แม้ว่ากระแสของภาพยนต์อิสระจะเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่เราก็แทบจะไม่เห็นโรงภาพยนต์อิสระเปิดขึ้นมาใหม่ซักเท่าไหร่ พอเรารู้ว่าจะมีโรงภาพยนต์อิสระเปิดขึ้นใหม่ในประเทศไทยจึงอดที่จะตื่นเต้นไม่ได้ Bangkok Screening Room หรือ BKKSR เกิดขึ้นจาก 3 ผู้ก่อตั้งที่มีชื่อว่า Threelogy ประกอบไปด้วยคุณมิ้ว – ศริญญา มานะมุติ (Founder/Operations Manager), คุณเม่น – วงศรน สุทธิกุลพาณิช (Founder/Design Manager) และ คุณนิค – นิโคลัส ฮัดสัน-เอลิส (Founder/Cinema Manager) ที่ต้องการนำเสนอทางเลือกและประสบการณ์ใหม่ของการชมภาพยนต์ให้กับคนไทย
ก่อนจะมาเป็น BKKSR ทั้งสามคนเคยจัดฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าของ HOF Arts Residency ใน W District พระโขนงในชื่องาน Open Reel Rooftop Festival และ Pop Up Cinema ภายในเทศกาลดนตรี The Wonderfruit Festival ซึ่งกระแสตอบรับที่ดีจากทั้ง 2 งานทำให้พวกเขาตัดสินใจหาสถานที่และสร้างโรงภาพยนต์อิสระแห่งนี้ขึ้นมา
ซึ่งทั้ง 3 คนได้นำสิ่งความรู้ที่ตนเองถนัดไม่ว่าจะด้าน Fine Art , Media Art และ Interior Design มาผสมผสานทำให้ BKKSR กลายเป็นโรงภาพยนต์อิสระที่มีรูปแบบแปลกใหม่ไม่เหมือนที่เราคุ้นเคย ตั้งแต่บาร์สไตล์โมเดิรน์ รายชื่อภาพยนต์ที่นำมาฉาย ไปจนถึงการแบ่งเซคชั่นของหนัง
ทำไมต้องเป็น Art House Cinema
มิ้ว – เรารู้สึกว่าในขณะนั้นแกลลอรี่พวก Independent Arties ก็มีกันอยู่แล้วค่อนข้างเยอะ พวก Commercial gallery ก็มีค่อนข้างเยอะ แต่ว่าในสื่อของภาพเคลื่อนไหวอย่าง Art House Cinema หรือ Pop Up Cinema มีจุดประสงค์ในการทำ Ambient ทั้งหมดขายประสบการณ์ยังไม่ค่อยมีก็เลยคิดว่าคนน่าจะชอบ
กว่าจะมาเป็น Bangkok Screening Room
แม่น – ความจริงเราก็คุยกันมาก่อน พูดจริงๆว่าตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่ามันจะรอดไหม แต่พอเปิดมากระแสตอบรับก็ดีกว่าที่คิดเยอะ ก่อนเราจะเปิดเราทำ Research มีการสร้าง Fanbase แล้วก็รอดูฟีดแบคของคนที่เขามาด้วย คือเราก็ไม่ใช่แค่จัดอีเว้นท์แล้วขายตั๋วจบ เราลงไปคุยกับทุกคนที่เข้ามารับตั๋วหมดมีฟีดแบคอะไรอย่างนี้แล้วก็เก็บข้อมูลตรงนั้นมาเรื่อยๆ ศึกษาจนเรามั่นใจแล้วว่าพร้อมเปิด
