fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#EXHIBITION — World Press Photo 2017 นิทรรศการที่บอกเราว่า อย่าลืมความจริง แม้มันเป็นสิ่งที่ไม่สวยงาม
date : 7.พฤศจิกายน.2017 tag :

ใครไม่รู้เคยบอกไว้ว่า ‘ความจริง’ มักไม่สวยงาม

ความจริงที่ว่า ‘ความจริงเป็นสิ่งไม่สวยงาม’ นี้เกิดขึ้นในความคิดเราขณะดูภาพเหตุการณ์ลอบสังหารทูตรัสเซีย ขณะกำลังพูดเปิดนิทรรศการภาพถ่ายในแกลเลอรี่ที่กรุงอังการา ประเทศตุรกี ขณะชายถือปืนตะโกนว่า ‘อย่าลืมอเลปโป อย่าลืมซีเรีย’ ก่อนเขาจะถูกหน่วยจู่โจมยิงเสียชีวิต ข่าวอันโด่งดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมปีที่แล้ว มันถูกเลือกให้ทำหน้าที่ภาพถ่ายแห่งปี 2017

เราอยากให้มันไม่จริง แต่มันดันเป็นความจริง และใช่… มันโหดร้าย

ภาพ ‘An Assassination in Turkey’ เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของความจริงทั้งมวลในนิทรรศการ World Press Photo Exhibition 2017 ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กรภาพถ่ายที่เก่าแก่ที่สุดองค์กรหนึ่งในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ จัดประกวดภาพถ่ายประจำปีมาตั้งแต่ปี 1955 เพื่อค้นหาภาพข่าวและภาพสารคดีที่ดีที่สุดไปพร้อมกับเป็นฐานที่มั่นของช่างภาพอาชีพทั่วโลก

เราเดินทางมายัง House of Lucie แกลเลอรี่ภายใต้องค์กร Non-profit ที่จริงจังเรื่องภาพถ่ายไม่แพ้กัน และจริงจังที่สุดในซอยเอกมัย เพื่อพูดคุยกับ Laurens Korteweg (ลอเรนส์ คอทเว็ก) ไดเร็กเตอร์ฝ่ายนิทรรศการของ World Press Photo Exhibition 2017 ครั้งนี้

จุดประสงค์ของ World Press Photo Exhibition คืออะไร?
เราเป็นองค์กรที่สร้างพื้นที่ให้ช่างภาพทั่วโลก ทั้งช่างภาพอิสระ และช่างภาพภายใต้สังกัด ทุกวันนี้ คุณอาจไม่รู้ว่า อาชีพช่างภาพอยู่ยากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก โดยเฉพาะช่างภาพข่าวและสารคดี มันเป็นอาชีพที่ไม่ได้สร้างรายได้มากนักหรอก หน้าที่ของเราคือโปรโมทให้งานของเขาเป็นที่รู้จัก และต้องทำให้พวกเขาอยู่ได้ด้วย ฉะนั้นเนี่ย การจะทำให้งานเป็นที่รู้จักและเข้าถึงคนมากที่สุด  ทางเดียวก็คือต้องเดินทาง ในแต่ละปี เราเดินทางไปโชว์กว่า 100 เมืองทั่วโลก ยอมรับว่าบางครั้งมันก็ยากที่จะอยู่รอด เพราะเราเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร แถมต้องดูแลสมาชิกจำนวนมาก มาถึงตอนนี้ เราดีใจที่มีคนสนใจ รู้ว่าเรากำลังทำอะไร และสนับสนุนสิ่งที่เราทำ

ผมคิดว่ากรุงเทพฯ พร้อมและเหมาะมากสำหรับการแสดงงาน มันเป็นเหมือน Hub ของช่างภาพเก่งๆ หลายคน ทั้งช่างภาพไทยและช่างภาพต่างชาติที่ทำงานอยู่ที่นี่ด้วย ผมเห็นคนเข้ามามีส่วนร่วมกับงานนี้ มาดู มาถกเถียง อยากถาม อยากคุยกับช่างภาพ มันทำให้เราคิดว่าจะต้องกลับมาจัดแสดงอีกแน่นอน เรายังไม่เคยมีช่างภาพคนไทยเข้าประกวด แต่เราหวังว่าในปีต่อๆ ไป จะได้ร่วมงานกับช่างภาพไทยครับ

การคัดเลือกภาพมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
เราเปิดรับช่างภาพที่มีผลงานในสื่ออะไรก็ได้ เช่น หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ หรือแม็กกาซีน ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงก็ได้ แต่ต้องหมายถึงคนที่ถ่ายภาพเป็นอาชีพจริงๆ เท่านั้น ส่งภาพที่ถ่ายในปี 2016 เข้ามาที่เรา เกณฑ์การตัดสินค่อนข้างหลากหลาย เพราะเราแบ่งภาพออกเป็นหลายหมวดหมู่ เช่น ภาพข่าว ภาพสารคดี ธรรมชาติ กีฬา ภาพคน และโปรเจ็กต์ระยะยาว ซึ่งแต่ละหมวดหมู่ก็จะมีเกณฑ์การตัดสินย่อยๆ ออกไปอีก รวมๆ แล้วคือเราต้องได้ภาพที่ดีที่สุด จากมุมมองที่ดีที่สุด

