fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit : ความจริงเพียวเพียวจากปาก ‘ปอ เปรมสำราญ’ กับเรื่องสั้นเล่มแรกก่อนอายุ 25
date : 9.กันยายน.2016 tag :

Pors Pramsumran visit dooddot 1

ท่ามกลางแฮชแท็กจำนวนมหาศาลที่วิ่งวุ่นอยู่ในเฟซบุ๊กทุกวินาที มากเสียจนคุณอาจไม่ได้สังเกตว่ามีแฮชแท็กอยู่อันหนึ่ง #SinceIWas25 กลายเป็นไวรัลเมื่อเดือนเมษาฯ ที่ผ่านมา เข้าตาสำนักพิมพ์จนต้องนำมารวบรวมเป็นหนังสือหลังจากนั้นไม่นาน

เหตุมันเริ่มมาจากหญิงสาวคนหนึ่งโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กของเธอในวันแสนธรรมดา…

“เคยมีพี่นักเขียนบอกว่าอ่านครั้งแรกแล้วโคตรหมันไส้เลย มันคงเป็นสไตล์การมองโลกของเรามั้ง คนที่เขาใช้ชีวิตอีกแบบ เสพอีกแบบคงคิดว่า ‘อะไรของมึงวะ’” สาวห้าวผมสั้นผู้นั่งข้างเราในร้านกาแฟแถวสนามหลวงบอกขำๆ มันเป็นอีกหนึ่งวันที่เธอพอมีเวลาว่างระหว่างกำลังเรียนต่อปริญญาโทสาขาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

ถ้าคุณมีโอกาสได้อ่าน ‘Abstract Bar ความจริงเพียวเพียว’ หนังสือเล่มแรกในชีวิตของ ‘ปอ-นัทธมน เปรมสำราญ คุณอาจไม่เชื่อว่าเรื่องสั้นว่าด้วยความสัมพันธ์ในนั้นมาจากนักเขียนวัย 22 เพราะมันทั้งเชือดเฉือน แกร่งกร้าน ด้านชา ขื่นขมปนโรแมนติก ราวคนที่ผ่านร้อนหนาวมามากเท่านั้นจะเข้าใจ

อยากรู้ว่าเธอคนนี้เป็นใครกัน ถึงได้เล่ามันแบบ ‘เพียวๆ’ ได้ขนาดนั้น

Pors Pramsumran visit dooddot 2

Pors Pramsumran visit dooddot 3

ทำไมนักศึกษาเอกละครอย่างคุณถึงเลือกเรียนต่อด้านศิลปะ?

ตอนปีสุดท้ายที่ต้องทำละครธีสิส ปอเขียนบทให้พระเอกในเรื่องเปิดแกลเลอรี่ เพราะตอนนั้นเริ่มสนใจศิลปะด้านอื่น อย่าง งานเพ้นต์ งานศิลปะร่วมสมัย แล้วเรียนละครมันก็เหมือนเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เลยอยากเรียนรู้ด้านศิลปะต่อจริงๆ จังๆ 

คุณเริ่มเขียนตอนไหน?

น่าจะตอนอยู่ปี 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกศิลปะการละคร ปอเขียนอะไรเล่นๆ ในเฟซบุ๊กของตัวเองนี่แหละ มีวันหนึ่งเพื่อนขอแชร์สิ่งที่เราเขียนเพราะเขาชอบ แล้วขอให้เราเปิดเป็นพับลิคเถอะ อยู่ดีๆ โพสต์นั้นก็ไปถึงสำนักพิมพ์ คือ P.S. Publishing เป็นสำนักพิมพ์อินดี้ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน จากนั้นเขาเลยตามเข้ามาอ่านแล้วก็ถามว่าอยากร่วมงานไหม จะพิมพ์ให้ เล่มปอเป็นเล่มที่ 2 ของสำนักพิมพ์นี้พอดี จนกระทั่งเดือนเมษาฯ ที่ผ่านมา โพสต์ ‘ผมอ่านมาเกซครั้งแรกตอนอายุ 25’ เกิดเป็นไวรัล คนก็เลยตามมาขอเป็นเพื่อนจากโพสนั้นกันเยอะมาก เป็นจุดเริ่มต้นให้ปอตัดสินใจทำแฟนเพจขึ้นมา

เรียกงานเขียนแบบของคุณว่าอะไร?

