HTM เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ระดับสุดยอดของไนกี้ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 ดีไซน์เนอร์ระดับหัวกะทิ อย่าง ฮิโรชิ ฟูจิวาระ ผู้ก่อตั้ง Fragment Design ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์ รองประธานฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ของไนกี้ และมาร์ค ปาร์คเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไนกี้
โดยที่ชื่อของ HTM มาจากตัวอักษรตัวแรกของชื่อดีไซน์เนอร์ทั้ง 3 คน ที่มาพร้อมกับแนวคิดการดีไซน์ที่เฉียบแหลมตามแบบฉบับของไนกี้ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต
นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา HTM ได้เกิดความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มาแล้ว 32 รายการ โดยที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆล้วนได้รับการพัฒนามาจากเทคโนโลยีที่โดดเด่นของไนกี้ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีเส้นใยฟลายนิต เป็นต้น
และต่อไปนี้ จึงเป็นบทสนทนาของฮิโรชิ ฟูจิวาระ ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์ และมาร์ค ปาร์คเกอร์ ที่ทั้ง 3 คน ได้มาร่วมบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจคต์ HTM
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ
อะไรคือ จุดเริ่มต้นของ HTM
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: ตอนที่ผมพบกับมาร์คครั้งแรกๆ ก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไนกี้ เขาถามผมว่า “ถ้าหากคุณได้รับโอกาสให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้กับไนกี้ คุณจะสร้างสรรค์สิ่งใด?” ซึ่งผมตอบเขากลับไปว่า “ผมอยากจะยกระดับผลิตภัณฑ์บางอย่างของไนกี้ให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นหนึ่ง”
มาร์ค ปาร์คเกอร์: ผมเคยไปประเทศญี่ปุ่นหลายครั้งและได้มีโอกาสพบกับฮิโรชิ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมกับทิงเกอร์ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันมาหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแอร์แม็กซ์ 1 รองเท้าแอร์เทรนเนอร์ เอซีจี รองเท้าตระกูลจอร์แดน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งตอนที่เราพูดคุยกับฮิโรชิ เราพูดคุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่า แทนที่จะมัวแต่นั่งพูดคุยกัน เราน่าจะมาร่วมลงมือทำอะไรบางอย่างกันจริงๆ เสียที
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: ผมคิดว่า HTM เกิดจากความคิดของมาร์ค และผมชอบความคิดของเขามาก เพราะโปรเจคต์นี้เป็นการรวบรวมคนที่เหมาะสมเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
มาร์ค ปาร์คเกอร์: ผมเชื่อว่าการรวมกันที่ดีที่สุดต้องเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนจริงๆ และนี่คือจุดเริ่มต้นของ HTM ซึ่งมันเป็นโปรเจคต์ที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: หลายๆ บริษัทชอบใช้ชื่อย่อเป็นชื่อโปรเจคต์พิเศษ ผมก็เลยใช้ชื่อ HTM ที่เกิดจากชื่อย่อของผม ทิงเกอร์ และมาร์ค แต่ผมไม่ได้คิดว่าชื่อนี้จะกลายเป็นชื่อของทีมหรือโปรเจคต์ในระยะเวลาต่อมาอย่างเป็นทางการ
มาร์ค ปาร์คเกอร์: เราสร้างเอกลักษณ์ให้กับทีมของเราด้วยการใส่คำว่า HTM ลงบนผลิตภัณฑ์ที่พวกเราร่วมกันพัฒนาในแต่ละชิ้น ซึ่งตอนแรกคำนี้ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับคนส่วนใหญ่ เนื่องจากมันฟังดูง่าย แต่ท้ายที่สุดมันกลายเป็นชื่อที่สื่อถึงผลิตภัณฑ์ที่พวกเราร่วมกันสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์
มาร์ค ปาร์คเกอร์
อะไรคือความสามารถและทักษะเฉพาะบุคคลของแต่ละคน
