“พูดตรงๆผมไม่ชอบคำว่าแรงบันดาลใจเลย ไม่ใช่ว่าผมแอนตี้นะ แต่ผมไม่เคยใช้หรือมีคำคำนี้อยู่ในหัวเวลาทำงาน อะไรคือแรงบันดาลใจ? ถ้าเรื่องแรงบันดาลใจอะ ตัวเรานี่แหละที่บันดาลตัวเอง มันไม่มีใครอื่นมาผลักดันเราได้ดีเท่ากับตัวเราเองหรอก” – ธาดา วาริช –
Style งานของธาดา วาริชคืออะไร?
จริงๆจะบอกว่าภาพถ่ายมันเป็นสิ่งที่ เวลาดูมันดูแล้วมันรับรู้ด้วยความรู้สึก แล้วบางทีเวลาที่เราต้องพยายามหาเหตุผลมาตอบ ผมว่าคนอื่นอะเรียกให้ผมมากกว่า ว่าเป็นงานสไตล์ธาดา อะไรอย่างนั้น แต่ถ้าให้ตัวเองเรียกสไตล์ตัวเอง ก็ไม่เคยจะต้องมานั่งคิดว่างานถ่ายเราเป็นสไตล์ไหน เป็นอะไรยังไง ถ้าให้มองงานตัวเอง ก็น่าจะเป็นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้สึกของตัวแบบมากกว่า คืองานผมจะไม่ค่อยแข็งเท่าไหร่
ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นท่ีเรามองหา ?
เราไม่ได้พยายามให้มันต้องเป็นจุดเด่น เราคิดแค่ว่าเราชอบตรงนั้น สวยตรงนั้น เราก็ทำมันออกมา
ไม่ได้มีกรอบ ?
ผมทำงานไม่เคยมีกรอบ
เวลาทำงานเรามีภาพในหัวก่อนไหมว่าถ่ายคนนี้ต้องออกมาเป็นแบบนี้?
ก็มีทั้งคิดและไม่คิด
งานเรามีการทดลองเกิดขึ้น ?
มันไม่ใช่เรียกว่าการทดลองซะทีเดียว ทดลองไม่ได้ งานหนังสือเค้าซีเรียส ต้องมีเรื่องโรงพิมพ์อะไรกัน ไปทดลองซี้ซั๊วะ ผมถามคุณว่าคุณกล้าทดลองเหรอ? งานถ่าย Vogue มึงไปทดลองมั่วซั่วก็โดนเค้าเตะเอาสิ เพราะฉะนั้น มันเลยเรียกว่าการทดลองไม่ได้ แต่ถามว่ามีหน้างานไหม มีแน่นอน เอาแบบนี้ดีกว่า วิธีการทำงานของผมถ้าประมาณก็คือเราเตรียมงานมาครึ่งนึง หน้างานครึ่งนึง ชีวิตจริงมันไม่รู้หรอกว่าหน้างานมันเกิดอะไรขึ้น งานผมเป็นการทำงานกับคน สมมุติเตรียมงานมา อยากให้เค้ายิ้ม แต่นางแบบเม็นมายิ้มไม่ออกแล้วจะทำไง ก็คนมันปวดท้องอะ ปวดท้องคือปวดท้อง สมมุติคุณปวดท้องไปบังคับให้ยิ้มก็ยิ้มไม่ออก นี่คือชีวิตจริง เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักประณีประนอมหรือเปิดช่องทางการทำงานให้กว้างมากขึ้น คืออย่าไปกรอบหรือไปบังคับใครมาก คนมาบังคับคุณ คุณก็ไม่ชอบ ถูกไหม? ต่อให้คุณได้เงินก็ตาม
สิ่งแรกที่เรามองเห็นเวลาเจอแบบ ?
เห็นหน้า (หัวเราะ) เห็นอะไรเป็นสิ่งแรก ก็จะสังเกตทุกส่วน รูปร่างหน้าตา การเคลื่อนไหว ลักษณะนิสัย ดูข้อดี ข้อด้อยของเค้า แล้วก็เลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับงานที่จะทำ
“แบบ” ที่ดี ?
มันอยู่ที่เรา มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของช่างภาพ จริงๆแล้วแบบที่ไม่ดีนั่นล่ะคืองานที่ท้าทายของช่างภาพซะด้วยซ้ำ
แบบที่ไม่ดี ?
