fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit : “รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์” กับ 10 กว่าปี ของ Smallroom เป็นอย่างไร?
date : 10.สิงหาคม.2015 tag :

smallroom rungroche uptampotiwat interview 13

Dooddot Interview ของเราคราวนี้จะพาไปพูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังค่ายเพลงที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง Smallroom แน่นอนว่าคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) ผู้อยู่เบื้องหลังวงดังๆอย่าง Tattoo Colour, Greasy Cafe, Slur หรือ Polycat ที่ดังเปรี้ยงปร้างในปีที่ผ่านมา วันนี้พี่รุ่งนัดพวกเราให้ไปที่ Smallroom ซึ่งอยู่ชั้น 5 ของตึก Rain Hill ปากซอยสุขุมวิท 47 เราจะพูดคุยกับพี่รุ่ง เกี่ยวกับเรื่องราวของวงการเพลง และ Smallroom หลังจากผ่านการทำงานในเส้นทางดนตรีมาอย่างยาวนาน ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง รวมถึงก้าวต่อไปของ Smallroom ในอนาคต

ตอนนี้พี่รุ่งทำงานมาหลาย 10 ปีแล้ว พี่นิยามการทำงานของตัวเองว่าอะไร ?

เปิดมาคำถามก็ยากเลย… เราว่าเราโชคดีที่เราได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ  เราเลยไม่รู้สึก เพราะเรา alert กับมันอยู่ตลอดเวลา และมันก็มีเรื่องให้เราพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะว่าเรื่องที่เราชอบ ไม่ได้แปลว่าเรื่องที่เราเก่ง มันก็ค่อยๆทำไป มันก็มีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ เราก็ไม่ได้อยากบอกว่าเราเป็นโปรดิวเซอร์ หรือเจ้าของค่ายหรืออะไร…รู้ล่ะ! เราแค่เป็นคน run งานสาธารณะเว้ย เราเป็นคนรันงานสาธารณะที่โชคดี

จากศิลปินมาเป็นเจ้าของค่ายเพลง แน่นอนว่าต้องทำ Business พี่รุ่งเป็นผู้ประกอบการแบบไหน ?

ไม่! ไม่ใช่เลย คือสรรพากรก็ไม่เข้าใจเราว่าคุณเปิดบริษัทไว้ทำไมวะ ในเมื่อมันก็โชว์ตัวเลขขาดทุนอยู่ แล้วเวลาขาดทุนเราก็ต้องการเงินคืนเพราะเราเสียภาษี พอเราไปขอเงินคืนเค้าก็จะเริ่มไม่เข้าใจว่าเราเปิดทำไมวะเนี่ย ก็มันขาดทุนอ่ะ ถามว่าเราบิสสิเนสไหม? เราไม่ใช่อ่ะ เราเป็นคนรันงานสาธารณะคนหนึ่งที่มีความสุขดี (หัวเราะ)

smallroom rungroche uptampotiwat interview 12

ตอนนี้ Smallroom เป็นยังไงบ้าง ?

ก็ยังคงบ้าออกงานเยอะ เราก็ไม่ได้เงียบ เราก็มีงานออกเรื่อยๆ เรามีประสบการณ์มากขึ้น จากการที่ค่ายเราไม่เคยมีฮิต ไม่เคยมีไอดอล ไม่ค่อยมีวงออกจากค่าย ถามว่าเราทำอะไรอยู่เราก็ทำแบบเดิม และเราก็ยังคงสนุกกับการทำให้มีวงที่ยังไม่เคยฮิต กลายเป็นฮิตซักที โดยรวมนะวันนี้มันเหมือนนิ่งขึ้นนะ เราก็พูดกับทุกหัวหนังสือว่าทุกวันนี้เศรษฐกิจมันก็ไม่เห็นดีเลย แล้ววงการเพลงก็ไม่เห็นดีเลย เราคิดว่าก็ไม่ต้องพูดแล้วล่ะเพราะมันก็เป็นปัญหาที่มีอยู่แล้ว แต่สรรพากรก็เลยถามเราตลอด ว่าทำไปทำไมวะอะไรแบบนี้ (หัวเราะ)

ได้เคยวาง Milestone ให้กับ Smallroom ไว้ไหมว่า 10 ปี ต่อจากนี้ต้องเป็นอย่างไร ?

