ช่วงปีที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นร้านกาแฟหรือคาเฟ่เปิดใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจการออกแบบสไตล์ Industrial กันมากมายเต็มไปหมด จนตอนนี้หลายคนเริ่มหยิบเอาการตกแต่งแนวนี้มาแต่งบ้านแต่งห้องของตัวเองกันบ้างแล้ว แต่ก่อนที่จะไปถึงวิธีการ เรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่าแท้จริงแล้วสไตล์ Industrial หรือที่บางคนเขาก็เรียกว่า Loft กันเนี่ย มันมีที่มามาจากไหน และเริ่มต้นได้อย่างไร…
จากสุนทรียของโรงงานถูกดัดแปลงมาเป็นที่อยู่อาศัย
ถึงแม้ว่าสไตล์การแต่งบ้านแบบนี้จะมาโด่งดังในช่วงไม่เกิน 30-40 ปีมานี้ในต่างประเทศ หลังจากที่ศิลปินย่านโซโหของเมืองนิวยอร์กนิยมมี Loft ของตัวเองดัดแปลงมาจากโกดังเก่ากัน แต่แท้จริงแล้วสไตล์ Industrial เกิดขึ้นมานานย้อนไปตั้งแต่ปี 30’s หลังจากที่อเมริกาได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว เมื่อโรงงานน้อยใหญ่เริ่มมีมากเกินความจำเป็น ทำให้อาคารพาณิชย์และโรงงานต่างๆที่ดีกว่าทิ้งร้างในเวลานั้นถูกปรับเปลี่ยนนำมาดัดแปลงเป็นที่พักอาศัยของมนุษย์แทนบ้านของเครื่องจักร ข้อดีของอพาร์ทเมนท์และโกดังเก่าเหล่านี้คือที่มีสเปซกว้างขวางและมีเพดานสูงเปิดกว้าง (High Ceiling) ในเวลาต่อมา เมื่อศิลปินต้องการหาพื้นที่ทำงานเป็นสตูดิโอในราคาไม่แพง บรรดาโกดังที่ว่านี้จึงถือเป็นตัวเลือกชั้นเยี่ยม เกิดเป็นกระแสความนิยมที่เปลี่ยนความสวยงามอันเคยถูกมองว่าควรอยู่แต่ในโถงโรงงานให้กลับมาเป็นที่สนใจของผู้แต่งบ้านที่มีรสนิยม จนถึงทุกวันนี้กลายมาเป็นอีกหนึ่ง Movement สำคัญอยู่ในตำราเรียนวิชาออกแบบและตกแต่งภายใน เรียกว่าแนว Industrial
“เทา ดำ ขาว น้ำตาล” คือคู่สีที่คุณจะต้องหลงรัก
จานสีที่กล่าวไป ถือเป็น Color Pallette ที่สำคัญของการตกแต่งสไตล์นี้ มูดโทนที่คุณต้องมองหาคือสีธรรมชาติของไม้ เหล็ก สนิม ปูน อิฐ รวมไปถึงความโปร่งใสของวัสดุแก้วและกระจก ทั้งโครงเหล็กสีดำปล่อยว่างบนเพดาน ท่อ Pipe น้ำที่โผล่ให้เห็นทุกๆที่ ฝาผนังที่ไม่ได้ฉาบปูนเห็นเป็นเนื้ออิฐเรียงราย พื้นห้องนิยมใช้เป็นปูนเปลือยไม่ก็ปูกระเบื้องแบบทรงมาตรฐานง่ายๆ กระจกบานใหญ่ตีตารางเป็นช่องๆแบบโรงงาน เหล่านี้เป็น Element ที่ให้ความรู้สึกจริงและดิบตามสไตล์ Industrial แรงบันดาลใจมาจากการออกแบบภายในโรงงานที่ไม่ได้เน้นความสวยงามใดๆ หากแต่เน้นเรื่องของต้นทุนและลดทอนเหลือแต่ประโยชน์การใช้งานล้วนๆ จนมาถึงปัจจุบันในยุคที่นักออกแบบมีหน้าที่จำลองความเป็นโรงงานเพื่อปรับใช้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห้องในบ้านอยู่อาศัยแล้ว พวกเขาส่วนใหญ่ต่างก็มีลูกเล่นที่ช่วยสร้างมิติแปลกใหม่ให้กับสไตล์ Industrial ทั้งการเปลี่ยนพื้นบ้านด้วยการปูพื้นไม้ลงไปช่วยเพิ่มสีน้ำตาลให้กับสเปซ ไปจนถึงเบาะหนังหรือกำมะหยี่สีน้ำตาลเข้มหรือแม้แต่สีแดงก็ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถจับคู่เข้าไปได้ในสไตล์ Industrial ยุคสมัยนี้เช่นกัน