มันก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วรึเปล่าล่ะ คือไม่ต้องถามผมก็ได้ แบบไม่สวย อ้วน จมูกสั้น หน้าบาน คือมันเป็นเบสิค ไม่ต้องถึงผมหรอก พวกคุณดูก็รู้ว่าใครสวยใครไม่สวยใช่ไหม
งานที่รู้สึกยาก ?
มันก็มีทั้งนั้นแหละครับ ถ้าจะว่ายากมันก็ยากทุกงาน คืองานถ่ายภาพ ถ่ายภาพแฟชั่นหรือถ่ายภาพบุคคลมันมีความยากของมันแทบทุกงานอยู่แล้ว แต่ผมแค่ชินกับการแก้ปัญหาหรือสนุกไปกับมันมากกว่า ถ้าคุณมองคำว่า “ยาก” แปลว่า “ยาก” มันก็ทำงานสำเร็จยาก เพราะฉะนั้นผมจะไม่ใช้คำว่ายาก ผมจะใช้คำว่ามีปัญหามากกว่า ผมมองปัญหาเป็นส่วนนึงของงาน เป็นงานชนิดนึง คือถ้าคุณคิดว่าปัญหาเป็นหนึ่งในหน้าที่การงาน คุณจะรู้สึกว่าคุณผ่านมันไปได้ง่ายกว่า แต่ถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่คุณเห็นว่าเป็นปัญหา แล้วคุณคิดว่ามันคือ “ปัญหา” เนี่ย คุณก็ทำงานยากขึ้น จริงๆแล้วมันอยู่ที่วิธีระบบความคิดคุณด้วย คุณคิดว่ามันยากมันก็ยาก
งานไหนที่คิดว่าเป็น Masterpiece ?
ไม่มีอะ มีและไม่มี Masterpiece คือผมทำงานมา 20 ปี ผมไม่ได้มีรูปสวยแค่ใบเดียว ผมมีงานสวยๆหลายประเภท ถ้าทำงานมา 20 ปีแล้วบอกว่ามี Masterpiece ชิ้นเดียวมันก็เวอร์ไป ถ้าชอบ ส่วนใหญ่จะเป็นงานส่วนตัวซะมากกว่า ที่ถ่ายเล่นอะไรพวกนี้ ครับ มันก็เป็นยุคๆไป ผมทำงานแต่ละช่วงแต่ละยุคงานมันไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้ผมตอบว่า Masterpiece ยุคนี้ดีกว่ายุคนั้น มันก็ไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับว่าผมดูถูกตัวเอง คือแต่ละยุคจริงๆแล้ว สมมุติว่างานยุคเด็ก ผมก็มี Masterpiece ยุคเด็ก แล้วพอโตมา มันก็ไม่ได้แปลว่า พอโตขึ้นแล้วงานจะสวยกว่าหรืออะไร จริงๆแล้วโตขึ้น ให้ผมกลับไปทำงานแบบยุคตอนเด็กเนี่ย ผมก็ทำไม่ได้นะ
ทำไม่ได้ ?
มันเกี่ยวกับความสนใจอะไรในตอนนั้น หรือว่าที่เค้าชอบเรียกกันว่า “แรงบันดาลใจ” อะไรอะ แต่ผมไม่อยากเรียกว่าแรงบันดาลใจ ผมเรียกการใช้ชีวิตของผมช่วงนั้นมากกว่า สมมุติช่วงผมเที่ยวเยอะๆเนี่ย งานมันก็เป็นแบบนึง ช่วงไหนแบบไปอยู่ป่าเยอะๆ งานมันก็เป็นแบบนึง แล้วงานมันก็คนละประเภทกันเลย คือมันไม่สามารถบอกได้ว่างานไหนดีกว่างานไหน มันดีทั้งคู่ มันดีคนละแบบ แล้วจริงๆนะ ผมไม่ชอบการมาวัดงานด้วย ว่าอะไรมันคืองานดีที่สุดหรือไม่ดีที่สุด ภาพถ่ายมันอยู่ที่คนดูภาพ คือใครก็ได้ดูแล้วเค้าชอบเค้าแฮปปี้ มันจบ สมมุติว่ามีอาจารย์คนนึงบอกว่า รูปนี้แม่งโครตดีเลย นี่คือรูปสวย แต่เอาไปให้คนธรรมดาที่ไม่ใช่อาจารย์ 3 คนดูเค้าบอกไม่ชอบ อย่างงี้ผมก็ถือว่าคุณไม่ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพ ก็ได้เหมือนกันนะ
ใครดูแล้วได้อะไร หรือรู้สึกอะไรกลับไปมันก็เท่านั้น ?
