วันที่ 14 พฤษภาคม 2015 เป็นวันที่ประวัติศาสตร์ดนตรีของโลกต้องใช้หน้ากระดาษอีกหนึ่งแผ่น ในการบันทึกการจากไปของ B.B. King (ด้วยอายุ 89 ปี) ตำนานเพลงบลูส์ที่หลายคนรู้จักกันดี การเล่นของ B.B. King จะเปรียบเสมือนเป็นทูตคนสำคัญแบบกลายๆของเพลงบลูส์ก็ไม่ผิด จากที่เพลงบลูส์ก่อตัวขึ้นในทางตอนใต้ของอเมริกา โดยคนผิวสีที่ถูกมองว่าต่างระดับในขณะนั้น จาก Robert Johnson บิดาของแนวทาง Delta Blues เบิกทางให้ จากนั้นก็มี B.B. King นี่ล่ะที่ทำหน้าที่กระจายเสียง ช่วยให้โลกรู้จักเพลงบลูส์มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ด้วยการเล่นกีตาร์สำเนียงที่ไม่มีใครเหมือน ฟังแล้วรู้เลยว่าเป็นเขา เทคนิคไม่จำเป็นต้องเยอะมากแต่ฟังแล้วกินใจ วันนี้เราจะขอรับช่วงต่อจาก B.B. King อีกสักนิดหนึ่ง ด้วยการนำเอาบันทึกการแสดงสดที่เรายังคงเชื่อว่าอยู่ในดวงใจคอบลูส์หลายๆคนมาฝากกัน
The Thrill Is Gone – Live in Africa ’74
สำหรับบทเพลงที่โลกคุ้นเคยมากที่สุดของ B.B. King ก็คงต้องหนีไม่พ้นแทร็คที่มีชื่อว่า The Thrill Is Gone เพลงบลูส์ในคีย์ไมเนอร์ ที่มีการนำไปเล่นโดยศิลปินบลูส์คนอื่นๆมากมาย แต่งขึ้นโดยศิลปินเพลงบลูส์ Roy Hawkins และ Rick Darnell ในปี 1951 จนมาดังพลุแตกเมื่อเดอะคิงหยิบเอามาเล่นในปี 1970 สำหรับสาเหตุที่เราเลือกการแสดงสดนี้มา เพราะมันมีพลังงานที่เราเชื่อว่าสดและหาที่ไหนเปรียบได้ ได้เห็นบีบีในยุคหนุ่ม พร้อมกับกีตาร์คู่ใจ Lucille เป็นการเล่นเปิดให้กับแมทช์ชกมวยตำนานระหว่าง Muhammad Ali ชกกับ George Foreman ศึก Rumble In The Jungle ที่มีคนดูเกือบแสนคน! ไม่ได้คิดแบบเหยียดผิวหรืออะไรนะ แต่เรารู้สึกว่า คำว่า “พลัง Black Power ของคนผิวสี” มันขลังมากจริงๆในการแสดงนี้ ทั้งดนตรีบลูส์ที่มีกลิ่นอายจังหวะฟังก์ในยุคนั้นด้วย ทั้งมวยที่หยุดโลกด้วย โอย สุดยอด ถ้าดูเทปนี้แล้วขาไม่กระดิก หัวไม่โยก เราว่าแปลกแล้วล่ะ
Three O’ Clock Blues
ผลงานที่ช่วยทำให้ B.B. King แจ้งเกิดครั้งแรกในปี 1952 ติดท็อปชาร์ตในเวลานั้น บทเพลง Twelve-Bar Blues (12 ห้อง) ในคีย์ C ที่เดินจังหวะแบบช้าๆ เนื้อหาเกี่ยวกับในตีสามแล้วยังนอนไม่หลับ ใครที่อยากสัมผัสกลิ่นอายเพลงบลูส์แบบระบายความทุกข์ในใจ มีจังหวะและเสียงกีตาร์ที่สื่ออารมณ์ชัดๆ ฟังไม่ยาก ต้องลองดูการแสดงสดเพลงนี้เลย เพราะตอนท้ายมีการเปลี่ยนจังหวะที่สวยงามอยู่ด้วย จนถึงก่อนจะจากไป ตลอดเวลาที่ผ่านมา B.B. King ยังคงต้องมีเพลงนี้รวมอยู่ในทุกการแสดงสด และในอัลบั้มที่ทำให้กับรุ่นน้องซี้อย่าง Eric Clapton ก็มีเพลงนี้รวมอยู่ด้วยเช่นกัน
Live in Stockholm 1974