เรื่องพวกนี้ไม่เคยสนใจเลย เรื่องธุรกิจก็ไม่เคยสนใจ มีหน้าที่คือทำไปเรื่อยๆ มันน่าเกลียดรึเปล่าวะ?… คือพูดแบบนี้ละกัน เรามีหน้าที่ refresh ตลอดเวลา วงที่ฮิตแล้วจะทำอย่างไรให้ยังคงฮิตไม่เสื่อมถอย หรือวงที่ยังไม่ฮิต จะฮิตได้อย่างไร? เราต้อง refresh ไปที่เด็กเลยนะ อย่างตุลาคมปีที่แล้ว (2014) เราทำให้ Polycat ฮิตได้ ทั้งที่เดือนกันยา Polycat ยังอ้วกแตก! บ่จี๊อ่ะ เข้าใจไหม นั่นคือสิ่งที่เราพูดว่ามีเด็กรอคอยเราตลอด และนั่นคือสิ่งที่เราจะสร้างสรรค์ร่วมกัน เพราะมันคือการแชร์กันทุกอย่าง มันคืองาน คือไอเดีย ดังนั้นแล้วมันก็คือ commercial art และเป็นงานกลุ่ม นี่คือ mission!

เด็กที่เจอเมื่อ 5 – 10 ปีที่แล้ว กับศิลปินตอนนี้เค้ามีคาแรกเตอร์ที่ต่างกันอย่างไร ?

โห! เพิ่งคุยกันเมื่อกี้เลยเนี่ย จริงๆแล้วค่ายเพลงก็เหมือนสังคม วัยรุ่นในสังคมมันก็มีทุกแบบ ถามว่าวงนี้จะเหมือนวงเมื่อ 5 ปีที่แล้วไหม? ก็มีบางอย่างที่คล้าย และมีบางอย่างที่ไม่คล้าย เพราะบริบทในสังคมมันได้เปลี่ยนไป ด้วยเรื่องเทคโนโลยีหรืออะไรก็แล้วแต่ ค่ายเพลงมันคือการจำลองคนในสังคม เด็กที่จบปริญญาตรีมาไม่ว่าจะด้านเพลงหรือไม่ใช่ด้านเพลงมันก็มี ?… อยู่ที่ว่าทำกันจริงจังมั้ยวะ

แต่ถ้าเราลองมองเรื่องปากท้องนะ มันใช้พลังงานเยอะมาก ในการทำงานเป็นหมู่คณะระดับใหญ่ขนาดนี้พนักงานมีเป็น 30 คน แล้วคุยกันหมดทุกอย่าง เรามีวงประมาณ 11 วง เราเชื่อว่าวันนึงเราพูดประมาณไม่ต่ำกว่า 2,000,000 พยางค์ และเราก็พยายามกระตุ้นให้คนเหล่านี้สื่อสารกันให้มากเท่าเรา ทุกวงก็ต้องมีวิธีการสื่อสารที่ต่างกัน ทั้ง 2 ฝ่ายต้องจูนเข้าหากัน

smallroom rungroche uptampotiwat interview 11

smallroom rungroche uptampotiwat interview 4

เทรนด์ของศิลปินหน้าใหม่สมัยนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

เอาแค่วงเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ที่อยู่ในค่ายต่างกันไหม? ต่างด้วยอินเนอร์? เอาง่ายๆ เบื้องต้นเด็กทุกคนจบปริญญาตรีอย่างต่ำ และไม่รู้จะปากท้องอย่างไร “ปากท้อง” มันคืออะไร? พ่อแม่ก็ว่าจะเอายังไง แฟนก็งง เด็กบางคนไม่ได้พื้นฐานดีแต่ Alert ฉิบหาย ไม่ได้แสดงความเศร้าให้เราเห็นเลย กับเด็กบางคนพื้นฐานที่บ้านดี ไม่ได้เดือดร้อนแต่นิ่งฉิบหาย เราจะคุยกันเยอะ บางคนก็น่าเห็นใจ คือทางบ้านมีวิกฤตแน่ๆ แต่พอมาอยู่ที่ค่ายหรือต้องไปออกงานเขาก็เนี้ยบจริงๆ เก่งมากๆ โตเกินวัย น่านับถือ แต่มันก็ยังมีเด็กที่นิ่งๆอยู่ เราพูดชัดไหม! เหมือนเรามาแฉเด็กในค่ายเลย (หัวเราะ) แต่มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจนะ

การทำงานกับค่ายใหญ่และการทำงานกับ Smallroom มันต่างกันไหม ?

