น่าจะปีก่อน ตอนไล่ฟังเพลงไปเรื่อยบนยูทูป จนมาเจอกับวงดนตรีสัญชาติไทยวงหนึ่งที่ Cover เพลง ‘Vultures’ ของ John Mayer ชนิดเหมือนทุกลูก เม็ดต่อเม็ด หมัดต่อหมัด ทำให้ต้องรีบกรอกชื่อนักดนตรีกลุ่มนี้ลงไปในช่องเสิร์ชอย่างไว หลังจากนั้นท่อน ‘โอว..ววว เบเบ๊’ ของเพลง ‘จะบอกเธอว่ารัก’ (ซึ่งจริงๆ ก็เกือบทุกเพลง) ก็มาวนอยู่ในหัวเราเฉยยย…
“พอเวลาผมเขียนเพลงแล้วมันมักจะฮัมต่อมาเป็นคำนี้ เหมือนช่วยอุดช่องว่างในอารมณ์ เพลงได้ เลยไม่อยากให้มันว่างไปเฉยๆ มีอยู่เพลงหนึ่งคือ ‘หมดแก้ว’ ที่ไม่มี โอ้โห กลายเป็นประเด็นว่าไม่ใช่พาร์กินสันจริงอีก นี่ในอนาคตผมกะจะเขียนเพลงชื่อ ‘โอ้เบบี้’ เลยนะ มีแต่โอ้เบบี้ทั้งเพลงเหมือนเพลง ‘เธอ’ ของพี่นภ พรชำนิ ที่มีแต่คำว่า ‘เธอ’ ทั้งเพลงไง” กานต์-นิภัทร์ กำจรปรีชา นักร้องนำ-มือกีตาร์เล่าถึงที่มาของคำซึ่งกลายเป็นซิกเนเจอร์ของวงไปแล้ว
“ตอนแรกผมไม่ชอบเลย เขินมาก ผมบอก ‘มันจะได้เหรอวะ’ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าเพลงถัดมา ‘เห้ย ไม่มีเหรอวะ’” เบียร์-อริย์ธัช เกื้อจิตกุลนันท์ มือกลองบอกกับเราขำๆ
เชื่อว่าเวลานี้ The Parkinson ไม่ใช่ศิลปินหน้าใหม่แล้วหากพิสูจน์ด้วยผลงาน 4 ซิงเกิลที่สร้างกระแสความสดใหม่ให้วงการดนตรีโซล-ป๊อปบ้านเราเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่น้อยคนจะรู้ว่ากว่าจะมายืนตรงนี้ พวกเขาขลุกตัวอยู่บนเส้นทางสายดนตรีมาไม่น้อยเลย ทั้ง กานต์ เบียร์ และโต-ณัฐวิทย์ โอดาคิ มือเบสพี่ใหญ่ของวงพากันตระเวนเล่นดนตรีไปเรื่อยตามคลับ จนวันหนึ่งถูกเรียกไปเล่น ณ บาร์แจ๊ซแห่งหนึ่งย่านพระนคร แทนวงเพื่อนที่บังเอิญมาไม่ได้ พอดิบพอดีกับที่พระเจ้าส่งคุณเต้ง-พิชัย จิราธิวัฒน์ เจ้าของค่ายเพลง Spicydisc มานั่งฟังพวกเขาโชว์ฝีไม้ลายมือในวันนั้น
ฟังดูเป็นเส้นทางที่ราบรื่น แล้วอะไรเป็นความขรุขระบนทางดนตรีของพวกคุณในตอนนั้น?
กานต์: หลังจากเซ็นสัญญาผ่านไป 1 ปี เราไม่มีเพลงออกมาเลย ตอนนั้นกำลังค้นหาว่าระบบการทำงานแบบนี้มันคืออะไร งงกับชีวิตอยู่นานมาก ทำอย่างไรก็เขียนเพลงไม่ได้ ผมเรียนเอก Voice Jazz คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทักษะที่มีคือการเขียนเมโลดี้เพลงแจ๊ซซึ่งต่างกับการเขียนเพลงปกติมาก เขาจะเรียกวิธีคิดแบบแจ๊ซว่า ‘สำเนียง’ คือการใช้หูฟังโน้ต ซึ่งมันไม่มีอะไรเหมือนกันเลย
ช่วงกึ่งยิงกึ่งผ่านระว่างการเป็นศิลปินมีค่ายกับนักดนตรีกลางคืน ชีวิตของพวกคุณเปลี่ยนไปอย่างไร?