องค์กรเราไม่ได้เลือกกันเอง เราเชิญคณะกรรมการผู้ตัดสินจากทั่วโลกมาถึงกรุงอัมสเตอร์ดัม เพื่อคัดเลือกภาพถ่ายที่ดีที่สุด ซึ่งปีนี้มีกว่า 80,000-90,000 ภาพเลยทีเดียว ซึ่งคณะกรรมการประมาณ 18-19 คน จะใช้เวลาคัดเลือกทั้งหมด 2 สัปดาห์กว่าจะได้ภาพที่คุณเห็น

ภาพไหนเป็นภาพที่ดีที่สุด ใช้อะไรเป็นตัวบอก?
โห ใช่ครับ นั่นเป็นอะไรที่ยากมาก ถ้าคุณถามว่ามันมีคำอธิบายมั้ย สำหรับคำว่าภาพที่ดีที่สุด มันไม่มีหรอก แต่ความหมายที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็น ภาพที่ ‘Speak to your heart’ คือเป็นอะไรที่มากกว่าภาพถ่ายเหตุการณ์ แต่เป็นการเก็บช่วงเวลา ที่สามารถเล่าเรื่องได้ ที่สำคัญต้องอาศัยมุมมองสร้างสรรค์ด้วย

ในการคัดเลือกภาพ จะรู้ได้อย่างไรว่าภาพนั้นเป็นภาพเหตุการณ์จริง ไม่ได้ผ่านการตัดต่อ?
ก่อนการคัดเลือกรอบสุดท้าย เราขอให้ช่างภาพส่งไฟล์ภาพออริจินัลมาให้เราดู จากนั้นเรานำภาพที่ส่งเข้าประกวดกับภาพออริจินัลมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งเราจะเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยยังไง เรามีขอบเขตว่าสามารถปรับแต่งรูปได้แค่ไหน อาจแค่เทคนิคเรื่องสีสัน ความสว่าง หรือความคมชัด อันนั้นโอเค เพราะบางครั้งมันก็จำเป็น แต่สิ่งทำไม่ได้คือ คุณห้ามบิดเบือนความจริงในภาพ เช่น ภาพแรดถูกตัดนอ ขอเพิ่มเลือดเยอะๆ หน่อยให้ภาพดูโหดขึ้น หรือถนนสกปรกมาก ขอขอลบขยะออกจากพื้นถนน อะไรแบบนั้น ภาพจะถูกตัดสิทธิ์ออกทันที

หรือเทคนิคการถ่ายบางอย่าง เราก็ค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร เช่น ภาพหนึ่งที่ช่างภาพไม่สามารถเข้าไปถ่ายสัตว์ป่าใกล้ๆ ได้ เพราะมันอันตรายมาก จึงต้องใส่กล้องลงไปในกล่องพลาสติก ตั้งทิ้งไว้ แล้วกดชัตเตอร์จากระยะไกลทุกๆ 30 วินาที ด้วยเทคนิคนี้ทำให้มันกลายเป็นภาพที่สวยงามภาพหนึ่ง และทำให้เราเห็นชีวิตของสัตว์ในเวลากลางคืนได้ดีที่สุดด้วย

ทิศทางของภายถ่ายในปีนี้บอกเล่าเรื่องราวอะไรบ้าง?
ภาพที่เห็นบ่อยๆ ทุกปีก็คือภาพความขัดแย้ง สงคราม อย่างในซีเรีย อิรัก และปีนี้ก็เป็นภาพสถานการณ์ผู้อพยพ แต่มันไม่ได้มีเฉพาะภาพ Conflict จัดๆ แบบนั้นอย่างเดียว มันยังมีภาพเรื่องราวต่างๆ ที่ล้วนเกิดขึ้นในโลกเราตอนนี้ทั้งสิ้น เช่น ภาพธรรมชาติ ภาพกีฬา หรือภาพชีวิตผู้คน

ภาพๆ หนึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย อย่างภาพแรดในแอฟริกาตายเพราะโดนตัดนอ ก็อาจเป็นภาพหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการลักลอบล่าแรดในแอฟริกาเพื่อเอานอ สะท้อนความเชื่อของคนบางกลุ่มเกี่ยวกับนอแรด หรือปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าก็ได้

จริงๆ เป้าหมายแรกเริ่มของเราคือการซับพอร์ตช่างภาพ ไม่ได้จะคาดหวังเรื่องให้คนตระหนักอะไรขนาดนั้น แต่พอทำมาเรื่อยๆ ภาพที่เราได้เห็น มันกลับเป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

แล้วมันจะไม่ทำให้แนวทางของภาพส่วนใหญ่เป็นไปในทาง Negative หมดหรือ?
ผมเข้าใจความหมายของคุณนะ ในเมื่อจุดยืนเราคือการบอกเล่าความจริง ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในภาพคือความจริงล้วนๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีแต่ความจริงเชิง Negative ไปเสียทั้งหมดนี่ อย่างภาพหนึ่งเป็นภาพเจ้าหน้าที่ในสวนสัตว์ใส่ชุดแพนด้าตลกๆ หรือภาพงานแต่งงานของผู้คนที่ทำให้เราอมยิ้มได้เหมือนกัน

