ก่อนที่เพลงฮิปฮอปจะเดินทางมาถึงยุค Golden Era มันเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือระบายความอัดอั้นจากการไม่ได้รับความเท่าเทียมและสื่อสารอุดมการณ์บางอย่างของชาวอเมริกันผิวสี ไม่ว่าจะสังคม ปากท้อง หรือการเมือง ฮิปฮอปจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ดนตรีประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่มันกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยที่มีผลต่อสภาพสังคมในวงกว้าง จาก ‘Rapper’ เป็น ‘Culture’ แม้ถูก มองว่าเป็นตัวตลกที่ชอบเรียกร้องความสนใจ หยาบคายและแหกคอก
ทว่าผ่านมาถึงวันนี้วัฒนธรรมฮิปฮอปก็ยังไม่มีใครโค่นได้ แถมยังแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เมืองไทยเอง กระแสเพลงฮิปฮอปดูจะคึกคักขึ้นมาทันทีหลังจากการเกิดขึ้นของชุมชนขนาดย่อม Rap is Now ที่เปิดให้นักแร็พหรือ MC ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเข้ามาประชันฝีปากกันสดๆ ถ้อยคำรุนแรงเดือดพล่านที่ต่างคนต่างงัดมาซัดคู่แข่งให้เจ็บจี๊ด ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของคนดู ในบรรยากาศดิบๆ ของปาร์ตี้ใต้ดินอย่างกับฉาก Battle ในหนัง 8 Mile
การแข่งขันดำเนินมาถึงปีที่ 7 สยายปีกออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งปั้นแร็ปเปอร์หน้าใหม่ออกมาประดับวงการมากมาย เราคงเสียดายหากไม่ได้นัดคุยกับ ฟลุ๊ค-พลกฤต ศรีสมุทร Maneger, ต้าร์-สักกพิช มากคุณ Creative Producer และ โจ้ ศวิชญ์ สุวรรณกุล Art Director, Creative และ Founder แห่ง Rap is Now ว่าพวกเขาต้องแบต (เทิล) กับอะไรกันมาบ้าง
ความหลงใหลในดนตรีฮิปฮอปเพลงแร็พเริ่มมาจากตรงไหน?
โจ้: เราโตมาในยุคที่เพลงฮิปฮอปกำลังบูม ก่อนหน้านั้นเราฟังเพลงทั่วๆ ไป Backstreet Boy, Limp Bizkit, Slipknot, Likin Park จนถึงเพลงประหลาดๆ จากสื่อนอกกระแสทั้งไทยฝรั่ง จนชาร์ตเพลงต่างๆ เริ่มมีเพลงฮิปฮอปอย่าง I’ll be missing you ของ P Diddy เข้ามา ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือฮิปฮอป รู้แค่ว่าเท่ว่ะ เราชอบท่อนแร็พแบบนี้ ชอบ Turntable มายุคโจอี้บอย ดาจิม ไทเทเนียม ที่ตอนนั้นเขามีโปรเจ็กต์ให้เด็กหน้าใหม่ส่งมิกซ์เทปไป เด็กอย่างเราก็เลยมีฝันอยากทำเพลงอย่างพี่ๆ เขาบ้าง
ฟลุ๊ค: ส่วนผมโตมาในยุค Alternative แต่ก็ฟังหลากหลายแนวเหมือนกัน จนมาถึงยุคของ Fat Radio ศิลปินอินดี้รุ่งเรือง ทำให้รู้ว่าเราสามารถทำเพลงกันเองได้ เพลงฮิปฮอปกล้าพูดสิ่งที่เพลงป๊อปพูดไม่ได้
ต้าร์: มันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากแผ่นซีดีมาเป็น MP3 ทำให้เราฟังเพลงฝรั่งหลากหลาย บวกกับตอนนั้นมีเว็บบอร์ดชื่อ Siam Hip hop เป็นพื้นที่สำหรับคนชอบฮิปฮอปทำเพลงแร็พแล้วส่งคลิปเสียงมาแชร์ มา Battle กันจริงจัง ความชอบของเราเลยเริ่มมาจากตรงนั้น
กระแสเพลงฮิปฮอปในบ้านเราช่วงนั้นเป็นอย่างไร?