โต: เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังใช้ชีวิตปกติ แม้แต่ตอนปล่อยเพลงออกมาในช่วงแรก เราก็ยังเล่นกลางคืนกันอย่างเดียว รับเงินรายวัน ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย
กานต์: แต่มีแว้บหนึ่งที่เราคุยกันว่าถ้ายังเล่นอยู่อย่างนี้ เราจะไม่มีงานในฐานะศิลปิน เพราะระหว่างนั้นมีงานจ้างงานโชว์เข้ามาตลอด เราเลยตัดสินใจหยุด เท่ากับว่ารายได้เป็นศูนย์ ทนไม่มีงานแบบนั้นอยู่หลายเดือน
โต:เราก็หาขุดอะไรกินไปเรื่อย
เบียร์: ต้องนอนนิ่งๆ จะได้ไม่หิวมาก (หัวเราะ)
กานต์: เราใช้เวลานานมาก เพราะมัวแต่เถียงกันไปถียงกันมา นั่นก็ไม่ได้ โน่นก็ไม่ได้ ศิลปินรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่าวง The Parkinson เล่นดนตรีกันมาเยอะจนอาจจะเรื่องมากไปหน่อย พอเขียนอะไรออกมาก็รู้สึกยังดีไม่พอ เขาเลยบอกให้ลองเปลี่ยนจากการไม่เอาอะไรเลยมาเป็นเอาทุกอย่าง แล้วค่อยมาเลือกว่าอะไรดีที่สุด ซึ่งวิธีของเขาเหมือนปลดล็อกผมทันที
การทำงานของวงเราเป็นแบบ Reverse ไม่เหมือนชาวบ้าน คือทำดนตรีก่อนแล้วเนื้อเพลงค่อยมาทีหลังสุด เริ่มจากผมเล่นกีตาร์แล้วฮัมเมโลดี้ไปเรื่อยๆ พอเขียนเพลงออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เบียร์กับพี่โตก็จะมาคิดอะไรที่ช่วยส่งให้เพลงเข้าที่เข้าทาง
ย้อนกลับไปตอนที่เริ่มเล่นดนตรี อะไรเป็นความน่าตื่นเต้นของพวกคุณ ณ เวลานั้น?
โต: ผมเริ่มจากการฟังเพลงร็อกไทย ค่ายเพลงค่ายหนึ่งที่ชอบมาคือ More Music วงแรกๆ ที่ทำให้อยากเล่นเบสคือ โลโซ ซิลลี่ฟูล แบล็กเฮด ซีล เขาทำให้เข้าใจเลยว่าทำไมเพลงสมัยนี้ถึงมาเร็วไปเร็ว ไม่ถึงกึ๋นแบบยุคนั้น จนทุกวันนี้ผมก็ยังกลับไปเล่นอยู่ พองานมันมีคุณภาพ มันจะอยู่ต่อไปอีกนาน ไม่ได้บอกว่าเพลงสมัยนี้ไม่ดี แค่ว่าบางอย่างมันฉาบฉวย เกิดขึ้นมาพักเดียวก็หายไป
กานต์: ก่อนหน้านี้ผมตื่นเต้นกับเพลงร็อกเหมือนกัน แต่พอเจออัลบั้ม The Grandfather Greatest Hits ของพี่โป้ โยคีเพลย์บอยเท่านั้นละ มันประหลาดทั้งคอร์ด ทั้งซาวนด์ดนตรี เขามีสไตล์การร้องที่ไม่เหมือนใคร ตอนนั้นผมเริ่มหัดกีตาร์โป่งง่อยๆ หัดร้องเพลงอยู่ พอเจออันนี้เข้าไปมันเปิดโลกผมมาก กลายเป็นแฟนค่ายเบเกอรรี่ตั้งแต่นั้น
แต่ที่ยังประทับใจมาถึงทุกวันนี้คือโชว์ของวง YNot7 เขาทำให้หันมาสนใจเรื่องซาวนด์มากขึ้น เป็นวงที่ไม่ว่าจะเล่นเบาแค่ไหนก็ได้ยิน ดนตรีเล่นสาดในขณะที่นักร้องกระซิบ แต่มันกลับมีพลังมาก ผมเคยมีโอกาสเล่นร้านเดียวกับเขา เทียบกันแล้วซาวนด์ของผมนี่อนุบาลไปเลย
เบียร์: ส่วนผมถ้าเป็นช่วงเด็กๆ จะเหมือนพี่โต คือชอบซิลลี่ฟูลมาก…กกก พอออกชุดใหม่ก็ต้องรีบไปซื้อเทปมาแล้ว นั่งฟังจนเทปยืด โตขึ้นหน่อยเริ่มฟัง Fat Radio ตอนนั้นเหมือนเป็นยุคของเพลงอินดี้ ศิลปินนอกกระแส ซึ่งผมก็ชอบไปมีส่วนร่วมกับเขาเกือบทุกอีเว้นต์
แล้วมาหลงใหลในดนตรีโซลตอนไหน?