คลิปนี้ตอนเราเห็นคนโพสต์ในยูทูปครั้งแรก แทบอยากจะกระโดดกอดทะลุจอคอมไปเลยจริงๆ ไม่รู้ว่าหามาจากไหน เป็นสัมภาษณ์ที่พูดกับ B.B. King และย้อนไปดูเทปการแสดงในปี 1974 ของเขาที่ Concert Hall แห่งหนึ่งในเมือง Stockholm ซึ่งการแสดงนี้เป็นเหมือนการแจมสดบนเวทีของนักดนตรีในทีมของบีบี ซึ่งแต่ละคนโชว์การ Improvise แบบต้องตามให้ทัน ถ้าฟังๆแล้วเหมือนจะเจอหลายเพลงของเขาปนอยู่ในนี้ มีทั้งเบรคที่โชว์การเล่นของโซนเครื่องเป่าด้วย ใครที่ชอบฟัง Jazz อยู่แล้ว เราว่า Blues เล่นแบบในเทปนี้เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อที่ชัดเจนของสองแนวดนตรีนี้เลย แน่นอนว่าแสดงถึงฝีไม้ลายมือการเล่นสดของ B.B. King ในยุคที่เขากำลังท็อปฟอร์มเลยจริงๆ
All Over Again – Live Japan 1989
อะไรจะคลาสสิคไปกว่าเทปการแสดงสดของศิลปินระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่นในยุค 80s อีก อันนี้จริงๆนะ ตั้งแต่ไล่ๆดูมา เราว่ามันคงเป็นยุคที่ศิลปินฝั่งตะวันตกกำลังเริ่มทัวร์ไกลมาถึงโลกตะวันออกกันอย่างจริงจัง แล้วแต่ละคนก็พกความอัจฉริยะมากันแน่นกระเป๋า โดยเฉพาะสาย Jazz Blues นี่ ดีทุกเทปเลย เช่นเดียวกันกับคอนเสิร์ตของ B.B. King เทปนี้ ที่โชว์การเล่นกีตาร์ผ่านเพลง All Over Again เพลงบลูส์ที่เวอร์ชั่นนี้เขาใช้กีตาร์ร้องแทนได้สมฉายาเดอะคิง เรียกว่าเป็นต้นแบบให้กับนักดนตรีรุ่นหลังที่เลือกการโซโล่แบบสำเนียง ไม่เน้นฉวัดเฉวียงอะไรมาก แต่เล่นน้อยออกมาได้ไพเราะน่าฟัง
Let Me Love You Baby – Live at Rock&Roll Hall of Fame 2005 (B.B.King with Buddy Guy & Eric Clapton)
สามเพื่อนซี้ของวงการเพลงบลูส์ร่วมสมัย สองอเมริกันและหนึ่งหนุ่มอังกฤษที่เข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย การแสดงนี้ช่วยแสดงให้เห็นเคมีระหว่างสามคนนี้อย่างชัดเจน ทั้งความเก๋าของ B.B. King ความสนุกขี้เล่นของ Buddy Guy และเสียงกีตาร์หวานดุดันของ Eric Clapton ทำให้ค่ำคืน การส่ง Buddy Guy เข้าเป็นหนึ่งในทำเนียบ Rock&Roll Hall of Fame เป็นคืนที่หลายคนต้องจดจำไปอีกนานแสนนาน ในบทเพลง Let Me Love You Baby ที่ลงตัวไปหมดทุกส่วน
Guess Who – Live Sing Sing Prison 1972
สำหรับเรา นี่คือบันทึกการแสดงสดที่เราชอบมากที่สุดของ B.B. King โดยไม่ต้องสงสัย และตัว B.B. King เองก็เคยบอกว่านี่เป็นหนึ่งในการแสดงสดที่เขาเชื่อว่าดีที่สุดของเขาเช่นกัน บันทึกจากในเรือนจำวัน Thanksgiving Day วันเฉลิมฉลองที่ในมุมของชาวอเมริกันคือต้องกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน เมื่อมองความหมายของวันนี้กับบรรยากาศในคุกมันช่างต่างกันเหลือเกิน เมื่อเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันคือครอบครัวเท่าที่จะมีได้ จากเริ่มการแสดงบรรดานักโทษก็คึกคะนอง ส่งเสียง ผิวปาก แซว นักดนตรีของเราตั้งแต่เริ่ม จนพอมาถึงเพลง Guess Who นี่ล่ะ ที่ทำให้ทั้งห้องเงียบกริบได้ เพลงบลูส์ที่มีทำนองเนื้อหาเศร้าและเว้าวอน เพลงที่สำหรับคนเฝ้ารอและคิดถึงฟังแล้วกินใจ ต้องขอบคุณคนตัดต่อเทปนี้ด้วย ที่ตัดภาพไปเป็นภาพนักโทษแต่ละคนขณะนั่งพร้อมคราบน้ำตา นี่ล่ะนะมนต์เสน่ห์เพลงบลูส์ เพราะเราทุกคนต่างมีความบลูส์แอบซ่อนอยู่ในตัวเองจริงๆ
