หลังจากที่เพิ่ง Cancel ทัวร์กรุงเทพไปหมาดๆ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เรามาทำความรู้จัก Eric Clapton มือกีตาร์จากเกาะอังกฤษที่มีหัวใจของคนผิวสีอเมริกันอย่างเต็มเปี่ยมคนนี้กัน (ตอนนี้อายุ 68 ปี) ถือเป็นคนขาวไม่กี่คนที่เล่นเพลง Blues ได้อย่างถึงกึ๋น เพื่อเป็นการต้อนรับการมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้ (ครั้งที่สามแล้ว!) เราขอเล่าประวัติเส้นทางดนตรีแบบคร่าวๆของเขา ผ่านการแนะนำสิบเพลงบลูส์ที่คัดมาจากสไตล์การเล่นแต่ละยุคให้ฟังกัน ส่วนจะมีเพลงโปรด อัลบั้มโปรดของใครอยู่บ้างไหม เลื่อนเมาส์ลงแล้วไล่ดูและฟังได้เลย!
Hideaway (3:17) จากอัลบั้ม “Blue Breakers with Eric Clapton (1966)” ถึงแม้ว่า Clapton ตอนนั้นในวัย 21 ปี เคยโด่งดังมาก่อนจากวง The Yardbirds ที่งานเพลงออกไปในทาง Pop ฟังลื่นหู (Jeff Beck, Jimmy Page ก็เคยเล่นอยู่ด้วย) แต่แฟนๆรู้ไหมว่าเพราะการเล่นกับ John Mayall ในอัลบั้มนี้ โดยเฉพาะ Track ที่เราพูดถึงนี่ล่ะ ที่ช่วยทำให้คนอังกฤษสัมผัสได้ถึงความรักในดนตรีบลูส์ของชาวผิวสีอเมริกันที่ Clapton มีอยู่ล้นเป็นแรงบันดาลใจหลักในการเล่นกีตาร์ แถมเปลี่ยนจาก Fender Telecaster เสียงนุ่มมาเป็น Gibson Les Paul ผลงานชุดนี้โด่งดังถึงขนาดที่ไปดลใจให้กราฟฟิตี้ในอังกฤษคนนึงพ่นกำแพงว่า “Clapton is God” จากนั้นก็กลายเป็นวลีติดหูของคนทั่วไปหมด น่าเสียดายว่าเขาร่วมแจมกับวงนี้เพียงแค่เดือนเดียวก็แยกไปเดินทางของตัวเองแล้ว
Steppin’ Out (13:39) จากอัลบั้ม “Live Cream Volume II (1968)” หลังจากสร้างชื่อในแทร็คที่แล้วไปแล้ว แน่นอนว่า Clapton ได้กลายเป็นเทพกีตาร์ของเกาะอังกฤษอย่างเต็มตัว เขาเล่นกับวงมากมายในช่วงเวลาไม่ถึง 5 ปี หนึ่งในนั้นคือ “Cream” สุดยอดวงดนตรีสามชิ้นที่ในยุคนั้น ฮิปปี้คนไหนได้ดูคอนเสิร์ตเป็นต้องทึ่งกับฝีมือของพวกเขา มีเพลงดังอย่าง “Sunshine of your Love” (เอาซะจน Jimi Hendrix บินข้ามน้ำมาท้าชนถึงอังกฤษ) Clapton ในยุคนี้มาพร้อมสไตล์การเล่นที่ดุดัน กับกีตาร์ Gibson SG โทนเสียง Woman Tone ที่ใครก็หลงใหล ลองฟังจาก Track ที่เลือกมานี้เป็นการแจมสดของวง แค่ Riff กีตาร์สุดเท่ท่อนแรกก็ชัดเจนเลยว่าพวกเขาเป็นต้นแบบของบรรดาวง Hard Rock ที่เกิดหลังอย่างแท้จริง