ใช่ เพราะฉะนั้นผมจะเป็นคนไม่ติดเรื่องรางวัล หรือไอ้อะไรพวกนี้เลย แล้วจะไม่ถือด้วยว่าสมมุติคนนี้ชอบ แต่คนนี้ไม่ชอบ หรือผมชอบแต่เค้าไม่ชอบ ผมจะไม่สนใจเลย บางทีงานที่ผมชอบอาจจะไม่มีใครชอบเลยก็ได้ ไอ้งานที่คนดูงานธาดาแล้วชอบนักชอบหนา ไม่ใช่ว่าผมชอบเสมอไปนะ มันก็อีกเรื่องนึง บางทีผมก็ทำงานให้ตัวเองชอบ บางทีผมก็ทำงานให้คนอื่นชอบ
ไม่เคยมีปัญหากับ “การทำงานให้คนอื่นชอบ” ?
ผมแก่เกินกว่าที่จะต้องตอบคำถามนี้แล้ว คือผมผ่านมา 20 ปี อย่างที่บอกว่า ปัญหามันมีทุกวัน แต่ถ้าถามผมวันนี้กับคำถามเมื่อกี้ ถามว่าทุกวันนี้ผมทำงานมีปัญหามั้ย ผมทำงานไม่มีปัญหา ปัญหามันมี แต่ผมมองว่าปัญหามันคือส่วนหนึ่งของงาน แค่นั้นเอง
ทำ Personal Project อยู่ตลอด ?
ทำอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ไปโชว์ที่ไหน คือมันก็เหมือนเก็บสะสมไปเรื่อยๆครับ
คิดจะวางตัวเองเป็นศิลปินช่างภาพที่ทำแต่ผลงาน Personal Project ไหม ?
ต้องทำทั้งคู่ เพราะว่าไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง ก็ยังต้องทำงานหาเงิน (หัวเราะ) เหมือนพวกคุณ ทำคู่กันไปผมว่าดีที่สุด เพราะว่าการที่ทำ Commercial จริงๆแล้วมันก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย การทำ Commercial มันไม่ได้แปลว่าหาเงินให้ตัวเองอย่างเดียวนะ คือถ้าคุณจะศิลปินจ๋าแล้วเก็บฝีมือไว้กับงานส่วนตัวอย่างเดียว โอเค ก็เป็นการทำประโยชน์ให้ตัวเองที่ดี แต่มันจะไม่ดีกว่าเหรอถ้าคุณทำทั้งคู่ คือบางเวลาคุณก็ทำประโยชน์ให้ตัวเอง บางเวลาคุณก็ทำประโยชน์ให้คนอื่น ชีวิตจะไม่มีค่ากว่าเหรอ สมมุติว่าผมมีความสามารถหรือผมมี Talent อย่างที่คนเค้าพูดหรือสมมุติว่ากันเนี่ย คำถามง่ายๆคือ ผมควรจะงกความสามารถตรงนี้แล้วเก็บสิ่งนั้นไว้กับตัวเองคนเดียวเหรอ? งกทำไมอะ ช่วยคนก็ดีออก
ผลงานของธาดา วาริช จาก “Patchrapa Pocket Book”
ยังมีโจทย์หรือแบบคนไหนที่เราอยากถ่ายไหม ?