Industrial Design กับ Vintage Furniture
ทำไมสองสิ่งนี้มักจะอยู่ไม่ไกลกัน? ในจังหวะที่ Industrial Design กำลังเป็นที่นิยมและกำลังมาแรง เวลาเดียวกันเมื่อสองสามปีมานี้ ความนิยมในการหาซื้อของเก่าของวินเทจก็เติบโตขึ้นไม่น้อยเช่นกัน เกิดเป็นวัฒนธรรม Flea Market ที่เริ่มคึกคักขึ้นทุกวันๆ โดยพื้นฐานแล้วไอเทมในการแต่งบ้านสไตล์ Industrial มักจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความรู้สึกแบบโรงงาน มีวัตถุประสงค์ในการออกแบบเพื่อนำไปสู่ประโยชน์การใช้สอยล้วนๆ ซึ่งถ้าหากอธิบายในภาพลักษณ์รูปทรงของงานออกแบบคือ “ลอยตัว” กล่าวคือใช้วัสดุน้อยประหยัดต้นทุน มองเห็นชิ้นส่วนประกอบกันชัดเจน เห็นโครงสร้างโปร่งๆแบบไม่ตีทึบให้เปลืองวัสดุ อย่างเช่น โคมไฟเหล็กรูปตาข่ายที่มีหลอดไฟไส้กลมดวงโต (Light Bulb) เก้าอี้ที่มีเพียงโครงเหล็กและไม้มาวางไว้ (อย่างเก้าอี้ Stool ในรูปประกอบน่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนคุ้นตากันดี) ไปจนถึงบานหน้าต่างหรือบานประตู ที่ถ้าหากได้ตามสไตล์อพาร์ทเมนท์ Loft เป็นบานเหล็กมี่ช่องกระจกหลายช่องขนาดใหญ่ ก็จะยิ่งทำให้บ้านของคุณมีมูดความเป็น Industrial ขึ้นอีกเป็นเท่าตัว (แต่ราคาก็แพงเอาเรื่องอยู่นะ) วัสดุที่ใช้จะวนเวียนกันอยู่ไม่พ้นไม้ เหล็ก และแก้ว ทั้งนี้จะเป็นของเก่าแท้ๆหรือทำใหม่ Reproduction ให้ได้มูดโทนใกล้เคียงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความสำคัญอยู่ที่การหยิบเลือกมาใช้ของตัวผู้แต่งบ้านมากกว่า
บรรยากาศภายในร้าน Casa Lapin X26 (สุขุมวิท 26) ที่มีการตกแต่งกลิ่นอายสไตล์ Industrial อย่างชัดเจน
ร้าน Machine Age Workshop ที่มีความเป็น Industrial โดดเด่นในเรื่องของเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้ (ที่ร้านยังจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย)
ภายในร้าน Marlin Cafe ซอยอารีย์ ที่มีองค์ประกอบของสไตล์ Industrial ปรากฎให้เห็นเช่นกัน
แรงบันดาลใจที่พบเห็นได้ง่ายๆ
สำหรับใครที่อยากเห็นภาพมากขึ้น ในกรุงเทพเองก็มีร้านอาหารหรือคาเฟ่ที่ตกแต่งแบบ Industrial ให้เก็บเป็นแรงบันดาลใจมากมาย ยกตัวอย่างถ้าเอาที่ชัดเจนและทำให้แนวนี้กลับมาเป็นที่นิยมและเป็นที่พูดถึงในบ้านเราก็คงหนีไม่พ้น