มาร์ค ปาร์คเกอร์: เรามีสไตล์และวิธีการทำงานที่ต่างกัน ซึ่งมันช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่เราสร้างขึ้นมีความแข็งแกร่ง การทำงานของพวกเราอาจจะคล้ายๆ กับวงดนตรีแจ๊ซ ที่แต่ละคนในวงต่างใช้ทักษะของตนเองเพื่อสร้างสรรค์เพลงหรือแลกเปลี่ยนความคิดกัน บางครั้งเราก็สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกัน แต่บางทีเราก็ทำงานเป็นอิสระจากกัน ฮิโรชิเป็นนักออกแบบ ดังนั้นเขาจึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับงานออกแบบ เขามักจะเน้นสไตล์ การใช้งานจริง และความเรียบง่าย เขาเป็นคนที่สามารถผสานงานออกแบบเข้ากับวิถีชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ส่วนทิงเกอร์นั้นเป็นคนที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย เขาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่โลกไม่เคยเห็น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยกระดับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทางการกีฬาที่เขาทำงานร่วมกับนักกีฬา รวมถึงการศึกษาข้อคิดเห็นของนักกีฬาทั้งขณะที่พวกเขาลงแข่งขัน และขณะที่พวกเขาอยู่นอกสนาม
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: มาร์คเป็นนักออกแบบที่ดี นอกจากนี้ เขายังเป็นนักวิจัยที่ทำงานในห้องแล็ปอีกด้วย เขายังเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์มาก เพราะเขาสามารถเลือกคนที่จะมาทำงานกับเขาได้อย่างเหมาะสม เขายังเป็นคนที่มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้อย่างลงตัว แม้กระทั่งออฟฟิสของเขาก็ยังตกแต่งอย่างมีสไตล์ด้วยงานศิลปะและของสะสมมากมายที่อาจดูไม่เข้ากัน แต่เมื่อมันมาอยู่รวมกันก็ดูลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งออฟฟิสของเขาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของกระบวนการคิดของเขาอีกด้วย
มาร์ค ปาร์คเกอร์: บทบาทของพวกเราจะแตกต่างกันไปตามแนวคิดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ดังนั้นถ้าจะเปรียบกับวงดนตรี แต่ละคนจะผลัดกันขึ้นมาอยู่ตรงกลางตามแต่ละโปรเจคต์ และแต่ละคนก็อาจจะแสดงจุดเด่นในการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างกัน โดยสังเกตเห็นได้จากผลิตภัณฑ์จริง
อะไร คือโอกาสของ HTM
มาร์ค ปาร์คเกอร์: HTM เป็นโปรเจคต์ที่เราศึกษาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เรามีอิสระที่จะทำงานตามที่เราต้องการ และเราทำงานได้เร็วเพราะทีมงานของเรามีไม่กี่คน โดยปกติแล้ว HTM ได้รับแรงบันดาลใจมาจากทีมงานนักออกแบบอื่นๆ ด้วย ซึ่งบางครั้งเราก็เป็นฝ่ายนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้กับบริษัท เราเคยนำเสนอเทคนิคการถักเส้นใยซึ่งอาจจะทำให้หลายๆ คนประหลาดใจ เราเคยสร้างรองเท้าที่ใช้เทคโนโลยีการถักจาก Sock Dart และ Flyknit ซึ่งรองเท้าเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเส้นใยที่ใช้ในผลิตภัณฑ์จริง
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปในปี 2002 ซึ่งเป็นปีแรกของโปรเจคต์ HTM ไนกี้ได้นำรองเท้าแอร์ฟอร์ซ 1 อันเป็นเอกลักษณ์ของไนกี้มาพัฒนาใหม่อีกครั้ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่อยากเห็นรองเท้าที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างพิถีพิถัน โดยรองเท้าแอร์ฟอร์ซ 1 รุ่นดังกล่าวจึงได้ถูกดัดแปลงให้ส่วนหน้ารองเท้าที่ทำมาจากหนังสีดำหรือสีน้ำตาล สำหรับสวมใส่ในงานที่เป็นทางการ นอกจากนี้ยังมีการสลักคำว่า HTM ไว้ด้านหลังรองเท้า โดยใช้ด้ายสีที่ตัดกับสีของหนังรองเท้า เพื่อสร้างความโดดเด่นอีกด้วย
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: ตอนแรกนั้น HTM เป็นโปรเจคต์ที่เราจะผสมผสานสีสันกับวัสดุใหม่ๆ เข้ากับรูปลักษณ์คลาสสิก
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: ในอดีต รองเท้ากีฬาที่ดูหรูหรานั้นเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ ดังนั้นโปรเจคต์ HTM จึงเป็นโครงการที่เราตั้งใจจะสร้างสรรค์รองเท้ากีฬาให้มีความหรูหรามากขึ้น