ไม่มี ผมให้พรมลิขิต ส่งคนมาให้ผมถ่าย ผมแฮปปี้มาพอแล้ว เรื่องแบบผมเฉยๆนะ เอาเป็นว่าผมไม่ได้ดี๊ด๊ามาก สมมุติคุณอยากถ่ายคนนู้น คนนี้ มันไม่ได้แปลว่าวันนึง ถ้าคุณได้ถ่ายเค้า แล้วคุณจะถ่ายได้ดีนะ มันไม่เสมอไป คนบางคนที่เราไม่ได้คิดว่าจะถ่ายได้ดี แล้วเราถ่ายออกมาดี มันถึงน่าประทับใจกว่า ผมว่าแนวคิดนี้มันก็คล้ายๆระบบชื่อเสียง แค่แบบอยากจะถ่ายคนมีชื่อเสียงเป็น Portfolio เรา หรืออะไรอย่างนี้ เพียงแต่ผมเฉยๆกับอะไรตรงนี้ อย่างรูปดารารูปคนดังอะไร คือมันดูแล้วมันก็สวย แต่มันไม่จำเป็นเสมอไป ผมมองว่าตัวแบบหรือตัว Subject มันไม่จำเป็นหรือจะเป็นข้อได้เปรียบมากมายอะไรให้กับการสร้างงานขนาดนั้น ถ้ามีโปรเจคต์ต่อไป… ยังไม่บอกแต่อยากเล่า (หัวเราะ) คือผมจะถ่ายคนที่ไม่มีชื่อเสียงเลย คนแบบลูกสาวคนขายลูกชิ้นปิ้ง ยังมีกลิ่นข้าวเหนียวอยู่เลยอะไรอย่างนี้ แต่ผมถ่ายออกมาได้สวยมากนะ แล้วไม่มีใครสนใจเค้าเลย แม้แต่ตัวเค้าเองก็ยังไม่รู้เลยว่าเค้าสวย แต่ผมรู้ อย่างนี้สิน่าสนใจ คือกูจะไปถ่ายคนที่แม่งสวยอยู่แล้วทำไมวะ ผมโชคดีในเรื่องการมองเห็นมาก เพราะฉะนั้นผมมักจะมองเห็นในบางอย่างของคนที่คนทั่วไปมองไม่เห็น แล้วผมอยากดึงตรงนั้นให้ออกมาเป็นงาน
ดึงตรงนั้นออกมา ?
วิธีการทำงาน การดึงอารมณ์หรืออะไรอย่างนี้ ผมบอกไม่ได้หรอก ให้ผมมานั่งอธิบายหรือผมพูดให้ฟังเนี่ย คุณก็ทำไม่ได้ ผมฝึกมาเป็นสิบสิบปี อยู่ๆจะบอกว่า อะผมทำแบบนี้ แล้วคุณทำได้เลย มันไม่มีทาง มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะให้อธิบายคือ คุณต้องเข้าใจคนแต่ละคน ถ้าคุณทำงานโดยที่คุณไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่คุณทำเนี่ย มันก็ทำไม่ได้ดี อันนี้คือจุดเริ่มเลย เมื่อคุณเข้าใจ สเต็ปต่อไปคือหาวิธีสือสาร เหมือนช่างภาพบางคนที่แบบไปถ่ายทะเล แต่ไม่เคยไปทะเลเลย มันไม่มีทางรู้หรอกว่าทะเลสวยที่สุดเวลาไหนตอนไหน มันก็แค่สักแต่ว่าถ่ายทะเล รูปที่มีทะเลอยู่เป็น Background มันไม่ใช่ คือจะถ่ายอะไรเราก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่เราถ่าย
เริ่มศึกษาMedium การถ่ายภาพ ด้วยการถ่ายคนตั้งแต่แรก ?
ไม่ใช่ มันไม่มีใครตรัสรู้ก่อนจนกว่าจะได้ลองทำ ผมเองลองหลายๆประเภทแล้ว ถ่ายงานข่าว ถ่ายเต็ค (Architect) ถ่ายยาสีฟัน ก็เคยลองถ่ายหมด แล้วก็ค่อยมาตัดสินใจที่จะเอาดีทางถ่ายคน
ทำงาน Polaroid แล้วมาถึงฟิล์ม 35mm แล้วก็มาถึง Digital กระบวนการความคิด การทำงานเปลี่ยนไปไหม ?
ไม่เปลี่ยน พูดถึงความคิดการทำงานใช่ไหม? ไม่เปลี่ยน เครื่องมือก็ส่วนเครื่องมือ ไม่เกี่ยวกัน
ชอบอันไหนกว่ากัน ?