มิ้ว – พอได้สถานที่จะสร้าง Bkksr เราก็ย้ายจากออสเตรเลียกลับมาอยู่เมืองไทยเลย เราอยากให้มันสำเร็จแหละเลยต้องลงมาทำอย่างเต็มตัวจริงๆเพราะต้องทุ่มเท ดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ ยิ่งถ้ามันไม่เคยมีคนทำเกิดขึ้นมาก่อน มันอาจจะเป็นที่แรกด้วยซ้ำที่เป็นโรงหนังสำหรับคนทำหนังที่อิสระจริงๆ เราก็ต้องเรียนรู้กันทุกวันเหมือน อย่างที่แม่นบอกว่าหนังแต่ละเรื่องที่เราคัดเข้ามากว่าจะเข้าใจว่าอันนี้มันอาจจะไม่ฮิต อันนี้คนอาจจะชอบมันก็ต้องใช้เวลาสื่อสารกับคนดูไปเรื่อยๆ
แม่น – ส่วนหนึ่งมันเป็นการเรียนรู้ของเราเองด้วย เพราะว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการดูหนังใหม่ๆนอกจากที่เราคุ้นเคย เราเองก็เรียนรู้ว่าทำอย่างไรที่จะปรับเข้ากับสังคมไทยเหมือนกัน การที่เราเอาวัฒนธรรมตรงนี้มาแนะนำให้คนไทยเราก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งคนดูและคนทำ
วิธีการเลือกหนังเข้ามาฉาย
มิ้ว – เราแบ่งเป็น 2 เซคชั่นใหญ่ๆ คือ Contemporary Season และ Classic Season คล้ายๆกับงาน Art ที่จะมี Contemporary Art และ Classic Art ซึ่งใน Contemporary Season คือหนังใหม่ไม่เกิน 10 ปี อย่างหนังที่เราหามามีตั้งแต่หนังใหม่,หนังฟอร์มเล็ก,หนังนอกกระแสหรืออาจจะมีดาราที่เป็นที่รู้จักแต่ว่าเขาไม่ได้ Main Stream ด้วย แล้วก็จะมี Classic Season ซึ่งเราเอากลับมาเป็น Reference เราอยากให้คนที่เขาดูหนังรู้ว่ามันมีที่มาที่ไป อย่างเช่นกระแสของ La La land ที่คนเห็นว่าเฮ้ยมิวสิเคิลเจ๋งว่ะ แทนที่เขาจะมองกลับไปว่าคนไทยเขาคิดมานะตั้งแต่สมัยก่อนเช่น Bar21 ที่เป็น Musical ของคนไทยรุ่นแรกๆ แต่คนไม่รู้เราก็เลยอยากจะเอาต้นกำเนิดมาให้เขาเห็น
แม่น – คือจริงๆเราพยายามจะจัดให้มันควบคู่ไปกับเหตุการณ์ปัจจุบันด้วย เป็นการดึงความสนใจจากคน แต่อย่างล่าสุดเราฉาย Bonnie and Clyde ที่พอดีมันครบรอบ 50 ปี ซึ่งปีนี้ออสการ์ก็พูดถึง พอดีว่าวอร์เรน เบตตี้และ เฟย์ ดันอะเวย์นักแสดงนำที่ประกาศรางวัลรางวัลผิดด้วยมันก็เลยเป็นกระแส แต่จริงๆเราฉายมาก่อนแล้วเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่า วอร์เรน เบตตี้ คือใครมาย้อนหลังกลับไปอ่อจริงๆแล้วมี Bonnie and Clyde นะ
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่พิเศษสำหรับคนทำหนังด้วย
มิ้ว – มันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกมาจาก Contemporary Season ซึ่งเราจะเรียกว่า Open Film Program คืออันนี้เราจะเป็นพื้นที่ไว้สำหรับคนไทยที่เป็น Citizen ของไทย ให้สามารถส่งหนังที่ตัวเองทำเข้ามาแล้วเราจะคัดเลือก เพราะว่าบางทีถ้าเกิดคุณไม่ใช่ผู้กำกับที่มีชื่อเสียง จะเอางานไปฉายในโรงภาพยนต์ใหญ่ๆก็เป็นได้ยาก เราเลยเหมือนกับแพตฟอร์มตรงกลาง เป็นสเตปแรกให้เขาก่อนที่จะได้เข้าไปฉายในโรงทั่วไป หรือให้มีคนมาเห็นว่าเขามาความสามารถที่จะทำหนังได้