เอาของ Smallroom เลย เราว่าเด็กน่าจะอยากด่าเราเยอะ ถามว่ามีเด็กส่ง Demo มาไหม? ก็มีเด็กส่งมา แล้วก็มีเด็กอยากมาเจอ แต่ถ้ามันไม่กระฉูดจริงๆ เราก็ยังไม่รับ หรือยังไม่ได้เรียกมาคุย ไม่ว่าด้วยอะไรก็แล้วแต่ เหตุผลหลักๆ ทั้งหมดทั้งปวงก็คือเรามี 11 วง อย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ เรามี 4 วงเท่านั้นที่มี 10 โชว์อัพต่อเดือน ดังนั้นอีก 7 วงที่ยังโบ๋เบ๋อยู่ เรารับ 7 วงที่เหลือเมื่อนานมาแล้ว ดังนั้นเราต้องกระตุ้นให้เขามีงานนั่นก็เป็นเหตุผล  แต่ถ้าถามว่าเราจะกรี๊ดเด็กใหม่อีกซักวงไหม? คือเอ็งต้องเปรี้ยวกระฉูดเลยว่ะ! เราต้องดูแล้วแบบ โห… น้องออกพรุ่งนี้เลยไหม? มันต้องแบบนั้นอ่ะ เพราะฉะนั้นในมุมมองของค่ายเรา หรือค่ายใหญ่ก็ตามมันก็ต้องมีกระบวนการของการจัดการขององค์กรที่ต่างกัน

มาตรฐานในการคัดเลือกวงก็เป็นมาตรฐานเดิมเมื่อ 5 – 10 ปีที่แล้ว แล้วทำไมถึงไม่ค่อยรับวงรุ่นใหม่ ?

มันคงยังไม่เปรี้ยวมั้ง?… แต่ก็ไม่หรอก เราจะถามเด็กทุกวงแหละว่า เอ็งมาจะเอา “เงิน” และ “กล่อง” ทุกคนอยากได้อยู่แล้ว เช่น Tattoo Colour คือ “เงินและกล่อง” อย่าง Greasy Cafe คือ “กล่อง” แต่สุดท้ายก็ไม่ลำบาก แต่หลายคนก็อาจจะทนพิษบาดแผลไม่ไหวแล้วก็ล้มหายตายจากกันไป หรือมาด่าเรา… ก็มี ตอนแรกทำ “สายกล่อง สายแนวมากๆ” แล้วติดตรา Smallroom ซึ่งมันไม่ได้แปลว่ากล่องนั้นขายได้เลย คือเราก็ต้องถามว่าจะเอาแต่กล่องจริงๆ หรือเปล่า ท้ายที่สุดบางวงไม่เข้าใจ โกรธค่าย พี่ก็โกรธมันกลับ!  คือเรารู้ว่าสายกล่อง ก็ต้องเข้าใจว่ามันใช้ระยะเวลาสั่งสม สิ่งเหล่านี้มันจำเป็น เราก็อยากให้โอกาส อยากต่อยอด แต่เราไม่ต้องรีบร้อน

จริงๆ วันนี้มันก็มีค่ายที่ถูกเด็กรุ่นใหม่มองว่าศิลป์สุดๆ ก็มี หรือเด็กรุ่นใหม่ที่มอง Smallroom ว่า “แมส” ก็มี  แต่เราอยู่ในจุดที่ทำมาทุกอย่างแล้ว เราก็เห็นว่านี่มันขายได้หรือขายไม่ได้ บางทีมันขายไม่ได้แต่ก็ยังได้ออกงาน บางทีไม่ได้มองมุมนั้นกันนะ สำหรับค่ายใหม่ๆ ที่ประกาศตัวว่าทำเป็นศิลปะ เราคิดว่ามันดี เราคิดว่ามันต้องส่งเสริมเด็กอยู่แล้ว ก็เอาใจช่วย แต่คิดว่า “จะฝ่าฟันกันยังไง” เพราะว่าบางครั้งเด็กเหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้เข้าใจค่าย และค่ายนั้นก็อาจจะทนพิษบาดแผลไม่ไหวด้วยซ้ำ มันก็เป็นเรื่องปกติ

smallroom rungroche uptampotiwat interview 5

smallroom rungroche uptampotiwat interview 6

เรามองหาอะไรกับเด็กที่กำลังจะเข้ามาในค่าย ?