เอ่อ มันพูดลำบาก ผมตอบว่าผมปรับตัวตามเทคโนโลยีดีกว่า เพราะว่าถ้าเราไปติดว่าเราชอบฟิลม์มากกว่า คุณก็ทุกข์ทรมานไปจนตาย เพราะมันไม่มีฟิลม์ที่ชอบกลับมาให้ใช้ ถูกป่ะ กูจับกล้องทีกูก็แอบบ่นในใจตลอดว่ากูชอบกล้องฟิลม์ เท่ากับชีวิตคุณก็อยู่กับความเครียดไปจนตาย หรือคุณจะปฏิวัติ? ไม่มีทาง คือถ้าผมจะลุกขึ้นมาใช่ฟิลม์คนเดียวในขณะที่ทุกคนแม่งใช้ดิจิตอล เหอะ ผมก็ไม่เอา ปรับที่ตัวเราเองง่ายกว่า คุณเลือกเอาจะปรับคนเดียวหรือจะปรับคนทั้งโลก
ยังคงดูงานของช่างภาพคนอื่นๆอยู่ ?
ไม่สนใจ
เลยจุดนั้นมาแล้ว ?
ไม่ได้เลยมาแล้ว แต่เคยดูหมดแล้ว ตอนนี้ก็มีดูบ้าง แต่ก็ดูสนุกๆครับ มันไม่ได้ดูเหมือนตอนวัยรุ่นแล้ว ที่เราดูเพื่อค้นคว้า ตอนนั้นไปร้านหนังสือดูหมด ดูทั้งร้าน ดูมันทุกเล่ม แล้วตอนนั้นร้านหนังสือเมืองนอกนะ มีหนังสือของช่างภาพเป็นพันเล่ม
ตอนนั้นมีช่างภาพคนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจหลักให้กับเรา?
มันมีเยอะ คือผมเป็นคนที่ไม่ได้วางใครไว้ให้เป็นเทพเจ้าอะไรขนาดนั้น ผมคิดว่าช่างภาพเก่งๆหลายคนก็มีจุดดีต่างกันไป เพราะฉะนั้นผมก็มีทั้งช่างภาพไทย ช่างภาพฝรั่งที่ชอบ ผมมีช่างภาพที่ชอบค่อนข้างเยอะ แล้วคือทุกคนเก่งตามแนวทางของเค้า อย่างที่ผมบอกว่าไม่มีใครบอกได้หรอกว่าใครเก่งกว่าใคร คือจะให้ไอ้คนเก่งด้านนู้นกับคนเก่งด้านนี้ ให้มันทำกับแนวทางของไอ้อีกคนให้มันดีกว่าไอ้นั้น มันก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคนมันก็ดีทางของมัน ให้ผมไปถ่ายแบบช่างภาพไทยแนวคนอื่นๆ ผมก็ทำไม่ได้ดี สมมุติคนอื่นจะมาถ่ายแนวทางผม เค้าก็ทำไม่ได้ ผมยึดครองอยู่ คือเราไม่ได้พูดว่า “ยึดครอง” อยู่หรอก มันเป็นความชอบความถนัดเรา คือถ้าคนอื่นมันพยายามในสิ่งที่ไม่ถนัด มันจะฝืนไง เหมือนเวลาที่เราต้องพยายามไปเป็นแบบช่างภาพคนอื่น พอมันฝืนแล้วมันก็ทำไม่ได้ดี แค่นั้นเอง คนเก่งมันไม่ได้มีคนเดียวในโลก การที่จะไปบอกว่าชอบงานของใครแค่คนเดียวก็เท่ากับผมปิดกรอบความคิดตัวเองด้วย มันไม่ใช่เมียนี่ เมียถึงต้องเลือกคนเดียว ต้องดูคนเดียวดีๆ แต่นี่มันงาน งานดูเยอะๆ ชอบเยอะๆดีกว่า แล้วมันก็ดึงมาประยุกต์กับงานเราได้ ไม่อย่างนั้นคุณจะติดละ ใครที่พยายามไปยึดติดกับอะไรอันเดียวหรืออะไรอย่างนี้ พอดูงานคนเดิมๆเยอะๆ มึงถ่ายรูปมึงก็ออกมาเหมือนมัน บอกได้เลย อันนี้ฝากน้องๆไว้ก็ได้ ผมเห็นผมรู้ว่ามีคนที่พยายามถ่ายรูปแบบผมเยอะ เป็นเรื่องยินดี แต่พอมันยึดติดเนี่ยเค้าถ่ายรูปก็ออกมาเหมือนผม