- ร้านกาแฟ “Casa Lapin” ที่ทุกสาขามี Element ของ Industrial Design ปรากฎให้เห็นเต็มไปหมด (ถ้าเอาเรื่อง Space กว้างขวาง สาขา x26 ซอยสุขุมวิท 26 ดูเห็นภาพได้ชัดสุด)
- ร้าน “Machine Age Workshop” เอกมัยซอย 15 ที่โดดเด่นในเรื่องของเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้เป็นของวินเทจอเมริกันแท้ๆ (เพราะร้านมีโซนขายของวินเทจส่งตรงจากอเมริกาเลยด้วย)
- “The Smith” ร้านอาหาร Fine Dining ย่านพร้อมพงษ์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสไตล์ Industrial อย่างเห็นได้ชัด
- ร้านกาแฟ “One Ounce for Onion” เอกมัยซอย 12 ร้านเล็กๆน่ารักๆที่มีกลิ่นอาย Industrial อยู่เช่นกัน
- ร้าน “(un) FASHION Cafe” เอกมัยซอย 10 ที่มองจากด้านนอกมีรูปทรงร้านที่น่าสนใจเป็นเอกลักษณ์ มีวัสดุหลักเป็นอิฐและเหล็กขึ้นสนิมให้ความรู้สึกแบบ Industrial กลายๆ
- ร้าน “Marlin Cafe” ร้านที่เสิร์ฟตั้งแต่อาหาร Bunch ไปจนถึง Dinner ที่ตั้งอยู่กลางซอยอารีย์ มีส่วนประกอบ Industrial ให้เห็นอยู่ในห้องทานอาหาร
- “The Jam Factory” สเปซติดท่าเรือคลองสาน กำลังเป็นที่พูดถึงในเวลานี้ โซนทั้งหมดของ The Jam ต่างก็มีธีมความเป็นโรงงานและโกดังเก่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเช่นกัน
- ตึก “Black Amber Building” ตั้งอยู่ระหว่างทองหล่อซอย 5-7 ที่ชั้นหนึ่งมีร้านตัดผม Black Amber อยู่ ทั้ง 4 ชั้นก็มีบรรยากาศแบบ Industrial ลอยอบอวลอยู่
ถ้ามองหาเฟอร์นิเจอร์ เราแนะนำว่าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร / ตลาดนัดเจเจกรีน (ตลาดนัดยิปซี) / ตลาดนัดรถไฟ ไปจนถึงตลาด Flea Market รวมของวินเทจที่จัดเป็น event ครั้งคราวอย่าง Made by Legacy ก็เป็นจุดที่ควรไปเลือกหาของเก่าตกแต่งบ้าน หรือ IKEA ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน ในส่วนของร้านที่เรากล่าวมาทั้งหมดด้านบน ไม่ว่าจะร้านกาแฟร้านอาหารหรือคาเฟ่ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากใครมีร้านไหนเพิ่มเติมก็สามารถแนะนำเข้ามาได้ เราเชื่อว่ากระแสการแต่งบ้านแต่งร้านแบบ Industrial ในบ้านเราจะยังมีให้เห็นอีกมากมายแน่ๆ ยังไงก็ขอให้แต่งบ้านกันอย่างสนุกครับ
Writer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
Quattro Design เปิดเทรนด์ปี 2021 การออกแบบเพื่อความสุข และสร้างพลังในการใช้ชีวิต รับสไตล์คนในโลกยุคปัจจุบันต้องอยู่อาศัยบ้านมากขึ้น พร้อมสื่อสารผ่าน VDO กับโปรเจ็ค THE DIPLOMAT 39 คอนโดมิเนียมสุดหรู ตอกย้ำผู้ให้บริการ Interior Design แบบ One-Stop Service