ระหว่างเดินเล่นบนถนนตะนาวที่ดูหน้าตาเปลี่ยนไปจากครั้งสุดท้ายที่เรามาเยือน ตึกแถวเก่าคุ้นตาถูกแทนที่ด้วยโฮสเทล และร้านกาแฟตั้งแต่เชนใหญ่จนถึงคาเฟ่ตะมุตะมิคูหาเดียว ดูไปก็หน้าตาคล้ายกันหมด เราหิวน้ำ แต่แสร้งทำเป็นฮึบ! เดินเตร็ดเตร่ไร้จุดหมาย คอแห้งผาก กระดานดำตั้งอยู่โดดเดี่ยวตรงข้ามวัดมหรรณพารามฯ ข้อความบนนั้นบอกว่าเราได้เดินมาถึงถ้ำหมาจิ้งจอกเข้าเสียแล้ว แม้จะหวั่นๆ เมื่อเห็น แต่ป้าย ‘Human Friendly’ ดันฉุด 2 เท้าก้าวตามตรอกแคบนั้นไปเฉยๆ
เมื่อซดกาแฟคาราเมลเย็นเจี๊ยบลงคอพอหายหิว สองตามองหาจิ้งจอกภายในคาเฟ่เล็กๆ เท่าไหร่ก็ยังไม่พบ พบแต่แมวอ้วนหน้าตาเป็นมิตรอยู่แถวนั้น พี่ผู้หญิงกับพี่ผู้ชายเจ้าร้านก็ไม่เห็นว่าจะมีเขี้ยวเล็บตรงไหน แถมชวนคุยจ้ออีกแหนะ
อ้อ…พี่ผู้หญิงชื่อต่าย พี่ผู้ชายชื่อต่อ
2 เดือนกว่าของกิจการถ้ำจิ้งจอก มันคือความฝันที่พี่ผู้หญิงหอบกลับมาจากการใช้เวลาสุดสัปดาห์ทำงานหลังเคาน์เตอร์กาแฟในประเทศออสเตรเลีย พอกลับมา เธอเซ้งตึกนี้ ขายแต่สิ่งที่ชอบ ชอบศิลปะ ก็ชวนเพื่อนศิลปินที่รู้จักมาโชว์ผลงาน ใครขอซื้อก็ขาย ชอบกินพาย-ขายพาย ชอบกาแฟ-ขายกาแฟ บางครั้งเย็นย่ำชอบเบียร์ ก็ขายคราฟต์เบียร์ไทยยี่ห้อแปลกๆ ที่ชอบพอกันแต่ยังไม่ได้ขายคือค็อกเทล
ที่แน่ๆ…ทั้งคู่คนชอบย่านนี้
“ตรงนี้มีทั้งกาแฟเชน มีทั้งสตรีทฟู้ด มีกิจการของคนในชุมชนที่เปิดมานาน อย่างร้านหล่อพระ ร้านทำเหรียญ ทำถ้วยรางวัล มันไม่ได้เป็นย่านที่พีคจัดๆ เหมือนอย่างเจริญกรุงหรือซอยนานา แต่น่าจะค่อยเป็นค่อยไป นิ่งๆ สบายๆ กว่า
“เราโชคดีอย่างหนึ่งที่เจอตรงนี้ ตึกทั้งหมดมีเจ้าของคนเดียวกัน ชุมชนที่อยู่ในนี้ก็เขาน่ารักมาก เขาช่วยเหลือกันทุกเรื่อง อย่างวันก่อนมีบ้านหนึ่งจะล้างแอร์ เขาก็ถามบ้านอื่นว่ามีใครจะล้างด้วยไหม มันมีการแชร์กัน มีความเป็นชุมชนที่เพื่อนบ้านรู้จักกันหมด”
กิมมิกของร้านกาแฟทั่วไปจะเป็นมุมถ่ายรูปสุดเก๋ แต่ที่นี่มีกิมมิกเป็นลานตากผ้าที่ทุกคนสามารถเอาผ้าบ้านตัวเองมาแชร์ตากบนราวได้ เพราะบ้านในตรอกนี้ไม่มีระเบียง ไม่มีที่ตากผ้า
“ฝนตกทีก็วิ่งไปเก็บกัน ตะโกนถามว่าอันนี้ของใคร อันนั้นของใคร ภาพแบบนี้จะหาได้จากที่ไหนอีกในกรุงเทพฯ จริงไหม ถ้าเราไปอยู่ในอาคารพาณิชย์ตรงอื่นคงไม่ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้