คือเราพูดมานานแล้วนะ อย่างวันที่ “Slur” มาอยู่กับเรา เราบอกกับทุกคนในบริษัท เลยว่า เฮ้ย! เราว่าไอ้บู้หล่อสุด แค่นั้นเอง… ถามว่าเรื่องหล่อเป็นประเด็นไหม? เราว่าเราชอบคาแรกเตอร์นั่นคือเรื่องกายภาพ บางครั้งเด็กเข้าใจผิดว่าคาแรกเตอร์คือการทำมาดนิ่ง เก๊ก เราว่าไม่ใช่… คือถ้าจะทำงานกับ public คำว่าเก๊กนิ่ง ไม่ใช่ความเท่ ! คือเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าถ้าน้องเหล่านั้นจะทำงานสาย blend mass หรือถ้าจะศิลป์ก็ให้สุด อย่างเวลาเราพูดถึงสายแมสเราก็ต้องพูดถึง “สิงโต นำโชค” ไม่มีใครร้องดีเท่าเขาน่ะ แต่ถ้าพูดถึงสายศิลป์ เราบอกสายศิลป์นี่มันต้อง ปรี๊ด…เลย!! คิดง่ายๆ เมืองนอกมีอะไรเราต้องทำก่อนมัน หรือทำได้เท่ามัน ถ้าทำได้มาส่งที่นี่เลย สมมุติว่าเราเป็นเด็กปี 2 เราฟังเพลงจาก YouTube แล้วชอบวงนี้มากๆ เว้ย เป็นวงจากแคนาดาเพิ่งออกปี 2015 เดือนเมษา เราฟังแล้วบอกว่า… ทำได้แค่นี้เหรอวะ!? แล้วเราเรียนอยู่ปี 2 เราเลยสร้างชิ้นงานมา 1 ชิ้น แล้วเอามาส่ง Smallroom แบบนั้นเราเข้าใจเลย! คือมันต้องมีแรงกระตุ้น เหมือนกับที่เรามาทำค่ายเองก็แบบนั้น เราเรียน Classic มา เราฟังเพลงฝรั่ง เราแยกเลเยอร์ได้หมดเลย แต่พอมาฟังเพลงไทยทำไมมึงไม่ทำอย่างนั้นวะ? มันก็เหมือนกันเหมือนที่เราบอก ถ้ามองมุมแบบนี้ ก็รีบทำแล้วรีบมา

ตลาดในเมืองไทยมีพื้นที่ให้กับนักดนตรีสายศิลป์ไหม ?

มี ต้องเป็นสายศิลป์ที่ฟังรู้เรื่อง ไม่ใช่ทดลองหรือบรรเลง แต่ต้องใช้เวลาไง Greasy Cafe แม่งสายศิลป์นะเว้ย เราขอแลกเปลี่ยนเลยนะ เช่น เวลาเราดูโชว์ทุกครั้ง เราออก “สิ่งเหล่านี้” มากี่ปีแล้ว? แล้วตอนที่ออกตอนแรกมันอยู่ไหนกันวะ! (หัวเราะ) ตอนแรกทีมงานมันก็เครียดกันหมด นั่งแต่งเพลงกันแล้วเราก็คุยกันว่าไม่ไหวหรอก แต่มันก็เห็นผลอ่ะ แต่เดินทางช้าหน่อย เราว่าทุกวงมันรู้แหละว่าการเอาชนะ หรือการทำเพลงของตัวเองให้สื่อสารด้วยแม่งยากสุดเลย คำถามคือจะเลือกที่จะเอาชนะหรือเปล่าแค่นั้นแหละ

ในยุคนี้ที่เกิดอะไรขึ้นมากมาย platform เทคโนโลยีต่างๆ วงการเพลงอยู่กันยังไงตอนนี้ ?

