คาดว่าในช่วง 1-2 ปีมานี้ หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “สตาร์ทอัพ (Startup)” กันบ่อยขึ้น เพราะกระแสธุรกิจสเกลเล็กที่ว่านี้มาแรงจนถูกยกให้เป็นหนึ่งในโมเดลที่น่าจับตามองมากที่สุดแห่งยุค จึงไม่น่าแปลกหากเหล่าบรรดานักธุรกิจ นักลงทุน นักการตลาด ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนจะหันมาสนใจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะคนเจเนเรชั่นใหม่ที่ใฝ่ฝันจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองมากกว่าทำงานประจำและมองว่าการสร้างสรรค์ธุรกิจนั้น ถึงจะมีแค่ 2-3 คนก็ทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นนักออกแบบ นักการตลาด และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไอที และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ทำงานกันเป็นทีมเล็กๆ เน้นการนำเสนอไอเดียสดใหม่ สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ วางแผนเติบโตแบบรุดหน้าหรือก้าวกระโดด และกลายเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับบรรดานักลงทุนบริษัทใหญ่ ดังที่เราเห็นการเติบโตของโซเชียลมีเดีย Facebook, Twitter, Instagram มาแล้ว รวมทั้งการมาถึงของแพลตฟอร์มการระดมทุนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Kickstarter ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกเข้ามาร่วมกันลงขันปลุกปั้นสนับสนุนไอเดียดีๆ ให้เป็นจริง จนเรียกได้ว่า เรากำลังเข้าสู่ยุค Startup กันอย่างเต็มตัว!
Silicon Valley : จุดเริ่มต้นของสุดยอดแหล่งสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโลก
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงสตาร์ทอัพแล้ว หลายคนมักนึกถึง “ซิลิคอน แวลเลย์ (Silicon Valley)” เพราะที่นี่เปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดของธุรกิจสตาร์ทอัพแห่งแรกของโลกที่เหล่า Geek และผู้ชื่นชอบเทคโนโลยีหวังว่าจะได้มาเยือนสักครั้งในชีวิต ซิลิคอน แวลเลย์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในฐานะศูนย์กลางด้านนวัตธรรมและไอทีของโลกนับตั้งแต่วันที่ Hewlett Packard ก่อตั้งบริษัทในโรงรถ (HP Garage) ในย่าน Palo Alto ก่อนที่สตีฟ จ็อบส์ กับ สตีฟ วอซเนียกจะมาขลุกตัวในโรงรถของเขาเพื่อคิดค้นแมครุ่นแรก “APPLE I” ด้วยซ้ำ จนกระทั่งกลายเป็นย่านที่รวบรวมบริษัทไอทีชั้นนำของโลกไว้มากที่สุดในปัจจุบัน อาทิ Google, eBay, Cisco, Facebook อีกมากมาย เรื่องราวแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นและเล่าขานต่อกันมาทำให้ภาพของซิลิคอน แวลเลย์สะท้อนว่าทุกไอเดียสามารถเป็นไปได้ในที่แห่งนี้!
ส่วนหนึ่งนั้นก็ต้องยกความดีความชอบให้กับการออกแบบระบบนิเวศเศรษฐกิจแบบพร้อมสรรพ ทั้งด้านทรัพยากร สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ส่งให้ที่นี่กลายเป็นสนามประลองไอเดียที่พร้อมจะลุกเพลิงได้ตลอดเวลา ไหนจะมีสถาบันศึกษาชั้นนำอย่างสแตนฟอร์ดคอยผลิตบุคลากรไอทีมากคุณภาพ การสืบทอดวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมและความหลงใหลในนวัตกรรม รวมทั้งส่งต่อดีเอ็นเอแบบจอมขบถ กล้าได้กล้าเสี่ยงจากรุ่นสู่รุ่น ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันเต็มไปด้วยความกดดัน ทว่าเข้มข้น คึกคัก และห้ำหั่นกันต่อวินาที เหล่านี้จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูด (กระทั่งดึงตัว) พวกหัวกะทิและนักลงทุนตบเท้าเข้ามาทำงานร่วมกัน ผลักดันปลุกปั้นไอเดียให้เป็นจริง เรื่อยไปจนถึงความใฝ่ฝันที่จะโด่งดังร่ำรวยแบบข้ามคืนเหมือนรุ่นก่อนๆ ไม่เพียงผลักดันให้ที่นี่กลายเป็นตำนานแห่งสตาร์ทอัพ(ที่ปราบเซียนนักธุรกิจ/นักลงทุนมาแล้วหลายราย)ไปโดยปริยาย แต่ยังเชื้อเชิญให้คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาสร้างประวัติศาสตร์อีกด้วย
แต่ซิลิคอน แวลเลย์จะเป็นคำตอบเดียวหรือเปล่า เราไม่คิดเช่นนั้น เพราะเหล่าผู้นำของประเทศต่างๆ ก็ได้นำบทเรียนจากที่นี่ไปประยุกต์ใช้กับแผนพัฒนาประเทศ ออกนโยบายสร้างเมืองนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษกิจกันยกใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Tech Hub ที่ผุดขึ้นในกรุงลอนดอน สต็อกโฮล์ม ไปจนถึงเมืองเทล อาวีฟ ประเทศอิสราเอล ซึ่งกลายเป็นชุมชนสตาร์อัพที่น่าจับตามองอีกแห่งหนึ่ง ทว่า จากการรายงานของ Mashable ระบุว่าในปี 2012 มีผู้ประกอบการมากกว่า 500,000 รายที่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ล้มเหลวมากถึง 75% ของจำนวนทั้งหมด และน้อยคนที่เดินตามรอย Mark Zuckerberg และ Jack Dorsey (ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter และซีอีโอแห่งบริษัท Square) ได้สำเร็จ นักวิชาการให้ความเห็นว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพโตเร็วก็จริง แต่มีอายุสั้น!
ภาพบรรยากาศภายใน Google Headquarters, Silicon Valley
คำว่า “ถอดใจ” อาจเร็วไปหน่อยสำหรับการทำสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น เพราะการบริหารธุรกิจให้อยู่รอดในความเป็นจริงย่อมต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาว และเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์ธุรกิจนี้มีส่วนทำให้เกิดเทคโนโลยีและผลผลิตดิจิทัลใหม่ๆ ที่ขยายขอบเขตของ “ความเป็นไปได้” ออกไปไกลกว่าที่ผ่านมาและหยิบยื่นประสบการณ์แตกต่างหลากหลายให้กับผู้บริโภค ไม่เพียงเท่านั้น จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบรายใหม่พยายามปรับตัว สร้างเครือข่ายชุมชนกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งน่าจะเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจใหม่แบบ Shared Economy ที่ช่วยแก้ไขภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาในวันนี้
Writer: Piyaporn Aroonkriengkrai
Credit
บทความ Richie Hecker: Thanks to the Sharing Economy, Everyone Is an Entrepreneur จาก wsj.com
บทความ Why Start(up) Now? จาก fastcompany.com
ข้อมูลเชิงสถิติ Startup Success By the Numbers จาก mashable.com
RECOMMENDED CONTENT
เป็นครั้งแรกที่บริษัทผู้สร้างตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Monotype ได้ทำการออกแบบตกแต่งตัวชุดอักษรที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกอย่าง Helvetica หลังจากที่พยายามปลุกปล้ำกันอยู่นานกว่าสองปีเพื่อที่จะปรับปรุงชุดตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบ swizz font