กานต์: ตอนที่เล่นดนตรีกลางคืนนี่ละถึงรู้ว่ามีเพลงแบบนี้ด้วยเหมือนกัน มันเป็นต้นกำเนิด ของเพลงไทยที่เราฟังตอนเด็ก เป็นสิ่งที่ศิลปินพวกนั้นเขาฟังกันอีกที ตอนนั้นเราเล่นเพลงกันโหดมาก คัฟเวอร์เพลงฝรั่งล้วนๆ ประมาณสองสามร้อยเพลงได้ ยังไม่มีเพลงเป็นของตัวเอง เพราะไม่มีใครแต่งเพลงได้ และอาจเป็นเพราะเราโตมาในยุคที่ยังต้องซื้อแผ่นซีดีฟังอยู่ เลยฟังเฉพาะที่ชอบ เป็นการเล่นเพื่อหาเลี้ยงชีพกันจริงๆ
เบียร์: เราแกะเพลงกันมันมาก แกะเหมือนทุกเพลง ผมว่ามันหล่อหลอมให้เพลงของวง The Parkinson ออกมาเป็นแบบนี้
ศิลปินเช่นใครบ้างที่มีอิทธิพลต่องานของพวกคุณ?
กานต์: ก็เช่น ไมเคิล แจ็กสัน, Marvin Gaye, Stevie Wonder, Earth wind & Fire, Kool & The Gang, Robin Thicke, Jamiroquai ยิ่ง Robin Thick นี่ผมชอบทุกอัลบั้ม เขาเป็นคนขาวที่เข้าถึงดนตรีโซลอย่างแท้จริง
ถ้าเป็นไอดอลในด้านดนตรี ก็คง Stevie Ray Vaughan เป็นมือกีตาร์คนขาวที่ทะลุไปอีกขั้น เขาเอาคำว่าทักษะมารวมกับจิตใจของอเมริกันผิวสี มันจึงมีความเป็นดนตรีบลูส์สูงมาก เราหัดเล่นและคลุกคลีอยู่กับมันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
ทำไมถึงเรียกดนตรีของ The Parkinson ว่า Blued-eyes-soul ?
กานต์: เริ่มแรกดนตรีโซลเป็นดนตรีของอเมริกันผิวสี ก่อนหน้านั้นตอนยังเป็นทาส เขาจะเล่นดนตรีที่ เรียกว่า บลูส์ (Blues) โดยการแอบเอากีตาร์ที่เจ้านายทิ้งแล้ว หรือแซ็กโซโฟนเน่าๆ มาเป่าเล่นกันในกลุ่มทาส เนื้อหาของเพลงมักพูดถึงความเศร้า ความลำบากของชีวิตการเป็นทาส ต่อมา ในยุคหลังเลิกทาส เขาก็หัดเล่นดนตรีแบบคนขาว ตอนแรกมันยังไม่มีชื่อเรียก ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ และเริ่มพูดถึงเรื่องอื่นนอกเหนือจากความทุกข์ของชีวิตแล้ว เช่น เรื่องความรัก จึงเกิดเป็นสำเนียงแบบโซล (Soul) ขึ้นมา แต่จิตวิญญาณอย่างแอฟริกันยังอยู่
ส่วนของเราเรียกว่า ‘บลูอายส์โซล’ (Blued-eyes-soul) คือดนตรีโซลของคนขาวที่เอาดนตรีโซลของคนผิวสีไปเล่น สำเนียงที่ได้จึงไม่เหมือนกันกับโซลแบบดั้งเดิม ออกจะหวานกว่า เนี้ยบกว่า ความดิบเถื่อนหายไป แบบ Justin Timberlake หรือ Robin Thicke ใส่ความเป็นป๊อป ฟังก์ เข้าไปให้สนุกขึ้น
ความที่ต้นแบบของ The Parkinson มาจากดนตรีอเมริกันจ๋า เป็นอุปสรรคต่อการทำเพลงออกมาเป็นภาษาไทยมากน้อยแค่ไหน?
