“ถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจมาหาเรา คุณจะไม่เห็นเรา”
“คนที่อยากจะรู้ กับคนที่รู้แล้วว่าข้างในมีอะไร และอยากจะค้นหาต่อเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิเดินผ่านประตูนี้เข้ามาอย่างมีมารยาท”
ประโยคที่คุณอุ้ม ปณิดา ทศไนยธาดา สาวเซอร์ผู้รักความสงบเจ้าของ ‘Bangkok Publishing Residence (BPR)’ กำลังบอกกับเราหลังจากที่คุยกันมาพักใหญ่ ทำให้เข้าใจตัวตนของคุณอุ้มที่สะท้อนจุดยืนของที่นี่ เพราะไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามา แต่ต้องตั้งใจมาหาแบบเดียวกับเราในวันนี้
ซึ่งคงจะจริงอย่างที่คุณอุ้มว่า เพราะทุกอย่างที่เรากำลังจะพูดถึงด้านในนี้ถูกแอบซ่อนไว้ในอาคารสูง 4 ชั้น มองผิวเผินภายนอกก็คือตึกปูนสีเทาธรรมดา แต่หลายคนยังไม่รู้ว่าภายในมีเรื่องราวในอดีตแฝงอยู่ และอัตลักษณ์ที่เราพยายามจะพูดถึงก็เริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รูปแบบที่มีรายละเอียดยิบย่อยเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่ประตูด้านหน้าจะมี รปภ. คอยดูแลความเป็นส่วนตัวของผู้มาพักจากบุคคลภายนอก และถ้าหากได้เปิดประตูเข้ามาแล้วก็จะได้สัมผัสบรรยากาศที่แตกต่างจากข้างนอกโดยสิ้นเชิง
ย้อนอดีตโรงพิมพ์เก่า
“ตึกนี้เป็นอาคารเก่า ที่เป็นทั้งโรงพิมพ์และบ้านอุ้ม ย้อนไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว คุณตาคุณยายเริ่มเช่าจากคูหาเดียวก่อน จนขยายเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 6 คูหา ท่านคลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือ รู้จักกับนักเขียนจนเปิดโรงพิมพ์ โดยชั้นล่างเป็นแท่นพิมพ์ ส่วนชั้น 2 และ 3 เป็นที่ตัดเย็บ ทุกคนอยู่ที่นี่จริงๆ ครอบครัวตอนนั้นก็อยู่ชั้น 4 กระทั่งมีเหตุการณ์ทางการเมืองจนต้องย้ายออก เราเองก็ย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง เมื่อระยะเวลาผ่านไปโรงพิมพ์แห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างอยู่หลายปี จนคุณยายมาสะกิดอุ้มว่า ให้เอาไปทำอะไรหน่อยสิ แถมแนะว่าน่าทำโรงแรมนะ”
คาแร็กเตอร์เจ้าของ สะท้อนคาแร็กเตอร์ที่พัก
หลังจากนั้น คุณอุ้มจึงตัดสินใจทำตามที่คุณยายแนะนำ พร้อมกับสำรวจย่านหลานหลวงในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยโฮสเทล โรงแรม และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งหลักๆ คุณอุ้มอยากทำพิพิธภัณฑ์ จึงนำโจทย์ที่จะทำโรงแรมมาทำร่วมกัน ในคอนเซ็ปต์ที่เกิดจากความชอบส่วนตัว รวมถึงคาแร็กเตอร์ของคุณอุ้มที่ส่งผ่านมายัง ‘Bangkok Publishing Residence’ ด้วย
