จุดร่วมอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมใต้ดินที่เราสังเกตเห็น ไม่ว่าสเก็ตบอร์ด ฮิปฮอป หรือเพลงแร็ป คือธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบสื่อสาร ยิ่งถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขนานาประการยิ่งทำให้อยากพูด ยิ่งห้ามยิ่งต่อต้าน ยิ่งมีกฎก็ยิ่งต้องการอิสระ
ก่อนจะได้การยอมรับว่าเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ‘กราฟิตี้’ (Graffiti) ก็เคยถูกปรามาสว่าเป็นแค่งานศิลปะข้างถนนที่คนบางกลุ่มใช้เพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่กราฟิตี้ก็พิสูจน์ตัวเองมาตลอดหลายทศวรรษ ทั้ง Banksy ศิลปินหัวขบถผู้เป็นนักเสียดสีคนสำคัญแห่งยุค หรือ TAKI 183 ศิลปินชาวกรีซที่แท็กชื่อตัวเองไปทั่วมหานครนิวยอร์ก คนเหล่านี้คงอยากสื่อสารอะไรบางอย่างไม่ต่างกัน ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งมันกลายเป็น ‘สารกระตุ้น’ ชั้นดีให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมมานักต่อนักแล้ว
—————
“ตอนเด็กๆ เราเรียนเรื่องเทคนิค พอโตขึ้นมาเริ่มเรียนวิธีคิด รู้สึกว่าการวาดรูปเป็นการแก้เบื่ออย่างหนึ่ง เหมือนได้บำบัดตัวเอง” ผู้ชายมีหนวดที่กำลังตวัดแปรงสีลงบนผ้าใบผืนใหญ่เท่าผนังห้องบอกกับเราโดยไม่ได้ละสายตาจากงานตรงหน้า
นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เราบุกมาบ้านย่านชานเมืองของ พัชรพล แตงรื่น หรือที่รู้จักกันในหมู่คนทำงาน Street Art ว่า Alex Face เขาเป็นอีกคนที่ทำงานกับสีสเปรย์และกำแพงมาหลายปี งานของเขา–รูปเด็ก 3 ตาหน้าบึ้ง ถ้าคุณเคยเห็น มันฝากไว้ทั่วไปไม่ใช่แค่ริมถนนหรือตึกร้างทั่วประเทศ แต่ยังลามไปถึงกำแพงในต่างประเทศด้วย เอาง่ายๆ คือตรงไหนมีที่ว่างเขาก็ “พ่นแม่งหมดแหละ มีสี มีกำแพง มีเครนพอ”
ความตื่นเต้นในการทำงานในทุกวันนี้ยังเหมือนเดิมไหม
เมื่อก่อนกราฟิตี้ค่อนข้างใหม่ เวลาออกไปทำส่วนใหญ่มักไม่ได้ขอใคร บางทีก็โดนไล่ คนเขาไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยหรอก ผมรู้สึกชอบวิถีของมัน ชอบความตื่นเต้น ได้แอบทำแล้วไม่โดนจับได้ เป็นความคึกคะนองของวัยด้วยส่วนหนึ่ง ช่วงนั้นยังไม่มีครอบครัว ยังใช้ชีวิตแบบนั้นได้ เพราะบางทีฟีดแบ็กก็กลับมาแรงเหมือนกัน เคยถึงขนาดต้องย้ายบ้านหนี เพราะไปพ่นแทงก์น้ำบ้านเขา จำได้ว่าโดนลากไปด่าจนหูชา ดีไม่โดนกระทืบเอา (หัวเราะ)
ความรู้สึกเปลี่ยนไปมากเหมือนกัน เมื่อก่อนต้องไปขอเขาพ่น ตอนนี้เขาขอให้ไปพ่น ทั่วประเทศเลย เชียงใหม่ ภูเก็ต นครพนม ชลบุรี ขอนแก่น เยอะไปหมดจนบางทีก็ไปไม่ไหว เพราะงานหนึ่งก็ใช้แรงมากอยู่ บางครั้งเราแค่อยากถือสีไปพ่นที่ร้างๆ สักที่ แค่อยากสนุกเหมือนเมื่อก่อนเท่านั้นเอง ดีใจที่คนชอบงานนะ แต่มันจะมีรายละเอียดเข้ามา มีความคาดหวัง มีความรับผิดชอบ เวลาเราอยากทำอะไรกับมีใครขอให้ทำ ความรู้สึกมันต่างกันอยู่แล้ว