เม่น – อันนี้ไม่ได้เฉพาะผู้กำกับนะครับ คือคุณจะเรียนอาร์ตมาเรียนกราฟฟิคมาหรือคุณจะเป็นนักศึกษาแต่ถ้ามีหนัง Future Films ก็ส่งมาได้ เราก็คัดเลือกจะคุณสมบัติพื้นฐานของหนังว่ามันสามารถจะฉายบนจอใหญ่ได้ 1 เดือน 1 เรื่อง
มิ้ว – นอกจากนี้ด้วยปกติเราไม่มีโฆษณาฉายอยู่แล้ว จึงเอาพื้นที่ตรงนี้ให้กับคนทำหนังสั้น ซึ่งเราจะมีโปรแกรมเรียกว่า Short Film Showcase สำหรับใครก็ได้ที่มีหนังสั้นของตนเองและมี Subtitle ก็สามารถส่งเข้ามาฉายได้ แล้วเราก็จะมาคัดอีกทีหนึ่งว่าตรงนี้มันเหมาะกับหนังเรื่องไหนที่เรากำลังจะฉายไหม คือเราก็อยากให้มันเป็นเรื่องที่คนสามารถเชื่อมโยงได้ที่เนื้อเรื่องมันเข้ากับหนัง Future ที่เราจะฉาย
เม่น – เรื่อง Subtitle ถ้าเป็นหนังที่คนส่งเข้ามาเราขอให้เขาทำ Subtitle ให้กับเรา แต่ถ้าเป็นหนังที่เรานำเข้ามาเองเราจะทำ Subtitle ให้ ซึ่งส่วนนี้ทำให้มันแตกต่างจริงๆ เม่นคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้ามาดูหนังอาร์ตหนังอินดี้มากขึ้นเพราะคนจะคิดว่าหนังมันเข้าใจยาก ยิ่งหนังต่างประเทศพอมี Subtitle มันทำให้คนที่มาดูและไม่เข้าใจภาษาอื่นๆเขาเข้าใจมากขึ้น
มีหนังเรื่องไหนที่เรารู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย
มิ้ว – น่าจะล่าสุดเรื่อง Ants on a Shrimp เป็นเรื่องเกี่ยวกับร้านอาหาร Noma ซึ่งเป็นร้านอาหารอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายปีมากที่โคแปนเฮแกนท์ แล้วเขาก็ย้ายร้านเข้ามาที่โตเกียว
เม่น – เป็น Pop-up Restaurant คือเหมือนกับเขายกทีมงานทุกคนมาทำ Pop-up หนึ่งเดือนที่โตเกียวระหว่างขั้นตอนทั้งหมดเขาก็ทำเป็นสารคดีไว้เกี่ยวกับการที่เข้าย้ายทีมมาที่โตเกียว เราก็เลยติดต่อไปว่าอยากได้หนังเรื่องนี้ซึ่งตอนที่ได้มาเราก็คิดว่าคงมีเด็กเรียนอาหารหรือคนที่ชอบทำอาหารมาดู ปรากฏไปๆมาๆคนมาดูจากทุกสายงานเลยแล้วก็ Sold-Out เกือบทุกรอบ
มิ้ว – เพราะว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเบื้องหลังของคนที่ทำงานด้วย
เม่น – คือในหนังเรื่องหนึ่งองค์ประกอบมันมีเยอะหน่ะครับนอกจะโฟกัสเรื่องอาหารมันยังมีเรื่องของทีมเวิค ลีดเดอร์ชิป เรื่องของการออแกไนซ์ ไอเดียต่างๆ
