“มันจะมีคำพูดของน้องๆ ที่ร้านว่า ทุกครั้งที่พี่ธีเปิดสาขาใหม่ พี่ธีจะล้มละลาย” ชายหลังบาร์ว่า
ไม่ใช่บาร์ค็อกเทล แต่เป็นบาร์น้ำชา
“จริงๆ ไม่ได้อยากเร่งเปิดหรอก แต่ในเมื่อมีโอกาสได้โลเกชั่นที่ดีที่สุด เราจะทำ”
ความมุ่งมั่นในแววตายังเหมือนเดิม ไม่ต่างจาก 2 ปีก่อน ตอนเราพบเขาครั้งแรก
___________
ในยุคที่กรุงเทพฯ หาร้านกาแฟง่ายกว่าร้านข้าวแกง สถานะของ ‘ชา’ ไม่ได้คูลเท่ากาแฟ Cold Brew ขนาดนั้น มันอยู่ในจุดที่เป็นแค่เครื่องดื่มรีฟิลในร้านอาหารญี่ปุ่น หรือไม่ก็เป็นของฝาก (แบบขอไปที) แก่ญาติผู้ใหญ่ช่วงเทศกาล ภาพโรงน้ำชามีแค่อากงอาม่ามานั่งคุยกันเนิบๆ
เราแทบไม่รู้จักชาในแง่มุมอื่น…
ทว่าตั้งแต่ร้านชาคูหาเล็กๆ ในซอยเอกมัยถือกำเนิดขึ้นโดยเขา –ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ และทีมงานกลุ่มเล็กๆ จำนวนหนึ่งซึ่งได้ถางทางไว้เมื่อ 2 ปีก่อน Peace Oriental Tea House กลายเป็นร้านน้ำชา Luxury Tea House แห่งแรกที่จริงจังเรื่องวัฒนธรรมชาตะวันออก จนบางคนเรียกพวกเขาว่า ‘Omakase of Tea’ ถึงคุณไม่รู้จักพวกเขาเลย แต่เชื่อว่าอย่างน้อยก็น่าจะเคยได้ยินชื่อเสียงความพิถีพิถันของชาที่นี่บ้างละน่า!
เราตัดสินใจว่า นี่ล่ะ… คือเวลาที่ต้องกลับมาเยี่ยมพวกเขาอีกครั้งที่สาขาใหม่เอี่ยมเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ณ ชั้นใต้ถุนของตึกหรูย่านพระรามเก้า เพื่อขอกินชา เอ่อ…ไม่ใช่สิ เพื่อสนทนาถึงความเป็นไปของ Peace ในขวบปีที่ 2
“โจทย์ของเราในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน โจทย์แรกที่สุดของ Peace คือในเมื่อคนไทยมองว่าชาจีนเป็นของราคาถูก คนรุ่นใหม่มองว่าการชงชามัน out เราเลยต้องแก้ความคิดนี้ให้เขารู้ว่าความจริงไม่ใช่แบบนั้น ซึ่งเราทุบโจทย์แตก เพราะคนที่เข้ามาแทบไม่ใช่คนแก่เลย เราไม่เปลี่ยนแก่นสารเดิม แค่จับมันแต่งตัวใหม่ ใส่สูท ผูกเน็กไท สร้างสะพานให้คนเข้าถึงด้วยการทำร้านสวยๆ ”
“แต่ถ้าเรายังทำแบบนั้นไปเรื่อยๆ มันจะผิดเป้าหมาย เพราะคนจะคิดว่ามันเป็นของสโลว์ไลฟ์ เป็นประสบการณ์ เป็นโอกาสพิเศษ ไม่ใช่วิถีชีวิต เราคิดว่าแก่นสารใดๆ ไม่ควรแค่ถูกรักษาไว้ เพราะถ้ารักษาแต่ขนบ มันจะเหลือแต่เปลือก ข้างในกลวง”
“โจทย์ของ Peace ตอนนี้คือคนต้องเดินเข้ามาร้านแล้วไม่รู้สึกกดดัน อาจมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อยู่บ้างสัก 1 กลุ่ม ที่เหลือต้องเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น ไอศกรีม หรือชาใส่นม มันต้องง่าย และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้ เรามีชาแก้วละ 120 บาท ได้ภายใน 2-3 นาที แล้วอร่อยด้วย”