“กิมมิคของที่นี่ ก็คือโรงพิมพ์ ถือเป็นกิมมิคจริงที่เคยเกิดขึ้น และเรายังสร้างความรู้สึก comfort elegance cozy และที่สำคัญคือ mysterious ซึ่งก็จะเน้นความลึกลับ น่าค้นหา เช่น ป้ายตรงประตูด้านนอกจะเล็กมาก เพราะเราตั้งใจซ่อน และด้วยความที่ส่วนตัวเป็นคนชอบความสงบ ชอบความเป็นส่วนตัวสูง ก็เลยเลือกทำห้องเพียง 8 ห้องเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามาตรฐานจะต้องดีพอๆ กับที่แม่ของอุ้มเคยพักทุกครั้งที่ออกไปท่องเที่ยว เพราะแม่มาตรฐานสูงมาก และพออุ้มได้สัมผัสอะไรแบบนี้จึงเข้าใจว่าลูกค้าระดับนี้เขาคาดหวังอะไร”
สไตล์ในแบบของคุณอุ้ม
อย่างที่บอกว่าคุณอุ้มใช้มาตรฐานที่ตัวเองคุ้นเคย จนเรียกได้ว่านำตัวเองมาเป็น target ก็ว่าได้ และด้วยความที่ไม่ได้คิดแบบนักธุรกิจ จึงทำให้ธุรกิจรูปแบบนี้ดึงดูดใจผู้เข้าพักอย่างน่าหลงใหล นั่นเพราะคุณอุ้มเลือกใส่สิ่งที่ชอบอย่างการทำพิพิธภัณฑ์ แฝงไว้ในโรงแรมซึ่งจุดนี้ทำเงินได้ และเมื่อเราถามถึงสไตล์ของที่นี่ คุณอุ้มก็ตอบกลับมาว่า “เพื่อนอุ้มที่เดินเข้ามาทุกคนจะบอกว่านี่คือสไตล์อุ้มเลย บางทีอุ้มก็สงสัยเหมือนกันว่าแปลว่าอะไร ปกติแล้วอุ้มเป็นคนสะสมของเก่า โดยเฉพาะที่มีคุณค่าทางจิตใจ ฉะนั้นอุ้มจึงพยายามสื่อสิ่งที่มีอยู่และอุ้มให้ความสำคัญ ด้วยการจัดการของบางชิ้นเก็บใส่ตู้กระจก เช่นหนังสือเก่า บางชิ้นต้องการให้คนหยิบจับได้ก็เอาออกมาวาง บางส่วนมีถุงมือยางให้ ของทุกชิ้นที่วางอยู่ อุ้มอยากให้คนที่มาพักได้ใช้งานจริง เหมือน interactive museum”
ค้นหาเรื่องราวที่แฝงอยู่ภายใน BPR
สิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่แอบซ่อนอยู่ในการตกแต่ง โดยดึงอารมณ์ผู้มาพักให้รู้สึกเหมือนที่นี่เป็นบ้าน เหมือนมาบ้านเพื่อนชื่อ ‘อุ้ม’ ในขณะเดียวกันการเล่าเรื่องก็ต้องไม่ให้ดูเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีการเล่าเรื่องราวอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ประวัติศาสตร์ของย่านนี้ ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 ที่มีทั้งโรงละครนาฏศิลป์ โรงดนตรี เราจึงเห็นโถงชั้นล่างถูกจัดอีเวนต์เล่นดนตรีแบบ exclusive และนำเครื่องดนตรีมาตกแต่งด้วย
ต่อมาเป็นการเล่าเรื่องราวของ สิ่งพิมพ์ทั้งโลก ใช้สื่อกลางเป็นเครื่องโรเนียว ก็จะเห็นเครื่องนี้ในแต่ละยุค กระดาษที่ใช้ตีพิมพ์ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงตามยุค จากชั้น 1 เป็นม้วนแข็ง พอขึ้นชั้น 2 ก็เป็นมัด ก็จะเห็นเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์ที่พัฒนาขึ้นอย่าง พิมพ์ดีดไฟฟ้า เป็นต้น
สุดท้ายคือเรื่องราวของ สำนักพิมพ์บางกอก สื่อให้เห็นว่าในยุคที่เฟื่องฟูมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะหนังสือในเครือกว่า 10 หัว แท่นพิมพ์ ล็อคเกอร์ (แม้สนิมจะกินก็ตาม) แต่โซนที่เราชอบเป็นพิเศษ คือโซนออฟฟิศคุณวิชิต เป็นการจำลองห้องทำงานของคุณวิชิต โรจนประภา ซึ่งเป็นคุณตาของคุณอุ้ม ผู้ก่อตั้งหนังสือบางกอก ซึ่งเป็นบรรยากาศที่มีทั้งขวดเหล้า รูปภาพ โต๊ะทำงานจริงๆ ถูกจัดวางให้เหมือนจริงมากที่สุด ราวกับทุกอย่างยังถูกจับต้องใช้งาน