ถ้าพูดตรงๆผมไม่ชอบคำว่าแรงบันดาลใจ ไม่ใช่ว่าผมแอนตี้นะ แต่ผมไม่เคยใช้หรือมีคำคำนี้อยู่ในหัวเวลาทำงาน อะไรคือแรงบันดาลใจ? ถ้าเรื่องแรงบันดาลใจอะ ตัวเรานี่แหละที่บันดาลตัวเอง มันไม่มีใครอื่นมาผลักดันเราได้ดีเท่ากับตัวเราเองหรอก อ่ะคุณกินเหล้าหรือป่าว? คุณดูดบุหรี่หรือป่าว? คุณออกกำลังกายเปล่า? ถ้าไม่เคยแล้วให้คุณไปทำล่ะ คุณจะทำไหม? เหมือนกัน คือแรงบันดาลใจถ้ามันมาจากคนอื่นอะ คนอื่นมันช่วยคุณไม่ได้หรอกถ้าคุณอยากจะเก่ง ตัวคุณเองนี่แหละที่จะต้องลุกออกไปออกกำลังกาย ออกไปทำเอง ใครก็ลากคุณไปไม่ได้หรอก
ปัญหาของวงการถ่ายภาพบ้านเราคืออะไร ?
ผมว่ามันมีปัญหาอยู่ทุกวงการ ผมบอกได้เลย ไม่ใช่แค่ภาพถ่าย คือด้วยระบบเศรษฐกิจหรือด้วยไอ้อะไรก็ตามเนี่ย ถ้าวัดความเจริญกัน คือประเทศไทยมันก็ตามฝรั่งอยู่ปรมาณ 15 – 20 ปี ประมาณนะ เพราะฉะนั้นมันก็จะตามอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย อย่าไปคิดว่า เราเจริญ แล้วเราจะตามทัน ไม่ใช่ ขณะที่เราเจริญ เค้าก็จะเจริญไกลออกไป มันก็จะตามอยู่อย่างนี้ แล้วซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าคนไทยเราเป็นคนหูเบา คือมึงตามฝรั่งทุกเรื่อง อ่ะวันนี้นอกจากตามฝรั่งแล้วมึงยังต้องตามเกาหลีเพิ่มอีก ผมตอบถูกคำถามไหม ถามว่าไรนะ (หัวเราะ)
ในบ้านเรามีปัญหาอะไรบ้าง ?
โอเค วงการภาพถ่ายมีปัญหามั้ย มันก็ไม่ได้มีอะไรครับ มันก็ปัญหาเดิมๆ ก็อย่างที่บอก ถ้าเรามองว่ามันเป็นปัญหา มันก็เป็นปัญหา ผมมองว่าปัญหามันมีข้อดีข้อเสีย มันเหมือนดาบ 2 คม มันดี 2 ด้าน สำหรับคนที่เคยไปเมืองนอกแล้วกลับมา ก็จะชอบมองว่าแบบ “Production ไทยตังค์น้อยจัง” อะไรอย่างนี้ แบบ “งานไทยสวยไม่เท่าฝรั่ง” คือมึงจะบ่นทำไม มึงไม่ชอบมึงไปอยู่เมืองนอกเถอะ ถูกปะ อันนั้นก็เป็นปัญหาเบสิคซึ่งทุกคนมักจะบ่น คือคนไทยมีสันดานที่เกิดมาแล้วรู้สึกว่า เป็นบุคคลชั้น 2 รองจากฝรั่งเสมอ ตอนนี้เป็นชั้น 3 รองจากเกาหลีด้วย มักจะน้อยอกน้อยใจความเป็นคนไทย คือมึงเกิดมาใช้เงินบาทแล้วมันทำไม ก็ช่วยไรไม่ได้ ถ้าคิดไม่ได้ แล้วจะบอกให้เลยว่า ข้อเสียการทำงานแบบคนไทยที่ต้องเข้าใจเลยคือ เค้าเรียกโปรดักชั่นต่ำ คืองบประหยัดหรืออะไร คือคนไทยกับฝรั่งมันแตกต่างกันชัดเจน ฝรั่งจะทำอะไรมันทำแบบเนี๊ยบ ทุกอย่างมันต้องครบ คนไทยจะเป็นแนวแบบยังไงก็ได้ กูเดี๋ยวขาดเดี๋ยวเกินอะไรก็ไม่รู้ เดี๋ยวลืมเดี๋ยวมาสาย อันนี้เป็นสันดานคนไทยที่ฝรั่งไม่เป็น ฝรั่งมันจดไว้ยังไง 20 อย่าง อีกวันนึงมันก็จะโผล่มา 20 อย่าง แต่คนไทยไม่ใช่ มึงแค่มาตรงเวลามึงยังมากันไม่ได้เลยทุกวันนี้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่บอกได้เลย คือจะบอกว่าพวกมึงโตขึ้น มึงเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไม่ใช่ว่ามึงจะดีขึ้น มึงก็ยังจะมาสายเหมือนเดิมถูกปะ เพราะฉะนั้นทั้งการศึกษาและวัยวุฒิมึงไม่ได้บอกว่ามึงเป็นคนที่ดีขึ้น อันนี้ฟังกันไว้ด้วยนะ (หัวเราะ)
อะเดี๋ยวก่อน เดี๋ยวกลับมาบอกหลักข้อดีของการทำงานแบบคนไทยหน่อย ไอ้แบบข้าวเหนียวเนี่ย คือเรามีสิ่งที่ฝรั่งมันไม่เคยทำงานแบบนี้ คนไทยจะเป็นแบบว่า อ้าว Reflect ไม่มี แม่งไปหยิบแผ่นห่าอะไรไม่รู้สีขาวๆคล้ายๆกันมาใช้แทนได้ ไอ้นี่ใช้ไม่ได้แท่งเหล็กไม่มี อ้าวไปเด็ดกิ่งไม่มาใช้แทนก่อน มาค้ำเคิ้มอะไรก็ว่าไป อันนี้คือแนวทางแบบลูกทุ่ง แบบคนไทย คือมั่วไปเรื่อย เพราะฉะนั้นคนไทยสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีกว่าเสมอ นี่คือข้อได้เปรียบเวลาผมไปทำงานเมืองนอก ต่อให้ผมอุปกรณ์ไม่ครบ ฝนฟ้าไม่ดี อะไรอย่างนี้ ผมจะเอาตัวรอดได้ดีกว่า
เป้าหมายของ ธาดา วาริช ?
ผมประสบความสำเร็จแล้ว ไม่ได้อวดอ้างหรืออะไรนะ เพราะผมไม่ได้วางเป้าไว้สูงมาก เคยอ่านหนังสือ The Secret ใช่ไหม? ผมเพิ่งมาอ่านไม่นานมานี้เอง แต่จริงๆผมมีแนวทางความคิดนั้นเองอยู่แล้ว คือผมเป็นคนที่จะวางตัวเองไว้เลย ว่าวางแล้วต้องทำให้ได้ เป้าสุดท้ายที่ผมเคยวางไว้ก็หลายปีมาแล้ว คือผมวางตัวเองว่าอยากเป็น หนึ่งในสิบของช่างภาพแฟชั่นไทย แค่นั้นเอง แล้วผมก็ไปยืนแล้ว แล้วก็จบแล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรแล้ว ผมก็ไม่ได้อยากไปไหนต่อ ผมแค่อยากจะรับรู้ว่าความรู้สึกมันเป็นยังไงวะ การเป็นช่างภาพระดับ Top 10 ซึ่งก็รู้หมดแล้ว แล้วก็ไม่ได้อยากรู้อะไรเพิ่ม
อะไรที่ทำให้ช่างภาพไทยไปไม่ถึงระดับโลก ?
ก็มึงไม่ไปยืนเองอะ ต้องถามว่าลองกันแล้วยัง ต้องถามไอ้คนที่บ่นๆอะ ว่ามึงไปลองแล้วยัง พอมึงไปลองแล้วเนี่ย ปัญหาคือมึงไม่เก่งพอหรือเปล่า? หรือมึงฉลาดไม่พอ? หรืออะไร? หรือยังไง? จริงเหรอ ว่าไอ้เรื่องสัญชาติคือปัญหา ถ้าให้ผมตอบคือ ไม่จริง ไม่จริงเลย
ชาติพันธุ์ไม่เกี่ยว ?
