สำนักพิมพ์แซลมอนจัดงาน SALMON. FRESH TO FEST! 2015 เทศกาลหนังสือไซส์มินิสำหรับคนชอบของสด พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ ‘minimore’ แหล่งรวมตลาดคอนเทนต์ออนไลน์ เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่แห่งธุรกิจคอนเทนต์ตั้งรับกระแสดิจิทัล ย้ำสื่อออนไลน์เป็นหนึ่งในโอกาสของธุรกิจสิ่งพิมพ์
จุดเริ่มต้นตลาดคอนเทนต์ออนไลน์
เมื่อ 7 สิงหาคม 2558 นายณัฐชนน มหาอิทธิดล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน (บ.ก.บห.) กล่าวในงาน SALMON. FRESH TO FEST! 2015 เทศกาลหนังสือไซส์มินิสำหรับคนชอบของสด ณ ร้าน B2S สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ว่า สำนักพิมพ์แซลมอนได้จับมือกับบริษัท มินิมอร์ จำกัด ที่บริหารดูแลโดยแชมป์—ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เว็บมาสเตอร์ผู้ก่อตั้งบล็อกชื่อดัง จากไอเดียที่ว่าต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้คนทั่วไปมีพื้นที่ที่สามารถเผยแพร่คอนเทนต์เองได้ มีทางเลือกในการนำเสนอ ทางเลือกในการซื้อและขาย ไม่ถูกจำกัดในแบบเดิมๆ ว่าคอนเทนต์นั้นต้องถูกเผยแพร่ผ่านสำนักพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งเกิดจากความเชื่อว่ายังมีเนื้อหามากมายที่มีข้อจำกัดจนไม่ได้ถูกเล่าออกไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย
นายณัฐชนนกล่าวต่อไปว่า ในช่วงแรกมินิมอร์ถูกใช้เป็นเว็บคอนเทนต์สนับสนุนหนังสือของสำนักพิมพ์ ด้วยการมี Sample และ Extra Content คือ ผู้อ่านสามารถเข้าไปทดลองอ่านเนื้อหาของหนังสือทุกเล่มได้ ก่อนตัดสินใจซื้อ และหลังจากซื้อหนังสือ ก็ยังกลับมา redeem อ่านตอนพิเศษ ที่ไม่มีในเล่มได้ เปรียบเสมือน ‘Special Feature’ หรือเนื้อหาเวอร์ชั่น‘Director’s cut’ ในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่ไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ลงในเล่มได้ สื่อออนไลน์จึงเป็นอีกทางเลือกในการเผยแพร่คอนเทนต์
ต่อยอดคอนเทนต์สู่เว็บไซต์มินิมอร์เต็มรูปแบบ
บ.ก.บห.สำนักพิมพ์แซลมอนบอกต่อไปว่าตนและทีมตั้งใจพัฒนามินิมอร์ให้กลายเป็นตลาดคอนเทนต์ออนไลน์ภายใต้คอนเซปต์ อ่าน- เขียน-ขาย ได้ในที่เดียว ซึ่งแง่ของการอ่าน จะมีเนื้อหาให้เลือกอ่านหลากหลายทั้งจาก minimore Feed ที่มีทีมงานคอยเขียนเรื่องราวน่าสนใจจากทั่วโลกมาให้อ่านทุกวัน มี minimore Makers ที่เป็นเนื้อหาสนุกๆ จากนักเขียนนักวาดที่เราคัดสรรมาให้ได้อ่านเป็นประจำ มีพอดแคสต์ (Podcast) ที่มีเนื้อหาหลากหลายมาให้ฟัง และที่สำคัญคือมีเนื้อหาที่มาจากคนทั่วไปที่สนใจนำคอนเทนต์มาลงเว็บไซต์ให้ได้เลือกอ่านกันอย่างมหาศาล
ในส่วนการเขียน มินิมอร์เปิดให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์หรือมีเรื่องอยากเล่า มาสร้างคอนเทนต์ได้ ผ่านส่วนที่เรียกว่า ‘minimore Makers’ โดยปัจจุบันมีคอนเทนต์ Original ที่อยู่ในส่วนของ Makers นี้แล้ว ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักเขียนนักวาดของแซลมอนและบัน และในอนาคต Makers นี้จะเปิดให้คนทั่วไปสามารถลงผลงานต่างๆ ได้เองโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นงานเขียน