มาร์ค ปาร์คเกอร์: HTM เป็นโปรเจคต์ที่ไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย เราสามารถเลือกใช้วัสดุใดๆ ก็ได้ตามที่เราต้องการ เพราะผลิตภัณฑ์ของเราจะไม่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก สำหรับรองเท้าแอร์ฟอร์ซ 1 นั้น เราอยากจะทำรองเท้ารุ่นที่หรูหราเป็นพิเศษโดยใช้หนังที่มีคุณภาพสูงร่วมกับสีสันที่ดูทรงพลัง ดังนั้นเราจึงผสมผสานรูปแบบรองเท้าที่คลาสสิกกับการตัดเย็บที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ถัดมาในปี 2004 HTM ได้นำเสนอรองเท้ารุ่น Nike Sock Dart ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรองเท้าที่ท้าทายทีมงานของไนกี้มากที่สุด รองเท้ารุ่นพิเศษนี้ผลิตจากแนวคิดพื้นฐานของรองเท้ารุ่น Sock Racer โดยใช้หน้ารองเท้าแบบถักที่มีการคำนวณและสร้างลวดลายจากคอมพิวเตอร์เพื่อให้พอดีกับสัดส่วนของเท้า และมีสายรัดที่ผลิตจากซิลิโคนที่ได้รับการออกแบบให้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นรองเท้าด้วย
มาร์ค ปาร์คเกอร์: รองเท้า Nike Sock Dart เป็นผลลัพธ์ของการพัฒนาร่วมกันระหว่างทีมงานของทิงเกอร์กับเครื่องปั่นด้าย รองเท้ารุ่นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนารองเท้าที่ให้ความรู้สึกเหมือนใส่ถุงเท้า
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: โปรเจคต์ HTM เป็นอะไรที่ท้าทายมาก เนื่องจากต้องใช้เครื่องปั่นด้ายเป็นวงกลม ซึ่งอันเป็นเครื่องมือที่เราบอกกับทุกคนว่าเทคนิคนี้จะเป็นอนาคตของการผลิตรองเท้า แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ผลิตรองเท้าจากเทคโนโลยีนั้นเป็นจำนวนมากและคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้ จนกระทั่งฮิโรชิต้องการใช้เทคโนโลยีนี้กับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กลุ่มHTM
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: ตอนที่ผมเห็นรองเท้ารุ่นนี้ที่ญี่ปุ่น ผมบอกมาร์คและทิงเกอร์ว่ารองเท้ารุ่นนี้ทันสมัยมาก และเราน่าจะนำรองเท้ารุ่นนี้มาพัฒนาใหม่ภายใต้โปรเจคต์ HTM
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: หนึ่งในเหตุผลที่ผมร่วมโครงการนี้ คือการได้รับโอกาสให้สรรสร้างผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจ เราจึงต้องใช้งานออกแบบของอนาคต รองเท้า Sock Dart ได้ช่วยให้หลายๆ คนได้ล้วนคิดถึงโครงการใหม่ๆ ในอนาคตในระยะเวลาต่อมา
มาร์ค ปาร์คเกอร์: รองเท้ารุ่นนี้เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การผลิตรองเท้าที่ใช้เส้นใยฟลายนิต พูดง่ายๆ คือเราสร้างสรรค์สิ่งที่นำไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ของไนกี้
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: แทนที่จะอัพเดทสิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด HTM เป็นโปรเจคต์ที่เราใช้นำเสนอสิ่งต่างๆ เป็นครั้งแรกสู่ท้องตลาด
ในอีก 8 ปี ต่อมา ไนกี้ ได้ยกระดับนวัตกรรมรองเท้าที่ผลิตจากเส้นใยไปอีกขั้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีฟลายนิต ซึ่ง HTM ถือเป็นโปรเจคต์แรกๆ ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการผลิตรองเท้า โดยรองเท้า HTM Flyknit Racer และรองเท้า Nike HTM Flyknit Trainer+. จึงถือเป็นรองเท้าที่สร้างสรรค์จากแนวคิดใหม่ล่าสุด มีน้ำหนักเบา พอดีกับเท้าของแต่ละคน และยังสามารถลดขยะจากการกระบวนการผลิตให้น้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย
มาร์ค ปาร์คเกอร์: เราทราบว่าเส้นใยฟลายนิตมีอนาคตอีกมาก เรารู้ทันทีว่าเส้นใยฟลายนิตสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการกีฬา และเราต้องการใช้เส้นใยฟลายนิตแทนที่การตัดและประกอบชิ้นส่วนรองเท้าแบบเดิม เพราะเส้นใยฟลายนิตจะคล้ายคลึงกับการระบายสีและการตัดปะส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน เส้นใยฟลายนิตทำให้เราตกแต่งรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำที่สุด เราสามารถปรับแต่งรายละเอียดต่างๆ ตามที่เราต้องการไม่ว่าจะเป็นความกระชับ ความยืดหยุ่น หรือการระบายอากาศด้วยการปรับแต่งเส้นด้ายหรือการเชื่อมต่อจุดต่างๆ
