตัวจากสภาพแวดล้อมในการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายของภาคเช้าที่สื่อมวลชนได้ร่วมกันทำกับชาวนาในชุมชนด้วยความสนุกสนานและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชุมชนหนองแซง จ.สระบุรี
จากนั้นเดินทางมาต่อกันที่ ‘หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไท–ยวน’ เพื่อรับประทานอาหารกลางวันด้วยวัฒนธรรม “ขันโตก” ของชาวไท–ยวนแท้ และชมการแสดง “ฟ้อนเล่าเรื่องไท–ยวน สระบุรี” ที่และงดงามตระการตา ซึ่งงานนี้สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน จะได้้รับประทานขันโตกแบบแยกโตก ตามหลักการ “Social distancing” การรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
หลังจากนั้น นายสุฤกษ์ ศิลปอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงหลักการ แนวคิด วัตถุประสงค์ของโครงการ “จัดส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ป่าสัก” พร้อมเผยการเชื่อมต่อของ 3 เส้นทางท่องเที่ยวทั้ง 6 จังหวัดภาคกลางตอนบน (สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง) เอาไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยดึงเอาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และเสน่ห์ของแต่ละจังหวัดออกมาแบ่งได้เป็น 3 เส้นทางได้แก่
เส้นทางที่ 1 จังหวัดสระบุรีและลพบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ได้แก่ชาติพันธุ์ลาวเวียงและชาติพันธุ์ไทยวน จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวหลักคือ วัดอู่ตะเภา, พิพิธภัณฑ์วัดอู่ตะเภา และวิถีชาวนาหนองแซง, หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนและวัดเขาแก้ววรวิหาร, ส่วนจังหวัดลพบุรีก็จะมี ชาติพันธุ์ไทยเบิ้งและชาติพันธุ์ไทยพวน โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวหลักคือ ชุมชนไทยพวนบ้านทรายและพิิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงและวิถีชีวิตชาวนาริมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เส้นทางที่ 2 คือจังหวัดชัยนาทและสิงห์บุรี ซึ่งเป็นเส้นทางอู่ข้าวอู่น้ำและอาหารปลาแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวหลักคือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินทร์บุรี, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนและวัดกุฎีทอง, ชุมชนไทยพวนบางน้ำเชี่ยว และวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี, ส่วนจังหวัดชัยนาทก็จะมี ชิมเมนูปลาแม่น้ำเขื่อนเจ้าพระยา, ชมหุ่นฟางนกที่กลุ่มหุ่นฟางนกเล็กวัดโคกเข็ม และตลาดสรรยาและโรงพักเก่า ร.ศ. 120
เส้นทางที่ 3 คือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง ซึ่งเป็นเส้นทางของงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม อันเป็นการเชื่อมโยงกับวิถีชาวนาและวิถีชีวิตชุมชน ที่บ่งบอกถึงตัวตน อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ที่ดีงามเอาไว้ โดยแหล่งท่องเที่ยววิถีชาวนาของจังหวัด แปลงโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา, ชุมชนตีมีดอรัญญิก, งอบไทยชุมชนบางนางร้า ส่วนจังหวัดอ่างทองมี ศูนย์ตุ๊กตาชาววัง, จักสานไม้ไผ่บางเจ้าฉ่า, วัดม่วง และการแสดงพื้นบ้านละครชาตรี ที่อำเภอวิเศษชัยชาญ
ซึ่งทั้ง 3 เส้นทาง ใน 6 จังหวัด จะเชื่อมโยงด้วยท้องนาและเล่าเรื่องผ่านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของวิถีชาวนาในแต่ละชุมชน, ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์, ขนบธรรมเนียมประเพณี, ศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, อาหารพื้นบ้าน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังวิกฤตของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศไทย และได้ถ่ายทอดและบอกเล่าถึงการท่องเที่ยวที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวนาในรูปแบบใหม่ โดยไม่ได้เน้นพานักท่องเที่ยวไปเรียนรู้วิธีการทำนา อาทิ การดำนา การเกี่ยวข้าว หรือกระบวนการทำนา หากแต่เป็นการท่องเที่ยววิถีชาวนาในมิติใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ได้เรียนรู้ วิถีชีวิตชาวนาอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นวิถีชาวนาที่นอกเหนือจากการทำนา ทั้งในช่วงหลังฤดูกาลทำนา หรือช่วงว่างเว้นจากการทำนา ไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยวิถีของชาวนาภาคกลางตอนบน 6 จังหวัด ได้มีความหลากหลายและล้วนเป็นการสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน อาทิเช่น งานหัตถกรรม งานหัตถศิลป์ อาหารพื้นบ้าน รวมถึงภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การทอผ้า การจักสาน หรือการปั้นตุ๊กตา เป็นต้น
และโครงการ “จัดส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ป่าสัก” ยังได้นำรูปแบบการเผยแพร่ใหม่ ๆ โดยให้ “บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว” เข้ามามีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์โครงการมากยิ่งขึ้น และเน้นการใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ และวิถีของคนยุคปัจจุบัน อาทิ บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว Gogetlost, PakaPrich, กินแก้มตุ่ยตะลุยเที่ยว และ PST. เป็นต้น
ก่อนจะปิดท้ายทริปสื่อสัญจร ในแบบ On day Trip สื่อมวลชนได้เดินชมหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนบนเรือนไม้โบราณอายุกว่า 200 ปี พร้อมชมการทอผ้าพื้นบ้านไทยวน ก่อนจะเดินท่องเที่ยวใน “ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล” เพื่อชมวิถีชีวิตชุมชนในตลาดพื้นบ้านไทยวน ชิม “ขนมกง” และ “ขนมเพ้อเร้อ” ขนมพื้นบ้านไทยวนและน้ำตาลสดรสอร่อย ก่อนจะแวะไหว้พระที่วัด “วัดเขาแก้ววรวิหาร” วัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานคู่วิถีชาวนาไทยวน จังหวัดสระบุรีแห่งนี้ ก่อนเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
เรียกว่าเป็นทริปสั้น ๆ แบบเช้าไปเย็นกลับที่อิ่มใจและอิ่มท้องกับอาหารพื้นบ้านและการต้อนรับที่อบอุ่นจากทุกชุมชนที่สื่อมวลชนได้เดินทางไปเยือน
RECOMMENDED CONTENT
“Smile” ซิงเกิ้ลล่าสุดจากวงดนตรีวงดนตรีที่ดีที่สุดของสห […]