มิ้ว – ก็ค่อนข้างเซอร์ไพส์เพราะว่ามีคนจากหลายสาขางานมากที่ไม่ได้ชอบแค่เรื่องอาหารมาดู
แล้วมีเรื่องไหนที่น่าเสียดาย กระแสตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร
เม่น- พวกเรื่องแรกๆ ที่ฉายซึ่งตอนนั้นเรายังรู้สึกเลยว่าจริงๆเสียดายโอกาสสำหรับหนังพวกนี้เพราะหนังพวกนี่เป็นหนังดีๆที่เราเองก็ชอบไม่ว่าจะหนัง Comrade Kim Goes Flying หรือ Mad Tiger
มิ้ว – วันแรกๆที่เราเปิดคนอาจจะไม่ค่อยรู้จักเรา แล้วตอนนั้นเราก็ยังจับจุดเรื่องของ Marketing ไม่ได้ ช่วงนั้นมันจะจากเป็นโปรโมทกันปากต่อปากเป็นมากกว่า ซึ่งจากคนที่ได้มาดูหนังเรื่องนี้ทุกคนไม่มีใครผิดหวังเลย แต่กว่าจะทำให้เขามาดูได้อันนี้มันเป็นเรื่องของการสื่อสาร เราก็เริ่มจับจุดได้แล้วว่าการสื่อสารต้องไปช่องทางไหน คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้นแล้วคนที่มาดูหนังทุกเรื่องเขาจะได้เสียใจเลย “เฮ้ย ไม่รู้ว่าก่อนเลยว่ามีอย่างนี้” “ฉันไม่เห็นเทเลอร์วันนี้นคงไม่มาดู” อะไรอย่างนี้คือมันเป็นเรื่องของการสื่อสาร
การโปรโมทหนังมักจะเล่าถึงที่มาและรายละเอียด
เม่น – อันนี้เป็นจุดที่เราตั้งใจมาตั้งแต่แรกเลยนะ เราไม่อยากจะอธิบายแค่พล็อตหนังคืออะไรแต่เราอยากจะอธิบายว่าผู้กำกับคนนี้เป็นใคร เคยทำอะไร นักแสดงคนนี้เคยได้รางวัลอะไร ให้ความรู้เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มากกว่าหนังคืออะไร
มิ้ว – ให้มีที่มาที่ไปเพราะจริงๆหนังทุกเรื่องถึงแม้ว่ามันจะแอนเตอร์เทนเป็นหลักแต่มันจะมีแง่คิดที่คนแต่ละคนที่ดูจะได้แตกต่างกันอยู่แล้ว มันอยู่ที่การจับดูว่าหนังเรื่องนี้มี Point อะไร ซึ่งเราก็เหมือนเป็นไกด์ให้แรกๆน้อยๆ
คนเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการเลือกหนังของ Bkks หรือยัง
มิ้ว – คนที่มาดูบ่อยๆก็เริ่มจับจุดได้แล้วว่าเรามาหนังคลาสสิคกับหนัง Contemporary
เม่น – คืออย่างในซีซั่นหนึ่งที่จะฉายวนไปวนมา แต่มันจะไม่หนังสไตล์เดียวกันทั้งหมด มันจะมีหนังหลายสไตล์ให้คนเลือกดูได้
มิ้ว – มันเหมือนกับการซื้อความไว้วางใจแล้ว ว่าเรา Curate หนังเข้ามาแล้วเขาก็เข้ามาดู คนก็ค่อนข้างเปิดเขาก็รู้แล้วว่าถ้าเกิดเราคัดหนังมาแล้วก็ไม่น่าผิดหวัง เพียงแต่คุณจะชอบไปทางไหนมากกว่า
คนไทยส่วนใหญ่ชอบดูหนังแบบไหน