—————
Street Art ในเมืองไทยแข็งแรงขึ้นจากเมื่อก่อนมากน้อยแค่ไหน
คนที่ทำ Street Art ในรุ่นเราโตกันหมดแล้ว พอรุ่นใหม่เข้ามารันต่อ มันก็เลยพัฒนาขึ้นจากเมื่อก่อนมาก ได้รับความนิยม การยอมรับมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ อยากเอากราฟิตี้ไปคอลแล็บ (collaboration) ด้วย แต่ถึงจะแข็งแรงยังไงก็เป็นกลุ่มคนเฉพาะทางอยู่ดี พวกคนทำงานศิลปะจะคล้ายๆ กันคือไม่ได้กะมาร่ำรวยกับอาชีพนี้ ทุกคนต้องลุยเหมือนกันหมด แต่ที่ดูว่าประเทศอื่นล้ำหน้ากว่าเราเพราะเขาอาจมีคนทำเยอะกว่า มีวิธีนำเสนอที่ดีกว่า งบประมาณในวงการศิลปะมากกว่า
ไปเห็นอะไรมาบ้างจากการได้เดินทางหลายต่อหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา
ที่อังกฤษ คนยังคลั่งไคล้สตรีทอาร์ตมาก เพราะมันเข้าไปอยู่ในระบบชีวิตของเขา เข้าไปสู่กลไกตลาดซื้อ–ขายงาน ประเทศอื่นในยุโรป อย่าง นอร์เวย์ หรือเดนมาร์ก เขามีแกลเลอรี่สำหรับสตรีทอาร์ตแห่งเดียว เพิ่งมี Festival ครั้งแรก เหมือนเขาก็เพิ่งเริ่มกับมันเหมือนกัน ผมไปพ่นที่นอร์เวย์ยังโดนตำรวจล็อกอยู่เลย ทั้งที่เราได้ใบอนุญาต
ส่วนอเมริกา ศิลปะทุกอย่างแข็งแรงอยู่แล้ว เพราะเขามีที่มีทางให้ศิลปิน เช่น แกลเลอรี่ แม็กกาซีน อีเว้นต์ เฟสติวัล ทั้งนิวยอร์ก ทั้งแคลิฟอร์เนีย ส่วนจีนก็มีจัดเทศกาลสตรีทอาร์ตเหมือนกัน แถวบ้านเราที่ไม่ทำคือ ลาว นอกนั้นเมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พ่นหมด แต่ละที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง
—————
คัลเจอร์ของคนทำงานกราฟิตี้ที่คุณไปเจอมาเป็นอย่างไร
คนทำกราฟิตี้จะรู้จักกันหมด อาศัยคุยกันในเฟซบุ๊ก อย่างตอนไปยุโรป เวลาไปพ่นเมืองไหน ไอ้ชาวแก๊งกราฟิตี้เจ้าถิ่นนี่ก็จะชวนไปพ่นด้วยกัน คอนเน็กต์กับเพื่อนเมืองนั้นเมืองนี้เสร็จสรรพ มันควรต้องรู้จักกัน เพราะไม่งั้นยาก ไม่รู้จะพ่นตรงไหน บ้านเมืองอื่นเราไปพ่นมั่วๆ ก็ไม่ได้ ผมเลือกจะไปกินนอนอยู่กับเขาแทนการไปพักโรมแรม เขาก็พาไปรู้จักคนใหม่ๆ พาไปเที่ยว เหมือนได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน
บางโปรเจ็กต์ก็ได้เงิน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้หรอก ใช้ทุนตัวเองนี่ละ แลกกับการได้ไปเห็นโลก ได้พาครอบครัวไปเที่ยว พวกงาน Festival ต่างๆ ที่เราเห็น อย่างงาน บุกรุก (Bukruk Urban Arts Festival) ก็เหมือนกัน เป็นการให้งบศิลปินจากประเทศต่างๆ เพื่อมาโปรโมทวัฒนธรรมประเทศนั้นๆ
จากกรณีถูกวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเมื่อครั้งคุณไปพ่นอาคารเก่าที่จังหวัดภูเก็ตให้กับโปรเจ็กต์หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ครั้งนั้นมีผลกระทบกับการทำงานต่อมาไหม
ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไร เพราะตลอดเวลาที่ทำงานมา ผมเจอเรื่องแบบนี้ตลอด ผมว่ามันดีเสียอีกที่คนออกมาคุยกัน สตรีทอาร์ตมันเริ่มมาจากการต่อต้านด้วยซ้ำไป พอมันเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ก็ถือว่าเป็นข้อดี ทำให้คนเห็นสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ
—————
Message อะไรที่มักจะสื่อผ่านงานของคุณ
ทั่วๆ ไป แล้วแต่ว่าช่วงนั้นมีเหตุการณ์อะไร ผมจะเล่นกับสภาพแวดล้อม ตีโจทย์จากภาพที่เห็นว่ามีอะไรน่าสนใจแล้วจับมาเป็นงานได้บ้าง บางทีก็เป็นเรื่องเสียดสีประชดประชันสังคมผ่านตัวละครเด็กหน้าบึ้ง เราแค่อยากทำเด็กหน้าบึ้งให้คนตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องบึ้ง
มันเกิดจากตอนที่ผมมีลูก เริ่มคิดถึงอนาคตว่าเขาจะโตขึ้นมาในโลกแบบไหน สังคมอีก 20–30 ปีข้างหน้า จะเป็นยังไง มีหลายคนเข้าใจผิดว่าตัวละครนี้คือมาร์ดี–ลูกสาวผม แต่จริงๆ แล้วผมแค่มีมาร์ดีเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งบางครั้งมันก็เป็นตัวแทนของผมเองในวัยเด็กด้วยซ้ำ
คนดูจะได้ทัศนคติแบบไหนจากงานของคุณ
เราทำงานแบบเหลือพื้นที่ตรงกลางให้คนคิดต่อ เพราะความชอบ ความรู้สึก หรือประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป้าหมายของศิลปะอยู่ที่ให้คนรับรู้ด้วยประสบการณ์ตัวเอง เราจะไม่ไปชักจูง แบบนั้นมันจะกลายเป็นศิลปะแบบ propaganda พยายามเล่าเรื่องแรงๆ ให้ซอฟต์ลง ต่างประเทศเขาวิจารณ์ได้ ลองบ้านเราเสียดสีแรงก็โดนสิ จริงๆ มันแรงได้นะ แต่ต้องเตรียมตัวรับผลที่ตามมา
—————
เคยมีคนบอกว่าการบอมบ์ (bomb) ในวงการกราฟิตี้แสดงถึงการไม่เคารพผลงานของศิลปิน บ้างก็ว่าทำให้งานกราฟิตี้บ้านเราไม่พัฒนา ส่วนตัวคุณมองเรื่องนี้อย่างไร
การบอมบ์หรือการพ่นทับงานของใคร มันทำได้ทั้งสร้างมิตรและสร้างศัตรู ทับได้แต่ต้องทับให้ดีกว่า ไม่งั้นจะกลายเป็นการทำลาย เมื่อก่อนผมเองพอถูกบอมบ์ก็เคียดแค้นมาก บอมบ์กันไปบอมบ์กันมา บางทีก็มีเรื่องกันบ้าง พอหลังๆ เริ่มคิดว่า เออ ยังไงมันก็คงไม่มีทางอยู่ยงคงกระพันหรอก ตอนนี้ใครมาทับก็เลยช่างแม่ง ใช้วิธีพ่นให้ใหญ่ให้สูงเข้าไว้ ให้มันบอมบ์เรายาก (หัวเราะ)
บางคนถามว่ารัฐบาลทำ free wall ให้เลยเอาไหม เราไม่อยากหรอก เพราะถ้าเป็นพื้นที่เปิดให้ใครมาพ่นก็ได้ งานก็อยู่ไม่นาน เมืองใหญ่ๆ อย่างเบอร์ลินนี่ตัวดี เห็นกับตาพอแก๊งหนึ่งพ่นเสร็จ อีกแก๊งมากลิ้งสีทับทันทีเลย แถวนั้นเล่นกันโหดมาก
ที่คุณบอกว่าสุดท้ายแล้ววันหนึ่งงานก็อาจถูกบอมบ์ ถูกทุบทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอยู่ดี แล้วทำไมคุณถึงยังหลงใหลการทำงานกับซากปรักหักพังพวกนั้นอยู่
