‘Untitled’ © PHOTO by Kasira Potchanant
หากหลับตาลงตรงย่านไชน่าทาวน์ของกรุงเทพฯ เมื่อสัก 10 ปีก่อน ภาพที่เห็นคงคลาดเคลื่อนไปมาก เมื่อตื่นลืมตาขึ้นในวันนี้ แม้โสตประสาทจะยังรับรู้ถึงความจอแจไม่เคยหยุดนิ่งบนถนนเส้นเดิม แต่สายตาของเราไม่อาจโกหกความจริงที่ว่า… เยาวราชได้เปลี่ยนไปแล้ว
David Fernández ชายหนุ่มจากแดนกระทิงผู้มาปักหลักอยู่เมืองไทยเป็นปีที่ 8 ในฐานะผู้ก่อตั้ง Cho Why ครีเอทีฟสเปซแห่งซอยนานา ก็เฝ้ามองความเปลี่ยนไปไม่ต่างกัน และในฐานะ ‘ผู้อาศัย’ บ้านใกล้เรือนเคียง เขาอยากบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับไชน่าทาวน์ พ.ศ. นี้ ไว้ในนิทรรศการ Photo Installation เสียหน่อย ก่อนมันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…
Cho Why คือใคร?
หลายคนเรียกที่นี่ว่าเป็นแกลเลอรี่ แต่ผมไม่อยากจำกัดความมันแค่นั้น ที่ผ่านมา เราจัดอีเว้นต์หลากหลายแนวมาก ทั้งงานศิลปะ Live Music เล็กๆ จัดเวิร์กช็อป แม้กระทั่งจัดฉายหนัง หรือละครเวที เราอยากให้มันเป็นเหมือนพื้นที่ปล่อยของที่ใครมีไอเดียอะไรก็มาแชร์กันได้
เพราะอะไรคุณถึงเลือกซอยนานา?
ตอนนั้นละแวกนี้ยังเป็นตึกเก่าทรุดโทรมถูกทิ้งร้างมานาน ไม่มีใครใช้ทำประโยชน์อะไร เห็นครั้งแรก มันมีความรู้สึกเชื่อมต่อบางอย่าง ไม่ใช่แค่ตัวตึก แต่เป็นทั้งย่านนี้เลย เรา–คือผมและเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของบาร์ El Chiringuito ที่อยู่ถัดไปช่วงตึกนี้ จึงคิดกันว่างั้นใช้ตึกนี้ทำอะไรสักอย่างดีไหม ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จะทำอะไร แต่ก็เอาวะ
ความเป็นคอมมิวนิตี้ของเพื่อนบ้านหรือของคนในละแวกนี้ อารมณ์มันจะต่างกับที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ เราสามารถทักทายเฮียข้างบ้านได้เวลาเปิดประตูออกไป เราเห็นคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่มานาน เห็นชีวิตคนเคลื่อนผ่านทุกวัน ผมชอบคาแร็กเตอร์ประมาณนี้มาก
ไอเดียของ Bye Bye Chinatown มาจากไหน?
อย่างที่คุณเห็น ย่านนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราเลยอยากจะทำอะไรเกี่ยวไชน่าทาวน์ ไม่ใช่แค่เยาวราช แต่หมายถึงถนนเจริญกรุงทั้งเส้นเลย อยู่ๆ ตึกเก่าที่เดินผ่านทุกวันก็โดนรื้อทิ้ง หรืออยู่ๆ มีตึกสูงๆ ขึ้นมาล้อมชุมชน การพัฒนามันรวดเร็วไปหมด ยิ่งหลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมา วิถีของย่านนี้จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ราคาที่ดินสูงขึ้น อาคารพาณิชย์เก่าแก่กลายเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ ผมนึกไม่ออกเลยว่าชาวบ้านที่เขาอยู่กันมานานเกินครึ่งศตวรรษจะใช้ชีวิตกันต่อไปยังไง เขาอาจไม่รู้เลยว่าวันไหนจะไม่มีบ้านอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องเศร้ามาก
ทำไมถึงเลือกใช้ภาพถ่ายเป็นตัวเล่าเรื่อง?
