Writer > Thawatchai Tappitak
—————
ไวน์ที่บรรจุขวดด้วย ‘ฝาเกลียว’ (Screw Cap) กับไวน์ที่เป็น ‘จุกคอร์ก’ (Cork) แบบดั้งเดิม มักจะเป็นหัวข้อที่ถูกถกกันอยู่ในแวดวงไวน์อยู่เสมอ ที่สำคัญหลายคนพอเห็นฝาเกลียวก็ตั้งเป้ารังเกียจกันตั้งแต่แรกเห็นแล้ว
ประเด็นใหญ่ที่มักจะคุยกันก็คือเรื่องคุณภาพของไวน์ ซึ่งต่างคนต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ยังไม่เคยเห็นการพิสูจน์ชิมเทียบกันขวดต่อขวดอย่างเป็นทางการสักที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไวน์ยี่ห้อเดียวกัน เหมือนกันทุกอย่าง ขวดหนึ่งฝาเกลียว ขวดหนึ่งจุกคอร์ก ยังไม่มีขายในเมืองไทย นอกจากหิ้วเข้ามากันเอง
กรณีนี้ผมเคยชิมพิสูจน์ที่ออสเตรเลีย ไวน์ 10 ยี่ห้อ เหมือนกันทุกอย่าง ต่างกันตรงจุกคอร์กและฝาเกลียว ชิมแบบไม่ให้เห็นข้อมูล ยกแก้วมาก็ชิมแล้วให้บอกว่าแก้วไหนฝาเกลียวแก้วไหนจุกคอร์ก ปรากฏว่าคุณภาพไม่ได้ต่างกันเลย แต่ที่แยกได้เพราะกลิ่นของจุกคอร์กนั่นเอง ซึ่งเบาบางมากถ้าไม่ชำนาญจริงๆ ก็จับไม่ได้เหมือนกัน
สาเหตุที่ผู้ผลิตไวน์ต้องทำทั้งจุกคอร์กและฝาเกลียว เพราะตลาดอีกในหลายประเทศโดยเฉพาะเอเชีย ยังยึดติดอยู่กับจุกคอร์ก บ้านเราเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้วโรงแรมระดับ 5 ดาวริมเจ้าพระยาถึงกับประกาศ ไม่เอาไวน์ฝาเกลียวเข้ามาขายในโรงแรม ต่อมาเห็นเพื่อนๆ โกยเงินเข้าโรงแรมเป็นว่าเล่น ก็เลยขายแบบเหนียมๆ กันไป
ประเทศนิวซีแลนด์ ถือเป็นหัวหอกของการปฏิวัติวงการไวน์ในยุคนี้ ก็คือการเปลี่ยน ‘จุกคอร์ก’ มาเป็น ‘ฝาเกลียว’ ซึ่งไวน์นิวซีแลนด์นั้นใช้ฝาเกลียวมากที่สุด ตามด้วยออสเตรเลีย ปัจจุบันออสเตรเลียน่าจะใช้มากขึ้นหรืออาจจะมากที่สุด เพราะพื้นที่ในการทำไวน์มากกว่านิวซีแลนด์แล้ว
กรณีของออสเตรเลีย ที่ใช้ฝาเกลียวเพราะผู้ผลิตถูกบังคับจากซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อลูกค้าไปซื้อไวน์ที่เป็นจุกคอร์ก มักจะมีปัญหาน้ำไวน์ซึมออกมา ร้านก็ต้องเปลี่ยนให้เพราะกฏหมายผู้บริโภคของเขาแรง เพื่อตัดปัญหาทางซูเปอร์มาร์เก็ตก็เลยบังคับผู้ผลิตไวน์ให้ทำฝาเกลียวเสียเลย หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้บริโภคมาเปลี่ยนไวน์อีกเลย ขณะเดียวกันทางร้านก็เก็บรักษาง่าย จะตั้ง จะนอน จะเอียง จะคว่ำ หกคะเมนตีลังกาอย่างไรก็ไม่มีปัญหา
ที่สำคัญไวน์ออสเตรเลียยี่ห้อดังที่มีขายในบ้านเรา บางรุ่นที่ออสเตรเลียเป็นฝาเกลียว แต่เมื่อส่งออกมาบ้านเราและอาจจะประเทศอื่นด้วยเป็นจุกคอร์ก คนไทยที่เดินทางไปออสเตรเลียแล้วหิ้วรุ่นที่เป็นฝาเกลียวกลับมา เถียงกันเอาเป็นเอาตายว่าไอ้ที่ฝาเกลียวเป็นของปลอม จริงๆ ก็คือเขาทำ 2 แบบ ประเทศไหนที่ตลาดยังไม่ค่อยรับฝาเกลียวเขาก็ส่งจุกคอร์กมาแค่นั้นเอง
ปัจจุบันผู้ผลิตไวน์โลกใหม่แทบทุกประเทศหันมาใช้ฝาเกลียวกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งอ้างว่าเพื่อเป็นการรักษ์โลก รักต้นไม้ ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ เพราะทุกวันนี้ต้นโอ๊คที่ใช้เปลือกมาทำเป็นจุกคอร์กนั้นหายากขึ้น และแน่นอน ราคาก็แพงขึ้นด้วย
