หวังว่าเย็นนี้ฝนคงไม่ตก หวังว่าจะไม่โดนเท หวังว่าประเทศจะมีทางออก หวังว่าพรุ่งนี้หวยออกคงไม่ถูกกิน ฯลฯ
หรือแม้แต่หวังให้พรุ่งนี้ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อจะได้มีความหวังกันต่อไป
ในเมื่อหวังกันไป ก็ได้แต่หวัง ไม่เสียสตางค์ ไม่ผิดกฎหมาย… ผิดหวังบ้าง สมหวังบ้างเป็นไร?
ช่างภาพอิสระและนักเล่าเรื่องด้วยภาพ Adam Birkan ก็ตั้งคำถามกับความหวังไม่ต่างกัน หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เขาออกเดินทางไปทั่วยุโรปและเอเชียเพื่อตระเวนถ่ายรูปเป็นอาชีพ เขาคือหนึ่งในช่างภาพ Magnum’s 30 Under 30 และ PDN 30 เจ้าของรางวัลชนะเลิศ National Geographic 2014 นอกเหนือจากงานโฆษณาและงานสื่อสิ่งพิมพ์ที่เขาถนัดนัก ซีรีย์ภาพถ่ายสารคดีจากสายตาของเขาที่มีต่อผู้คนและสังคมก็ช่าง ‘ร้ายกาจ’ เอาเรื่อง!
กว่า 3 ปีมาแล้วที่ข่างภาพหนุ่มเดินทางมาพำนักอยู่ใน ‘กรุงเทพฯ’ ที่ๆ เขาใช้เวลาปีครึ่งเฝ้ามองสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นผ่านหน้าต่างอพาร์ทเม้นต์บานเดิมทุกวันบนชั้น 34
ฟังดูเป็นโปรเจ็กต์ที่แสนขี้เกียจ เพราะบางวันก็น่าเบื่อ แต่บางวัน บางวันโชคก็เข้าข้างเขา…
ไอเดียของโปรเจ็กต์ Hope Land เริ่มต้นมาจากไหน?
มันเป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวของผมเอง ผมสังเกตเห็นว่าใกล้ๆ กับอพาร์ทเม้นต์ที่พักอยู่แถวอ่อนนุช มีป้ายไฟนีออนสีชมพูอยู่ป้ายหนึ่ง เขียนว่า ‘Hope Land’ ไม่แน่ใจว่ามันคือโรงแรมหรืออะไร แต่ผมรู้สึกสะดุดตากับมันมาก ผมเลยถ่ายรูปเก็บไว้ บางครั้งโปรเจ็กต์อะไรสักอย่างก็เริ่มจากการถ่ายรูปๆ หนึ่ง แล้วเรารู้สึกอิมแพ็คกับมันนั่นแหละ
แปลว่าจากวันนั้น คุณใช้เวลาปีครึ่งรอสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นผ่านหน้าต่าง?
สาเหตุที่ผมใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะได้ภาพที่คิดว่าใช่จำนวนหนึ่ง ก็เพราะผมไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยว่าวันนั้นจะเจอกับอะไร ภาพถ่ายสารคดีเป็นอะไรที่คุณควบคุมโจทย์ไม่ได้ อย่างภาพที่ผมถ่ายรถชนบนทางด่วน ผมก็ไม่ได้ไปบอกเขาว่า ‘เฮ้ พี่ช่วยรถชนวันนี้หน่อยได้มั้ยครั้บ ผมอยากได้ภาพ’ อะไรแบบนั้น
ความแตกต่างระหว่าง Street Photography กับ Documentary Photography คืออะไร?
Street คิดจากการถ่ายภาพ รองลงมาคือเนื้อหา แต่สำหรับผมที่ถ่าย Documentary คือคิดจากเนื้อหา หรือเรื่องที่จะเล่าก่อน แล้วค่อยหาวิธีถ่ายทอดมันออกมา ซึ่งผมสารภาพว่ามันไม่ง่ายเลย เพราะในขณะที่อยากได้ภาพเจ๋งๆ อีกด้านหนึ่งก็ต้องเล่าตามความเป็นจริงในแบบที่มันเป็นโดยไม่ปรุงแต่งด้วย
โปรเจ็กต์ก่อนหน้านี้ เป็นภาพถ่ายที่ฮานอย ฮ่องกง สิงค์โปร์ มาคราวนี้ก็กรุงเทพฯ ทำไมคุณถึงสนใจความเป็นไปในภูมิภาคเอเชียนัก?
