fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#HEALTH | เช็กด่วน! สัญญาณเตือนหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการปวดที่ไม่ควรละเลย
date : 31.สิงหาคม.2023 tag :

อาการปวดหลัง เป็นอาการปวดที่คนกว่า 80% ต้องเคยเป็นมาก่อน แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับช่วงอายุและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน แต่บางครั้งการปวดหลังนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนสำคัญของโรคที่อันตรายมากกว่าที่คิด ซึ่งหลายๆ คนมักจะมองข้ามไป วันนี้เราพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาการปวดหลังที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการจะเป็นอย่างไร และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีอะไรบ้าง ใครที่รู้สึกปวดหลังลองอ่านบทความนี้เลย 

ทำความรู้จัก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นอาการที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีลักษณะคล้ายโช้คอัพ เป็นเมือกใสคล้ายกับเจล อยู่ระหว่างกระดูกและสันหลังแต่ละชิ้น มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังที่กดทับลงมาเมื่อเกิดการเคลื่อนไหว เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกก็เริ่มเสื่อมลง เมือกใสก็ลดลงและสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้มีโอกาสที่หมอนรองกระดูกจะเคลื่อนที่ไปกดทับเส้นประสาทนั่นเอง

รวมสัญญาณเตือนของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

อาการส่วนใหญ่ของคนที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคือ อาการปวดหลัง ซึ่งจะปวดเป็นพิเศษบริเวณหลังล่างไปจนถึงต้นขา หรือปวดร้าวลงไปจนถึงต้นแขน ซึ่งอาการปวดนี้จะเรื้อรังเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งอาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีรายละเอียด ดังนี้

– อาการปวดหลังตั้งแต่ช่วงสะโพก ปวดร้าวลงมาขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง จะมีอาการปวดหนักขึ้นเมื่อมีการไอ จาม หรือเวลาต้องลงแรงกระแทก
– อาการปวดหลังล่าง เวลาต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
– อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก กล้ามเนื้อบริเวณข้อเท้า และบริเวณปลายนิ้วเท้าทั้งสองข้าง
– อาการชาปลายนิ้วเท้า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบริเวณง่ามนิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาได้อย่างไร?

1. รักษาด้วยการใช้ยา
โดยปกติแล้วอาการปวดที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในระยะเริ่มต้น แพทย์จะให้ทานยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยากลุ่มระงับปวดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เป็นต้น หรือถ้ามีอาการปวดรุนแรง อาจใช้การฉีดยาร่วมด้วย

2. กายภาพบำบัด
นอกจากปัจจัยเรื่องอายุแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็ส่งผลต่ออาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเช่นเดียวกัน เพื่อบรรเทาอาการ แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมผิดๆ เกี่ยวกับท่านั่ง ท่ายืน การก้มเงย รวมถึงการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เช่น การนวด การทำช็อกเวฟเพื่อคลายกล้ามเนื้อ การทำอัลตราซาวด์ เป็นต้น

3. รักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดจะเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำเมื่อผ่านการรักษาทั้ง 2 วิธีข้างต้นแล้วยังไม่หาย ซึ่งการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็จะแบ่งย่อยออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

3.1 ผ่าตัดหมอนรองกระดูกแบบเปิดแผล (Open Discectomy)
วิธีนี้แพทย์จะเปิดแผลบริเวณที่หมอนรองกระดูกกดทับ ความยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร เพื่อนำหมอนรองกระดูกส่วนนั้นออก

3.2 ผ่าตัดโดยหมอนรองกระดูกโดยใช้กล้องกำลังขยายสูง (Microscopic Discectomy)
วิธีนี้จะคล้ายกับวิธีแรก แต่จะนำกล้อง Microscope ที่มีกำลังขยายสูงมาใช้ร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้แผลมีขนาดเล็กลงเหลือประมาณ 2-3 เซนติเมตร 

3.3 ผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง Endoscope (Endoscopic Discectomy)
วิธีนี้เป็นการผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง Endoscope โดยแพทย์จะเปิดแผลโดยการเจาะรูสอดท่อและอุปกรณ์เข้าไป ซึ่งวิธีนี้แผลจะมีขนาดเล็กมากเพียง 8 มิลลิเมตรเท่านั้น

อาการปวดหลังนับเป็นสัญญาณเตือนร่างกายอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่รีบหาสาเหตุและไม่รับรักษา อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาวได้ ที่ KDMS โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข มีโปรแกรมตรวจสุขภาพที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นโรคปวดหลังเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือออฟฟิศซินโดรม ใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองกำลังกับเจอกับปัญหาสุขภาพเหล่านี้ สามารถเข้าไปปรึกษาและหาแนวทางการรักษาได้ที่ KDMS Hospital ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-080-8999 หรือ Line: @kdmshospital