หลายคนคงเคยเห็นภาพวัดพระธรรมกายที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ กันบ้างแล้ว โวยดีไซน์ที่ดูโมเดิร์นและมินิมอลแปลกตาจาก ‘วัดไทย’ ที่เราคุ้นเคย
วันนี้เราได้รับเกียรติจาก ‘พระสมุห์พิชิต ฐิตชโย’ พระธรรมทูตสายต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย นิวคาสเซิล มาเล่าคอนเซ็ปท์ของวัดทั้งหมด
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าท่านเรียนจบสถาปัตยกรรมโดยตรง ทำให้ท่านมีความรู้ความสามารถในการทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมออกแบบวัดพระธรรมกายมาแล้วกว่า 60 – 70 โปรเจ็กต์ จากวัดทั้งหมดเกือบ 100 แห่งทั่วโลก
ทางดู๊ดดอทขอเอ่ยชื่อ ‘พระสมุห์พิชิต ฐิตชโย’ ว่า ‘ท่านพิชิต’ ตามที่ได้โทรสัมภาษณ์ เพื่อให้ทุกคนอ่านได้ไหลลื่นครับ
‘พระสมุห์พิชิต ฐิตชโย’ พระธรรมทูตสายต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย นิวคาสเซิล
“วัดพระธรรมกายทั่วโลกต้องเริ่มจากการเช่าบ้านเพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนาก่อน แล้วค่อยๆ รวบรวบศรัทธาสาธุชนให้พร้อมว่าเราสามารถสร้างวัดจริงๆ จึงหาอาคารถาวร” ท่านพิชิตเล่าจุดเริ่มต้นของวัดพระธรรมกายทั่วโลกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะมาถึงจุดนนี้ เพราะในต่างประเทศการขอใช้อาคารในทางศาสนาเป็นเรื่องหินที่สุด ในบางประเทศในยุโรปถึงขั้นห้ามใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนาที่นอกเหนือจากศาสนาคริสต์ “ในประเทศอังกฤษค่อนข้างเปิดรับ เมื่อเราพร้อมก็เริ่มหาสถานที่ที่ขออนุญาตไม่ยาก”
Service Building หรือ อาคารให้บริการ จึงเป็นเป้าหมายที่ท่านพิชิตตั้งไว้ ซึ่งในอังกฤษมีโบสถ์ คาทอลิก – โปรแตสแตนท์ ขายเยอะมาก ส่วนใหญ่คนที่ซื้อไปก็เอาไปทำผับบาร์ ร้านอาหาร รวมถึงที่พักอาศัย ท่านพิชิตมองว่าควรไปหาโบสถ์แบบนี้มาทำเป็นวัดเพราะไม่ต้องขออนุญาตใหม่เพราะเป็นงานทางศาสนาเหมือนกัน
“อาตมาหาในเมืองนิวคาสเซิล ไม่นานนักก็ได้โบสถ์ร้างหลังนึงและ Service Building อีกหลังนึง ซึ่งทั้งสองหลังมีอาคารติดกัน มีพื้นที่รวมกัน 0.8 เอเคอร์ หรือประมาณ 2 ไร่” หลังจากได้อาคารทั้ง 2 นี้แล้ว ต้องยอมรับว่าสภาพอาคารชำรุดต้องซ่อมแซมเยอะมาก ค่าซ่อมแซมที่ใช้ไปมากว่ามูลค่าของตัวอาคารหลายเท่า
ตัวอาคารก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1872 ตอนนี้ก็มีอายุกว่า 151 ปี ซึ่งถือเป็นอาคารอนุรักษ์ “รู้กันดีอยู่แล้วว่าประเทศอังกฤษมีความเป็นอนุรักษ์นิยม อาคารบ้านเรือนของเขาดูแลอย่างดี โดยมีกฎว่า อาคารที่มีอายุเกิน 100 ปี ถ้าจะทำการดัดแปลง ต่อเติม หรือก่อสร้าง ต้องขออนุญาตหมด” ท่านพิชิตกล่าว “อาตมาขออนุญาตปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเพื่อประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา ให้พระสามารถจำวัดได้ ทำเป็นหอฉันได้ และสำนักงาน ส่วนตัวโบสถ์ก็ขอทำกิจกรรมทางศาสนาได้”