ไม่เกี่ยว แล้วทำไมผมจะพูดไม่ได้ล่ะ ทุกวงการมีคนเอเชียอยู่ เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยว ผมไม่ได้ห่วงเรื่องพวกนี้เลย คนที่ถ้าเกิดมาเค้าจะไปอยู่ตรงนั้นเนี่ย ไม่ต้องผลักดันเค้า เค้าจะผลักดันตัวเองไปอยู่จนได้ คือไม่ต้องมีใครไปบิ้วหรือใดๆ เหมือนผม ผมอยากอยู่ตรงนี้ ผมก็อยู่ตรงนี้ ไม่ต้องมีใครมาถีบผม มาผลักผม
“ระดับโลก” มันไม่ได้มีน้ำหนักอะไรกับเรา ?
ผมไม่ได้สนใจ ระดับโลกเอาไปทำอะไร คือผมไม่ได้เป็นคนบ้าชื่อเสียง ชื่อเสียงไม่ได้ทำให้ชีวิตผมดีขึ้น ถ้าผมมีมันก็แค่อาจจะทำให้สบายขึ้นในบางแง่ แต่จะเอาไปทำอะไร
ทุกวันนี้ มีงานอดิเรกอะไรบ้าง ?
เลี้ยงหมา เลี้ยงปลาครับ ฟังเพลงทำความสะอาดบ้าน ซ่อมรถ บอกเลยว่าไม่เกี่ยวกับงาน เวลาพักคือพัก เวลางานคืองาน คือชีวิตผมมันไม่ได้มีแค่งานไง เพราะฉะนั้นเวลาพักผ่อนก็ให้มันพักผ่อน อยู่บ้าน คำว่า “บ้าน” มันก็บอกอยู่แล้วว่า คำว่าบ้านมันต้องอยู่สบาย คืออยู่บ้านให้สบาย ให้สมองโล่ง เวลาลุยงานมันจะได้มีพลังมาทำงาน
เคยคิดไหมว่า ธาดา วาริช จะเลิกถ่ายรูป ?
เคยคิด แต่ก็ไม่ๆ คงไม่เลิกหรอก อาจจะแค่เปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนวิถี หรือว่าอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปเพื่อทำเงินแล้ว อะไรอย่างนี้ แต่คงไม่เลิก เสียดายฝีมือตัวเองเหมือนกัน เรื่องอะไรวะ ก็ถ่ายเล่นอะไรไปเรื่อย ไม่เลิกๆ คิดว่าคงไม่เลิก ก็คงมีคนให้มาช่วยถ่ายโน่นถ่ายนี่อะไรไปเรื่อย
มีสารคดีพูดถึงชีวิตช่างภาพต่างประเทศชื่อดังที่เลิกถ่ายรูปแล้วเผางานตัวเองทิ้งหมดเลย ธาดา วาริชคงไม่มีหรอกใช่ไหมที่เลิกแล้วเผางาน?
อันนั้นถ้ามันอยากเป็นศิลปินก็เรื่องของมัน เข้าใจป่ะ มันชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน คุณเกิดมาเป็นคนละคนกัน แล้วถ้าคุณคิดว่าคุณทำตามแบบมันแล้ว คุณจะมีความเป็นศิลปินในตัวเองมากขึ้น อ่ะ มันก็เรื่องของคุณ มันก็แล้วแต่คุณ หรือว่าจริงๆเพราะที่เค้าทำเนี่ย เค้าวางแผนให้คุณสนใจเค้าหรือป่าว มันก็เป็นไปได้ อย่างงี้ถ้าผมทำ คุณก็สนใจผมใช่ไหม? สมมุติอยู่ดีๆ “อ้าว ธาดา วาริช ประกาศเลิกถ่ายรูป ขึ้นไปยืนบนยอดตึกแกรมมี่ แล้วโปรยรูปลงผลงานของเขาลงมา 50,000 รูป” มันก็ทำได้อยู่ดี แต่เพื่อ!?
Tada Varich
Website : http://tadavarichworld.com/
Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
เมื่อสองศิลปินคุณภาพชื่อดังของสิงคโปร์ Gentle Bones และ Charlie Lim ได้มีโอกาสมาร่วมงานเพลงด้วยกันครั้งแรก