กานต์: ตอนแรกเราเขียนเมโลดี้ออกมาเป็นภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ เพราะวรรณยุกต์ไทยกับอังกฤษมันต่างกันมาก แต่เมโลดี้ที่เราชอบดันเป็นตะวันตกล้วนๆ สมมติว่าเมโลดี้นี้ ถ้าเป็นเนื้อไทยจะเขียนได้ 5-6 ประโยค ของเรากว่าจะได้แต่ละคำบางทีใช้เวลาทั้งวัน หรืออย่างการร้องเสียงหลบซึ่งเป็นเทคนิคที่นักร้องฝรั่งเขาใช้กันทั่วๆ ไป หลบทั้งเพลงเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเพลงไทยอาจฟังแปลกหูไปบ้าง บางคนบอก ‘เห้ย ร้องแบบนี้ทั้งเพลงก็ได้เหรอ’
จากที่เคยเล่นดนตรีค่อนข้างเฉพาะทาง กับตอนนี้ที่ต้องทำเพลงให้กลุ่มคนฟังที่กว้างขึ้น มันทำให้คุณสูญเสียตัวตนไปหรือเปล่า?
เบียร์: สำหรับผมยังเหมือนเดิม แค่ฟังเพลงหลากหลายขึ้น ฟังเพลงในกระแสบ้าง จะได้รู้ว่าตอนนี้เขาฟังอะไรกัน มันกดดันตอนที่เราจะปล่อยนี่ละ เพราะเราชอบมาทำตอนใกล้ๆ เดดไลน์ (หัวเราะ)
กานต์: ผมว่าคงไม่เกี่ยว มันยังกลับไปสู่เพลงแรกที่ร้องตามยาก ฟังยากอยู่ดี ไม่ได้ลดทอนความโหดร้ายในการเล่นของเราลงเลย แต่การทำงานอาจเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ทุกอย่างเป็นโจทย์ใหม่ เราไม่ได้เล่นคัฟเวอร์คนอื่นแล้ว แต่ต้องกลายเป็นผู้นำเสนอเอง คิดทุกอย่างขึ้นมาใหม่ เราทำกันเองแทบทุกขั้นตอน อาจเป็นเพราะนิสัยของวงที่ชอบกีดกันทุกคนออกจากระบบการฟังเพลงของเราด้วย มันมาจากตอนที่ผมเขียนเพลงจะบอกเธอว่ารักแล้วเอาไปให้ศิลปินคนอื่นฟัง บางคนบอกว่า ‘เพลงนี้ไม่ได้หรอก ฟังยากไป’ จนวันหนึ่งเราเริ่มตกตะกอนว่าไม่เอาแล้ว คนอื่นจะชอบมากน้อยอย่างไรแล้วแต่เขา คนในวงเราแฮปปี้ก็พอ
โต: ของผมกลับกันเลย จะฟังแต่เพลงเก่าๆ ในหลุมในโซนตัวเอง เรียกว่าค่อนข้างปิดตัวเองก็คงได้ ทำให้บางทีคิดอะไรออกมาก็โบราณบ้าง ต้องปรึกษาคนในวง เพราะผมเชื่อพวกเขามากที่สุด ผมแทบไม่ได้เปิดอินเตอร์เน็ตฟังเพลงใหม่ๆ เลยด้วยซ้ำ ไม่ได้บอกว่าวิถีแบบนี้ดีนะ มันแล้วแต่คน ตามวัยผมมั้ง
เบียร์: เล่นเน็ตเปิดเว็บอะไรก่อนพี่?
โต: บางทีเดี๋ยวนี้ก็เข้า Bigo บ่อย ไม่ใช่! คือบางทีไอ้สิ่งเก่าๆ มันมีอะไรเจ๋งๆ เยอะ เอากลับมาใช้ได้ ผมรู้จักคนหนึ่งตีกลองเร้กเก้เก่งมาก เขาบอกว่าทั้งชีวิตไม่เคยฟังเพลงอื่นเลยนอกจากเร็กเก้ ซึ่งผมว่าการเจอทางของตัวเองเป็นเรื่องที่เจ๋งมาก
ทุกวันนี้เป้าหมายในการเล่นดนตรีของพวกคุณเปลี่ยนไปจากวันที่เป็นนักดนตรีอิสระอย่างไร?