เนื่องจากตัวอาคารเก่ามีดีไซน์แบบโกธิค และตัวโบสถ์เป็นอาคารที่มีหอสูงเด่น 58 เมตร มีความสวยงามเป็นทุนเดิม ท่านพิชิตเห็นอย่างนี้แล้วก็อยากรักษาตัวตนของโบสถ์ไว้ เลยคิดว่างานออกแบบต้องไม่ไทยจนเกินไป ในขณะเดียวกันยังรักษาตัวตนของอาคารไว้ด้วย เมื่อโจทย์เป็นอย่างนี้แล้ว งานออกแบบต้องอยู่ระหว่างตะวันตกและไทย
เริ่มจากพื้น “อาตมาเลือกใช้พื้นไม้สักกับไม้มะฮอกกานี ตั้งแต่พื้น ชั้นวางของ รวมถึงบริเวณที่ใช้ฉันข้าว” ส่วนผนังท่านพิชิตบอกว่าดั้งเดิมเป็นผนังกรุที่ปิดด้วยวอลเปเปอร์เหมือนในพระราชวัง ก็นำดีไซน์ตรงนี้มาผสมกัน ส่วนฝ้าทำแบบโบราณคือย่อมุมไม้สิบสองขึ้นไป 3 – 4 ชั้น ผสมกับกับดาวฝ้าไทยที่นำรูปแบบดอกไม้ไทยมา Reform ให้เป็นดอกไม้แบบฝรั่ง แล้วนำขึ้นไปประดับแบบไทยที่มี รัตนชาติ ทับทิม และเพทาย เป็นวัสดุสำคัญ
ส่วน Stained Glass หรือหน้าต่างกระจกสี ที่เรามักเห็นตามโบสถ์คริสต์ ก็นำมา Reform ใหม่ โดยนำพุทธประวัติตั้งแต่ ‘ประสูติ’ ‘ตรัสรู้’ และ ‘ปรินิพพาน’ มาดีไซน์ได้อย่างน่าสนใจ
มากันที่ไฮไลท์สำคัญที่ทำให้หลายคนรู้จัก ‘วัดพระธรรมกาย เมืองนิวคาสเซิล’ นั่นก็คืออาคารลูกบาศก์ที่มีความโปร่งแสง ตั้งอยู่ระหว่างโบสถ์ที่มีดีไซน์กอทิก แน่นอนว่าความแปลกตาอย่างนี้แทบจะไม่เคยได้เห็นที่ไหน มันเป็นความผสมระหว่างความคลาสสิค โมเดิร์น และ มินิมอล
แนวทางการออกแบบต้องอยู่ภายใต้ Conservation Officer หรือเทียบกับบ้านเราก็คือกรมศิลป์ ซึ่งมีแนวทางให้ 2 ข้อ
1. ทำให้เหมือนเดิมทุกอย่าง
2. ทำใหม่ทั้งหมด จะดีไซน์ยังไงก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่รบกวนบริบทรอบข้าง
“ก่อนออกแบบ อาตมารีเสิร์ชก่อนว่าอาคารอนุรักษ์ในอังกฤษที่เขาออกแบบใหม่ เขาทำอะไรบ้าง” หลังจากรีเสิร์ชมาสักระยะก็เห็นว่าหลายๆ แห่ง ออกแบบสไตล์มินิมอลและมีกระจกเป็นวัสดุหลัก ที่เห็นได้ชัดเลยคือ ‘พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์’ ในปารีส ฝรั่งเศส เขาใช้หลังคาเป็นกระจก ซึ่งท่านพิชิตมองว่าไดเรคชั่นนี้เหมาะกับวัดและยังแสดงถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาได้มากที่สุด “การปฏิบัติธรรมคือทำใจให้สว่างจากภายใน ความสว่างที่ว่าต้องว่างเปล่า สะอาด ทะลุปรุโปร่ง เมื่อนั้นแล้วจึงเกิด ‘Wisdom’ หรือ ‘ปัญญา’ ”
เมื่อดีไซน์มาแบบนี้แล้วดูเหมือนว่าความขลังในแบบพุทธที่เราคุ้นเคยจะหายไป ตรงนี้ท่านพิชิตมองว่าความขลังไม่เหมาะกับอาคารที่กำลังสร้างเพราะ ‘พุทธไม่ใช่เวทมนต์’ แต่คือ ‘ความศรัทธา’ ที่เกิดจากความเชื่อในเรื่องเหตุและผล ประกอบกับปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิ จึงมองว่าอาคารนี้เป็นอาคารแห่ง ‘ศรัทธา’ และ ‘ปัญญา’
Facebook : https://www.facebook.com/dmcnewcastle
RECOMMENDED CONTENT
[Review] Dooddot : Under Armour HOVR Phantom RN รองเท้า […]