มันก็ต้องแบ่งเป็น 2 พาร์ท ว่า Smallroom ทำอะไร? และค่ายอื่นทำอะไร? เมื่อไม่นานมานี้ที่เราเพิ่งออก “ฟังเพลงไทย เก๋ไก๋ ไม่เหมือนใคร” เราคิดว่ามันก็โอเค ด้วยหน้าหนังที่ออกมาทั้งภาพเคลื่อนไหวและเพลง เราใช้เงินประมาณล้านห้า… ไม่ได้คืนหรอก! แล้วจะทำทำไม! หายเลยนะ เราต้องการให้ มีเดีย appreciate มากกว่านี้! เราต้องการให้ผู้บริโภคที่โมเดิร์นตอบรับเรามากกว่านี้ แต่ไม่มีอะไรเลย เด็กทั้ง 6 วง ก็คาดหวังกันทั้งนั้น แล้วเราจะทำยังไง? ลุยต่อเลย… ไม่สน  เราก็ปล่อย “สมเกียรติ” ต่อเลย คิดว่าทำแบบนี้เปรี้ยวตีนมากๆ อ่ะ ! สำหรับเจ้าอื่นคิดว่าล้านห้ามันไม่เยอะ แต่สำหรับเรากับการทำงาน public มันก็ลำบาก แต่นี่ยังไม่พูดถึงวิธีการนำเสนอของเราที่เราปล่อยรวดเดียว 6 เพลงนะ ของคนอื่นปล่อยกันกะปริดกะปรอยถูกไหม ทุกคนต่างใช้เงิน แต่ถ้าถามว่าเราจะบาลานซ์เงินยังไงเราก็ต้องคิดว่า return คืออะไร ทั้งงานโชว์คู่กับการขายจะดูยังไงทำมาหมดวิธีแล้ว ใช้เงินตัวเองเติมลงไปหรืออะไรก็ตาม มีหมด! ถามว่าหนักไหม? หนัก! แต่เราสนุกกับงานโปรดักชั่นมากกว่า เราเคยบอกว่าเราเป็นคนโปรดักชั่น ถ้าไปคิดเรื่องไฟแนนซ์คิดมากไปปวดหัว

smallroom rungroche uptampotiwat interview 7

อะไรที่ทำให้ Smallroom ยืนระยะได้นานขนาดนี้ ?

มันก็คือการทำไปเรื่อยๆ มันไม่มีอะไรบอกได้หรอกว่าต้องทำอย่างไร มันก็ต้องแก้ไปทีละเปลาะ ถามว่ามันเครียดไหมบางทีมันก็เครียด แต่ถ้าคุณอ่านบทสัมภาษณ์นี้ ก็คงเห็นภาพมากขึ้น แล้วก็อยากจะบอกว่า เราเครียดขนาดนี้ เรายังผลิตงาน ก็ให้ใจกลับมาหน่อย” เพราะบางค่ายอาจจะไม่อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องทำก็ได้

ส่วนความเป็นอยู่เราก็มองว่ารายได้ที่มาจากเทปหายไป ซีดีหายไป อันนี้เราพูดแบบความจริงนะ คือมีสตรีมมิ่งมาแทน แต่ถามว่ารายได้มันจะมีจริงหรอ ในขณะนี้โปรดักชั่นคอสมันก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ มันก็เยอะกว่าสตรีมมิ่งอยู่แล้วล่ะ ซึ่งซีดีในยุคก่อนมันได้เยอะกว่าดาวน์โหลดอยู่แล้ว ถามว่าส่วนแบ่งของซีดี กับดาวน์โหลดต่างกันเท่าไหร่? อีกทางนึงเด็กเรามี Character ที่ชัดเจน เราก็จะได้รายได้จากการเป็นพรีเซ็นเตอร์หรืออะไรก็แล้วแต่ องค์ประกอบของเงินเข้าประมาณนี้ และก็งานทั่วๆ ไปรวมถึงงานผลิตที่เกี่ยวกับเพลงต่างๆ

ช่วง UP ที่สุด กับช่วงที่ DOWN ที่สุดเป็นอย่างไร ?

