หากยังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้ว เราพาชาว Dooddot ไปรู้จักกับโปรเจ็กต์สุดสร้างสรรค์ ‘นำศิลปินไทยสู่สากล’ โดย สิงห์ปาร์ค เชียงราย ภายใต้ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่ชวนศิลปินไทยอย่าง ‘บรรเจิด เหล็กคง’ ไปโชว์ผลงาน ณ Agora Gallery แกลเลอรี่อันดับต้นๆ ในนิวยอร์ก มหานครที่เต็มไปด้วยสีสันของงานศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของศิลปินไทยใน Agora Gallery และยังได้สร้างกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มคนรักงานศิลปะไม่น้อย
และในปีนี้เอง สิงห์ปาร์ค เชียงราย ก็ยังไม่หยุดค้นหาศิลปินเลือดใหม่ไฟแรง เพื่อคัดสรรผลงานไปแสดงฝีมือสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง จนได้เจอกับ สัจจา สัจจากุล ศิลปินมากประสบการณ์ ผู้ช่ำชองงานเขียนภาพหลากหลายเทคนิค สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเชิงวิพากษ์สังคม (Social Critic) มานานกว่า 30 ปี
เราขอพาคุณไปทำความรู้จักกับ สัจจา สัจจากุล และแนวคิดเบื้องหลังผลงานชุด ‘Sensorial Reality’ ทั้ง 12 ชิ้น ซึ่งกำลังจะบินตรงไปจัดแสดงยัง Agora Gallery ในปีนี้กัน!
เริ่มจากความรัก
สัจจา สัจจากุล เป็นชาวจังหวัดชุมพร เขารู้ตัวว่าชอบวาดเขียนมาตั้งแต่เด็ก โดยพรสวรรค์ที่เขาได้รับคือการวาดลายเส้นพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ และภาพตัวละครในมหากาพย์รามเกียรติ์ เมื่อมีโอกาสได้อ่านหนังสือชีวประวัติของ วินเซ็นต์ แวนโก๊ะ เขารู้สึกความหลงใหลในศิลปะมากเข้าไปอีก และฝันอยากเป็นศิลปิน หลังจากจบจากวิทยาลัยช่างศิลป์ วังหน้า เขาเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นั่นทำให้เขาได้วิชาจากครูบาอาจารย์ศิลปินมือดีหลายท่าน
ตั้งคำถามกับชีวิต
เรื่องร้ายแรงที่เกิดกับสมาชิกในครอบครัวของสัจจาหลายเหตุการณ์ได้ทำให้เขาตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิต ครุ่นคิดถึงชีวิต เกิดเป็นแรงผลักดันให้เขาสนใจศึกษางานศิลปะแนววิพากษ์สังคม ทั้งงานจิตรกรรมและวรรณกรรม เมื่อเรียนจบ เขาทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ในตำแหน่ง Visualizer ออกแบบโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้หยุดเขียนภาพงานศิลปะไปราว 10 ปี แต่ขณะเดียวกันเขาก็ได้ฝีมือในงานเชิงพาณิชย์กลับมาด้วย เมื่อมีประสบการณ์มากพอจึงออกมาตั้งบริษัทโปรดักชั่นเล็กๆ ของตัวเองร่วมกับภรรยา จนกระทั่งเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 งานที่เคยเฟื่องฟูก็ซบเซา นั่นเองทำให้สัจจากลับมาคิดทบทวนถึงความรักในงานศิลปะที่ห่างหายไปจากชีวิต เขาเริ่มทดลองเขียนรูปแนววิพากษ์สังคม และ Symbolism ถึงความสัมพันธ์ของชีวิตคน สัตว์ กับธรรมชาติไปด้วย ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกปฏิเสธจากแกลเลอรี่หลายแห่งว่า งานของเขาดู ‘หนัก’ แต่ก็ยังยึดมั่นในแนวทางที่ตัวเองเชื่ออยู่เสมอ
สัจจาเริ่มทำผลงานวิพากษ์สังคมชุดใหม่ Pictorial Mind ในปี 2557 แสดงถึงเรื่องราวของจิตใจมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานวรรณกรรม และเหตุการณ์จริง โดยมองทะลุเหตุการณ์เข้าไปจับที่แก่นสาระสำคัญ แล้วผูกเรื่อง คิดวางโครงสร้างขึ้นมาใหม่ วิธีนี้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทุกกระบวนการ จึงสามารถเข้าถึงหัวใจมนุษย์ได้โดยตรง
มองมนุษย์ ไม่หยุดวิพากษ์
“ผมทดลองสร้างงานศิลปะแนววิพากษ์สังคม โดยเริ่มจากเขียนภาพที่ชื่อว่า Our Standing และ Your History ซึ่งมองสภาพที่มนุษย์และสังคมเป็นอยู่ในสังคมโลกโดยรวม จากนั้นก็พัฒนางานมาเรื่อยๆ จนเริ่มเขียนงานชุดใหม่ชื่อ Toxic พูดถึงวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่แปดเปื้อนด้วยพิษภัยต่างๆ จากเทคโนโลยีและความล้ำสมัย โดยใช้ผสมผสานระหว่าง Surrealism กับ Neo Realism ย้อมบรรยากาศของภาพด้วยสีแดงเพื่อให้อารมณ์สัมพันธ์กับเนื้อหา จากการทำงานชิ้นนี้ ทำให้ผมมั่นใจว่าได้ค้นพบแนวทางของตัวเองเองอย่างสมบูรณ์ และเป็นงานชิ้นที่ผมชอบที่สุด”
ท่าทีของสังคมไทยที่ก้าวออกไปแข่งขัน เผชิญกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชี่ยวกรากด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ถูกเขาตีความออกมาในผลงานชื่อ Combative
นอกจากนั้น The Bravery และภาพ Self Portrait ชื่อ Hallucination ยังแสดงอารมณ์สะท้าน หวาดหวั่น ต่อความเปลี่ยนแปลงของอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาและอาจควบคุมได้ดีอีกด้วย
“ในฐานะศิลปิน งานของผมต้องมีเนื้อหาที่แสดงถึงจิตใจของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นภาพสะท้อนที่มีประโยชน์ต่อสังคม ต่อโลก ต่อผู้คนทั้งหมดด้วย” สัจจากล่าว
ภาพทั้งหมดของสัจจาวาดด้วยสีน้ำมันบนเฟรม พูดถึงสภาวะทางจิตใจที่เกิดจากผลกระทบจากความกดดันของวิถีชีวิตสมัยใหม่ในแง่มุม ต่าง ๆ กัน เช่น ความกลัวในอนาคตที่ไม่แน่นอน ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการปะทะกันของสิ่งเก่าและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ผสมผสานในรูปแบบ Surrealism กับ Social Realism
นับเป็นอีกครั้งที่สิงห์คนไทยจะได้ชื่นชมและภาคภูมิใจไปกับศิลปินไทยบนเวทีระดับโลก!
ติดตามข่าวสารโปรเจ็กต์ต่างๆ จากสิงห์ปาร์ค เชียงราย ได้ที่ http://www.singhapark.com/
RECOMMENDED CONTENT
เสนอโปรโมชั่นพิเศษท่องเที่ยวภาคใต้แบบโดนใจ พร้อมชวนออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ กับภาคใต้ช่วงหน้าฝน พร้อมช่วยกันเปิดมุมมองรีวิวเมืองรองปักษ์ใต้ ชิงเงินรางวัลกว่า 2 แสนบาท