ตอนแรกก็ไม่มีชื่อเหมือนกันค่ะ แต่พี่ที่สำนักพิมพ์ให้คำจำกัดความมันว่า ‘เรื่องสั้นขนาดสั้น’ เพราะเรื่องสั้นปกติจะประมาณ 4-10 หน้า แต่ของเราแค่หน้าเดียวหรือสองหน้า มันเริ่มจากการเขียนสเตตัสธรรมดาถึงเรื่องที่พบเจอประจำวัน แต่ปอเอามันมาเล่าในอีกรูปแบบหนึ่ง คงเพราะเรียนเขียนบทละครเวทีอยู่แล้วเลยได้ใช้วิชาที่เรียนมาด้วย อาจเหมือนคนเรียนศิลปะที่มีวิธีระบายออกของเขา นี่ก็เป็นวิธีระบายออกของปอ ปอใช้มันบอกว่าเรา ‘เป็นอะไร’ และ ‘ไม่เป็นอะไร’ บางครั้งเวลาเจ็บปวดกับเรื่องหนึ่งมากๆ ก็เขียนมันออกมา เหมือนเป็นการบำบัดตัวเอง มีอยู่ 2 อย่างคือเศร้าแล้วเขียนไปตามความรู้สึกว่าเศร้า กับเศร้าแล้วจบลงว่า ‘ไม่เป็นอะไร’    

ใน Abstract Bar คุณเล่าเรื่องอะไร?

ปอเขียนเรื่องจากตัวเองเป็นหลัก มีบ้างที่เป็นเรื่องของคนอื่น แต่มันจะถูกปรับในแบบที่เราเข้าใจ ไม่ได้ยกมาทั้งหมด งานที่เขียนจึงเหมือนสะท้อนตัวเองในแต่ละช่วง เป็นความสัมพันธ์ที่เจอ แล้วแต่ว่าอยากพูดถึงประเด็นไหน แล้วแต่คนที่เข้ามา มันไม่ใช่ว่ากับคนนี้เราได้สัจธรรมมาสักอย่างหนึ่ง พอคนใหม่เข้ามาก็เป็นสัจธรรมก้อนเดียวกันนี้อีก

ความสัมพันธ์ในแบบของปอ เปรมสำราญเป็นอย่างไร?

ส่วนใหญ่มักเริ่มจากการเป็นเพื่อนกันก่อนแล้วค่อยเขยิบมาเป็นแฟน มันเลยมีการคุยกันมากกว่าคนที่เข้ามาแค่ไปกินข้าวหรือดูหนัง แต่ต้องเป็นคนที่อยู่กับเราในเชิงความคิดความรู้สึกด้วย คงเพราะปอเป็นคนจริงจัง พออยู่กับใครจะชอบเก็บรายละเอียดของคนๆ นั้น เคยมีเหมือนกันที่คนที่เราเขียนถึงจะสะดุ้งนิดหน่อย ประมาณว่า ‘เอ๊ะ นี่เรื่องเรารึเปล่าวะ’ หรือเพื่อนบางคนก็ ‘มึงบอกมาเลยดีกว่าว่ามีใครบ้าง’ (หัวเราะ)

Pors Pramsumran visit dooddot 4

มองหาอะไรในการทำงานเขียนแต่ละครั้ง?

ที่ใช้ในงานมากที่สุดน่าจะเป็นการคุยกับคน ไม่ว่าเพิ่งรู้จักกันหรือเป็นเพื่อน อย่างบางประเด็น เราไม่รู้เลยว่าเขาเคยผ่านประสบการณ์อะไรแบบนี้มาก่อนจนกระทั่งได้คุยกับเขา บางครั้งคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว มันก็สามารถกะเทาะกันเข้าไปได้อีก

ปอจะไม่เขียนถึงเรื่องที่ไม่ได้รู้สึกหรือเข้าถึง เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เราแค่รับรู้ความเป็นไปของมัน รู้สึกว่าการเขียนอะไรที่ชี้นำคน แม้จะหวังดี อย่างไรก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เรื่องความสัมพันธ์ มันไม่มีการชี้นำ ไม่ได้บอกว่าให้มารู้สึกแบบเดียวกัน ปอแค่เล่าสิ่งที่ตัวเองเจอมาในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ถ้ามันไปโดนจุดใครพอดีเขาก็ชอบ อีกอย่างปอเป็นคนชอบเขียนประเด็นหนึ่งซ้ำๆ จนมันหายไปจากตัวเอง อย่างศิลปินปักผ้าที่ปักแต่รูปต้นไม้ตลอดหลายปี ปักจนกว่าเขาจะพอกับมัน เลยรู้สึกว่านี่อาจเป็น Process อะไรบางอย่างของคนที่ทำงานแบบนี้ แล้วพอเราเติบโตขึ้น เรื่องมันก็จะเปลี่ยนไปเอง

ใครบ้างที่มีอิทธิพลต่องานของคุณ?