โจ้: ช่วงที่ฮิปฮอปบูมมากๆ ทุกอย่างที่เราเห็นในสื่อล้วนเป็นฮิปฮอปหมด หนัง โฆษณา อีเว้นต์ ผมรู้สึกว่ามันเอียนไปหมดเหมือนโดนยัดเยียด จนกระแสเพลงโลกเริ่มเปลี่ยน แม้แต่ตัวเนื้อหาเพลงฮิปฮอปก็ยังเปลี่ยนเป็นป๊อป เป็นอีโม แล้วฮิปฮอปก็เงียบไปจากวงการเพลงไทย
ต้าร์: ยุคนั้นเราเป็นแค่ศิลปินที่ไปเล่นในงานปาร์ตี้ นึกไม่ออกว่าจะทำอะไรกับมันได้มากกว่านี้ ทั้งที่จริงๆ เราอยากให้ดนตรีฮิปฮอปกลับมามาก
โจ้: เรากำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นเริ่มไปปาร์ตี้เยอะ สังเกตว่าทุกแนวเพลงมีกลุ่มคนฟังของมัน มีออร์กาไนซ์เซอร์ที่เก่งเฉพาะทาง อย่าง Superzapp หรือ Dudesweet แต่ทำไมไม่มีใครทำฮิปฮอปจริงจังบ้าง เราเลยอยากทำแค่เป็นปาร์ตี้ฮิปฮอปเล็กๆ สนุกๆ จึงเกิดปาร์ตี้ครั้งแรกตอนปี 2009 ที่เซ็นเตอร์พ้อยต์-สยาม ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ครั้งที่ 2 เลยตามมา งานใหญ่ขึ้น เริ่มเอาซีน Rap Battle มาใส่ หลังจากนั้นช่วงผมเรียนปีสุดท้ายต้องพักทุกอย่าง ไป จนวันหนึ่งหลุยส์-ธชา คงคาเขตร (พิธีกร Rap is Now) ชวนผมให้เอาซีน Battle ที่ไม่ได้เห็นกันนานกลับมาอีกครั้ง เรียกว่าเป็นยุค Reborn ของ Rap is Now ในปี 2012
ตอนที่พวกคุณกลับมา วงการฮิปฮอปยังคึกคักเหมือนเดิมไหม?
โจ้: เงียบกริบครับ ดนตรีและปาร์ตี้เป็น EDM หมด แต่เราก็ยังอยากทำ จึงชวนพี่เอ็ม-จีรังกูล เกตุทอง เข้ามาช่วยตัดสินในซีนแบทเทิล เพราะเขาทำเพลงฮิปฮอปมานาน พอเปิดเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา ปรากฏว่ามีเด็กหน้าเก่าที่เคยรู้จักเราจากปาร์ตี้ครั้งแรกตามมาสมัคร แต่ที่ตกใจกว่าคือมีคนหน้าใหม่เข้ามาเยอะมาก แรกๆ เราให้ส่งคลิปเสียงมาเหมือนเมื่อก่อน แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนเป็นให้ส่งคลิปวีดีโอ อัพลงยูทูป แล้วส่งลิงค์มาให้เรา เทคโนโลยีมันช่วยได้เยอะ เมื่อก่อนการจะส่งคลิปร้องแร็พมาให้ใครดูเป็นอะไรที่เขินมาก
จุดประสงค์ของการ Rap Battle คืออะไร?
