“P/S/D” บริษัทรับออกแบบภายในที่ในช่วงสองสามปีมานี้ ถ้าใครติดตามข่าวสารด้านวงการ Interior เชื่อว่าต้องเคยได้ยินชื่อของพวกเขาแน่ๆ กับผลงานมากมายที่ทำออกมาไม่ว่าจะเป็น “Wine Republic” ร้านไวน์ชื่อดังย่านทองหล่อง, “Fire & Dine” ร้านสุดหรูใน Asiatique, ร้านกาแฟ 24 ชั่วโมงขวัญใจหนุ่มสาวรั้วจามจุรีอย่าง “Too Fast Too Sleep” และผลงานชิ้นล่าสุดที่เพิ่งเสร็จไปคือร้าน
“1881 by Water Library” ที่กำลังเปิดตัวที่ Groove หน้าห้าง Central World ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น จะเห็นได้ว่าที่ไล่ๆมาล้วนเป็นร้านที่มีความโดดเด่นด้านงานออกแบบและตกแต่งภายใน ระดับที่ใครไปเห็นก็ต้องชอบและมีหนังสือเขียนถึงมากมาย วันนี้คอลัมน์Dooddot Visit เราจะไปเยี่ยมชมถึงรังของพวกเขาย่านทองหล่อ ออฟฟิศบนคอนโดที่อยู่กันอย่างอบอุ่นเหมือนบ้าน พร้อมพูดคุยกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังไอเดียงานออกแบบทั้งหมดทั้งปวงนี้คือ คุณโต ศุภรัตน์ ชินถาวร และคุณฮิม กิจธเนศ ขจรรัตนเดช สองคู่ซี้นักออกแบบผู้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท P/S/D มาแชร์มุมมองดีๆที่พวกเขามีต่องานออกแบบให้ฟังกัน
P/S/D เป็นบริษัทแบบไหน?
โต: อันนี้ฮิมตอบเลย
ฮิม: เราเป็นบริษัทออกแบบตกแต่งภายในที่รับดีไซน์ให้ร้านอาหารเป็นหลักครับ เรามองว่าการดีไซน์ร้านอาหารมันได้ครบวงจร มันสามารถใส่กราฟฟิก ใส่เรื่อง Product ยิ่งไปกว่านั้นนอกจากตกแต่งภายในแล้ว เรายังดูแลเรื่องการ Branding เลือกเฟอร์นิเจอร์ แม้แต่ออกแบบชุดพนักงานเราก็ทำ ส่วนตัวเราคิดว่ามันสนุกกว่าที่จะทำอะไรหลายๆอย่าง ที่สำคัญไปกว่านั้นคือพวกเราหมกมุ่น ใส่ใจรายละเอียดกับการกินและเรื่องอาหารเป็นพิเศษครับ
คุณฮิมและคุณโตมาร่วมงานกันได้อย่างไร?
โต: อันนี้ก็ฮิมตอบอีกนั่นล่ะ (หัวเราะ)
ฮิม: เราสองคนเคยทำงานที่เดียวกันแต่ตอนนั้นอยู่คนละฝ่าย ตอนนั้นพี่โตเขาจะอยู่สายกราฟฟิก ส่วนเราอยู่พวกดูแลจัดงาน Exhibition ก็ได้ทำงานโปรเจคต์เดียวกันบ้าง พอต่างคนต่างแยกย้ายออกไปทำงาน เดินทางของตัวเองก็ไม่ได้ติดต่อกัน มาเจอกันอีกทีตอนเรากลับมาจากเรียนต่ออังกฤษ ได้ออกแบบร้านอาหารด้วยกัน ก็รู้สึกว่าสนุกดี คุยภาษาเดียวกัน ก็คิดว่านี่คงเป็นทางของเราแล้วล่ะ หลังจากนั้นก็เลยตัดสินใจรับงานร่วมกันมาเรื่อยๆ สุดท้ายก็เกิดเป็น P/S/D
คิดว่าจุดเด่นหรือเสน่ห์ของงานจาก P/S/D คืออะไร?