งานวาด งานเพลง หรืองานวิดีโอ แถมคนสร้างงานสามารถตั้งราคางานของตัวเองได้ ประเมินว่าเนื้อหาควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่ จะแจกจ่ายให้อ่านฟรี หรือฟรีบ้างคิดเงินบ้างก็ทำได้ มันเป็นการประเมินเนื้อหาของตนเอง ซึ่งถ้าเนื้อหาดีคนอ่านย่อมยอมควักกระเป๋าจ่ายเพื่อสนับสนุนให้คนเขียนมีกำลังใจ และตลาดก็จะเติบโตไปตามกลไกของมันเอง ส่วนคอนเทนต์ที่เข้าตาทีมบรรณาธิการก็มีโอกาสได้ตีพิมพ์แน่นอน และส่วนของการขาย หรือ ระบบ store มินิมอร์มีระบบในการทำ e-commerce ที่สามารถซื้อขายของประดิษฐ์ หนังสือทั้งของสำนักพิมพ์ในเครือและสำนักพิมพ์เพื่อนบ้านที่มาพร้อมกับส่วนลดและโปรโมชั่นพิเศษ แถมยังสะสมแต้มได้ โดยมีระบบที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การสต็อก จัดส่งตรงถึงบ้าน และการรายงานผลการขาย
การปรับตัวของสำนักพิมพ์ในยุคดิจิทัล
เมื่อถามถึงกระแสที่ว่าสื่อดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ นายณัฐชนนกลับมองว่า เป็นโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจสิ่งพิมพ์ อย่างที่สำนักพิมพ์แซลมอนได้ต่อยอดไปยังสื่อออนไลน์เกิดจากที่สำนักพิมพ์อยากใกล้ชิดกับคนอ่าน อยากรู้ว่าผู้อ่านอยู่ตรงไหน ทำอะไร ชอบอะไร ซึ่งโชคดีที่สำนักพิมพ์กับคนอ่านดูแล้วจะมีความสนใจคล้ายกัน เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน มีสภาพแวดล้อมใกล้กัน อย่างการใช้อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียทุกวัน จึงถึงทำให้แซลมอนเข้าหาการต่อยอดสิ่งต่างๆ บนสื่อออนไลน์
ถามต่อถึงความจำเป็นที่สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล นายณัฐชนนตอบว่า อยู่ที่สำนักพิมพ์เองมองว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้าแข็งแรงอยู่ได้ด้วยยอดขาย มีงบการตลาดที่มากพอจะอำนวยความสะดวกให้คนอ่าน หรือดูแลนักเขียนต่อไปได้ด้วยดีอยู่แล้วก็คงไม่จำเป็นมาก แต่สำหรับแซลมอน ก่อนหน้านี้ไม่มีสื่อเป็นของตัวเองแตกต่างจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ หลายแห่ง การโฆษณาหรือหาทางเอาตัวรอดในโลกออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ตั้งใจทำเป็นพิเศษ ซึ่งส่งผลดีตลอดมา ได้มีการพูดคุยกับคนอ่านผ่านแฟนเพจ ได้ต่อยอดคอนเทนต์พิเศษ หรือจำหน่ายหนังสือที่มีโปรโมชั่นพิเศษผ่านเว็บไซต์มินิมอร์
“ในฐานะของคนในแวดวงสิ่งพิมพ์ เราคิดว่าโลกออนไลน์มีหลายอย่างที่ดี ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรือเป็นฆาตกรอย่างที่ใครต่อใครพร่ำบอก แต่กลับเป็นโอกาสทางธุรกิจ เป็นอีกโลกที่ถ้าอยากจะไปอยู่ก็ต้องปรับตัว มันเป็นโอกาสดีด้วยซ้ำที่จะได้ช่วยกันพัฒนาให้วงการการอ่านหรือตลาดหนังสือได้ขยับเขยื้อนให้คนภายนอกได้รู้ข่าวในแวดวงสิ่งพิมพ์ว่า มีงานอะไรหรือหนังสือเล่มไหนน่าสนใจบ้าง เหมือนที่แซลมอนใช้สื่อออนไลน์สื่อสารกับผู้อ่านว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรและมีหนังสืออะไรใหม่ๆ ออกบ้าง”