ต้าร์: ส่วนหนึ่งผมว่าคนที่มาแข่งต้องการทดสอบ Skill การแร็พของตัวเองว่าจะโจมตีหรือเอนเตอร์เทนคนได้แค่ไหน แต่ผลพลอยได้คือมิตรภาพ บ่อยครั้งที่พอแข่งเสร็จ เขากลายมาเป็นเพื่อนกัน ชวนกันไปทำเพลง เมื่อก่อนวัฒนธรรมฮิปฮอปมันอาจจะแบ่งออกเป็นแก๊งค์ แต่เราอยากให้มันเป็นเรื่องของกีฬา สร้างความเข้มแข็งในกลุ่มคนรักฮิปฮอปด้วยกัน
ลิมิตของถ้อยคำสบถด่าอยู่ที่ตรงไหน?
ต้าร์: ไม่มีเลย มีแต่กติกามารยาททั่วไป เช่น สามารถแตะตัวกันได้ แค่หยอกกัน แต่จะไม่ใช่การยั่วโมโหหรือการทำร้าย แร็ปเปอร์เขาจะรับรู้กันเอง
เคยมีเหตุการณ์ลงจากเวทีแล้วไม่จบบ้างไหม?
ต้าร์: ไม่เคยมีเลยตั้งแต่จัดมา 7 ปี ผมว่ามันคล้ายๆ นักมวย อยู่บนเวทีปล่อยหมัดเต็มที่ แต่พอชูมือแล้วทุกคนกอดกัน จับมือกัน มันคือสปิริตของนักกีฬา
โจ้: ผมว่ามันเป็นการแข่งกับตัวเองมากกว่า อย่าง MC King แร็ปเปอร์ที่เจนเวทีมานานคนหนึ่งของเราที่ตอนนี้มีคนเชิญเขาไปเป็นคนตัดสินแล้ว แต่เขาก็ยังอยากพิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ อยู่
ถ้าซีน Rap Battle ไม่หยาบ ไม่ด่า รูปแบบของมันจะเปลี่ยนไปไหม?
ต้าร์: เราจะไม่ตีกรอบให้ว่าควรหรือไม่ควรใช้คำอะไร ถ้าเข้าไปกดดันเขา ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จะไม่เกิด แต่แร็ปเปอร์เขาก็จะมีลิมิตของตัวเองว่าแค่ไหนได้หรือไม่ได้ คำหยาบเหมือนเป็นคำสบถที่นึกออกมาได้ง่าย แต่คนที่เตรียมตัวมาดีๆ เขาจะมีวิธีการเล่าเรื่องที่บางครั้งแทบไม่มีคำหยาบเลยด้วยซ้ำ ถามว่าทำไมถึงต้องด่ากัน เพราะมันคือการแข่งขัน ต้องทำให้คู่แข่งเจ็บที่สุด ซึ่งต่างจากการร้องแร็พธรรมดา
ฟลุ๊ค: ยกตัวอย่างแร็ปเปอร์ชื่อ นิลโลหิต เขาพยายามแร็พให้หยาบน้อยที่สุดแต่เจ็บแสบมากที่สุด ซึ่งมันก็โฟลว์มาก แสดงว่าคำไม่หยาบก็สามารถทำให้เจ็บได้ อยู่ที่แร็ปเปอร์จะเลือกมาใช้
หลักการของการเซ็นเซอร์ในคลิปวีดีโอการแข่งรอบไฟนอลคืออะไร?
ต้าร์: เราดูที่เนื้อหา ไม่ได้เซ็นเซอร์คำหยาบทั้งหมด อย่างคำสบถ เช่น เหี้ย ควย สัตว์ คนสมัยนี้อาจจะฟังแล้วเฉยๆ เพราะมันกลายเป็นคำธรรมดาที่เราได้ยินจนชิน แต่ถ้ามาแบบ ‘แม่มึงเป็นกระหรี่ ให้เย็ดฟรี’ มันอาจเริ่มแรงไปจนเราคิดว่าควรเซ็นเซอร์ แต่อย่างที่บอกว่าแร็ปเปอร์เขารู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นแค่คำที่ใส่ลงไปเพื่อการแข่งให้คู่แข่งเจ็บ แต่ตอนนี้มีคนดูที่เป็นเยาวชนมากขึ้น เราเลยต้องใช้การดูดคำเข้ามาช่วยบ้าง
โจ้: ผมว่ามันจะค่อยพัฒนาไปเรื่อยๆ พอแร็ปเปอร์เขามีประสบการณ์ คำหยาบก็จะลดน้อยลง นี่คือสิ่งที่เห็นในเวทีของเรา
แพ้หรือชนะ ใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน?