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: รองเท้าที่ผลิตจากเส้นใยฟลายนิตจะดูเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยนวัตกรรมที่ซับซ้อน ผมทราบดีว่าเทคโนโลยีนี้มีความพิเศษอย่างไร ตอนที่ทำตัวอย่างแรกๆ นั้นมันยากมากที่เราจะจินตนาการถึงรองเท้าที่ใช้หน้ารองเท้าผลิตจากเส้นใยถัก เพื่อให้คนทั่วไปเห็นเส้นใยที่เราใช้อย่างเห็นได้ชัด ผมแนะนำให้ทีมใช้สีเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของเส้นใยฟลายนิต เช่น การผสมผสานเส้นใยสีต่างๆ เข้าด้วยกัน
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: HTM เป็นโอกาสอันดีที่เราสามารถใช้เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่ท้องตลาด เมื่อรองเท้าที่ใช้เทคโนโลยีฟลายนิตออกวางจำหน่าย ผมถือว่ามันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสำเร็จและศักยภาพของโปรเจคต์นี้
ล่าสุดในปี 2014 HTM ได้นำเสนอ รองเท้ารุ่น The KOBE 9 Elite Low HTM ซึ่งเป็นรองเท้าบาสเกตบอลทรงโลว์คัทรุ่นแรกที่ผลิตจากเส้นใยฟลายนิต โดยรองเท้ารุ่นนี้ยังเป็นรองเท้าที่ผสานสไตล์และประสิทธิภาพการเล่นของโคบี้ ไบรอันท์ ในสนามเข้าไว้ด้วยกัน โดยหน้าผ้ารองเท้ามีการใช้วัสดุฟลายนิต ขณะที่ส่วนปลายเชือกรองเท้าเคลือบด้วยวัสดุโลหะและมีสัญลักษณ์ของ HTM นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่เหมือนหนังงู เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดและเป็นเอกลักษณ์ของรองเท้าตระกูลโคบี้
ฮิโรชิ ฟูจิวาระ: รองเท้า The KOBE 9 Elite Low HTM เป็นรองเท้าที่เราใช้โชว์ว่านวัตกรรมเส้นใยฟลายนิตนั้นก้าวหน้าไปมากเพียงใด จากเดิมที่มันถูกใช้เป็นนวัตกรรมที่ใช้กับรองเท้าวิ่งเท่านั้น แต่มันถูกพัฒนาให้ใช้กับรองเท้าบาสเกตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวของเท้าหลากรูปแบบได้สำเร็จแล้ว
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบรองเท้ารุ่นนี้โดยตรง แต่ผมก็พูดคุยกับเอริก อาวาร์ นักออกแบบของเราอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผมคิดว่ามันเป็นหนึ่งในรองเท้าที่ได้รับการออกแบบอย่างดีที่สุด เพราะมันคือการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและข้อคิดเห็นจริงจากนักกีฬาอย่างสมบูรณ์แบบ
มาร์ค ปาร์คเกอร์: โคบี้เป็นนักบาสเกตบอลที่ชื่นชอบรองเท้ารุ่นใหม่มาก และเราจำเป็นต้องออกแบบรองเท้าให้เข้ากับเอกลักษณ์ของโคบี้ด้วย เขาตื่นเต้นกับรองเท้ารุ่นนี้มาก และรู้สึกสนุกที่ได้ทำงานร่วมกับเราในโปรเจคต์ HTM
ตำนานของ HTM
มาร์ค ปาร์คเกอร์: ตอนแรก HTM ถือกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะศึกษาและลงมือทำในสิ่งที่น่าตื่นเต้น โดยผสานการออกแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไนกี้ไว้ เพราะไนกี้เป็นบริษัทที่สร้างความสำเร็จจากการร่วมมือกันของทุกคน
ทิงเกอร์ แฮทฟิลด์: ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไนกี้สร้างตัวตนขึ้นจากการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการสร้างสิ่งที่ใครยังไม่เคยทำได้สำเร็จมาก่อน HTM จึงเป็นโปรเจคต์ที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายดังกล่าว และเป็นที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับโปรเจคต์นี้ ที่สำคัญการทำงานกับทีมนี้มันสนุกมาก เพราะเราได้ท้าทาย กฎต่างๆ อย่างมากมาย
RECOMMENDED CONTENT
STAR WARS: THE LAST JEDI ตัวอย่างแรก (Official ซับไทย HD) กับคำโปรยของผู้จัดว่า มันไม่ได้จะเป็นไป ในแบบที่คุณคิด #TheLastJedi กับภาคต่อ ของ STAR WARS ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 14 ธันวาคมนี้