เช่นเดียวกันกับแชมป์—ทีปกร วุฒิพิทยามงคลที่มองว่าพลังของโลกดิจิทัลเกิดขึ้นเพราะมีคนใช้มันจำนวนมาก เมื่อถึงจุดหนึ่งคนทำธุรกิจก็ต้องเอาคอนเทนต์ไปไว้ในที่ที่คนอยู่ มันจึงจำเป็นต่อการปรับตัว เพราะแก่นหลักของธุรกิจสิ่งพิมพ์คือธุรกิจขายคอนเทนต์ ซึ่งคอนเทนต์เป็นไอเดียลอยๆ ดิ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปบรรจุในภาชนะแบบไหน บรรจุในหนังสือ ก็เป็นภาชนะแบบหนึ่ง บรรจุในเว็บ ก็เป็นภาชนะแบบหนึ่ง นั่นจึงทำให้สื่อสิ่งพิมพ์รวมไปถึงสื่อต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล
คำตอบของการควบรวมสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล
นายทีปกรกล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของคอนเซปต์เว็บไซต์มินิมอร์ว่า คอนเซปต์อ่าน-เขียน-ขาย พัฒนามาจากสิ่งที่ตนและทีมรู้สึก อย่างส่วนของการอ่าน หรือ minimore Feed เกิดจากความรู้สึกว่าปัจจุบันมันมีคอนเทนต์แบบตีหัวเข้าบ้านมากเกินไป จึงอยากทำเว็บไซต์รวมคอนเทนต์ ที่อาจจะเป็นรูปแบบข่าว หรือเรื่องราวที่มีสไตล์ ไม่ลอกคอนเทนต์จากที่อื่น ไปจนถึงการมองเรื่องราวให้ลึก ให้สนุกกว่าที่เป็นอยู่ตามหน้าฟีดทั่วไป
ส่วนการเขียนมาจากความคิดที่ว่าไม่อยากผูกมัดหรือดึงคนเข้ามาร่วมทำด้วยสัญญามากมาย วาดภาพอนาคตเสียใหญ่โต มินิมอร์จึงให้เจ้าของผลงานสามารถตั้งราคาขายได้เองโดยอิสระ สามารถกำหนดตลาดเอง มันคือการที่ผู้สร้างผลงานมีส่วนกำหนดอนาคตของตัวเอง ซึ่งในส่วนของทีมงานเองก็จะดูแลเรื่องชุมชน และการจัดอันดับหรือแนะนำคอนเทนต์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และการขายก็อยากให้เป็นสโตร์ที่มีสินค้าที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นออริจินัล ซึ่งรูปแบบการสั่งซื้อนั้นทางทีมงานออกแบบเว็บไซต์ก็พยายามทำให้ผู้ใช้ใช้งานได้อย่างสะดวกที่สุด
“ผมมองว่ามินิมอร์เป็นผลผลิตของการปรับตัวให้เข้ากันระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล ที่เชื่อมโยงกันด้วยแก่นหลักของธุรกิจ นั้นคือคอนเทนต์ มันเป็นการหาคำตอบว่าวงการสิ่งพิมพ์กับดิจิทัลจะอยู่ร่วมกันได้ในแบบไหน และผมคิดว่าการหาคำตอบของเราก็น่าจะเป็นประโยชน์กับนักสร้างสรรค์และนักอ่านที่สนใจครับ” ทีปกรกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ในงาน SALMON. FRESH TO FEST! 2015 ยังมีกิจกรรมสนุกๆ ภายใต้คอนเซปต์เทศกาลหนังสือไซส์มินิสำหรับคนชอบของสด
สด—กับหนังสือใหม่จาก Salmon Books และ Bunbooks จำนวน 9 เล่ม พร้อมกิจกรรมพิเศษจากนักเขียนยอดนิยม อาทิ แชมป์ ทีปกร, วิชัย, อาร์ต จีโน, จัง, จิราภรณ์ วิหวา, ป่าน ฉัตรรวี, แพร ฉัตรพร, ลูกไม้ และนักเขียนใหม่ล่าสุด ปิงปอง— ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ นักร้องหนุ่มที่เคยฝากเสียงร้องไว้กับเพลงประกอบละครมากมาย
สด—กับ mini concert เล่นกันสดๆ โดดกันสุดๆ จากศิลปินหลากหลาย อาทิ POLYCAT, TEN TO TWELVE, V-VIOLETTE, SOMKIAT แถมมีเซอร์ไพส์ในงานจาก แสตมป์ อภิวัชร์ และ แม็กซ์ The voice อีกด้วย
สด—กับกิจกรรม workshop ใกล้ชิดกับนักเขียนและบรรณาธิการตัวเป็นๆ พร้อมเปิดห้องให้ส่งต้นฉบับสดๆ เป็นครั้งแรก
เรียกได้ว่ายกขบวนกิจกรรมมาเต็มกันขนาดนี้ ถ้าใครพลาดงานนี้ ก็รอเจอกับแซลมอนได้อีกทีเดือนตุลาคม ในงานสัปดาห์หนังสือจ้ะ