ต้าร์: การตัดสินจะมี 3 เสียงคือเสียงจากคนที่ดูสดตรงนั้น คนดูออนไลน์ และเสียงจากทีมเรา ซึ่งมันค่อนข้างแฟร์ ทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้หมด ไม่ค่อยมีอะไรที่ค้านสายตามวลชน บางคู่ทีมงานแทบไม่ต้องตัดสินกันเลย เพราะเสียงจากคนดูมันชัดอยู่แล้ว
โจ้: จริงๆ คือความชอบล้วนๆ แล้วแต่รสนิยมของคนดู ไม่มีถูกมีผิด แต่ความชอบถูกบาลานซ์ด้วยคนจำนวนมาก ถึงบางครั้งอาจมีดราม่าบ้างว่าพวกใครพวกมัน แต่สุดท้ายถ้าใครไม่เจ๋งจริงก็แพ้อยู่ดี
สนับสนุนแร็ปเปอร์ที่ได้แจ้งเกิดจากเวที Rap is Now อย่างไรบ้าง?
โจ้: หลักๆ คือหางานให้เขา ช่วยพีอาร์ เวลามีโปรเจ็กซ์ก็จะเรียกกันมา จะเลือกให้เหมาะกับลักษณะงานไป คนที่เห็นชัดตั้งแต่ซีซั่นแรกคือ MC King ที่อยู่ได้จริงๆ จากการทำเพลงเองในยูทูป ต้องบอกว่าบนเวทีกับร่างจริงเป็นคนละคนกันเลย ใครจะเชื่อว่า MC King ชอบทำเพลงรัก แบบหวานจนมดขึ้น แต่เวลาแบทเทิลนี่หยาบคายเป็นที่สุด (หัวเราะ)
การที่กลุ่มคนดูกว้างขึ้น ทำให้ความ Underground ของวัฒนธรรม Rap Battle ลดลงไหม?
ต้าร์: บรรยากาศการ Battle ในงานก็ยังดิบเหมือนเดิม แค่พออกสื่อ พออยู่ในคลิปอาจต้องซอฟต์ลงหน่อย แต่เรายังรักษาความเป็นอันเดอร์กราวน์อยู่ ทำให้มันดีขึ้น สนุกขึ้น
ฟลุ๊ค: เรามีทุกอย่างตามมาตรฐานที่อีเว้นต์หนึ่งมี ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับคอนเสิร์ต มีรถพยาบาล มีแพทย์ มีทหารมาคุม กันคนมีเรื่อง แต่ตั้งแต่จัดมาก็ยังไม่เคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทชกต่อยกันมาก่อน
อย่างที่คุณบอกว่าตอนนี้มีกลุ่มคนดูที่เป็นเยาวชนมากขึ้น เกรงผลกระทบในแง่ของสังคมไหม?