เม่น – จะบอกว่าคนไทยชอบดูหนังแบบใดแบบหนึ่งคงไม่ได้ แต่ด้วยสังคมตลอดเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมามันถูกหล่อหลอมมาให้คนคุ้นเคยหนังลักษณะเดิมๆ เช่นหนังผี หนังตลก แต่มันก็ยังมีคนกลุ่มน้อยที่ทำอย่างอื่น ซึ่งหลังๆมันก็โผล่ขึ้นมาเยอะไม่ใช่แค่เรา มี Documentary Club มี HAL ที่เขาเริ่มเอาหนังอิสระพวกนี้เข้ามา และไปได้ดีทุกคนมันก็เลยเริ่มทำให้คนที่อยู่กับกิจกรรมเดิมๆ เริ่มกล้าออกมาว่ามันมีทางเลือกนะ
มิ้ว – มิ้วมองว่าประชากรของคนไทยเยอะนะ จะไปบอกว่าทุกคนต้องดูหนังแบบเดียวไม่ได้ มันเป็นเรื่องของทางเลือกที่เราจะหยิบยื่นอะไรให้เขาซึ่งมันมีจำกัดตอนนี้ แต่มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้และก็จะเปลี่ยนมุมมองการดูหนังของคนไทยได้ด้วยเพียงแต่ว่า 30 ปีที่ผ่านมามันไม่มีช้อยส์อะไรให้เขาเลือก พอมีแค่ช่องทางเดียวมันก็เลยเหมารวมว่าทุกคนน่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
เม่น – อย่างที่เราเปิดมาเนี่ย มีบางอีเว้นท์ที่เราประทับใจมากแบบเด็กๆก็มีนั่งรถมาจากเชียงใหม่ เพื่อมาดูหนังเรื่องนี้ ดูเสร็จแล้วก็กลับเราก็เลยรู้สึกว่า “เฮ้ย ทำอย่างนี้เลยเหรอ” แต่เพราะเขาไม่มีทางเลือกแหละ เลยต้องเดินทางมา
มิ้ว – ซึ่งเขามีอยู่ทั่วประเทศไทยอยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าจริงๆคำจำกัดความบางทีมันก็ทำให้คนอาจคิดไปว่ามันอาจจะเป็นไปได้จริงๆ เพราะเขาไม่รู้ว่ามันมีทางเลือกอื่นนะ ที่คุณสามารถเลือกได้ เราก็เหมือนมาเป็นจุดศูนย์กลางตรงนี้แหละค่ะ ให้เขามาลองอะไรใหม่ๆ
แล้ววงการหนังไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
มิ้ว – มิ้วมองว่าวงการหนังไทยมันยังน่าตื่นเต้นอยู่นะ มีการพัฒนาเกิดขึ้นเพียงแต่คนเขาจะไม่ค่อยรู้ มันมีหนังดีๆหนังที่มีคุณภาพอยู่แล้วเพียงแต่ว่ามันเข้าถึงกลุ่มคนได้ยากเขาต้องไปวนรอบโลกก่อนถึงจะกลับมา ก็เลยรู้สึกว่าจริงๆวงการหนังไทยมันเกิดขึ้นมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าวัฒนธรรมการดูของคนมากกว่าที่มันหยุดไป แต่พอมีการสื่อสารเกิดขึ้น มีคนพูดถึงอนาคตวงการหนังไทยก็เห็นได้ว่ามีคนเริ่มให้ความสนใจ ซึ่งสิ่งนี้มันจะเป็นตัวขับเคลื่อนมิ้วคิดว่าอนาคตมันจะสดใสกว่านี้
วัฒนธรรมการดูของคนมันหยุดไปคือหยุดอย่างไง
มิ้ว – วัฒนธรรมทุกอย่างมันเหมือนกับคนส่วนมากส่งผลกับคนส่วนน้อย พอเราไปเหมารวมว่าใครต้องเป็นอย่างไรมันเลยทำให้กลุ่มคนส่วนน้อยเริ่มหายไป เพราะเขาไม่อยากหลุดออกไปจากสังคม ซึ่งถ้าเกิดเราเปิดกว้างแล้วพูดคุยให้มีทางเลือก มิ้วคิดว่าทุกคนเขาพร้อมที่จะ explore อยู่แล้ว แต่คนที่บอกว่าเขาแฮปปี้ตรงนี้แล้วก็ไม่ได้ผิดนะ มันไม่มีผิดมีถูก มันไม่ใช่ว่าคุณดูหนังแมสแล้วอยู่ดีๆก็ไปดูหนังอินดี้ไม่ได้ มันไม่ใช่อ่ะ ให้มันเป็นสื่อศิลปะที่คนสามารถเข้าถึงได้ดีกว่า