โต: เราว่าเป็นเรื่องมี Passion ในสิ่งที่เราทำสูง เราหมกมุ่นเรื่องการออกแบบร้านอาหารกันมาก เราสามารถอยู่กับมันได้ทุกวัน อย่างฮิมเค้าจะชอบเรื่องอาหาร ของเราสนใจเรื่องพฤติกรรมของคน เรื่องความคิดลูกค้า ว่าสมมุติถ้าเข้าร้านมา เค้าเห็นโต๊ะแบบนี้ เค้าจะคิดยังไง เค้าจะรู้สึกยังไง นี่เลยทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุข และไม่เกร็ง ก็ลงลึกไปกับงานได้มาก
ฮิม: คือเราซน เราเล่น เราชอบดูทุกอย่าง คือทีมเราแต่ละคนจะหมกมุ่นกันไปหมด เราชอบออกไปกินข้าวพร้อมๆกัน มันจะสนุกมาก เราจะมีเรื่องให้คุยกันเวลามองร้านต่างๆ เพราะฉะนั้นจุดนี้เลยรับประกันเลยว่า ใครก็ตามที่มาจ้างเรา คุณจะไม่ได้แค่เรื่องดีไซน์กลับไป แต่คุณจะได้คนที่มี Passion เรื่องอาหารจริงๆเป็นคนออกแบบให้คุณ
ช่วงก่อนหน้านี้ มีผลงานไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม?
โต: จริงๆเราอยากพูดถึงทุกผลงาน เพราะเราประทับใจหมด แต่ถ้าจะให้เลือกขึ้นมาซักหนึ่ง คงเป็น Wine Republic เพราะมันเป็นร้านแรกที่ทำให้เรากลายเป็นที่รู้จัก ตอนนั้นมันเป็นปรากฏการณ์เลยนะ ทำให้ชื่อคำว่า Republic ดูไม่ไกลตัวใช้ยากอีกต่อไป ก็เป็นปากต่อปากทำให้คนรู้จักเรา หรือ Too Fast Too Sleep อันนั้นคนก็ชอบบอกกันว่ามันเปลี่ยนวงการงานออกแบบคาเฟ่ร้านกาแฟไปเลย… เค้าว่ากันมานะ (หัวเราะ) ถ้าอีกงานที่เป็นความทรงจำก็คงเป็น Gyudon Express อันนี้สาเหตุเพราะเป็นผลงานชิ้นแรกที่เราสองคนทำด้วยกัน
โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าอะไรคือจุดที่ยากของการเป็นมัณฑนากร นักออกแบบตกแต่งภายใน?
ฮิม: เราคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของ “คน” คนในที่นี่คือคนจากองค์ประกอบรวมทั้งหมดที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานของเรา ยกตัวอย่างหน้าที่ที่สำคัญอย่าง คนก่อสร้าง คนรับเหมา บางทีพวกเขาจะลืมตัว คือจะเอาง่ายตลอด ทำอะไรง่ายไปหมดทุกอย่าง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงเลือกไม่ผูกขาดกับใครเลย จบงานก็คือจบ เพราะเวลาทำงานถ้าไม่ชอบตรงไหน เราจะพูดได้หมด ไม่ต้องกลัวไม่ถูกใจกัน อยู่คนละส่วนกันอย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องคนนี่เรารวมไปถึงคนของลูกค้าที่มาจ้างเราเองด้วยนะ หมายถึงพนักงานหลังจากร้านเสร็จ บางทีพนักงานไม่มี Inner ภายในในงานด้านบริการ สิ่งที่ตามมาก็คือ Service ที่ไม่ดี ทีนี้มันก็เสียโอกาสที่ทำมาดีอีก… ก็หลักๆที่เห็นก็มีเรื่องของคนนี่ล่ะ
คิดว่าภาพรวมของวงการออกแบบ ตกแต่งภายในของบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร?
โต: คิดว่าตอนนี้กำลังดีนะ คือเดี๋ยวนี้คนตื่นตัวเรื่องของร้านอาหารกันมากขึ้น พอโลกมี Instagram มี Social Network คนเริ่มมองการกินข้าวสักมื้อ จะมองให้ธรรมดาก็ได้ หรือจะมองให้เป็นเรื่องพิเศษเหมือนให้รางวัลตัวเองก็ได้ ถึงแม้ตอนนี้เศรษฐกิจบ้านเราเริ่มถอยก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อเลยว่าจะอยู่ได้คือธุรกิจร้านอาหาร อะไรก็ตามล่ะที่เกี่ยวกับอุปโภค บริโภค ที่คนต้องซื้อต้องกินต้องใช้มันอยู่ได้ เพราะทุกคนต้องกิน ขอให้ทำออกมาดี ยังไงแพงแค่ไหนคนก็ยอมจ่ายได้… ถ้าให้พูดถึงภาพรวมวงการธุรกิจการออกแบบ ก็คิดว่าบ้านเราโตขึ้นเยอะ ยิ่งในอนาคตไหนจะมี AEC แล้วต่างชาติก็เข้ามาลงทุนเยอะขึ้นเรื่อยๆ วงการออกแบบของบ้านเราตอนนี้เลยถือว่าตื่นตัวขึ้นมาก
มองอนาคตของเทรนด์การออกแบบและตกแต่งภายในไว้ในประเทศไทยไว้เป็นอย่างไร?