ปออ่าน ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki murakami), ปราบดา หยุ่น, เกเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez) ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรม ทั้งไทย แปล ร่วมสมัย แต่ที่มีอิทธิพลกับงานปอมากที่สุดก็น่าจะเป็น ฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka) กับ ซามูเอล เบ็คเค็ตต์ (Samuel Beckett) งานของเขาทำให้รู้สึกว่าเศร้าก็ได้ สิ้นหวังก็ได้ คนอ่านไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องพบสัจธรรมชีวิตขนาดนั้น คนอ่านสามารถรู้สึกได้อย่างอิสระ อีกอย่างคือได้รู้วิธีการเล่า รู้วิธีคิด และ ความละเอียดอ่อนต่อบางเรื่อง ซึ่งเราอาจเคยเจอเรื่องเดียวกันกับเขา แต่เขามีวิธีมองอีกแบบ 

คิดว่าอะไรคือข้อดีของการเป็นนักเขียนในโลกไซเบอร์?

ถ้าไม่มีมัน สำนักพิมพ์ก็คงไม่มาเห็นงานเราตั้งแต่แรก ทุกวันนี้ทุกคนสามารถมีงานเขียนของตัวเองได้ สำนักพิมพ์อินดี้ออกตามหาเราเองด้วยซ้ำ หรือจะพิมพ์เองก็ยังได้ถ้าใครมีทุน แล้วก็ทำมาร์เก็ตติ้งในโซเชียลฯ หรืออะไรแบบนั้น

จำนวนยอดไลก์เคยทำให้รู้สึกฟูบ้างไหม?

ไม่นะ เพราะบางครั้งที่มีคนแชร์ไปก็แชร์ในแง่ลบเหมือนกัน แต่ก็ว่าเขาไม่ได้ มันเป็นการแสดงความคิดเห็น ต้องยอมรับทั้ง 2 ด้าน จริงๆ ยอดไลก์ในเฟซบุ๊กไม่ได้เป็นตัวการันตีว่ามีคนอ่านงานเรา ซื้อหนังสือเรา หรือบอกว่างานเราทรงคุณค่า ปอว่ามันต้องใช้ความสม่ำเสมอในการทำงาน ให้เขาเห็นว่า ‘เออ หรือกูควรจะซื้อหนังสือมึงสักที’ (หัวเราะ) อีกส่วนที่เวิร์คอย่างไม่น่าเชื่อคือคนอ่านไปบอกต่อกันเองในกลุ่มคนที่ชอบอะไรคล้ายกัน ซึ่งเราต้องทำให้เขามั่นใจว่าเขาจะเจอสิ่งที่ชอบจากงานเราได้ 

เรื่องแย่ๆ ที่เจอระหว่างทำงานในโซเชียลฯ?

ในช่วงที่เริ่มเปิดงานเป็นพับลิคก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่มีคนเริ่มก๊อปงาน ไม่ได้ก๊อป-วางขนาดนั้น  แต่มันเหมือนงานเราถูกพลาเจียไรซ์ (Plagiarize) ตอนแรกยอมรับว่าโกรธนะ ปอเลยอินบอกซ์ไปคุยกับเขา ซึ่งก็เคลียร์กันไป มันอาจยังไม่ค่อยมีคนเขียนอะไรแบบนี้ในโซเชียลฯ เท่าไร สิ่งที่ได้กลับมาคือเราต้องมีสไตล์ที่ชัดเจน