“วันดีคืนดีเราซื้อโต๊ะอิเกียมา อากง-อาม่าแถวนี้แกก็มาช่วยต่อนู่นต่อนี่ อย่างอาม่าร้านซาลาเปาข้างหน้าก็มาช่วยอุดหนุนเราด้วย แถมบางทีช่วยเรียกนักท่องเที่ยวเข้ามาร้านอีก เราแทบไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ทุกอย่างค่อยๆ รันของมันไปเอง แค่เราไม่ทำอะไรที่รบกวนคนอื่นก็พอ”
หลังจากถนนข้าวสารบูมสุดขีดในยุคหนึ่ง เมื่อเลยจุดพีคมาแล้ว วัฏจักรใหม่เริ่มขึ้นที่ย่านนี้ แล้วเสน่ห์บางอย่างของย่านนี้ก็ดึงดูดคนจากทุกที่ เราเริ่มเห็นคนอาคารเก่าถูกรีโนเวท เป็นโฮสเทล เป็นคาเฟ่ หรือบาร์
“เราว่าจริงๆ การที่ใครมาเปิดร้านอะไรสักร้านแถวนี้มันก็บอกเป็นนัยๆ เหมือนกันนะว่า คนเริ่มกลับมาเห็นอะไรบางอย่างของย่านเก่า ตึกเก่า มันมีเสน่ห์ในแบบของมัน ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดีในแง่ที่ว่ามันอาจช่วยดึงดูดคนให้มาแถวนี้ ทั้งผู้ประกอบการ ทั้งนักท่องเที่ยว เสาร์-อาทิตย์ทีมีคนมาเดินเล่น หาของกิน แล้วหลงๆ เข้ามาร้านเราบ้าง”
การอยู่กับชุมชนหมายถึงการนึกถึงส่วนรวม ภายในถ้ำจิ้งจอกไม่มีที่จอดรถ ถ้าเอารถมาต้องไปจอดในวัดแล้วเสียค่าจอดตามระเบียบ การจอดรถริมฟุตบาทถนนตะนาว นอกจากผิดกฎจราจร ยังถือเป็นการไม่เคารพชุมชน และชาวถ้ำจิ้งจอกไม่ปลื้มมนุษย์แบบนั้น!
“มาเปิดตรงนี้มันดีตรงที่ลูกค้าที่เข้ามาไม่ได้แค่มากิน ถ่ายรูป จ่ายสตางค์ แล้วออกไป แต่มันกลายเป็นที่เล็กๆ ให้คนมาพบปะพูดคุยกัน กลายเป็นว่าเราได้รู้จักคนใหม่ๆ ทุกวัน มันต่างกับตอนทำงานประจำมาก มันไม่จำเจเลย”
WHAT THE FOX (55.-)
พายโฮมเมด แบบที่เรียกว่า SAVORY ไส้เห็ดและผักโขม อบหอมๆ (70.-)
FISH & CHIPS (140.-)
BERRY CHEESECAKE (140.-)
เจ้าแมวอ้วนวิ่งตัดหน้าเราขณะก้าวขาออกจากร้าน หายขึ้นไปบนบันไดเหล็กสีดำหน้าร้าน บนนั้นอาจเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของชาวจิ้งจอกก็เป็นได้…
ต้องใช่แน่ๆ !
เราเดินตามแมวอ้วนขึ้นบันไดเหล็กไปยังชั้น 2 ของคาเฟ่ด้วยความอยากรู้ แต่กลับไม่พบอะไรนอกจากห้องที่ดูคล้ายสตูดิโอสีดำขนาดกระทัดรัด เจ้าแมวอันตรธานหายไปแล้ว เหลือแต่ซากจิ้งจกนอนแน่นิ่งให้ดูต่างหน้า
เกือบหันหลังกลับด้วยความหวาดหวั่น แต่ผู้ชายคนหนึ่งร้องเรียกเราเสียก่อน!
เขาคือ โต้ง-อภิชน รัตนาภายน นักทำหนังสารคดีอิสระ และช่างภาพฟรีแลนซ์ผู้เป็นเจ้าของสตูดิโอชื่อ Bandai Dam Studio (บันไดดำ สตูดิโอ) นี่เอง!