ฮิม: อ่ะ พี่เริ่มก่อนละกัน
โต: ถ้าถามในมุมมองส่วนตัว เรามองว่าในอนาคตคำที่จะเข้ามามันคือคำว่า Professional คือต่อไปนี้อะไรก็ตามที่มันน่าเบื่อ มันจะโดนเขี่ยไปอยู่อีกเกรดนึงทันที ช่วงนี้เราเลยจริงจังกับเรื่องนี้กันมากนะ พวกอะไรที่มันเฉพาะเจาะจง เฉพาะกลุ่ม อย่างเช่นเรื่อง… เหมือนการตัดสูท Tailor Made สูทแบบต้องสั่งทำ นั่นล่ะมันกำลังมา คือมันต้องไม่เหมือนใคร เทียบกับร้านอาหาร เรารู้สึกว่าอะไรที่มันจิ้มๆดูในแคตาล็อกอะ เดี๋ยวนี้คนมี Internet มี Ikea เค้าก็สามารถไปเลือกเองได้แล้ว ถ้าเป็นสองปีที่แล้วการใช้ของพวกนี้มันดูเท่ มันดูเก๋นะ ใครใช้คนชอบถามว่า ไปหามาจากไหน แต่ถ้าเป็นสมัยนี้มันดูเบื่อไปเลย ปัจจุบันขอแค่เราเป็นของ Custom มา ต่อให้มันจะออกมาโง่ๆก็เถอะ แต่ถ้ามันทำด้วยมือ เราทำมันเอง มีความแฮนด์เมด มีความ Craft อยู่ โอ้โห ทำไมมันดูมีค่า ทำไมร้านนี้ดูใส่ใจรายละเอียดจังเลย มันเป็นการเลือกที่พิเศษมากขึ้น ความเก๋สมัยนี้มันคือการเอาเก้าอี้ไม้เก่าๆมาปัดฝุ่นใหม่ ทำสีใหม่ หรือไปเอาโคมไฟเก่าๆมา นี่ล่ะมันทำให้เป็นเอกลักษณ์ แล้วร้านนี้มีที่เดียวร้านเดียว ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ต่อให้ร้านอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม ขอให้คุณดีจริง คุณมีที่จอดรถ คนก็ตามไปจนได้ ที่เหลือก็คือเรื่องมาตรฐานที่พูดไปตอนต้นละ
ฮิม: ตอนนี้ถ้ามองคือ การมี Detail มีรายละเอียดในเรื่องต่างๆมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่มีความละเอียดอ่อนกันมากขึ้นนะ ไม่เหมือนสมัยก่อน เอาโต๊ะมาวาง ปึง! จบ! เดี๋ยวนี้มันต้องมี Detail คนจะพินิจพิเคราะห์ว่า โต๊ะตัวนี้มันสวยยังไง ดูง่ายๆคือเวลาเราถ่าย Instagram เรายังคิดเยอะเลยจะวางจานแบบไหน จะถ่ายมุมไหนดี เดี๋ยวนี้คนวิ่งเข้าหาความเป็นงาน Craft มันให้ความรู้สึกที่เป็น Professional เพราะมันดูสัมผัสได้ถึงความตั้งใจทำ มันเป็นงานฝีมือ แล้วราคามันก็ต่าง ไม่เหมือนของทำจากโรงงาน เดี๋ยวนี้มันซ้ำกันไปหมด ไม่แตกต่าง คนเบื่อของแบบนั้นกันไปแล้ว ส่วนถ้าให้มองอนาคตของธุรกิจร้านอาหาร เราก็มองว่ามันยังไปได้อีกไกล เพราะคนกำลังหันมาใส่ใจเรื่องการทำอาหารกันมากขึ้น ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าเชฟเดี๋ยวนี้ก็กล้าที่จะออกมาเปิดร้านของตัวเองกันแล้ว และที่จะสร้างความแตกต่างเหนือกว่าทุกอย่าง เราก็ยังเชื่อว่าวนกลับมาเรื่องคนอีกนั่นล่ะ เพราะท้ายที่สุดอาหารอร่อยมันก็คืออร่อย มันแค่นั้น สิ่งที่จะทำให้แต่ละร้านไปได้ไกลกว่ากันมันคือตัวพนักงาน การที่เข้ามาพูดคุย เข้ามาเล่าถึงวัตถุดิบให้ฟัง สิ่งเหล่านี้มันเป็นการเพิ่มคุณค่า และเพิ่มความรู้สึก Craft ที่ว่าของร้านยิ่งขึ้นไปอีก
Movement ต่อไปของ P/S/D?