ความอันตรายของโซเชียลฯ คือค่อนข้างควบคุมยาก ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของคนใช้เครื่องมือนี้ล้วนๆ เลย ตอนแรกที่มีคนแชร์งานปอ มีคนคอมเม้นต์เยอะๆ ทั้งดีและไม่ดี ปอรู้สึกพารานอยด์ไปพักหนึ่งเลยนะ เพราะปอดูแลเพจเอง พอเห็นตัวแดงๆ ขึ้นมาก็เอาแล้ว ต้องเปิดดูตลอดต่างกับหนังสือที่วางขายในร้าน คนชอบเขาก็ซื้อ ออกมาเป็นรายได้ เราแค่รับรู้ฟีดแบ็กอยู่ห่างๆ

แต่ช่วงหลังปอเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง เข้าใจว่าตอนนี้มีบรรยากาศของการ Cyber Bullying อยู่มาก การมีสไตล์ชัดเจนเป็นเรื่องดี แต่เวลาคนเห็นอะไรที่ต่างกับความคิดเขามากๆ เรื่องแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย

Pors Pramsumran visit dooddot 5

งานเขียนที่มีคุณค่าในมุมมองของคุณเป็นแบบไหน?

เชื่อไหม นี่คือสิ่งที่ปอถามตัวเองมาตลอดเหมือนกัน พองานมันเป็นไวรัล มีคนแชร์ มีคนไลก์ เพื่อนก็ชอบแซวว่าดังใหญ่แล้ว แน่นอนว่ามันไม่ได้หมายความว่างานเราดี ขึ้นอยู่กับว่าเราพอใจไหมเวลาเขียน เราได้เล่าสิ่งที่อยากเล่าหรือยัง แต่จะว่าดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องการเสพ ของเขาแล้ว จริงๆ ที่มาเรียนโทก็เป็นเพราะประเด็นนี้ด้วย อยากรู้ว่างานศิลปะหนึ่งชิ้น ที่คนมองว่าสวยหรือไม่สวย เขามองกันอย่างไร ใช้อะไรวัด ซึ่งพอเรียนไปเรียนมามันก็ยังเป็นคำถามอยู่  แต่ ณ ตอนนี้ สิ่งที่คิดว่าดีที่สุดก็คือเมื่อนักเขียนที่เราชอบเขาติชมวิจารณ์ 

ตอนคุณอายุ 25 มีอะไรที่อยากทำเป็นครั้งแรก?

อาจฟังดูกระแดะนะ แต่ปออยากไปใช้ชีวิตก่อน เพราะพอเรียน ป.ตรี จบ ก็ต่อเลย ยังมีเรื่องที่ อยากรู้อีกเยอะ ทุกวันนี้เริ่มเขียนรีวิว เขียนวิจารณ์งานศิลปะอยู่บ้าง อาจไม่ได้เก่งกาจมาก แต่เป็นอีกแขนงที่อยากทำ แล้วถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำงานเขียนบทละคร ได้ใช้วิชาที่เรียนมา

บางคนบอกว่าโอกาสมาแล้วต้องรีบฉวย แต่ปอไม่อยากรีบปั่นขนาดนั้น อยากให้เวลากับความคิด ค่อยๆ ปล่อยให้มันออกมา ไม่ได้คาดหวังว่าฉันจะรวยจากสิ่งนี้ ปอไม่ได้ซื้อโฆษณา ไม่ได้ซื้อยอด Reach หรือแม้แต่ขายครีม (หัวเราะ) ไม่ได้คิดว่านี่คือความสำเร็จหรืออะไร เพราะอย่างนั้น ถ้าหลังจากนี้จะแป้กก็คงไม่เป็นไร ก็แค่ทำงานของเราต่อไป

มาดื่มความจริงเพียวเพียวกับหนังสือ Abstract Bar ของ ‘ปอ เปรมสำราญ’ และติดตามผลงานอื่นๆ ของเธอได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/porspramsumran/ 

Writer : Wednesday

RECOMMENDED CONTENT

30.พฤษภาคม.2019

ย้อนรอยสู่จุดกำเนิดแห่งดนตรีเทคโนกับผลงาน Black to Techno โดยผู้กำกับฯ หญิงชาวอังกฤษ - ไนจีเรียน Jenn Nkiru ผู้จะพาเราไปสัมผัสวัฒนธรรมดนตรีเทคโนจากจุดกำเนิดที่เมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา จากดนตรีกระแสรองสู่ความนิยมสุดขีดช่วงปลายยุค 1980s นำไปสู่ดนตรีที่สะท้อนต่อสู้เพื่อบทบาทในสังคมและเสรีภาพของกลุ่มคนผิวสีในดีทรอยท์