คำพูดของเขายืนยันด้วยภาพพนักงานออฟฟิศยืนออกันอยู่หน้าบาร์ ต่อคิวซื้อชา Take Away ต่างจากบรรยากาศร้าน Peace เวอร์ชั่น Stand Alone ในซอยเอกมัยและสุขุมวิท ที่ดูน่าเกรงขาม เข้มขรึม ศักดิ์สิทธิ์ราวกับการเข้าเงียบ เป็นปรากฏการณ์ที่เราไม่เคยเห็นที่ Peace มาก่อน
“โลเกชั่นตรงนี้ ทำให้วัฒนธรรมการกินชาเปลี่ยนไปบ้างไหม?” เราถาม
“เปลี่ยนบ้างเหมือนกันครับ คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นคนกลุ่มใหม่ ความรู้สึกที่เขามีต่อเราก็เร็วขึ้นด้วย ซึ่งถ้าถามว่าทำไมต้องเปิดในเมือง ก็เพราะคนเมืองขาดแก่นสารของวัฒนธรรมตะวันออก ถึงได้เร็วเกินไป เครียดเกินไป ทุกข์เกินไป
“แต่ถ้าเขาจะกินชาเร็วพวกนี้ตลอดไป มันก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่ได้ใส่สารเคมี แต่งสี แต่งกลิ่นใดๆ เลย เราบอก เราสอนเขาตลอดว่าชาแต่ละตัวควรกินตอนไหน กินเพื่ออะไร”
“แต่จำได้ว่าคุณปฏิเสธชาใส่น้ำแข็งมาตลอดไม่ใช่หรือ?” เราคุ้ยความทรงจำจากก้นสมอง
“ถามว่าผมอยากให้คนกินชากับน้ำแข็งมั้ย ในความเป็นจริง ชาใส่น้ำแข็งมีประโยชน์ไม่เท่าชาร้อนหรอกครับ” เขายอมรับ
“แต่เราให้คนทั้งโลกทำเหมือนกันไม่ได้ ทำได้แค่ให้คนเริ่มต้นจากกินชาง่ายที่สุดไปหาชายากที่สุด เหมือนเรากำลังสร้างหลักสูตรขึ้นมาเอง ผมเชื่อว่าถ้าคนที่สนใจมากพอจริงๆ เขาจะเรียนรู้กับมันไปเรื่อยๆ ว่าตัวไหนกินแล้วรู้สึกดี พวกเราเองเริ่มต้นก็แบบนี้เหมือนกัน มองหาของหยาบอย่างกลิ่นและรสก่อน แล้วถึงค่อยๆ กินอะไรที่ละเอียดขึ้น มันเป็นไปทีละสเต็ป”
↑ – Pastel Matcha
ชายหนุ่มบอกว่าชาใส่น้ำแข็งนั่นเป็นแค่สะพานที่ทำให้คนเริ่มเปิดใจเข้ามาที่นี่ หมุดหมายใหม่ของ Peace ไม่ใช่แค่ให้คนรู้จักชา หรือดู Tea Master ชงชาเก๋ๆ หลังบาร์อีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นการแทรกซึมอยู่ในทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต
“นอกจากชา เรามีเมนูใหม่ที่ไม่ใช่ชา แต่ดื่มแล้วมีประโยชน์เพิ่มเข้ามา เช่น ยูสึ โยเกิร์ต หรือน้ำขิง ซึ่งเราไม่ได้ใช้ขิงผงสำเร็จรูป แต่ใช้ขิงอ่อนกับขิงสด น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายแดง เหมือนเราต้มขิงกินเองที่บ้าน แต่เราทำให้มันเร็วขึ้น ด้วยสมอง ไม่ใช่สารเคมี หรือเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว”
↑ – Ginger Honey
“เราจะรู้สึกประสบความสำเร็จมากกว่า ถ้าวันหนึ่งคนรู้สึกเจ็บคอแล้วไม่ไปซื้อยาแก้เจ็บคอ แต่เดินมากินน้ำเก็กฮวยร้อนของเราแทน หรือรู้สึกแน่นท้อง แล้วสั่งอู่หลงหรือชาร้อนอะไรก็ได้แทนการไปซื้อยาขับแก๊สกิน แค่นี้ก็ชื่นใจแล้ว”
