fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

‘ยินดีต้อนรับสู่ยุคสมัยใหม่’ เวทีราชดำเนินเปิดตัวโลโก้ใหม่ ปรับลุคให้ดูสากล ออกแบบโดย ‘Farmgroup’ บริษัทดีไซน์ชื่อดังของไทย
date : 6.กรกฎาคม.2022 tag :

‘ยินดีต้อนรับสู่ยุคสมัยใหม่ของเวทีราชดำเนิน พร้อมที่จะขับเคลื่อนวงการมวยไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล’ สนามมวย ‘เวทีราชดำเนิน’ เปิดเผยโลโก้ใหม่พร้อมก้าวสู่ยุคใหม่ โดยโลโก้นี้ได้รับการออกแบบจากบริษัทสัญชาติไทย อย่าง ‘Farmgroup’ โดยหวังว่าจะสื่อสารออกไปเป็นสากลมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของสนามมวยแห่งนี้มาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์(ชื่อเดิมในตอนนั้น) ต้องการที่จะส่งเสริม และสนับสนุนกีฬามวยไทย ซึ่งเป็นศิลปการต่อสู้ประจำชาติ จึงได้เลือกเอาบริเวณ มุมถนนพะเนียง ริมถนนราชดำเนินนอก เป็นสถานที่ก่อสร้างสนามมวยแห่งชาติ(ชื่อเดิมในสมัยนั้น)

การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2484 โดยบริษัท Imprese Italiane All ‘ Astero – Oriete เป็นผู้ประมูลก่อสร้างในราคา 258,900 บาท กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 365 วัน แต่ได้เกิดสงครามโลกขึ้นในปลายปีเดียวกัน การก่อสร้างจึงหยุดชะงักไป จนกระทั่งปี 2487 จึงได้ก่อสร้างต่อ และสามารถเปิดเป็น “สนามมวยแห่งชาติ” ได้ในวันที่ 23 ธันวาคม 2488 ซึ่งเป็นรายการแข่งขันในนัดแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติไป 4 เดือน(สงครามโลก ครั้งที่ 2 ยุติลงเมื่อเดือนสิงหาคม 2488) โดยมีนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นนายสนามมวยคนแรก(ดำรงตำแหน่งปี 2488-2490) ต่อมา นายประหลาด อิศรางกูร เป็นนายสนามมวยคนที่ 2(ดำรงตำแหน่ง 2490-2492)

แต่ปรากฏว่าประชาชนทั่วไปรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเวที เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ทรัพย์สินฯ สมัครใจที่จะเรียกว่า “สนามมวยเวทีราชดำเนิน” มากกว่าที่จะเรียกว่า “สนามมวยแห่งชาติ” สนามมวยมาตรฐานเวทีแรกของประเทศไทย จึงมีชื่อว่าเวทีราชดำเนิน มาตั้งแต่ตอนนั้น

โดยที่เวทีราชดำเนินเปิดการแข่งขันแบบเวทีกลางแจ้งมาโดยตลอด เป็นที่เดือดร้อน ของผู้ชม รวมทั้งเจ้าหน้าที่และนักมวยเป็นอย่างยิ่งเวลาฝนตก ซึ่งจะต้องมีการยกเลิกการแข่งขันเป็นประจำ นายเฉลิม เชี่ยวสกุล ผู้ดำรงตำแหน่งนายสนามมวยคนที่ 3 จึงขออนุมัติจากสำนักงานทรัพย์สินฯ สร้างหลังคาและจัดสร้างอัฒจันทร์ที่นั่งขึ้นมาในปี 2493 แล้วเสร็จในปลายปี 2494 สิ้นงบประมาณก่อสร้างไป 2 ล้านบาท

การดำเนินกิจการการจัดแข่งขันชกมวยของเวทีราชดำเนินขาดทุนมาโดยตลอด สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงยกเลิกกิจการเมื่อปี 2496 และจะให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารงานแทน ซึ่งขณะนั้น นายเฉลิม เชี่ยวสกุล นายสนามมวยคนปัจจุบันในสมัยนั้น เกรงว่า ถ้ามีบริษัทเอกชนอื่นๆเข้ามาบริหารงานแทน เกรงว่าจะบริหารงานโดยไม่ยึดหลักวัตถุประสงค์ดั้งเดิม ของการมีสนามมวยเวทีราชดำเนิน คือ “ส่งเสริมและสนับสนุนกีฬามวยไทย” นายเฉลิม เชี่ยวสกุล จึงก่อตั้งบริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด ขึ้นมา แล้วเช่าสถานที่ ดำเนินกิจการแทนเพื่อบริหารงานตามนโยบายหลักคือ “ส่งเสริมและสนับสนุนกีฬามวยไทย” จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จด้วยดีมาตลอดมา ทั้งในด้านของการสนับสนุนส่งเสริมกีฬามวยไทย ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติ และในด้านการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศชาติ ซึ่งได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่าเป็นสถาบันเพื่อการส่งเสริมกีฬามวยไทย
ในปัจจุบัน

เวทีราชดำเนินในฐานะสถาบันมวยไทยระหว่างประเทศ เป็นสมาชิกถาวรของสหพันธ์มวยภาคตะวันออกและแปซิฟิค สมาคมมวยโลก สภามวยไทยโลก และสถาบันเกี่ยวกับกีฬามวยระหว่างประเทศอื่นๆ อีกหลายสถาบัน รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของกรุงเทพมหานคร

Home