“ส่วนการตกแต่งแต่ละห้องก็ไม่เหมือนกัน แม้จะจัดธีมให้มี mood & tone เดียวกัน แถมเน้นฟังก์ชั่นใช้งานได้จริง และด้วยความที่ใช้ของเดิมเยอะ เฟอร์นิเจอร์เก่า โคมไฟ อุ้มก็จะใช้ความรู้สึกตัวเองจัดวางแต่งห้อง โจทย์คือคิดแล้วว่าห้องนี้แต่งให้ใครอยู่ เหมือนแต่งบ้านหลังใหญ่แล้วแต่งห้องให้สมาชิกในครอบครัวอยู่ ดังนั้นเมื่อแขกเข้ามาพัก หากไม่ได้ request มา เราก็จะเลือกห้องที่เหมาะให้” โดยการตกแต่งทั้งหมดจะถูกปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เพราะเมื่อเจอเฟอร์นิเจอร์ที่ใช่คุณอุ้มก็พร้อมจะนำมาเสริม
โรงแรมเล็กที่แตกต่าง
คุณอุ้มบอกกับเราว่า จุดที่ทำให้โรงแรมเล็กๆ แตกต่างกัน อยู่ที่เรื่องของการทำ CI (Corporate Identity) หรือ อัตลักษณ์องค์กร ดังนั้นเราจึงเห็นการใส่ใจทุกละเอียดที่สร้างสรรค์ออกมาด้วยความตั้งใจ ทำเอาเราทึ่งมากๆ เพราะของแต่ละชิ้นบ้างก็ทำด้วยมือ น้อยชิ้นมากที่จะพิมพ์แล้วปริ้นท์ เรียกว่าคุณอุ้มทำเองทุกอย่างตั้งแต่ป้ายห้อง ออกแบบโลโก้โรงแรมและฟอนต์ที่ใช้ทั้งหมด ขวดแชมพู สบู่ เพื่อให้ทั้งสีและกลิ่นบ่งบอกถึงความขลัง
แม้ในขณะที่นั่งคุยกันอยู่ก็ยังได้กลิ่นไม้ กับ Essential Oils หรือ น้ำมันหอมระเหยไม่ผสมอะไร เราจึงสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติที่ผสมผสานกับความดิบเท่ของเหล็กในรูปแบบโรงพิมพ์ นอกจากนี้ยังมี สลิปเปอร์และชุดคลุมอาบน้ำ ที่คุณอุ้มออกแบบและเลือกสีเองเพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็นจีนยุคก่อน อีกทั้งรายละเอียดเรื่อง branding concept design ก็เห็นได้จากของใช้เล็กๆ น้อยๆ ตรายางและตราประทับครั่ง การเลือกสีปากกาหมึกคุมโทน แดง ทอง ดำ รวมไปจนถึงทีมที่ช่วยกันจัดดิสเพลย์ด้วย
ฝากถึงคนที่อยากทำธุรกิจประเภทนี้
“แม้จะสนุกกับสิ่งที่เราชอบ แต่สิ่งหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ นั่นคือ เรายังมีทีมหลังบ้าน แค่ความรู้กับความสามารถยังไม่พอ ต้องใช้ตรรกะของมนุษย์ธรรมดาและรู้ว่าธุรกิจต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทำแค่เพราะอยากจะทำแบบนี้เท่านั้น ฉะนั้นจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ อย่าเอาคนเป็นตัวตั้ง ให้วางระบบไว้เป็นตัวตั้งแล้วเอาคนไปแทน แต่ก่อนจะตั้งระบบได้เราต้องเอาตัวเองทำทุกอย่างก่อน ถึงจะรู้ว่าระบบจริงๆ คืออะไร”
—
Bangkok Publishing Resident
ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
RECOMMENDED CONTENT
หลังจากยอดขายถล่มทลายทั่วโลก นี่คือสุดยอดเมนูนวัตกรรมใหม่ล่าสุด เอ้ย ล่าสัตว์! ครั้งแรกจาก ‘ทาโก้ เบลล์’ (Taco Bell) ที่ทาโก้จะโนแป้ง!