ไวน์จากโลกเก่ายักษ์ใหญ่อย่างฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน อิตาลี ทุกวันนี้ก็หันมาใช้ฝาเกลียวกันมากขึ้น ไวน์ตัวใหญ่หรือตัวหลักที่แพงๆ ยังใช้จุกคอร์กอยู่ แต่ไวน์ที่เป็นตัวรองๆ ลงมาหรือไวน์ตลาดต่างก็ใช้ฝาเกลียวทั้งนั้น
↑ – Guala Cork
จะว่าไปแล้วฝาเกลียวเป็นการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ หลังจากจุกที่เป็นพลาสติกอัดแน่นสีต่างๆ เช่น เหลือง ดำ แดง ขาว ฯลฯ ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แม้ปัจจุบันจะมีการใช้อยู่ในหลายๆ ประเทศ แต่ในประเทศไทยเรียกว่าล้มเหลว ทั้งที่จุกพลาสติกอัดแบบนี้ไม่ได้เสียหายอะไร และไม่ส่งผลถึงคุณภาพของไวน์ ซึ่งผมมองว่าดีด้วยซ้ำไป เพราะโอกาสที่จุกจะแห้งและทำให้ไวน์เสียแทบไม่มีเลย ต่างจากจุกคอร์กถ้าเก็บไม่ดี จุกแห้ง อากาศเข้าไปในขวด ทำให้ไวน์เสียได้
เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ดื่มไวน์ขาวระดับกรองด์ กรู (Grand Cru) ของแคว้นเบอร์กัน ประเทศฝรั่งเศส เรียกว่า Guala Cork เป็นโพลีเมอร์สีขาวเคลือบสารบางอย่างด้านนอก เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกที่ไวน์ระดับนี้ใช้จุกแบบนี้ ซึ่งผมมองว่าเจ้าของไวน์ต้องมั่นใจอย่างสูงในการที่จะขายคุณภาพของไวน์ ขณะที่คนดื่มก็ต้องมั่นใจอย่างสูงเช่นกัน ไม่ได้ตัดสินที่จุกปิดขวด ปัจจุบันมีการใช้จุกแบบนี้กับไวน์ราคาแพงในหลายประเทศแล้ว
จริงๆ แล้วฝาเกลียวมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ไม่ต้องกลัวไวน์จะไหลเยิ้มออกมาเหมือนกับใช้จุกคอร์ก เวลาเปิดไม่ต้องกลัวจุกคอร์กจะหัก ไม่ต้องพกที่เปิดไวน์ ที่สำคัญเก็บรักษาความสดใหม่ได้ดี ซึ่งเหมาะกับไวน์ที่มีเอกลักษณ์คือ ‘มีผลไม้สูง’ (fruity) ทั้งขาวและแดง เหมาะกับการดื่มทันทีไม่ต้องเก็บ ฝาเกลียวบางยี่ห้อต้นทุนสูงกว่าจุกคอร์กด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตามจุกคอร์กคงจะเหมาะกับไวน์ราคาแพงที่ต้องการการเก็บหลายสิบปี ถ้ารอไหวก็ตามสะดวก
พึงคำนึงไว้เสมอว่า ไวน์ที่ใช้ฝาเกลียวส่วนใหญ่ เป็นไวน์ที่ไม่ต้องการการเก็บบ่มในขวดนานๆ โดยไวน์แดงอาจจะประมาณ 5–6 ปี หลังวินเทจข้างขวด ส่วนไวน์ขาวประมาณ 3–4 ปี หลังวินเทจข้างขวด เป็นต้น แต่ถ้าคิดจะซื้อเก็บให้นานกว่านั้นก็ต้องเลือกที่เป็นจุกคอร์กนี่แหละ
จุกคอร์กหรือฝาเกลียว… มีดีคนละอย่าง เลือกให้ถูกกับจังหวะ โอกาส และความต้องการ ฯลฯ ที่สำคัญไม่ควรตั้งเป้ารังเกียจ ทั้งที่ยังไม่ชิมไวน์ในขวดนั้นเลย!
—————
Writer : Thawatchai Tappitak
RECOMMENDED CONTENT
Skrillex ศิลปินชาวอเมริกันสาย Electronics Sound กลับมาอีกครั้งในรอบ 1 ปี พร้อมเพลงใหม่ 'Rumble' ที่ได้ดีเจและโปรดิวเซอร์ดาวรุ่ง Fred again.. และ MC Flowdan มาร่วมงาน