คือจริงๆ โปรเจ็กต์ที่ผ่านมาของผมมันเหมือนเป็นแบบฝึกหัดมากกว่า มันไม่ใช่ว่าผมคิดว่าที่ไหนน่าสนใจกว่าที่ไหน เนื่องจากหน้าที่การงาน ทำให้ผมเดินทางค่อนข้างบ่อย บางประเทศก็ไปมากกว่า 1 ครั้ง อย่างครั้งแรกที่ผมไปฮานอย เวียดนาม ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปถ่ายรูป แต่ไม่นึกว่าจะหลงเสน่ห์เมืองเก่าแก่ที่ผสมวัฒนธรรมฝรั่งเศส จีน อเมริกัน เข้าไว้ด้วยกันอย่างเมืองนี้ เป็นเมืองที่มีเรื่องราวอยู่ทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่ตึกรามบ้านช่อง จนถึงวิถีชีวิตคนที่นั่น ทำให้ผมกลับไปอีกครั้งเพื่อทำ โปรเจ็กต์ Hanoi บางครั้งรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม โดยใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือ
อีกอย่าง ผมเป็นช่างภาพ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก มันน่าเสียดายมากหากช่างภาพไม่ค้นหาวัตถุดิบจากที่ๆ ตัวเองอยู่ ในเมื่อเราต่างมีมุมมองของตัวเอง มีกล้องอยู่ในมือ คล้ายๆ กับการที่เชฟใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการปรุงอาหารนั่นแหละ ถ้าผมอยู่โตเกียว หรือปารีส เรื่องเล่าก็คงจะต่างไปอีก
คุณมองหาอะไรเวลาเดินทางเพื่อถ่ายภาพแต่ละครั้ง?
เวลาไปเมืองไหนเพื่อถ่ายภาพ ผมมักใช้เวลา 4-5 วัน และเลือกการเดินให้มากที่สุด เจออะไรน่าสนใจก็ถ่ายมา แล้วดูว่ามีอะไรบ้างที่เชื่อมโยงกัน จนพัฒนามาเป็นซีรีย์เดียวกันได้
คนมักมองความต่างทางวัฒนธรรมแบบสุดขั้ว แบบ Culture Shock หรือความ Exotic ต่างๆ เวลานึกถึงเอเชีย แต่ผมมองหาสิ่งๆ หนึ่งที่เป็นธรรมดา เป็นวิถีชีวิต คนไปทำงาน เด็กไปโรงเรียน เป็นอะไรก็ตามที่เรามีเหมือนกัน
สิ่งที่เหมือนกันในเมืองใหญ่เหล่านั้นคืออะไร?
ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่นับวันมันยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่ผมไม่ได้บอกว่าจะมาแก้ปัญหาหรืออะไรแบบนั้น เพราะรู้ว่าผมทำไม่ได้ รู้แค่ว่าหน้าที่ของผมคือทำให้คนเห็น และรับรู้ความเป็นจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งงานของผมจะเป็นเครื่องยืนยันความจริงนั้น
ทำไมคุณเลือกจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำ?
ทุกเมืองมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ผมมาจากเมืองที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ปรากฏชัดเจนนัก พอเดินทางมาที่เอเชีย แม้กระทั่งย้ายมาอยู่ที่นี่ มันชัดมาก ทั้งช่องว่างระหว่างฐานะทางสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นปัญหาในทุกประเทศทั่วโลกแหละ แม้แต่เมืองใหญ่อย่างสหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส ทุกที่ ขนาดแต่ละจังหวัดในประเทศไทย เทียบกับกรุงเทพฯ ยังไม่เหมือนกันเลย ผมถ่ายรูปมาเรื่อยๆ แบบไม่ได้ตั้งใจมองหาความย้อนแย้งหรืออะไร แต่สิ่งนี้กลับปรากฏชัดเจนอย่างเลี่ยงไม่ได้
แต่งานคุณแม่งโคตรตลกร้าย ทั้งที่พูดเรื่องซีเรียส
ใช่เลย มันจะตลกแบบเศร้าๆ หน่อย (หัวเราะ) อาจจะเป็นตัวตนของผมมั้ง ที่ชอบมองหาอารมณ์ขันเวลาเจอสถานการณ์แย่ๆ เวลาถ่ายรูปออกมาเลยเป็นแบบนั้น
ผมถ่ายทอดสิ่งที่ผมเห็น อย่างโปรเจ็กต์ภาพถ่ายเมืองพัทยา ชื่อ Beached เรารู้กันว่าพัทยาเป็นยังไง และปัญหาซีเรียสจริงๆ ของมันคืออะไร แต่ผมไม่ได้เข้าไปถ่ายเจาะด้านมืด เข้าไปตีแผ่ว่า โอ้โห มันเลวร้ายอย่างนั้นอย่างนี้นะ ผมแค่ถ่ายความเป็นไปในเมืองตากอากาศริมทะเลเมืองหนึ่ง แล้วมันก็ออกมาอย่างที่คุณเห็น
พ่อของผมมีเชื้อสายแอฟริกาใต้ ผมเกิดในอิสราเอล โตที่สหรัฐฯ สายตาที่ผมมองเห็นโลกคือเราแตกต่างกัน เราหลากหลาย สิ่งที่ผมทำจึงไม่ใช่การวิพากษ์หรือตัดสิน ว่าสิ่งนี้ขาว สิ่งนี้ดำ หรือแม้กระทั่งเทา มันแค่แปลก แปลกในความหมายของผมไม่ได้หมายความในด้านลบ แต่แปลว่า ‘แตกต่าง’
คิดว่าการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเมืองใหญ่เป็นปัญหามั้ย?
