บ่ายวันที่ฝนตกหนัก เราเฝ้ามองผู้ชายตรงหน้ากำลังง่วนอยู่กับการเซ็ตข้าวของที่จะใช้สำหรับ Solo Exhibition ของตัวเองซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
“ทุกอย่างเป็นการทดลอง ไม่รู้จะเวิร์กหรือเปล่านะ” เขาออกตัวแล้วหันมายิ้มตาหยี
เรามักรู้จัก ‘นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ ในฐานะผู้กำกับฯ หรือไม่ก็นักเขียน ผ่านแผ่นฟิล์มบ้าง ผ่านตัวหนังสือบ้าง แต่น้อยคนจะรู้ว่าเขาเป็นนักสังเกตตัวยง ครั้งหนึ่งเต๋อเคยบอกว่าการเฝ้ามองสิ่งรอบตัวคือสันดานและความเมามันอย่างหนึ่งของคนเขียนบทอย่างเขา
และหากพฤติกรรมชาวบ้านคือวัตถุชั้นดีในงานของเขาจริงอย่างที่ว่า นิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกในชีวิตชื่อ ‘I Write You A Lot’ นี้ก็คงเป็นผลผลิตล่าสุดของนวพล…ในเวอร์ชั่น ‘งานศิลปะ’
อะไรทำให้เต๋อ นวพลอยากทำงานศิลปะ?
ตอน Bangkok City City Gallery มาชวนทำงานศิลปะ ผมก็ประหลาดใจ เพราะสิ่งที่ผมทำคือหนัง มันอาจไม่ได้อาร์ตอะไรขนาดนั้น ผมสนใจศิลปะอยู่แล้วแต่ยังไม่เคยทำจริงๆ พอไม่เคยทำก็ไม่แน่ใจว่าแบบไหนถึงเป็นศิลปะ ตอนแรกก็กลัวทำผิดทำถูก เพราะถ้าต้องมีกฎเกณฑ์อะไรสักอย่างถึงจะเรียกว่าแบบนี้คือศิลปะ ผมคงปรับตัวเองไปทำอย่างนั้นไม่ได้เหมือนกัน ในการถ่ายรูปก็ด้วย ไม่รู้ว่าอย่างที่ผมถ่ายเป็นอาร์ตหรือเปล่า แต่สุดท้ายมันก็คือสิ่งที่เราทำอยู่แล้วนั่นละ
ก่อนหน้านี้ผมเคยแสดงภาพถ่ายมาบ้าง แต่ไม่ได้เป็น Solo Exhibition คนเดียวแบบนี้ จึงเริ่มมาดูว่ามีงานไหนจะสามารถบรรจุลงทั้ง 2 ห้องของ Bangkok City City ได้ มีงานอะไรบ้างที่กำลังทำหรือมีอยู่แล้ว ไปๆ มาๆ ก็จบที่ภาพถ่ายซึ่งถ่ายมานานประมาณ 6-7 ปีได้ โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นการเขียนบทหนังจากภาพถ่าย ผมคิดว่าผมอยู่กับมันมานานพอสมควร น่าจะแข็งแรงพอที่จะแสดง
แรงบันดาลใจของงานแสดงภาพถ่ายครั้งนี้มาจากไหน?
ผมว่าเราทุกคนมีภาพของสิ่งรอบตัวในเวอร์ชั่นของตัวเองกันทั้งนั้น ซึ่งมันอาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ สมมติว่าเรารู้จักคนๆ หนึ่ง เราก็เขียนเรื่องของเขาตามที่ได้คุยกันวันนี้หรือตามที่เราเห็น เราอาจรู้สึกว่าเขานิสัยไม่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วเขาอาจนิสัยดี มันเหมือนเวลานึกถึงสยามพารากอน ผมอาจนึกถึงน้ำพุ บางคนนึกถึงชั้น 4 ทุกคนมีพารากอนเป็นของตัวเอง เรามีเพอร์เซ็ปชันต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน จึงเกิดเป็นไอเดียของคำว่า ‘Write you’ ในแบบของผมขึ้นมา
อะไรเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกภาพที่จะนำมาแสดง?
ภาพถ่ายส่วนใหญ่มาจากการเดินทางที่ถ่ายเก็บมาเรื่อยๆ เป็นการถ่ายแบบ Wide Shot ซึ่งคนจะตัวเล็กกว่าสถานที่ มันเริ่มมาจากเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนที่ผมใช้กล้องฟิล์มถ่าย Self Portrait รู้สึกว่าเราชอบภาพแบบนี้ แล้วเราก็เขียนบทจากภาพอีกที ส่วนใหญ่เป็นภาพที่มีแอ็กชั่น หรือมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดสตอรี่ บางภาพเป็นคนนั่งเฉยๆ กับสถานที่ดีๆ แสงสวยมาก แต่ดูแล้วไม่มีสตอรี่อะไร เราก็ไม่ได้ใช้ เพราะไม่ได้ห่วงว่ามันจะสวยหรือไม่สวย แค่ต้องมีเรื่องราวอยู่ในนั้น
เราจะได้เล่นอะไรในนิทรรศการครั้งนี้?
เราใช้ Light Box เพื่อที่จะให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงหนังเวลาดูภาพ ผมอยากให้เป็นอารมณ์แบบซีเนม่า แล้วไอ้ซ็อตที่เลือกมาก็ดูเป็นซีนภาพยนตร์อยู่หน่อยๆ มักเป็นรูปที่ไม่ค่อยปกติเท่าไร (หัวเราะ) จะไม่ใช่ภาพถ่ายเรียลิสต์หรือเป็นแนวสารคดีมาก มันมีทั้งคน ทั้งแอ็กชั่นของคน บางทีแค่คนยกมือขึ้นมาก็รู้สึกว่ามีเรื่องราวแล้ว
ถ้าให้เทียบกัน หนังคืองาน 2 D จบแค่สกรีนข้างหน้า พอมาทำงานในแกลเลอรี่ เราเลยรู้สึกอยากมีปฏิสัมพันธ์กับอาคารหรือพื้นที่ จึงเกิดเป็น Live Screen writing คือการใช้จอโปรเจ็กเตอร์ฉายเข้ากำแพง แล้วผมจะเขียนบทจากห้องสดๆ อีกที อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหรือเป็นคนที่อยู่ในห้อง ณ เวลานั้น พอเขียนเสร็จก็ปริ้นต์ออกมา เพราะฉะนั้นในแต่ละวันจะมีงานเขียนงอกขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนเขียนผมอาจไม่ได้อยู่ในห้องนั้นก็ได้ ทำตัวเป็นวิญญาณไป (หัวเราะ) เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันกับภาพถ่าย เพราะคนถูกถ่ายมักไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนถ่ายอยู่ ซึ่งการเป็นคนเขียนบทหนังมันมีความเป็น God อยู่ประมาณหนึ่งเช่นกัน คือเราจะได้กำหนดชีวิตตัวละคร มันเป็นสันดานของคนเขียนบทอยู่แล้วที่จะหยิบฉวยชีวิตของคนอื่นหรือประสบการณ์ของตัวเองมาใช้
อีกส่วนคือ Window Display ตอนแรกผมเดินเข้ามาเห็นหน้าต่างในแกลเลอรี่ห้องเล็กนี้ ผมว่ามันเหมือนจอหนัง ถ้าอย่างนั้นเอาเก้าอี้โรงหนังมาตั้งเลยดีกว่า ให้เหมือนเรากำลังนั่งดูหนังอีกหนึ่งเรื่อง แล้วผมก็จะเขียนเรื่องจากตรงนี้อีกที
งานศิลปะแบบเต๋อๆ จะออกมาเป็นแบบไหน?
ผมคิดว่าการเล่าเรื่องของ ‘I write you a lot’ ยังเป็นวิธีเดิม เพียงแค่เปลี่ยนสื่อที่ใช้ในการเล่า จริงๆ ผมจะแค่ติดภาพถ่ายให้เต็มบนผนังแค่นั้นก็จบ แต่ถ้ามีพื้นที่ให้เล่นอะไรกับมันได้แล้วก็น่าจะเล่นให้เต็มที่
ศาสตร์นี้มันค่อนข้างใหม่สำหรับผม เวลาทำหนังเราสามารถควบคุมว่าอยากได้ฉากแบบไหน ใช้กี่ช็อต เพลงขึ้นตรงไหน เป็นงานสำเร็จที่ไม่ว่าคนดูจะดูโรงไหนก็เห็นฉากจบแบบเดียวกัน แต่งานนี้เป็นพื้นที่เปิด อาจควบคุมคนได้ประมาณหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด กะไม่ได้ว่าคนดูจะรู้สึกเหมือนที่เราต้องการให้เป็นหรือเปล่า มันจะ Develop ไปทางไหน ผมเดาไม่ถูกเลย แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน ผมอยากให้ทุกคนสนุก อาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แค่รู้สึกอะไรบางอย่างกับมันก็พอแล้ว
I WRITE YOU A LOT
นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
Where: บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่
When: เปิดนิทรรศการวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2559 เวลา 16.00-20.00น.
นิทรรศการเปิดให้เข้าชมจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2559
* นำหูฟังติดตัวมาด้วย * Bring Your Own Earphones
BANGKOK CITYCITY GALLERY
13/3 Sathorn 1, South Sathorn, Thung Mahamek
Bangkok, Thailand 10120
Tel: +6683 087 2725 l Email: info@bangkokcitycity.com
https://www.facebook.com/events/720252611410541/?active_tab=highlights
Writer: Wednesday Adam
RECOMMENDED CONTENT
วงคู่หู “Whal & Dolph” (วาฬ แอนด์ ดอล์ฟ) ประกอบด้วย “ปอ - กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ” และ “น้ำวน - วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) กลับมาปล่อยเพลงใหม่อีกครั้งในรอบ 5 เดือน