Bell Bottom Blues (5:01) จากอัลบั้ม “Layla and Other Assorted Love Songs (1971)” จบจากวง Cream มาหมาดๆ Clapton และผองเพื่อนที่เล่นดนตรีด้วยกันในยุคนั้นก็ตัดสินใจฟอร์มวง Blues Rock แบบครบชุดกันขึ้นมา คือ “Derek and The Dominos” ออกอัลบั้มกันมาเพียงชุดเดียว (คือชุดที่พูดถึงนี่ล่ะ) ได้ “Duane Allman มาร่วมแจมด้วย” มีเพลง Rock อมตะอย่าง “Layla” ที่ไม่ว่าจะเล่นคอนเสิร์ตยุคไหน ประเทศอะไร ต้องมีอยู่ใน Setlist แน่นอน (รับประกันว่ามาเล่นที่กรุงเทพคราวนี้เขาก็ไม่พลาด) Track ที่เราเลือกมาให้ฟังกันคือ “Bell “Bottom Blues” เพลงบัลลาดที่ครองใจนักฟังเพลงขาม้ารุ่นพ่อในบ้านเรามาจนถึงทุกวันนี้
I Shot the Sheriff (4:20) จากอัลบั้ม “461 ocean boulevard (1974)” อัลบั้มเดี่ยวชุดที่สองของเขา ในยุคที่ความเป็นบุปผาชนเริ่มหมดไปและความเป็นรุ่นใหญ่เริ่มเข้ามาแทนที่ เป็นการ Cover เพลงของ Bob Marley ตำนานเพลง Reggae ที่ใครก็ต้องรู้จัก เอามาทำใหม่ใส่กลิ่นอายบลูส์ลงไป ออกมาเป็นส่วนผสมที่ลงตัว อาจจะเป็นรสชาติที่แฟนเพลงของ Clapton ยุคแรกๆไม่ถูกปากเท่าไรนัก แต่รับรองว่าถ้าลองชิมดู ฟังเรื่อยๆจะพบว่าเพลงนี้ “เก๋า” จริงๆ เป็นเพลงที่ยังคงเล่นอยู่ในทุกๆทัวร์คอนเสิร์ตปัจจุบัน… ไม่แน่มาไทยครั้งนี้เราอาจจะได้ฟังกันด้วย
Cocaine (3:41) จากอัลบั้ม “Slowhand (1977)” เอ้า! พวกเราลุกขึ้นยืนกันรึยัง? เพลงชาติของแฟนเพลง Eric Clapton มาแล้ว พูดถึงตั้งหลายเพลงจะข้ามเพลงนี้ไปได้ไงจริงไหม? ชื่ออัลบั้มตั้งตาม ฉายาของเขาที่มีมาตั้งแต่เล่นดนตรีแรกๆ ไม่ใช่แปลว่า เขามือช้าเล่นกีตาร์ช้าหรืออะไรนะ ในทางกลับกันเขาเล่นโซโล่ไวและหนักหน่วงซะจนสายกีตาร์ขาดอยู่บ่อยๆ จนวงต้องเล่นรอ แล้วคนดูก็ต้องค่อยๆปรบมือเป็นจังหวะช้าๆรอเปลี่ยนสาย เป็นที่มาของคำว่า Slow เอามาล้อกันเป็นฉายาที่เพื่อนเรียกกัน… กลับมาที่ Track นี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงสไตล์การเล่นของ Clapton ในยุคก่อนเข้าสู่ 80’s อย่างแท้จริง การโซโล่ที่ไม่จำเป็นต้องเยอะแยะ แต่เน้นลูกที่ไพเราะเสนาะหู เพลงดังคู่กันกับเพลงช้าในอัลบั้ม “Wonderful Tonight”
Something Special (2:36) จากอัลบั้ม “Another Ticket (1981)” งานเพลงช่วงที่แฟนๆบอกว่าเป็นขาลงของเขา แต่เรากลับคิดว่างานชุดนี้ที่แสดงถึงทักษะการแต่งเพลงของ Clapton จริงๆ เป็นยุคที่แต่งเพลงตัวเองออกมาเยอะมาก จากปกติอัลบั้มเดี่ยวของเขาจะเป็นการหยิบเอาเพลงบลูส์รวมไปถึง Jazz Standard เก่าๆมาทำใหม่ เราเริ่มกัน Track แรกของอัลบั้มที่เรามาฝากกันเป็นเพลงฟังสบายๆเนื้อหาดี แฟนๆลองกดฟังดู ไม่แน่เพลงนี้อาจจะเข้าไปอยู่ในหมวดเพลงของ Clapton เพลงโปรดจัดใน Playlist ครั้งต่อไปก็ได้