ผมรู้จักกลุ่มช่างภาพหลายคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เลยชวนเขามาทำโปรเจ็กต์นี้ด้วยกัน ผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งช่างภาพอาชีพทั้งมือสมัครเล่น ผมไม่ได้กำหนดอะไรมาก แค่ตั้งโจทย์ว่าเป็นภาพถ่าย ‘ไชน่าทาวน์’ ซึ่งคำว่าไชน่าทาวน์มันกว้างมาก แล้วให้ตัวช่างภาพไปตีความเอาเอง ภาพถ่ายจึงออกมาหลากหลายมาก ทั้งมุมมองการเล่าเรื่อง ทั้งสไตล์ภาพ
ที่น่าสนใจคือความแตกต่างกันของช่วงเวลา บางภาพเป็นภาพเก่าที่ช่างภาพถ่ายไว้นานแล้ว และตอนนี้สิ่งที่อยู่ในภาพ เช่น ผู้คน หรือตึกรามบ้านช่องในนั้นได้หายไปแล้ว บางภาพเป็นภาพใหม่ที่เพิ่งถ่าย มันทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ บนถนนสายนี้ได้อย่างชัดเจน วันหนึ่งมันอาจกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นบนถนนสายนี้เอาไว้ก็ได้
แล้วต่อยอดมาถึง Walking Tour ได้อย่างไร?
ภาพถ่ายอาจทำงานได้ดีในทางของมัน แต่การจัดทัวร์เดินสำรวจเมืองจะช่วยทำให้คนเห็น ‘ของจริง’ และเมื่อเขาเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากสถานที่จริง เขาจะตระหนักว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ผมเอาไอเดียนี้ไปคุยกับ Bangkok Vanguards ซึ่งเขาก็ยินดีช่วยเต็มที่ เพราะเขาจัดโปรแกรมทัวร์เจ๋งๆ ให้นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว อย่างรอบแรกที่จัด เราได้รับการตอบรับดีเกินคาด ในกรุ๊ป 10 คน มีทั้งคนไทย ทั้งฝรั่ง หรือคนในย่านนี้เองก็ตามที่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงมันอิมแพ็คกับเขาในทางใดทางหนึ่ง
ทำไมฝรั่งอย่างคุณถึงต้องแคร์เรื่องเหล่านี้มากนัก?
ยอมรับว่าผมเป็นฝรั่ง ไม่มีวันเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีกว่าคนไทยหรอก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมีคือผมเห็นคุณค่าของมัน แล้วตอนนี้ผมก็เชื่อว่าคนไทยเองก็คงเริ่มเห็นคุณค่าของมันไม่น้อยไปกว่าผมหรือใคร ผมมาจากเมืองเล็กๆ ในสเปน เห็นคนในเมืองพยายามจะรักษาย่านเมืองเก่า เขาพยายามต่อสู้เพื่อนรักษาสถาปัตยกรรมสวยๆ เอาไว้อย่างเต็มที่เหมือนกัน แล้วทำไมเราไม่ทำก่อนที่มันจะสายล่ะ
ผมไม่ได้มีปัญหากับการพัฒนาของเมืองหรอกนะ โอเค การมีรถไฟฟ้าผ่านทำให้เดินทางมาที่นี่สะดวกขึ้น มีห้างฯ มีนักท่องเที่ยว เกิดการลงทุน หรืออะไรก็ตาม แต่การพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ มันจะเป็นการพัฒนาที่ล้มเหลว การหาความสมดุลระหว่างความเจริญของเมืองกับวิถีชีวิตของคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่ง Cho Why เองก็กำลังทำหน้าที่นั้นอยู่
คิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน?
เราไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ ไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่ใช่ใครเลย เราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ที่อยากเล่าเรื่องให้คนฟังว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นแบบนี้นะ ซึ่งมันอาจเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ก็จริง แต่อย่างน้อยเมื่อคนที่เข้ามาดูรู้สึกอิมแพ็คกับมัน แล้วเกิดการบอกต่อ มันก็อาจสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างได้…
นิทรรศการ Bye Bye Chinatown
จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 23 มิถุนายน 2560
เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป ที่ Cho Why ซอยนานา (วงเวียน 22) MRT สถานีหัวลำโพง
https://www.facebook.com/events/197160030704995/
RECOMMENDED CONTENT
ทุกวันนี้ศิลปะในการผลิตมิวสิควิดีโอนั้นถือว่าก้าวหน้าไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องเทคนิคและวิธีการเล่า ที่ศิลปินไม่น้อยให้ความสำคัญกับมันไม่แพ้ตัวเพลงที่พวกเขาทำ