ต้าร์: ไม่ได้ปฏิเสธว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กพูดคำหยาบ แต่เราไม่ได้ไปชี้จุดตรงนั้นว่ามันดี ทำสิ ต้องหยาบถึงจะเจ๋ง แค่พยายามจะบอกว่า ถ้าคุณมีฝัน คุณต้องทำมัน เรามองเรื่อง Inspiration ทักษะ การฝึก การเตรียมตัวมากกว่า สิ่งสำคัญคือการให้เกียรติกัน ในกลุ่มแร็ปเปอร์ ในกลุ่มคนดู จะสอดแทรกเรื่องพวกนี้เข้าไปในชุมชนของเราอยู่ตลอด ยิ่งตอนนี้มีพ่อแม่จูงลูกเล็กมาดู ซื้อเสื้อแร็ปเปอร์ที่ตัวเองชอบให้ลูกใส่ มันกลายเป็นความบันเทิงครอบครัวไปแล้ว ผมว่ามันเหมือนสื่อต่างๆ ที่เราเห็นกันในทีวี ถ้ามีผู้ใหญ่คอยสอนอยู่ด้วย ใช้วิจารณญาณแยกแยะว่ามันคืออะไร เขาก็อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา เรื่องแบบนี้มันสอนกันได้
ฟลุ๊ค: ตัวจริงของแร็ปเปอร์ เวลาไม่ได้อยู่บนเวที เขาก็เป็นสุภาพชนปกตินี่แหละ ไม่ได้มีความก้าวร้าวเลย แถมบางคนยังมีสัมมาคารวะมากกว่าเด็กสมัยนี้เสียอีก บางทีการแข่งมันอาจช่วยสอนให้เขามีน้ำใจนักกีฬา มีความอดทนอดกลั้นมากกว่าปกติก็ได้
โจ้: ผมขอยืมคำพูดของหลุยส์-ธชา มาละกัน เราเหมือนห้องใต้ดิน ถ้าคุณไม่ชอบ คุณก็ไม่ต้องลงมาอีก ก็เท่านั้น
มองว่าฮิปฮอปไทยกำลังจะมุ่งหน้าไปทางไหนในเวลานี้?
ฟลุ๊ค: เมื่อก่อนฮิปฮอปในเอเชียอาจดูตลกๆ หน่อย แต่พอ 10 ปีหลังมานี้มันโตขึ้นมาก เริ่มตีออกหลายสายพันธุ์ มีฮิปฮอปเกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว ที่ทั่วโลกยอมรับ หรือแม้แต่ในไทยเอง เราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ฝรั่งก็มองว่าถึงรสชาติเพลงแร็พของเราจะต่างออกไป ไม่คุ้นหู แต่ก็อร่อยดีเหมือนกัน มันมีความแข็งแรงในแบบของมัน เมื่อทุกคนมียูทูปเป็นของตัวเอง วัฒนธรรมฮิปฮอปในโลกก็เชื่อมต่อกันได้หมด
แล้วหมุดหมายต่อไปของ Rap is Now คืออะไร?
ต้าร์: เรากำลังจะทำรายการใหม่ที่พูดเรื่องแรงบันดาลใจ เน้นไปแนวคิดของแร็ปเปอร์ เพราะแต่ละคนก็จะมีเรื่องราวเบื้องหลังน่าสนใจ เผื่อมันจะปลุกไฟของเยาวชนได้
ฟลุ๊ค: เราอยากให้แร็ปเปอร์กลายเป็นอาชีพจริงจังเหมือนนักร้องคนหนึ่ง ไม่ได้อยากให้การเป็นแร็ปเปอร์ถูกล้อ หรือเป็นตัวตลกอย่างที่ผ่านมา
โจ้: สังเกตว่าเวลาแร็ปเปอร์หรือเราเองไปออกรายการทีวี พิธีกรแม่งก็จะ ‘โย่วๆ’ ใส่ ซึ่งเรากลับคิดว่า ‘เดี๋ยว อะไรของมึงวะ’ (หัวเราะ) คือต้องเข้าใจว่าการโย่วใส่แร็ปเปอร์ในยุคนี้มันหมายถึงคุณดูถูกกันแล้วนะ มันไม่คูลเอามากๆ เลย
ต้าร์: สมัยนี้แร็ปเปอร์มันทำอย่างอื่นได้แล้วเว้ยยย (หัวเราะ)
Writer: Wednesday
RECOMMENDED CONTENT
เนื่องจากคุณฟูจิตระหนักถึงปัญหาการผลิตสินค้าด้วยพลาสติกจำนวนมากที่เติบโตขึ้นในชีวิตประจำวันของเราเหมือนดอกเห็ดตั้งแต่ยุค 70 ในปีค.ศ. 1997 เขาจึงได้เริ่มเก็บสะสมของเล่นพลาสติกที่ไม่เล่นแล้วตามบ้านเรือน