โต: จริงๆก็ Simple มากเลยนะ คือตอนนี้เราคิดว่าเรามีทีมที่ดีแล้ว เราทุกคนมี Passion มีความหมกมุ่นของตัวเอง ทีมนี้มีความกลมกล่อมมีความพอดี ถามถึงเป้าหมาย เราไม่ได้ตั้งอยากเป็นที่ 1 ของประเทศ แต่เราอยากจะรักษามาตรฐานที่มีมากกว่า ถ้าแผนต่อไปคงเป็นเรื่องของการหาสเปซที่เราแฮปปี้มากกว่านี้ ตอนนี้มันก็เหมือนบ้านดีล่ะ ก็อบอุ่นดี (หัวเราะ) ถ้าเป็นไปได้อยากมูฟออฟฟิศแล้วคงเปิดเป็นร้านอาหารหรือคาเฟ่ร้านกาแฟของตัวเองไปด้วยเลย เรารู้สึกอยากให้คนนอกได้อินไปกับสิ่งที่เราทำมากกว่าเดิม แต่ก่อนเราดูเรื่องออกแบบให้ ดูเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ ต่อไปเราอยากลองคุมเรื่อง Cooking เรื่องการดูแลวัตถุดิบบ้าง อยากมีสเปซของตัวเองที่ชัดเจน อีกอย่างคือเราอยากได้โจทย์ที่เราไม่เคยทำ เราเคยทำหลายสิ่งที่ตอนแรกก็ไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาแล้ว ที่เราขออย่างเดียวคือ เราไม่ทำอะไรที่เป็นเพื่อคนส่วนน้อย เป็นส่วนบุคคล เราชอบให้งานเราได้เข้าถึงคนส่วนใหญ่มากกว่า
มีสิ่งที่อยากบอกกับมัณฑนากรรุ่นใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งที่กำลังศึกษาอยู่และคนที่มีความสนใจในด้านนี้?
ฮิม: ถ้าอยากแนะนำเลยคือ อยากให้ทุกคนใส่ใจกับสิ่งที่ทำ เหมือนกับที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เราออกแบบร้านอาหารเราใส่ใจกับมันทุกอย่าง บางคนชอบมองว่างานออกแบบก็แค่รู้เรื่องการออกแบบรึเปล่า เราไม่ได้มองแค่นั้น เราต้องลองไปกิน เราต้องทำความรู้จักกับร้าน เราจะเข้าไปถึงในครัวเลยว่า ลูกค้าเราขายอาหารแบบไหน ควรเสิร์ฟยังไง เหมาะกับร้านที่เรากำลังออกแบบไหม คืออยากให้ลงดีเทลอยากให้ลึกซึ้งตลอดเวลา ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่าลูกค้าของเราเขามีความต้องการอะไร เค้ามี Inner ในการทำร้านแค่ไหน คิดง่ายๆว่าถ้าเราทำร้านให้ตัวเอง เราคงไม่ได้อยากได้ร้านแย่ๆหรอก ซึ่งเราก็นับว่าโชคดีนะที่ลูกค้าแต่ละคนของเราเขามี Passion ในสิ่งที่เขาทำทุกคน เค้ากับเราก็เลยเข้าใจกันได้ไม่ยาก (ยิ้ม)
Visit: Norrarit Homrungsarid
Photographer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
Jackson Wang ร่วมงานกับดูโอ้ดีเจเพลงอิเล็กทรอนิกส์ชาวสวีเดนระดับโลก Galantis ส่งซิงเกิลใหม่ “Pretty Please” ในสไตล์ Pop Dance พร้อมมิวสิกวิดีโอที่มาในบรรยากาศแบบหนังจีนฮ่องกงคลาสสิกที่แจ็คสันได้ลงนั่งกำกับ เขียนบท และตัดต่อเองด้วยตัวเขาเอง