ใครกำลังคิดก่อร่างสร้างสตาร์ทอัพของตัวเองอยู่ ขอแสดงความยินดีด้วยเพราะคุณกำลังก่อตั้งสตาร์ทอัพในยุคที่มีปัจจัยหลายด้านเอื้อต่อการเริ่มต้นและเติบโตโดยเฉพาะเรื่องเงินทุน หากย้อนไปในสมัยก่อน ถ้าคิดจะก่อตั้งกิจการแต่ไม่มีเงินทุนก้นกระเป๋า เจ้าของกิจการก็ระดมทุนจะญาติสนิทมิตรสหายซึ่งถ้าคนใกล้ตัวไม่ร่วมลงขัน ก็อาจต้องเบนเป้าหมายไปขอสินเชื่อเงินกู้จากธนาคารแทน กว่าจะได้เงินมาตั้งต้นได้เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็น ในทางกลับกันสมัยนี้มีเวทีประกวดมากมายที่พร้อมจะหยิบยื่นเงินทุนตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน ขอเพียงแค่เพียงไอเดียสตาร์ทอัพเจ๋งพอ และนอกจากเวทีการประกวดจะให้เงินแล้วยังมีของแถมที่ช่วยให้การเริ่มต้นสตาร์ทอัพของเราง่ายขึ้นและไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป ลองมาดูเหตุผลที่สตาร์ทอัพขั้นเริ่มต้นควรลงสนามประกวดกันดีกว่าคะ
1. ปะรอยรั่วของไอเดีย บางครั้งเรานั่งคิด นั่งพัฒนาไอเดียกับทีมของเรา จนเราเกิดอาการทะนุทะนอมไอเดียของเราราวกับไข่ในหิน เราคิดว่าไอเดียเราดีเลิศ จนมองข้ามรอยรั่วเล็กๆของไอเดีย การแข่งขันจึงเป็นโอกาสดีที่จะให้กรรมการช่วยค้นหารอยรั่วจุดเล็กๆของไอเดีย เพื่อเราจะได้ปะรอยรั่วเหล่านั้นและเติมเต็มให้ไอเดียของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
2. เพิ่มศักยภาพทีม นอกจากเวทีประกวดจะเตรียมเงินก้อนไว้เพื่อให้สตาร์ทอัพใช้ในการตั้งตัวแล้ว บางเวทียังแถม incubator หรือ workshop ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านต่างๆให้กับทีม ทั้งอบรมการเป็นผู้ประกอบกิจการ อบรมด้านการตลาด หรืออบรมด้านเขียนโปรแกรม เพราะฉะนั้นการลงแข่งประกวดบางครั้งเราอาจไม่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่เราอาจขนความรู้กลับมาแทนก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว
3. Mentor ขั้นเทพ ทุกคนรู้ดีว่าค่าจ้างที่ปรึกษาไม่ใช่ถูกๆ ยิ่งที่ปรึกษามือฉมังประสบการณ์แน่นแล้ว สตาร์ทอัพเพิ่งเริ่มต้นอย่างเรายิ่งหมดหวังจะเข้าถึงตัวเลย แต่ในเวทีการประกวด ผู้เชี่ยวชาญต่างๆจะมานั่งเปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จให้เราฟัง แถมเปิดโอกาสให้เราถามคำถามแบบใกล้ชิดชนิดกระทบไหล่ หรือบางเวทีการประกวดเจ๋งๆจะจัดที่ปรึกษาประจำแต่ละกลุ่มให้เลย โดยมืออาชีพเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นโค้ชแนะแนวทางให้กับเรา บอกเลยว่าโอกาสแบบนี้หาได้ยากจริงๆ