มันไม่ต่างกัน อย่างเช่นช่วงที่เรามีศิลปินดังเยอะๆ อย่าง Tattoo Colour เพลง “ฟ้า” นี่ปล่อยมา 6 เดือนนะเว้ย ไม่ได้เร็วเหมือน Polycat นะ คือมันก็มีบ้างแหละอย่าง “จำทำไม” อันนั้นคือเพลงหลุด เราเอาไปเล่นที่งานอีเวนท์แล้วมีคนเอาไปลง Youtube  อย่าง “เซโรงัง” ตอนบรีพเอ็มวี มันก็ไม่ใช่แบบที่เห็น แต่สุดท้ายมันเป็นแบบที่ทุกคนเห็น มันก็อาจจะส่งผลดี เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรื่องขึ้นสุดอย่างเรื่องเงินเข้าเยอะเดี๋ยวก็มีเดี๋ยวก็ไม่มี เรื่องตัวแดงก็มีมาตลอด เรื่องฮิตเดี๋ยวก็มี เดี๋ยวก็ไม่มี จะทำยังไงให้ฮิตบางทีก็คิด แต่บางทีแม่งไม่คิดเลยก็มี สลับกันไปอ่ะ

เรื่อง “ฮิต” “ไม่ฮิต” นี่มันมีเหตุผลของมันไหม ?

มีคนเคยถาม เป็นวงที่ออกไปถามว่าพี่รุ่งไม่รู้ได้อย่างไรว่าจะทำวงฮิต? คือบางทีคนทำงานก็คุยกันว่า วงไม่ฮิตอยู่ที่อะไร? “ประชาสัมพันธ์” “มิกซ์” “การจัดการ” แต่รู้อะไรมั้ย วงฮิต ไม่ฮิตอยู่ที่ตัววงด้วยเว้ย!!! ถ้าคิดจะทำเพลง art มากๆ แล้วยังจะเก๊ก Cool ไม่ทำตัวเป็นคนของประชาชน คิดว่ามันจะฮิตไหม? หรือถ้าจะทำเพลง art มันก็ต้องปี๊ดเลย! แค่นั้นไง ถ้าคิดจะทำตัวเป็นคนของประชาชนก็ต้องทำให้เขาเข้าถึงได้ อันนี้ก็เพิ่งรู้ตอนเด็กมาถาม เพราะเมื่อก่อนเราเคยยำกันเละ โทษกันไปมาว่า “เป็นเพราะมึงอ่ะ พีอาร์ไม่ดี” เพราะนู่นไม่ดี นี่ไม่ดี มีหมดน้ำตาไหล เราไขข้อข้องใจให้แล้ว! เพื่อนร่วมงานที่ดีช่วยแน่ๆ แต่หลักๆ อยู่ที่ตัวมึงเอง

smallroom rungroche uptampotiwat interview 8

smallroom rungroche uptampotiwat interview 9

แนวดนตรีต่างๆ ที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลก ส่งผลต่อการทำงานของค่ายเพลงไหม ?

เราว่าไม่มีผล ต้องบอกก่อนฟังเพลงมาทุกแบบ คุณรู้มั้ยว่า Smallroom เคยออกวงชื่อว่า “ขอนแก่น” มันค่อนข้างไทยมากเลยนะ เป็นไทยป๊อบที่ดี เราเห็นความงามของเกาหลีไหม เราเห็นความงามของ EDM ไหม มันต้องมีแหละ หรือไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยตามตลาด ก็ต้องเข้าใจว่ามันดียังไง เราก็ต้องเป็นผู้ผลิตที่ดีก็ต้องบอกว่า Smallroom ก็ทำทุกแบบนะ เรามีวง “บาร์บี้” มันไม่ใช่วงในแบบที่ Smallroom ชอบออก แต่ถามว่าเราชอบไหม “โอ้โห ! มึงดูพวกมันเล่นสดสิ” อย่าง EDM เราก็คันไม้คันมืออยากทำมาตลอด เพราะมีคนบอกเราว่ามันไม่มีทาง Out  และที่สำคัญกว่านั้นคือยังไม่มีคนไทยคนไหนทำถึง! ก็บิวกันไป เราก็บอกไปว่า.. มันก็อยู่ที่ตัวผู้เล่นป่ะวะ มันไม่ใช่มีแค่ออดิโอ แต่เราไม่เห็นบริบทอื่นๆเลย ถามว่าอยากทำไหม? อยากทำ ถ้ามีตัวจี๊ด EDM มาบอกเราว่า “ผมจะมาล้มวงการ EDM ในประเทศนี้” เข้ามาเลย “ฮิป ฮอป” เข้ามาเลย

การเป็น Trend Setter ของศิลปินใน Smallroom ที่กลุ่มเด็กๆ หลายคนอยากเป็น อยากตาม เป็นไอดอลสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการทำงานไหม ?