Blues Man – Live at Montreux Jazz Festival 1993
การแสดงสดของ B.B. King ที่มีคนรู้จักมากที่สุดเวทีหนึ่ง คือที่เทศกาลดนตรี Montreux Jazz Festival ในปี 1993 ในปีนี้มีการเล่นบทเพลงคลาสสิคหลายเพลง ทั้ง The Thrill is Gone, Rock Me Baby และอีกมากมาย แต่ที่เราขอเลือกมาคือเพลง Blues Man ที่ดูจะสะท้อนความเป็น B.B. King ออกมาได้ชัดเจนมากในการแสดงครั้งนี้ ช่วงกลางเพลงเขาได้เล่าเรื่องราวชีวิตของเขาด้วย ภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนอารมณ์ดีไม่มีอะไร แต่เราสัมผัสได้เลยว่าเขาต้องผ่านอะไรมาเยอะมากๆ ส่วนตัวเราอยากให้คนอื่นได้รู้จักกับเพลงนี้ เพราะนี่คือเพลงที่ทำให้เราหลงรักเพลงบลูส์ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง
The Thrill is Gone – Live From Crossroads Festival 2010
ถ้าเราเริ่มการเดินทางของ B.B. King กันด้วยการแสดง The Thrill is Gone จากปี 1974 คงต้องบอกลากันด้วยบทเพลงเดียวกันแต่เป็นในเกือบ 30 ปีให้หลัง ที่เทศกาลเพลงบลูส์ Crossroads เทศกาลใหญ่ที่พยายามจัดขึ้นโดยศิลปินผู้หลังรักแนวดนตรีนี้ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักมากขึ้น มี Eric Clapton เป็นตัวตั้งตัวตี ในเวทีปี 2010 นี้ตอนจบก็มีการแสดงที่น่าจดจำเกิดขึ้น โดย B.B. King ขึ้นมาเล่นเพลงดังของเขา พร้อมกับเพื่อนพ้องและรุ่นน้องบนเวทีที่แจมกัน มี Eric Clapton / Robert Cray / Jimmie Vaughan (พี่ชายคนโตของอัจฉริยะบลูส์ Stevie Ray Vaughan) ทั้งสามคนผลัดกันโซโล่เรียงกัน Eric Clapton ที่การเล่นของเขาทุกคนคุ้นเคยกันดี Robert Cray ที่มีสำเนียงชัดเจนไม่เหมือนใคร Jimmie Vaughan ที่มาพร้อมลูกเล่นการเปลี่ยนจังหวะ Shuffle เรียกเสียงกรี๊ดจากคนดู และมาจบด้วยเสียงกีตาร์ของ B.B. King เหมือนกับทำพิธีไว้ลาย ส่งต่อเพลงบลูส์ฝากให้กับคนรุ่นต่อไป นี่ยังไม่นับว่าตอนท้าย ศิลปินที่ร่วมแสดงในงานพากันขึ้นมา Tribute กับ B.B. King กลายๆ ลองฟังเสียงกีตาร์ Lap Steel ตอนจบ แล้วจะเข้าใจเลยว่าเพลงบลูส์นั้นเก๋าแค่ไหน -R.I.P. B.B. King (1925-2015)-
Writer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
ภาพหายากที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนเมื่อ Harrison Ford หลุดขำ กลางรายการให้สัมภาษณ์รายการทีวีของอังกฤษ This Morning เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา #BladeRunner2049