หากคุณได้มีโอกาสไปเยือนสถานที่ต่างๆ แล้วได้เห็นสิ่งก่อสร้าง อาคารที่มีรูปทรงโค้งมนประหลาดเหมือนอยู่ในโลกอนาคตหรืออยู่ในอวกาศ อะไรก็ตาม คุณอาจได้เจอกับสิ่งก่อสร้างระดับตำนานของสถาปนิกหญิงที่มีฝีมืออย่าง Zaha Hadid เข้าให้แล้ว
เส้นทางที่จะพา Zaha Hadid ไปสู่เป้าหมายไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่มีดอกกุหลาบโปรยรอไว้ตามทาง เธอต้องฝ่าฝันและต่อสู้เรื่องของแนวคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ โดยเธอเกิดในประเทศอิรักและได้อพยพมาอยู่ประเทศอังกฤษเนื่องจากสงครามในตอนนั้น เธอค่อยๆ เรียนรู้และพาตัวเองเข้าไปสู่วงการออกแบบจากการเลือกเรียนด้านสถาปัตยกรรมแม้ว่าจะโดนคัดค้านจากครอบครัวก็ตาม
ในช่วงแรกเธอสนใจงานด้านนามธรรม Abstraction และความเป็นขบถเล็กๆ ที่ต้องการท้าทายแนวคิดเดิมๆ กรอบเดิมๆ ที่มีอยู่นั่นอาจจะเป็นการส่งผลให้เธอเริ่มพัฒนาฝีไม้ลายมือในการออกแบบจนเด่นชัดยิ่งขึ้นเมื่อเธอได้เข้าเรียนที่ Architectural Association School of Architecture หรือ AA สถาบันที่เปิดสอนด้านสถาปัตยกรรมในลอนดอนที่ไม่ต้องการยึดติดกับกฎการนำเสนอความเสมือนจริงและสิ่งก่อสร้างไม่เพียงแต่อยู่ในตัวอาคารอย่างเดียวแต่มันคือเรื่องของกิจกรรม ผู้คนมองหาแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว ที่นี่คงเป็นสถานที่ที่จุดพลังบางอย่างในตัวของ Zaha Hadid ให้เกิดจนกลายเป็น Zaha ที่ถูกขนานนามว่าเป็น Queen of the curve ตำนานของวงการออกแบบ
ชีวิตของเธอในฐานะสถาปนิกหญิงช่วงแรกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เธอต้องต่อสู้กับผู้คนมากมายที่ไม่เข้าใจสิ่งที่เธอกำลังจะทำ งานของ Zaha เป็นงานแบบ Deconstruction ที่ให้ฟีลแบบ Futuristic ผู้คนที่ได้เข้าไปสัมผัสงานของเธอคงได้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ใน Fantastical Universe ของเธอ ที่มีความโดดเด่นตรงความลื่นไหลของรูปทรง โครงสร้างที่ไม่แข็งทื่อเหมือนสิ่งก่อสร้างแบบเดิม มันมีความอิสระและ Dymamic บางอย่างที่ถูกแฝงอยู่ในโครงสร้างและมันก็เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ เพราะเธอคิดว่าผู้คนเดินเข้าอาคารก็ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงแต่มันมีความลื่นไหลและอิสระที่มากกว่าเส้นตรงทื่อๆ ทุกอย่างมี Layer และความซับซ้อน การออกแบบของเธอเหมือนการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม มันมีการทำงานที่ร่วมกันของชิ้นส่วนเล็กๆ มากมายและเธอจะต้องคิดอย่างลึกซึ้งในการที่จะให้ทุกอย่างทำงานผสานกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งช่วงแรกงานของเธอถูกปัดตกและไม่มีใครสนใจ เธอเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่ออกแบบสิ่งก่อสร้างประหลาดและดูไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง แต่เธอก็ยึดมั่นความเชื่อของตัวเองอย่างเหนียวแน่นจนในที่สุดสิ่งก่อสร้างที่เป็นจุดเริ่มต้นของชื่อเสียงในวงการออกแบบก็ถือกำเนิดขึ้นคือ Vitra fire station ในเยอรมัน
“For a woman to go out alone in architecture is still very, very hard. It’s still a man’s world.” หนึ่งในคำพูดของเธอที่แสดงให้เห็นว่าการเป็นผู้หญิงในวงการออกแบบนั้นไม่ง่ายเลยทีเดียว ในขณะที่โลกใบนี้กลับชื่นชมผู้ชายมากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้ว Zaha Hadid ก็ได้พิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็นแล้วว่าผู้หญิงที่เป็นสถาปนิกไม่ได้มีความสามารถที่อ่อนด้อยไปกว่าใครพร้อมกับทิ้งผลงานไว้เป็นตำนานให้ผู้คนที่ยังอยู่ได้เรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกบิดๆ เบี้ยวๆ ใบนี้ โดยที่ไม่ต้องสนใจคำพูดใครที่จะมาทำลายความมั่นใจ นี่แหละเธอ Zaha Hadid สถาปนิกสาวที่ฉีกทุกกฎของการออกแบบและสร้างโลกของเธอขึ้นมาเอง