4. เจอนักลงทุนตัวจริงเสียงจริง เราคงไม่สามารถเจอนักลงทุนได้ตามท้องถนนเป็นแน่แท้ ยิ่งนักลงทุนกระเป๋าหนักที่ยุ่งตัวเป็นเกรียวยิ่งหาเวลาเจอตัวยากกว่าซุปเปอร์สตาร์เสียอีก แต่ที่งานประกวด เราเจอนักลงทุนนั่งเรียงเป็นแถวกระดานเลยหละ ที่สำคัญนักลงทุนเหล่านี้เป็นกรรมการตัดสินคอยวิจารณ์และคำติชมไอเดียของเราอีกตังหาก
5. ฝึกการพรีเซ้นท์ ไม่มีใครพรีเซ้นท์เก่งตั้งแต่เกิด สตาร์ทอัพที่พรีเซ้นต์ได้ช่ำชองและเชี่ยวชาญย่อมผ่านสนามประกวดมานับครั้งไม่ถ้วน ดังนั้นเวทีประกวดจึงถือเป็นโอกาสชั้นเยี่ยมที่เราจะเพิ่มพูนทักษะการพรีเซ้นท์ โดยเราอาจวอร์มอัพด้วยการเลือกลงประกวดเวทีเล็กก่อนขยับขยายไปลงแข่งในเวทีระดับประเทศ หรือระดับโลก
6.ขยายเครือข่าย คำว่า khow how ไม่สำคัญเท่า know who ยังใช้ได้ดีในยุคสมัยนี้ การมีพันธมิตรย่อมช่วยให้การก่อตั้งสตาร์ทอัพง่ายขึ้น เพราะการก่อตั้งสตาร์ทอัพย่อมอาศัยทักษะที่หลากหลายซึ่งคนเพียงคนเดียวไม่สามารถมีทักษาะครบทุกด้าน การเข้าเวทีการประกวดจึงเอื้อต่อการขยายเครือข่ายเพราะเราจะเจอผู้เข้าประกวดมากหน้าหลายตาที่มีความฝันและความสามารถที่พร้อมจะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่สตาร์ทอัพเราขาดได้ นอกจากนี้ปรากฏการณ์คุยกันถูกคอและรวมทีมมีให้เห็นถมเถไปในงานประกวด
7.เงินถุงเงินถัง แน่นอนที่สุด ทุกสตาร์ทอัพลงประกวดเพื่อต้องการเงินในการเริ่มต้น ซึ่งแต่ละงานประกวดก็มีเงินรางวัลและเงื่อนไขแตกต่างกันไป บางที่อาจแบ่งการให้เงินเป็น 2 ช่วง หรือบางทีก็อาจให้เป็นก้อนเดียวเลย หรือบางที่อาจมีนโยบายเข้าถือหุ้น ก่อนจะลงแข่งก็ลองเช็คดูจำนวนเงินและเงื่อนไขการให้เงินให้ดีก่อนว่าใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า
สำหรับสตาร์ทอัพขั้นเริ่มต้นหรือขั้นเด็กทารกที่กำลังตั้งไข่ การลงประกวดถือเป็นโอกาสดีที่จะล่าเงินรางวัล รวบรวมความรู้ และสะสมเครือข่าย เพราะการทำสตาร์ทอัพก็ไม่ต่างอะไรกับการปั้น สโนว์แมนที่ต้องค่อยๆหลอมรวมหิวมะก้อนเล็กๆเข้าด้วยกันจนกลายเป็นหิมะก้อนกลมโต
Writer: methawee thatsanasateankit
ขอบคุณรูปภาพจาก http://coffee-mood.livejournal.com/2787954.html,
https://experience.sap.com/topic/dcc-little-startup-culture-within-big-corporate/
https://fashiontechforum.com/2015/05/11/7-questions-to-ask-a-startup-ceo/
http://lifevsfilm.com/2015/03/22/wall-street/
RECOMMENDED CONTENT
Garmin เปิดตัวสมาร์ทวอทช์ขนาดเล็กดีไซน์ทันสมัย Lily ทั้ง 2 รุ่น ได้แก่รุ่นคลาสสิกและรุ่นสปอร์ต โดยนาฬิกาอัจฉริยะ Lily มาพร้อมรูปทรงสุดชิคในขนาดกะทัดรัด ด้วยตัวเรือนขนาด 34 มม. พร้อมสลักเชื่อมสายนาฬิกาแบบ T-bar เลนส์หน้าปัดพร้อมลวดลายละเอียด