“พวกเราเองใช้ชีวิตแบบนี้ แล้วรู้สึกว่ามันดี ทุกอย่างที่เรากิน เราพูด เราทำ มันเอฟเฟ็กต์อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่รู้ เราอยากสร้างความมั่นใจให้คนรู้ว่าอะไรดีกับกาย และต่อไปก็ใช้มันสร้างสมดุลในใจด้วย”
ธีรชัยเคยใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาอยู่หลายปี ความเป็นตะวันตกไม่ได้ทำให้หลงใหลมากนัก หากมันยิ่งทำให้เขาเกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วแก่นสารคืออะไร
ซึ่งเขาค้นพบมันในถ้วยชา…
“ผมพบว่าความสวยงามใดๆ ในวัฒนธรรมตะวันออก ล้วนหยั่งรากลึกมาจากพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น แต่ผมรู้ว่าศาสนา และความเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราเลยไม่พยายามเผยแผ่มันออกมาในรูปแบบของธรรมะ เราเผยแผ่มันผ่านวัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งคนจะสัมผัสได้จากสิ่งที่เราทำ มันจะบอกว่าเราไม่ฉาบฉวยยังไง บอกว่าเราตั้งใจยังไง เราละเอียดอ่อนยังไง เราเชื่อและเคารพอย่างแท้จริงในศาสตร์ตะวันออก รวมถึงศาสตร์ของไทย ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้น ถึงมีร้าน Peace ก็คงจะไม่ได้หน้าตาอย่างที่คุณเห็น”
เราพยายามทำความเข้าใจถ้อยคำเหล่านั้น
“ทำไมคุณถึงเชื่อในวิถีเหล่านี้นัก?”
“เพราะวิถีชีวิตแบบนั้นเป็นวิถีที่ฉลาด ยั่งยืน ไม่ทำร้ายตัวเอง แม้จะยาก แต่ก็ประเสริฐ” เขาตอบโดยแทบไม่ต้องหยุดคิด
“น้องๆ ที่มาอยูที่นี่ก็เหมือนผมในสมัยก่อน ผมรู้ว่าเขามีเมล็ดพันธุ์บางอย่างในตัวที่พร้อมจะเบ่งบาน งอกงาม ถ้าได้ทดลองใช้ชีวิตในวิถีเดียวกัน”
ตรงหน้าบาร์ เราเห็นทีมงานกลุ่มหนึ่ง ทั้งหมดล้วนเป็นคนหนุ่มสาวเจนฯ ใหม่ กำลังง่วนอยู่กับการชงชาบ้าง สนทนากับลูกค้าบ้าง หรือไม่ก็ขนของอยู่หลังร้าน หลายคนเราไม่เคยพบหน้ามาก่อน บางคนเราพบเขาตั้งแต่แวะเวียนมาแรกๆ
จนถึงตอนนี้ บางคนนั้นก็ยังอยู่
“เมล็ดพันธุ์ที่ว่านั้นคืออะไร” เราถาม ขณะมองดูพวกเขาทำงาน
“คือความสามารถที่จะเข้าใจแก่นสารวัฒนธรรมตะวันออก ไม่ใช่แค่เปลือกผิว วัตถุนิยมมาก หรือตื้นเขินเกินไป และนิสัยน่ารัก เป็นคนที่เราอยากอยู่ด้วยแล้วมีกำลังใจ ในขณะเดียวกันเราก็มีกำลังใจให้เขาด้วย ผมอยากเป็นหนึ่งใน career path ของเขา และผมต้องทำให้ได้ในฐานะผู้นำ เพื่อที่จะทำให้เรามีเรา”
เป็นเหตุผลว่าทำไมบ่อยครั้งที่มีใครถามถึงคุณสมบัติของผู้สมัครมาเป็นพนักงานที่นี่ เขามักจะตอบว่า ‘ไม่มี’ หรือไม่ก็ ‘แค่เข้าใจในศาสตร์ตะวันออกก็พอ’ เราเพิ่งเข้าใจว่า 2 วลีสั้นๆ นี้ไม่ใช่ตั้งใจให้ฟังดู abstract ไปอย่างงั้น แต่เขาหมายความตามที่ว่าจริงๆ
“Peace มาไกลหรือยังจากจุดเริ่มต้น?”
“ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจุดไหนมากกว่าครับ” เช่นทุกครั้ง เขาถ่อมตัว
“ถ้ามองเป้าหมายของการสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับคนเมือง ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าเราจะประสบความสำเร็จเมื่อไร เป้าหมายมันยาวนาน ภารกิจมันยาก เอาเป็นว่า เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จไปทีละหน่อยทุกวันก็แล้วกัน จะตักน้ำทั้งมหาสมุทรให้คนเลิกกินยาแก้อักเสบเลย แล้วกลับมาใช้ชีวิตไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อมากนัก เราคงหมดแรงก่อน สู้ค่อยๆ ตักไปทีละขันดีกว่า”
“ถ้าอย่างนั้น เป้าหมายสูงสุดของ Peace และของคุณคืออะไร”
“คือเราใช้ชีวิตโดยรู้สึกเคารพตัวเองได้ เรามีค่า และทำประโยชน์กับสังคมได้บ้าง ไม่ใช่แค่ว่าเราอยู่ได้ หรือเรารวยขึ้น สิ่งที่ผมมีและจะพอส่งต่อได้ดีที่สุด คือชา”
แก้วที่วางอยู่บนโต๊ะคือส้ม Yuzu นำเข้าจากคิวชู (Kyushu) ที่เขาเล่าว่าเป็นหนึ่งในโปรดักส์กำไรน้อย ขณะที่บางตัวกำไรมาก และบางตัวไม่มีกำไรเลย แต่ถึงยังไงเขาก็ยังอนุญาตให้มันอยู่ในเมนูต่อไปได้ ไม่ได้ตัดออกอย่างที่หลายร้านน่าจะทำ
“สุดท้ายมันออกมาเป็นตัวเลขสีเขียวก็พอใจแล้ว เรากำลังจะเปิดร้านใหม่เร็วๆ นี้ ผมเชื่อว่ามันไม่น่าเจ๊ง” เขายิ้ม
ในแง่ธุรกิจ เราไม่อาจรู้ แต่ถ้าในแง่ความเป็นมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ผู้กำลังเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์บางอย่างให้กับสังคม เราว่าพวกเขาคงมาไกลเกินกว่าคำว่าเจ๊งไปหลายขุมแล้ว
และเมล็ดพันธุ์กำลังงอกงาม…
__________
Peace Oriental Tea House
สาขาพระราม 9
ชั้น G ตึก G Tower พระราม 9
(MRT พระราม 9 ทางออกที่ 3)
โทร. 097-267-2626
facebook.com/peace.t.house
_
.
RECOMMENDED CONTENT
นิโคล่ แบรนด์เครื่องแต่งกายระดับโลกจากญี่ปุ่นประกาศเปิดตัวนิตยสาร LifeWear (ไลฟ์แวร์) เล่มที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Livable Cities” หรือ เมืองน่าอยู่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตในเมือง พร้อมเน้นย้ำถึงปรัชญา LifeWear ของยูนิโคล่ นิตยสาร LifeWear เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2562