Zaha’s Timeline
1950 – Zaha Hadid เกิด ณ กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก
1972 – เธอย้ายมาที่ลอนดอนเพื่อเรียนด้านสถาปัตยกรรมที่ Architectural Association School of Architecture
1977 – เธอได้ทำงานร่วมกับ Professor เก่าของเธอสมัยเรียนที่ Office for Metropolitan Architecture และกลายเป็นหุ้นส่วนในที่สุด
1980 – เธอได้ก่อตั้ง Zaha Hadid Architects บริษัทออกแบบด้านสถาปัตย์ของตัวเอง
2004 – เธอได้รับรางวัล Pritzker Architecture Prize ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกและชาวมุสลิมคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลนี้
2008 – เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ลำดับที่ 69 ซึ่งถูกจัดอันดับโดย Forbes
2010 – เธอได้รับเลือกเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลของโลกในกลุ่ม Influential thinker โดย Time
2012 – เธอได้รับรางวัลจาก Jane Drew Prize ใน “outstanding contribution to the status of women in architecture”
2013 – เธอเป็น 1 ในผู้ชนะของ Veuve Clicquot UK Business Woman Award
2015 – เธอได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกของโลกอีกครั้งกับรางวัล Royal Gold Medal 2016 อันทรงเกียรติ
2016 – เธอจากไปอย่างสงบด้วยโรคหัวใจในวัย 65 ปี พร้อมกับทิ้งสิ่งก่อสร้างให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความสามารถของเธอ
Zaha’s building
Vitra fire station (1994)
Location: Weil am Rhein, Germany
ผลงานแรกที่ทำให้ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักกับสถานีดับเพลงที่ชื่อว่า Vitra fire station ณ ประเทศเยอรมัน ที่มีความสร้างสรรค์และสะท้อนแนวคิดรวมถึงสไตล์ของเธอให้เด่นชัดกว่าที่ผ่าน น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างเริ่มต้นในเส้นทางที่ประสบความสำเร็จของเธอ
Phaeno Science Centre (2005)
Location: Wolfsburg, Germany
อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของเธอกับพื้นที่การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศเยอรมันที่มีชื่อว่า Phaeno Science Centre ในแนว Parametric Design ที่ดูมีความลื่นไหลของรูปทรงและที่สำคัญคือไม่มีเสา พร้อมทั้งยังดูล้ำสมัยสไตล์ Zaha เป็นที่สุด
Bridge Pavilion (2008)
Location: Zaragoza, Spain
Bridge Pavilion สะพานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอก Gladioli เสมือนว่ามีดอกไม้ดอกนี้อยู่เหนือแม่น้ำที่ไหลผ่านข้างใต้ สะพานแห่งนี้ใช้เป็นสะพานเดินข้ามแม่น้ำเอโบรในประเทศสเปน โดยสร้างเสร็จในปี 2008 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงาน Zaragoza Expo 2008
JS Bach Chamber Music Hall (2009)
Location: Manchester, UK
Music Hall แห่งนี้ถูกออกแบบเฉพาะกิจเนื่องใน Manchester International Festival โดย Music Hall แห่งนี้มีการออกแบบให้เหมือนกับริบบิ้นสีขาวในกล่องสีดำเมื่อใช้แสงไฟเข้ามาช่วยแล้วมันช่างดูมหัศจรรย์มากจริงๆ
MAXXI – National Museum of the 21st Century Arts (1998-2010)
Location: Rome, Italy
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติศิลปะของศตวรรษที่ 21 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลีแห่งนี้ ใช้เวลาในการสร้างเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว ซึ่งตัวอาคารมีการใช้คอนกรีตเป็นองค์ประกอบหลักและเน้นความโค้งมนที่เป็นจุดเด่นของสถาปัตยกรรมของ Zaha ในการสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยประกอบไปด้วย 2 อาคารคือ MAXXI art และ MAXXI architecture เธอคว้ารางวัล Stirling Prize ในปี 2010 จากผลงานการสร้างชิ้นนี้อีกด้วย
Evelyn Grace Academy (2006-2010)
Location: Brixton, London, UK
โรงเรียนมัธยมในลอนดอนที่มีรูปทรงแบบตัว Z สุดทันสมัยที่เพิ่มความสร้างสรรค์ด้วยลู่วิ่งที่อยู่ตรงกลางเพื่อเชื่อมอาคารเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังเน้นการใช้กระจกที่ตัวอาคารเพื่อเพิ่มความโปร่ง ถ้าเป็นนักเรียนที่นี่ก็คงอยากจะมาเรียนทุกวันเลยทีเดียว โดยเธอได้คว้ารางวัล Stirling Prize ในปี 2011 จากผลงานการสร้างชิ้นนี้อีกด้วย
Guangzhou opera house (2010)
Location: Guangzhou, China
สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใจกลาง Guangzhou แห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของ Zaha เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่วัฒนธรรมให้กับเมืองๆ นี้ จนกลายเป็นโรงละครที่ติดอันดับความสวยที่สุดในโลกไปแล้ว
Sheikh Zayed Bridge (2010)
Location: Abu Dhabi, United Arab Emirates
สะพานในอาบูดาบีแห่งนี้มีความโดดเด่นตรงที่ความโค้งมนอย่างสวยงาม ประณีตและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Zaha ไว้ให้เราได้เห็นกันแบบชัดเจนโดยมีการสร้างสะพานแห่งนี้ล้อไปกับเนินของทะเลทรายที่เป็นจุดสำคัญของประเทศในแถบตะวันออกกลาง
London aquatics centre (2012)
Location: London, UK
London aquatics centre สถานที่จัดว่ายน้ำในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2012 ภายในมีสระว่ายน้ำ 50 เมตรและสระดำน้ำ25 เมตร โดยความสวยงามของที่นี้คือเพดานที่โค้งให้ฟีลแบบว่ายน้ำอยู่กลาง Galaxy และยังมีความโดดเด่นที่กระจกแผ่นยักษ์ที่เปิดทางให้แสงสว่างเข้ามา
Heydar Aliyev cultural center (2012)
Location: Baku, Azerbaijan
สถาปัตยกรรมที่มี curved style แห่งนี้อยู่ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ใช้เป็นสถานที่ในการจัดแสดงงานนิทรรศการต่างๆ และถูกตั้งชื่อตามประธานาธิบดีคนเก่า ความสวยงามของที่นี่คงหนีไม่พ้นเส้นสายที่โค้งไปตามทรงของสิ่งก่อสร้างแห่งนี้แบบลื่นไหลซึ่งเป็นไปตามลายเซ็นต์ในงานออกแบบของเธออย่างไม่มีผิดเพี้ยน
Galaxy Soho, Beijing (2012)
Location: Beijing, China
อาคารรูปทรงแปลกตากลางเขตอนุรักษ์เมืองเก่าปักกิ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงปักกิ่งแห่งนี้ดูก็รู้ว่ามีความล้ำยุคเหมือนอยู่ท่ามกลางห้วงอวกาศโดยมีการใช้ความโค้งมนตามแบบฉบับของเธอและเชื่อมโยงแต่ละอาคารด้วยความสมูทของโครงสร้างที่ไร้รอยต่อ มองได้เพลินจริงๆ
Messner Mountain Museum Corones (2015)
Location: Kronplatz mountain, Italy
พิพิธภัณฑ์ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ตั้งอยู่บนยอดเขา Plan de Corones สถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ Reinhold Messner นักปีนเขาชาวอิตาเลียน ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดแสดง ให้ความรู้เกี่ยวกับการสำรวจภูเขาและการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความกลมกลืนไปกับธรรมชาติบนยอดเขาที่ให้ความรู้สึกสวยงาม สามารถมองออกไปเห็นวิวทิวทัศน์ที่เวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตาเลยทีเดียว
Writer: Yuwadi.s
Images by: architectural-review, archdaily, arch2o, archinect, architecturalrecord, bestinteriordesigners, pinterest
RECOMMENDED CONTENT
“Gimme Love” ซิงเกิลใหม่จาก Joji ต่อจากซิงเกิล “Run” ที่ปล่อยออกมาให้ฟังไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และ “Sanctuary” ที่โกยยอดขายไปแล้ว RIAA Gold เมื่อกลางปี 2019 โดยทั้งสามซิงเกิลนี้เป็นการเปิดตัวอัลบั้มใหม่ชุดที่สอง