โต: ผมว่าตอนนี้เหมือนเรากำลังก้าวไปสู่อีกพาร์ตของชีวิต จากที่เล่นดนตรีแบบชิลล์ๆ มีจุดหมายเดียวคือการเลี้ยงชีพ พอมาอยู่ตรงนี้ก็บอกตัวเองว่าจุดหมายไม่ได้มีแค่การเลี้ยงชีพอย่างเดียวแล้ว แต่คือการหาจุดยืนที่แข็งแรงให้กับวงและผลิตงานที่ดีออกมา
กานต์: เมื่อก่อนเราเล่นกันแบบแจม (Jamming) ทุกคนเล่นอะไรก็ได้ เล่นเอามันมือไว้ก่อน คล้ายกับเวลาดูนักดนตรีเก่งๆ บางคนที่เล่นมันมาก แต่คนฟังอาจไม่ได้รู้สึกอินกับมัน แต่พออยู่ในระบบ ทุกอย่างที่จะอยู่ในเพลงต้องผ่านการคิดมาก่อน เช่น ถ้าไลน์เบสมาแบบนี้ กีตาร์ต้องมาอย่างไร กลองมาตอนไหน ใช้ความเป็นหนึ่งเดียวกับดนตรีมากกว่าสกิล เล่นเพื่อเพลง ทำเพื่อวง
จะบอกอะไรกับนักดนตรีรุ่นใหม่ที่อยากมายืนในจุดเดียวกับพวกคุณ?
กานต์: สู้ๆ ครับ…
เบียร์: แค่นี้เหรอ?
กานต์: ไม่ใช่อะไร คือถ้าพูดไปมันต้องรื้อระบบการใช้ชีวิตใหม่เลยนะ ขณะที่สังคมปัจจุบันค่อนข้างฉาบฉวย คนมักคิดว่าทุกครั้งที่วงเราปล่อยเพลง นั่นหมายความว่ามันได้รับการกลั่นกรองมาอย่างดีมากแล้ว ซึ่ง…เขาเข้าใจผิด เราทำแป๊บเดียว (หัวเราะ)
เบียร์: เห้ย! จริงๆ เราสามคนทำงานกันเข้มข้นมาก ไม่ปล่อยอะไรให้หลุดรอดสักอย่างเดียว ต้องซ้อมกันจนกว่าจะเล่นได้ อยากบอกว่าให้ตั้งใจกันเยอะๆ อย่าทำแค่ปล่อยผ่าน ให้ทำจนกว่าคุณจะไม่สงสัยอะไรในตัวเองอีกแล้วว่าทำดีพอหรือยัง
โต: มีเพื่อนนักดนตรีหลายคนถามว่าทำไมเรายังเล่นดนตรีอยู่ เพราะบางคนที่เล่นมาด้วยกันก็เลิก หันไปทำอย่างอื่นแล้ว ผมจึงคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าเราจะมาอยู่ตรงนี้ เพราะอย่างนั้น ถ้าทำอะไรได้ดีก็ทำให้สุด ทุกอาชีพมีช่วงเวลายากลำบากไม่ต่างกัน แต่ไม่เป็นไร ถ้าคุณเข้าใจว่ามันเป็นธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง ขึ้นกับว่าคุณจะยังทำมันอยู่หรือเปล่า
กานต์: ทุกวันนี้ต้องการแรงผลักดันเพื่อให้ไปนั่งหน้าคอมพ์ฯ นี่ละ (หัวเราะ)
เบียร์: แต่งเพลง?
กานต์: เออ!
ครั้งหนึ่งราชาแกรมร็อก David Bowie เคยทดลองเปลี่ยนแนวทางดนตรีจากแกรมร็อกมาเป็นดนตรีโซลในอัลบั้ม ‘Young Americans’ แต่เขากลับบอกว่าถึงอย่างไรมันก็ว่าเป็นแค่ ‘Plastic Soul’ หรือโซลปลอมๆ แบบคนขาวอยู่ดี เราว่าถ้าเพลงของเดอะ พาร์คินสันรวมอยู่ในหมวดพลาสติกโซลนี้ด้วย มันก็เป็นพลาสติกที่น่านำกลับมารีไซเคิลแล้วเสพวนไปได้อีกหลายรอบ ว่าไหม?
ตามไปเสพงานโซลๆ ของพวกเขาต่อได้ที่
https://www.facebook.com/theparkinson/ หรือ https://www.youtube.com/user/spicydisc
Writer: Wednesday
RECOMMENDED CONTENT
บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด ร่วมกับ บริษัท บีฮีมอธ แคปปิตอล จำกัด, บริษัท นอร์ธสตาร์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด พร้อมส่งภาพยนตร์เรื่องราวเเห่งแรงบันดาลใจที่สร้างจากเรื่องจริงของโปรกอล์ฟ