พี่โต้งเล่าว่าเขาเปิดให้เช่าสตูดิโอมาประมาณ 4 ปีแล้ว ก่อนที่พี่ชายพี่สาวคาเฟ่จิ้งจอกจะย้ายมาอยู่ เลยได้เป็นเพื่อนบ้านกันโดยบังเอิญ ด้วยความที่เป็นเพื่อนกับนักทำสารคดีอีกคน เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล ก็เลยคิดว่าพื้นที่ตรงนี้พอจะเป็นที่จัดฉายหนังได้ เพราะมีอุปกรณ์พร้อม จึงเกิดเป็น DAM‘N CINECLUB (ดำแอนซีเนคลับ) ถ้ำลับของหนังนอกกระแสแห่งนี้ขึ้นมา
“เราเน้นการฉายหนังที่คนดูมีส่วนร่วมกับคนทำหนังด้วย เหมือนดูหนังเสร็จแล้วเจอผู้กำกับฯ ตัวเป็นๆ มันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างคนดูกับคนทำมากกว่าการแค่มาดูหนังเฉยๆ ”
Are we there yet? ก่อนจะถึง “หมอนรถไฟ” คือการจัดกิจกรรมเสวนากลุ่มเล็กๆ ถึงเรื่องราวก่อนจะมาเป็นหนัง Railway Sleepers (หมอนรถไฟ) ของผู้กำกับฯ โบ๊ต-สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ซึ่งแม้จะเป็นครั้งแรกที่ DAM’N จัดกิจกรรม แต่ก็ได้การตอบรับอบอุ่นเกินคาดจากนักดูหนัง
“คนที่มาดูส่วนใหญ่เป็นแฟนหนังอินดี้อยู่แล้ว เราจัดให้ผู้กำกับฯ มานั่งดูกับพวกเขาด้วยเลย มันให้ความรู้สึกใกล้ชิดมากกว่าการฉายหนังในโรงปกติ เขาจะได้รู้เรื่องวิธีการ แนวคิด อะไรต่อมิอะไรของหนังเรื่องนั้นไปด้วย ทั้งห้องจุได้ราว 30 สิบคน เป็นการนั่งดูหนังที่เข่าเกยกัน แต่ไม่มีใครบ่นเลย เห็นคนดูมีความสุข เราก็ดีใจแล้ว”
เขาเล่าอีกว่าตั้งแต่ทำหนังสั้นกับหนังสารคดี ทั้งถ่ายเอง กำกับเอง ตัดต่อเอง มาจนตอนนี้ก็กว่า 5 ปีแล้ว หนังอินดี้ยังไม่ค่อยมี ‘พื้นที่’ มากนัก
“เวลาถึงฤดูกาลแจกรางวัล คนทั่วไปมักงงว่าหนังที่ได้รางวัลมันคือหนังอะไรวะ ไม่เห็นรู้จัก เพราะมันไม่มีโอกาสได้ฉายโรงใหญ่ หรือถ้าฉายก็ไม่นานพอ เป็นเรื่องที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังต่อสู้กันอยู่ อย่าง Documentary Club ของคุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผมรู้สึกว่ามันเข้าถึงคนหลากหลายกลุ่มขึ้น และทำให้วงการหนังสารคดีบ้านเราแข็งแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วย”
“DAM’N อยากเป็นแค่พื้นที่เล็กๆ ที่ช่วยให้คนทำหนังอินดี้มีที่ฉาย คนดูมีที่ดู แต่เราไม่ได้ไปจำกัดคนดูว่าต้องเป็นแฟนหนังอินดี้หรือคนในแวดวงนี้เท่านั้น จะเป็นใครก็ได้ที่อยากมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ เราอยากสนับสนุนให้คนทำหนัง ภาพเคลื่อนไหว หรืองานอาร์ตอะไรก็ได้ อยากให้มันเป็นพื้นที่ความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน”
โปรเจ็กต์ต่อไปของ DAM’N 002 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ จัดฉายหนังนอกกระแส 4 เรื่อง จาก 4 ผู้กำกับฯ ที่เคยไปร่วมเวิร์กช็อปหนังในต่างแดน หลังจากนั้นนักดูหนังก็จะได้พบปะเม้าท์มอยกับผู้กำกับฯ ตัวเป็นๆ อีก มันน่าทึ่งตรงที่กิจกรรมของ DAM’N พวกเขาทำฟรี ฉายฟรี ไม่เก็บเงินค่าดูเลยสักบาท เพราะจุดประสงค์ไม่ได้ทำเพื่อหารายได้ หวังเพียงแต่ให้หนังอินดี้กระจายตัวเข้าหากลุ่มคนใหม่ๆ มากขึ้นเท่านั้น
ข้างบนฉายหนัง ข้างล่างจิบเบียร์
ไม่ใช่แค่ฝัน แต่ชาวคณะจิ้งจอกลงมือทำให้มันเกิดขึ้นจริง…
“มันกลายเป็นการพึ่งพาอาศัยกันไปเอง วันหยุดยาวทีหนึ่งผมก็ไม่ออกไหน คลุกตัวกินกาแฟอยู่ในคาเฟ่นั่นแหละ”
__________
Fox Hole Art Shelter Café
290/4 ถ. ตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร
(สังเกตป้ายหน้าตรอกเล็กๆ ตรงข้ามวัดมหรรพารามฯ)
เปิดบริการทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร
วันจันทร์-วันพฤหัส 9.30-20.00 น.
วันศุกร์-วันอาทิตย์ 9.30-22.00 น.
โทร. 086-666 6432
www.facebook.com/Foxholebkk/
DAM‘N CINECLUB
ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของร้าน Fox Hole
**อัพเดต** ที่นั่งในกิจกรรมฉายหนัง+เสวนา DAMN 002 เต็มเป็นที่เรียบร้อยแล้วจ้า ยังไงลองติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมครั้งต่อไปของพวกเขากันได้ที่
www.facebook.com/damncineclub/
Writer : Wednesday
—
RECOMMENDED CONTENT
ยูนิโคล่ แบรนด์เครื่องแต่งกายระดับโลกจากญี่ปุ่น ตอกย้ำปรัชญา LifeWear ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายคุณภาพดีที่เหมาะกับทุกสไตล์ ด้วยการเปิดตัวโฆษณาทางโทรทัศน์ชุดใหม่ UNIQLO SMART ANKLE PANTS