Tears in Heaven (4:30) เพลงดังตลอดกาลของ Eric Clapton ที่ใครก็ต้องเคยฟัง แม้จะโด่งดังแต่เบื้องหลังที่มาของเพลงนี้อย่างที่รู้กันดีว่าเป็นเรื่องเศร้ามาก (เขาแต่งให้ลูกชายที่เสียชีวิตตกลงมาจากตึก) เป็น Track ที่อยู่ในอัลบั้มที่เขาทำเพลงประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่อง Rush (1992) ผลงานกีตาร์โปร่งที่ยังคงเล่นให้ฟังกันทุกๆคอนเสิร์ต เป็นเหมือนการสรุปยุคการเล่นเพลงแบบเบาๆฟังสบายๆของ Clapton
Hoochie Coochie Man (3:16) จากอัลบั้ม “From the Cradle (1994)” อัลบั้มรวมเพลง Cover เพลงบลูส์นี้ เริ่มเป็นภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่า เขาเป็นมือกีตาร์เล่นเพลง Blues ตัวจริง อัลบั้มนี้เป็นการจับเอาเพลงบลูส์ชื่อดังทั้งหลายมาทำใหม่ และที่เราเลือกเพลง Hoochie Coochie Man มาแนะนำกันก็เพราะว่าเป็นเพลงอมตะตลอดกาลที่ Clapton เองยังชอบเล่นอยู่ในคอนเสิร์ตจนถึงทุกวันนี้
Three O’Clock Blues (8:36) จากอัลบั้ม “Riding with the King (2000)” นี่คือผลงานชุดที่ขมวดปมความเป็นหนุ่มผิวขาวเล่นดนตรีคนผิวสีได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหตุที่กล้าพูดแบบนั้นก็เพราะว่า เขาได้จับคู่กับนักดนตรีรุ่นใหญ่อย่าง B.B. King ทำเพลงกันออกมามากมาย นี่เป็นจุดกำเนิดที่ทำให้หลังจากนี้ไป Clapton ก็จัดงานเทศกาลดนตรี Crossroads อยู่เป็นประจำ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ดนตรีบลูส์ยังคงไม่ตายหายไปจากโลกทุกวันนี้
Rocking Chair (4:04) จากอัลบั้ม “Clapton (2010)” งานเพลงชุดก่อนล่าสุดของเขา ที่แสดงให้เห็นถึงความเก๋าขึ้นตามวัยของ Eric Clapton (แค่หน้าปกอัลบั้มก็รู้แล้วว่าแกผ่านร้อนผ่านหนาวมาขนาดไหน) อัลบั้มที่ 20 ชุดนี้รวมเพลงบลูส์นำเอามาเล่นใหม่มากมายเช่นเคย กดฟังเพลงนี้แล้วเลื่อนกลับขึ้นไปฟังที่เราแนะนำกันเพลงแรกๆของเขา จะเห็นเลยว่าต่างกันโดยสิ้นเชิง แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของมือกีตาร์สำเนียงหวานคนนี้อย่างชัดเจน นี่สิรุ่นใหญ่!
Writer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
กลับมาอีกครั้งสำหรับสองพี่น้องวงดูโอ้มากความสามารถระดับอินเตอร์อย่าง “Plastic Plastic” (พลาสติก พลาสติก) ประกอบด้วย “เพลง - ต้องตา จิตดี” (ร้องนำ, คีย์บอร์ด) และ “ป้อง - ปกป้อง จิตดี” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) หลังจากปล่อยอัลบั้ม Anything Goes ให้แฟน ๆ ได้ฟังไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา