ระหว่างปาดนิ้วไปมาบนหน้าเฟซบุ๊ก เราเกิดสะดุดตากับลีลาการเขียนแพรวพราวของแอดมินเพจประจำร้านหนังสือแห่งหนึ่งเข้าอย่างจังจนอดไม่ได้ที่จะกด ‘อ่านต่อ’ ถึงจะรู้ว่านี่คือส่วนหนึ่งของการ ‘ขาย’ หนังสือ แต่หากมันเป็นการขายที่เพลินขนาดนี้ เราก็ไม่ปฏิเสธ…
จากถนนตะนาวบ้านเก่าที่เคยตั้งหลักปักฐานมานถึง 6 ปี ร้าน Candide Books (ก็องดิด) ร้านหนังสืออิสระขวัญใจหนอนหนังสือได้ย้ายมาอยู่ในโครงการ The Jam Factory พื้นที่สร้างสรรค์ที่ฮิปที่สุดในย่านคลองสานในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตามคำเชิญชวนของเจ้าของโปรเจ็กต์อย่าง ‘ดวงฤทธิ์ บุนนาค’ คงไม่เกินจริงไปนักหากจะบอกว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ก็องดิดบุ๊กยังเป็นอีกหนึ่งร้านหนังสืออิสระที่ยืนทรงตัวอยู่ได้อย่างสวยงามท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
คนที่จะยืนยันความจริงข้อนั้นได้คือ ‘ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง’ หรือ พี่แป๊ด หัวเรือใหญ่แห่งก็องดิดบุ๊ก ผู้มีอีกหนึ่งหน้าที่คือการเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ของตัวเองชื่อ ‘ระหว่างบรรทัด’ และในบางครั้งยังเป็นเจ้าของภาษาสละสลวยสลับกับแอดมินรุ่นน้องบนหน้าเพจเฟซบุ๊กที่เราหลงรักด้วย
สถานการณ์ของร้านหนังสืออิสระในบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร
จะว่าเราโชคดีก็ได้ เพราะที่ The Jam Factory มีการจัดงานอีเวนต์หรือกิจกรรมตลอด มี Flea Market ทุกเดือน มีนิทรรศการศิลปะ มีดนตรีสด ทางร้านเองก็มีการจัดเสวนา คุยกันเรื่องหนัง เรื่องหนังสือ และจัดฉายหนังบ้าง นั่นทำให้คนเดินเข้าร้านมากขึ้น รู้สึกว่าร้านหนังสือเดี๋ยวนี้อยู่นิ่งๆ รอให้คนเข้ามาอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องชวนเขาซื้อ อาจผ่านโซเชียลฯ ขายออนไลน์ ออกบูธ หรือจัดงานอีเว้นต์อื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย
การใช้สื่อออนไลน์เป็นเรื่องจำเป็นมากน้อยแค่ไหนสำหรับร้านหนังสืออิสระ
มันเป็นช่องทางสำหรับลูกค้าในต่างจังหวัด หรืออย่างในกรุงเทพฯ เองก็ตาม บางครั้งเขาอาจ ไม่สะดวกเดินทางมาซื้อที่ร้าน หรือตอนเปิดพรีออเดอร์หนังสือก็จะมีลูกค้าสั่งเข้ามาเยอะมาก การขายออนไลน์จึงค่อนข้างจำเป็น เชื่อไหมว่ามีชาวต่างชาติที่เข้ามาเพราะอ่านเจอในเว็บไซต์ว่าถ้ามาร้านหนังสือในประเทศไทยต้องมาร้านนี้ ซึ่งเขาก็ซื้อหนังสือภาษาไทยกลับไป จึงคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการบอกต่อและการเช็คอินผ่านโซเชียลฯ ด้วย ทำให้เราวางแผนว่าในอนาคตจะต้องเพิ่มหนังสือต่างประเทศเข้ามาอีก แต่หลักๆ แล้วยังอยากให้เป็นร้านแบบกายภาพ คือให้คนเดินเข้ามาแล้วสัมผัสด้วยตัวเอง สำหรับก็องดิด คนยังเดินเข้าร้านเยอะกว่าสั่งออนไลน์ รายได้แต่ละเดือนยังมาจากการขายหน้าร้านอยู่
หรืออย่างร้านหนังสือเดินทาง (Passport Bookshop) ก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่แข็งแรงมาก อาจมีการขายกาแฟเข้ามาเพิ่มบ้าง แต่ก็ไม่ได้ปล่อยให้กระแสออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลมากนัก เขายังคงรักษาบุคลิกเรียบนิ่งแบบร้านหนังสืออยู่ และยังรักษาฐานลูกค้าของเขาไว้ได้เป็นอย่างดี
หนังสือของก็องดิดแตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไปอย่างไร
ด้วยความที่เราทำสำนักพิมพ์อยู่แล้ว อันดับแรกจึงเลือกจากเพื่อนสำนักพิมพ์ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ เช่น ไต้ฝุ่น เม่นวรรณกรรม บางลำพู เรามีหนังสือแบบเดียวกับที่ร้านหนังสือใหญ่มี อาจไม่เยอะเท่าแต่ก็มีหนังสือแบบที่ร้านใหญ่ไม่มีเหมือนกัน จะเรียกว่าเป็นหนังสือนอกกระแสก็คงได้ เราค่อนข้างซีเรียสเรื่องคัดสรรหนังสือที่จะมาขาย ซึ่งน่าจะขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน รวมถึงการผลักดันของสำนักพิมพ์เองด้วยว่าจะขายอะไร คิดว่าหนังสือที่มันไม่ถูกขาย ไม่ใช่เพราะไม่ดี แต่เป็นเพราะไม่ได้รับการผลักดัน
หนังสือแบบไหนที่ยังขายดีอยู่
เชื่อว่าคนที่มาร้านหนังสืออิสระคงคาดหวังสิ่งที่จะได้เจอต่างกับร้านหนังสือใหญ่ๆ อยู่แล้ว จะไม่ได้ตรงดิ่งมาหาหนังสือ Best Seller หรือหนังสือใหม่เท่าไรนัก สำหรับที่นี่หนังสือขายดียังคงเป็นวรรณกรรมแปลของฮารูกิ มูราคามิ ทั้งหน้าร้านและการสั่งแบบพรีออเดอร์
อนาคตของร้านหนังสืออิสระจะเป็นอย่างไรต่อไป
มองว่าน่าจะไปได้เรื่อยๆ เพราะในต่างจังหวัดเองก็มีร้านหนังสืออิสระเกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน สิ่งสำคัญคืออย่าทำแล้วออกมาหน้าตาเหมือนร้านอื่น ไม่ได้หมายความว่าต้องขนาดใหญ่ แต่มันคือการสรรหาหนังสือ การเลือกของที่จะมาขาย การสร้างคาแร็กเตอร์ ซึ่งเผลอๆ เรื่องทำเลอาจเป็นเรื่องรองด้วยซ้ำ ถ้าร้านคุณมีจุดยืนชัดเจน
เคยมีน้องจากเพชรบุรีคนหนึ่งมาปรึกษาว่าอยากทำร้านหนังสือ จึงเสนอเขาไปว่าลองขายขนมหวานด้วยไหม เพราะเมืองเพชรฯ ก็ขึ้นชื่อเรื่องขนมอยู่แล้ว มันไม่ได้เป็นการเสริมเข้าไปเพื่อรายได้ แต่เป็นการเสริมเพื่อสร้างคาแร็กเตอร์ของร้านให้แข็งแรง เพราะรายได้ควรมาพร้อมกับคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน
อะไรคือสิ่งที่น่าจะทำให้ร้านหนังสืออิสระอยู่รอด
จะสังเกตได้ว่าร้านแฟรนไชส์ใหญ่ๆ ปิดตัวลงไปมาก เกิดเป็นยุคของร้านหนังสืออิสระขึ้นมาแทน เป็นการเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาของสภาพสังคมที่ขึ้นอยู่กับว่าคนใช้ชีวิตแบบไหน ต้องการเสพอะไรในช่วงนั้น ก็องดิดเองตั้งอยู่ในคอมมิวนิตี้มอลล์ย่อมๆ มีร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร มีแกลเลอรี่ ซึ่งอาจไปอินกับวิถีชีวิตของคนยุคนี้พอดี ข้อดีของมันอาจไม่ได้แค่เอื้อการขายระหว่างกัน แต่เป็นการสร้างบทสนทนาให้เกิดขึ้นในสังคมเล็กๆ แห่งนี้ด้วย
คนอาจคิดว่าการทำร้านหนังสือสมัยนี้เป็นเรื่องยาก ทำแล้วเจ๊งแน่ แต่เรากลับมองว่าถ้าคุณคิดแบบนั้นอย่าทำดีกว่า คนที่จะอยู่กับร้านหนังสือได้น่าจะต้องใส่ความชอบของตัวเองลงไปด้วย อย่างร้านก็องดิดเดิมบนถนนตะนาวก็ขายกาแฟ ขายไวน์ด้วยซ้ำ เพราะเป็นควมชอบของเรา ตอนนั้นยอดขายไม่ได้มากเท่าทุกวันนี้หรอก ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังไม่มีโซเชียลฯ เข้ามาช่วย
ถ้าต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ได้ทำแค่เป็นอาชีพเสริม มันต้องทุ่มทั้งชีวิตเลยนะ ต้องทำงานตลอดเวลา ถึงไม่ได้อยู่ที่ร้านบางครั้งก็ยังต้องนั่งตอบข้อความทางเฟซบุ๊กตอนดึกๆ ก็มี กลายเป็นว่าร้านเราเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ การทำร้านหนังสือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้กำไรมาก แค่พออยู่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของร้านทุ่มเทและรักในสิ่งที่ทำมากพอไหม
CANDIDE BOOK & CAFE
โครงการ The Jam Factory ท่าเรือคลองสาน ถนนเจริญนคร (BTS กรุงธนบุรี)
เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00-20.00
โทร. 02-861-0967
Website: www.candidebooks.com
Facebook: https://www.facebook.com/CandideBooks/
Writer: Wednesday
RECOMMENDED CONTENT
แซมรู้สึกว่ายังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของแซมมากๆ แซมยังเป็นคนนึงที่แซมมองเรื่องดนตรีเป็นเรื่องของความสนุกอยู่ แซมชอบที่จะได้ทดลองเพลงต่างๆ วิธีการเขียนต่างๆ เหมือนกับดนตรีมันยังเป็นงานอดิเรกของแซมด้วย แล้วพอเราได้ออกมาทำเป็น Job ด้วยจริงๆ มันก็แฮปปี้ดี ไม่รู้ว่าจะเรียกตัวเองว่าศิลปินเต็มตัวได้ไหม แต่ว่าก็ทำอยู่เรื่อยๆ