เหมือนคนไทยก็มีความ Stereotype ประมาณหนึ่ง
มิ้ว – ใช่ๆ ซึ่งอย่าไปทำแบบนี้เลย มันทำให้คนสูญเสียความมั่นใจ เขาจะชอบดูหนังดูหนังแบบไหนก็ได้ แต่ว่าหนังดีกับหนังไม่ดีเราต้องมาคุยกัน ซึ่งคิดว่าเนี่ยเราเป็นโรงหนังทางเลือกเพื่อให้คนเห็นว่าเรามีทางเลือก มันอาจจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการดูหนังของคนได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็จะต้องเริ่มต้นด้วยเรื่องเล็กๆก่อน
แล้วได้มองภาพการเปลี่ยนแปลงการดูหนังของคนไทยไปขนาดไหน
มิ้ว – จริงๆมิ้วก็ไม่ได้มีเป้าหมายใหญ่โตมาก แต่เราอยากจะให้คนรุ่นใหม่เขาได้เข้าใจสื่อศิลปะส่วนนี้ว่ามันมีที่มาที่ไป เด็กหลายๆคนเวลาทำหนังสั้นเขาก็จะรู้จักแค่ผู้กำกับชื่อดัง แต่เขาจะรู้อาจไม่รู้ว่าผู้กำกับชื่อดังคนนี้ก็ได้อิทธิพลจากผู้กับกับอีกรุ่นหนึ่งเป็นทอดๆไป
เม่น – เราอยากจะซัพพอร์ตวงการฟิมล์และอยากซัพพอร์ตวงการอื่นๆด้วย เช่นมีหนังเกี่ยวกับแฟชั่นอาจารย์ก็จะปิดคลาสพาเด็กที่เรียนแฟชั่นมาดูจากที่เขาต้องไปหาข้อมูลเอง อย่างที่บอกว่าหนังมันมีความหลากหลายมากขึ้นมันอาจจะให้ทั้งความบันเทิงแต่ก็ให้ความรู้ด้วย
นอกจากได้ดูหนังแล้วคิดว่าคนดูได้อะไรบ้าง
เม่น – ส่วนตัวเราคิดว่าน่าจะเป็นได้ Community เพราะหลายๆคนก็มารู้จักกันที่นี้
มิ้ว – เราอยากจะเป็นพื้นที่ๆสร้างบทสนทนา ให้เกิดการพูดคุยมากกว่า บางทีดูหนังจบอาจจะไม่ get ก็ได้มาพูดคุยถกกัน บางทีไม่ต้องเข้าใจก็ได้อาจจะเป็นหนังที่แบบดูแล้วอาจจะออกมางง ซึ่งทุกสื่อศิลปะคุณก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจไม่งั้นอยู่ลำบากอ่ะ ต้องเขาใจทุกอย่างเครียดน่าดู
นอกจากนี้คุณมิ้วและคุณเม่นยังได้บอกกับเราอีกว่า Bangkok Screening Room เป็นเพียงแค่โปรเจคท์แรกเท่านั้น หลังจากนี้เราอาจได้เห็น Open Reel Rooftop Festival ครั้งที่สอง หรือเทศกาลภาพยนต์อิสระใหม่ๆในประเทศไทยภายใต้การจัดของ Threelogy ก็ได้
แต่ถ้าใครอยากจะทดลองประสบการณ์แบบใหม่ของการดูหนังตอนนี้ ลองเช็ครอบหนังที่น่าสนใจได้ที่ http://bkksr.com/ หรือ https://www.facebook.com/bangkokscreeningroom แล้วตรงไปเลยที่ชั้น 2 ของตึก Woof Pack ปากซอยศาลาแดง 1 ถ้ายังหาหนังที่ถูกใจไม่ได้จะไปนั่งจีบบาร์ชิวๆ ลองดูบรรยากาสก่อนก็ได้นะ