อืม…เคยมีบางชิ้นไปพ่นตอนดึกๆ พอเช้าวันรุ่งขึ้นจะกลับมาดูอีกทีแม่งหายไปแล้ว คือบางทีกูเองก็ยังไม่เห็นเลยมั้ย (หัวเราะ) แต่คิดอีกทีว่าอย่างน้อยไอ้คนที่ลบก็คงได้เห็นบ้างละวะ ไม่รู้ล่ะ พอมีโอกาสได้พ่นแล้วผมก็พ่นไม่เลิกหรอก
—————
ศิลปินรุ่นใหม่ๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร
ยกตัวอย่างชีวิตผมแล้วกัน ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมรับจ๊อบทำโน่นนี่ เพราะต้องหารายได้ ถ้าจบมาแล้ววาดรูปก็คงอยู่ไม่ได้ ระหว่างนั้นไม่หยุดวาดรูป ทำคู่กันไป 2 อย่าง หาเงินจากงานเพื่อมาซับพอร์ตสิ่งที่ชอบ สีแพงก็ค่อยๆ ซื้อเก็บ ค่อยๆ สะสมไป พอเริ่มขายงานได้ เราก็มีกำลังใจจะทำต่อ
แล้ววันหนึ่งไอ้สิ่งที่ชอบมันเริ่มทำให้อยู่ได้ จนเราไม่ต้องทำสิ่งไม่อยากทำแล้ว สุดท้ายไอ้ทักษะจากตรงนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน มันกลับมาใช้ในงานเราด้วยซ้ำไป ของแบบนี้อาศัย passion อย่างเดียวไม่ได้ บางคนบอกผมว่าอยากเป็นศิลปิน อยากวาดรูป แต่ไหนงานมึงล่ะ วันๆ ไม่เห็นวาดเลย ถ้าคนอยากจริงๆ มันต้องทำสิ อย่างน้อยก็ได้ทำ โอกาสเข้ามาเมื่อไรจะได้รู้กันไปเลย
ถ้ามีพื้นที่ว่าง 1 กำแพงให้ตอนนี้ Alex Face อยากพ่นอะไรลงไปมากที่สุด
มันอาจเป็นความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันในสังคมเล็กๆ น้อยๆ เช่น เคยมีคนบอกว่าคนไทยเป็นคนง่ายๆ สบายๆ อยากทำอะไรก็ทำ อยากจอดรถตรงลงไปซื้อของตรงไหนก็จอด อยากขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าก็ขี่ อยากมีอภิสิทธิ์เหนือชาวบ้าน ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้คิดว่ากำลังทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า
มันทำให้ผมกลับมามองตัวเอง เอามาสอนลูกด้วยเหมือนกัน เวลาเดินทางต่างประเทศ พอลงเครื่องถึงเมืองไทยทุกครั้งจะรู้สึกว่า ‘เชี่ย กลับบ้านแล้ว’ ไม่ว่าจะไปประเทศเจริญแค่ไหน หรือผังเมืองเพอร์เฟ็กต์ยังไง มันไม่มีที่ไหนรู้สึกเหมือนเป็นบ้านเราหรอก ถ้าเราคิดถึงคนอื่นให้มากกว่าตัวเองอีกนิด ผมว่าบ้านเราจะน่าอยู่ขึ้นมาก
เห็นไหม…พูดแล้วกลายเป็นบ่นอีก (หัวเราะ)
—
Writer : Wednesday
Photographer : Yoon Sartist
RECOMMENDED CONTENT
กุชชี่นี่มันกุชชี่จริงๆ! ล่าสุด Gucci ได้กลับมาพร้อมกับแคมเปญ Gucci Gift Giving Collection ต้อนรับบรรยากาศ Festive ช่วงปลายปีแบบนี้ โดยปีนี้ มาในธีม 'Gucci Holiday Office Party' ที่จำลองออฟฟิศยุค 80s ในช่วงก่อนเวันหยุดยาวที่เหล่าพนักงานพร้อมสำหรับปาร์ตี้แสนคึกคัก ซึ่งไอเดียเก๋ๆ ของ Gucci ยุค 4.0 อย่างนี้ ไม่บอกก็คงพอเดากันได้ว่ามาจากใคร ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ อเล็ซซานโดร มิเคเล่ (Alessandro Michele) คนดีคนเดิมนั่นเอง