เป็นแน่นอน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นก็จริง แต่มันเหมือนฟิลเตอร์ที่กรองเฉพาะด้านที่อยากให้นักท่องเที่ยวเห็นมากกว่า เราเลือกอนุรักษ์บางอย่าง ในขณะที่สิ่งอื่นค่อยๆ หายไป นักท่องเที่ยวมาก เงินมาก วัฒนธรรมเสื่อมถอย
แล้วคุณว่าเรา-ในฐานะชาวเมือง จะรับมือกับมันได้ยังไงบ้าง?
ยกตัวอย่างเช่นซอยนานา เยาวราช ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เรารู้กัน ผมเห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามรักษาสิ่งเก่า ไม่ใช่ความหมายของการอนุรักษ์แบบแตะต้องไม่ได้นะ แต่เป็นการทำให้มันร่วมสมัยและอยู่กับโลกปัจจุบันได้ ที่สำคัญคือทำให้คนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น บาร์ที่เอากลิ่นอายจีนย้อนยุคมาใส่ อย่าง Ba Hao หรือเทพบาร์ ที่เอาความเป็นไทยมาทำให้ย่อยง่ายขึ้น การอนุรักษ์ต้องอาศัยความเข้าใจของคนเจเนอเรชั่นใหม่ เราจะเดินไปข้างหน้ายังไง ถ้าไม่รู้จักรากของตัวเองอย่างถ่องแท้เสียก่อน ผมว่าการพัฒนาเป็นเรื่องดี ตราบเท่าที่เรายังรักษาวัฒนธรรมไว้ได้
ความหมายของ Hope สำหรับคุณคือ?
มันไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งอะไรหรอก ผมแค่ชอบประโยคหนึ่งของ Aristotle นักปราชญ์สมัยกรีกที่บอกว่า ‘Hope is a waking dream.’ หมายถึงความฝันเมื่อยามตื่น มันคือสิ่งเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงเรา ทำให้มีพลังตื่นขึ้นมาในทุกเช้า ออกไปทำหากิน ออกไปใช้ชีวิตกันต่อไป ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอะไร จนหรือรวย ความหวังคือความเท่าเทียมเดียวที่ทุกคนพึงมีเหมือนกันได้
เข้าไปดูโปรเจ็กต์เจ๋งๆ ก่อนหน้านี้ของเขาได้ที่
adambirkanphoto.com/
__________
นิทรรศการภาพถ่าย Hope Land
โดย Adam Birkan
วันนี้ – 24 กันยายน 2560
ชั้น 2 Jam Café BKK
41 ซอยโรงน้ำแข็ง (เจริญรัถ ซอย 1)
สาทร (BTS สุรศักดิ์ ทางออก 2)
เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์
ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น.
089-889-8059
_
RECOMMENDED CONTENT
ยูนิโคล่ แบรนด์เครื่องแต่งกายระดับโลกจากญี่ปุ่น ตอกย้ำปรัชญา LifeWear ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายคุณภาพดีที่เหมาะกับทุกสไตล์ ด้วยการเปิดตัวโฆษณาทางโทรทัศน์ชุดใหม่ UNIQLO SMART ANKLE PANTS