คือตั้งแต่ “อาร์มแชร์” แล้วล่ะจนมาถึงปัจจุบัน แต่เราไม่รู้หรอกเว้ย เพราะเราทำงานหลังบ้าน… เดี๋ยวขอคิดก่อนเอาที่ใกล้ตัวอย่างวง “Two Pills After Meal” ผู้หญิงคนนึงเป็นครูสอนดนตรีอยู่วัฒนา อีกคนเล่นเฮ้าส์แบนด์ อยู่ขอนแก่น คือไม่มีใครรู้หรอกว่าไอ้ 2 คนนี้มันเต้นได้? เข้าใจไหม? มาอย่างติ๋มอะ เป็นคุณครูอ่ะ เวลาเรารับเด็กใหม่มันจะนำเสนอตัวเอง และสื่อสารออกมาแบบไหนวะ? เพราะเด็กที่มาอาจจะดู nerd มันก็อาจไม่พอไง คือถ้ามึงดู nerd มึงทำอะไรออกมาแล้ว twist ตัวเองขึ้นไปอีกมันก็น่าสนใจ คือเวลาเรารับเด็ก จะเป็นตัวของตัวเองมากๆ อย่างเช่น “เป้ อารักษ์” ตอนมันมาส่ง demo กับวงมัน มันก็แต่งเต็มกันมาอยู่แล้วอ่ะ เราแม่งก็ตกใจแบบมึงมาทำไรกันวะ? มันบ้ามาก อาจจะมีความเป็นไอคอล แต่ข้อแรกมันคือ “ความสามัคคี” แน่แหละ นี่คือเบื้องต้นที่วง 1 วงควรจะมีคือ “ความสามัคคี”

smallroom rungroche uptampotiwat interview 14

ตอนนี้พี่รุ่งอินกับอะไรบ้าง ?

มาถามอะไรวันที่เรานอน 7 โมงเช้า เราอยากให้บอลเปิดฤดูกาลเร็วๆ อันนี้สำคัญมากๆ เราอยากให้ทีมชาติมีเกมส์เตะบ่อยๆ เราอยากให้มีแมตช์กระชับมิตรตลอดเวลา เราว่าการดูกีฬาสำหรับเรา เราชอบมาก อย่างวันก่อนเราดู กอล์ฟ ยูเอสโอเพ่น มีเด็กใหม่คนนึง ได้แชมป์ 2 เมเจอร์แล้วอ่ะ ซึ่งยังบอกอีกว่า 4 เมเจอร์ ไม่ใช่เรื่องยาก! ซึ่ง Tiger Woods แม่งได้ 3 นะเว้ย พวกนี้แหละเราว่าเจ๋ง ส่วนเวลาที่ไม่มีบอลมันก็มีอย่างอื่นอะไรก็แล้วแต่ ดูหมด ดูคนเดียวด้วย เพราะแฟนเราไม่ดู แต่ถ้ามีบอลเตะในเวลาที่อยู่ออฟฟิศ และดูกับวงดนตรีที่ค่ายจะมันส์มากเลย

เป้าหมายต่อไปของ Smallroom คืออะไร ?

เรามีอีก 7 วงที่ยังไม่มี 10 กว่างานอัพต่อเดือน เราอยากให้มันเป็นอย่างนั้นครับ

Interview: Norrarit Homrungsarid
Writer: Norrarit Homrungsarid
Photographer: Kongkarn Sujirasinghakul

RECOMMENDED CONTENT

1.เมษายน.2019

ลู่วิ่งสนามบินนาริตะ ✈️ กับทริปโตเกียว ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ? INSIDER JOURNY EP1 : Tokyo Marathon