ถึงยังไง ผมก็เชื่อว่าภาพเหล่านั้นจะอิมแพ็คคุณได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วเมื่อคุณเดินออกไปจากที่นี่ มันจะทำให้คุณคิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่อยู่ในภาพนั้น

ทำไมภาพ An Assassination in Turkey ถึงเป็นภาพแห่งปี 2017?
เป็นงานหินเลยละ สำหรับคณะกรรมการที่จะเลือกภาพจากทั้งหมดกว่า 80,000 ภาพ ขั้นแรกคือต้องคัดเลือกภาพที่ดีที่สุดในแต่ละหมวดหมู่ แล้วจากนั้นก็เลือก 1 ภาพที่ดีที่สุดแห่งปี ซึ่งจะว่าไปแล้วรางวัลนี้ก็เทียบได้กับรางวัลออสการ์ของวงการภาพยนตร์นั่นแหละครับ

ถ้าถามว่ามีเหตุผลอะไรที่ให้ภาพนี้ชนะเลิศ คุณลองดูสิ มันคือภาพผู้ชายคนหนึ่งกำลังชูปืนขึ้นอย่างเกรี้ยวกราด กับชายอีกคนที่นอนแน่นิ่งอยู่บนพื้น ใครจะนึกว่าคนที่เป็นตำรวจจะลอบยิงท่านทูตเสียเอง ซึ่งผมกล้าพูดได้เลยว่าไม่ว่าคุณหรือผมหรือใครก็ตามที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น คงไม่มีเวลาคิดแม้แต่จะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายด้วยซ้ำ

คุณได้คุยกับช่างภาพที่ถ่ายภาพนี้ไหม?
แน่นอนครับ ผมเจอ Burhan Ozbilici ช่างภาพที่ถ่ายภาพนี้หลายครั้ง เลยมีโอกาสได้ถามถึงช่วงเวลาอันน่าตระหนกนั้น เขาบอกเพียงว่า ช่างภาพคืออาชีพของเขา ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ตาม หน้าที่ของเขาคือคว้ากล้องมาถ่าย แค่นั้นเอง เขายังบอกด้วยว่าถ้าเกิดวันนั้นไม่ได้ถ่ายภาพนี้มา เขาคงไม่ให้อภัยตัวเองแน่นอน

แล้วถ้าคุณสังเกตดีๆ ในเชิงเทคนิค ภาพนี้ไม่เพียงแต่เป็นภาพที่ ‘ถ่ายได้’ หรือแค่ ‘ถ่ายทัน’ นะ แต่ Composition อารมณ์ ทุกอย่างยังลงตัว นี่แหละสายตาของช่างภาพมืออาชีพ

ภาพที่ได้รางวัลชนะเลิศในแต่ละปี ส่งผลต่อทิศทางของการคัดเลือกภาพในปีต่อๆ ไปบ้างหรือไม่?
ผมคิดว่าไม่นะ เราไม่มีทางรู้เลยจริงๆ ว่าปีไหนภาพจะออกมาเป็นยังไง และภาพที่ชนะเลิศจะเป็นภาพแบบไหน มันเคยมีมาแล้วทุกอย่าง อาจเป็นภาพกีฬา ภาพชีวิต หรือภาพธรรมชาติสวยงามก็ได้

ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อมีว่ามีภาพจำที่ทุกวันนี้คนก็ยังพูดถึงอยู่หลายภาพ อย่างภาพที่ชายคนหนึ่งยืนประจันหน้ากับรถถังของทหารจีนกลางจตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศจีน ภาพเหล่านั้นเหมือนเป็นบทบันทึกความทรงจำได้เหมือนกันว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดอะไรขึ้นกับโลกเราบ้าง

ทำไมเราถึงต้องมาดู?
สิ่งที่คุณเห็นในนิทรรศการนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลก และผมว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่รับรู้ เพราะเราทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นไกลบ้านคุณแค่ไหนก็ตาม เราทุกคนคือส่วนหนึ่งของมัน

นิทรรศการภาพถ่าย
World Press Photo Exhibition 2017

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้–30 พฤศจิกายน 2017
ที่เเกลเลอรี่ House of Lucie เอกมัยซอย 8
(ซอยข้างบิ๊กซีเอกมัย / สังเกตป้ายตึก ‘การะเกด’ / BTS เอกมัย)

*เข้าชมฟรี* (Free entry)
**Please be advised that this exhibition contains some graphic images that may not be suited to a younger audience. ภาพในนิทรรศการนี้บางส่วนเป็นภาพที่มีเนื้อหาที่รุนแรง อาจไม่เหมาะสมกับเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุน้อย**

เปิดทุกวันอังคาร–วันศุกร์ เวลา 11.00–18.00 น.
วันเสาร์ 12.00–17.00 น.
โทร. 095-478-9987

https://www.facebook.com/events/612969622425452/?active_tab=about
http://www.luciefoundation.org/house-of-lucie-bangkok/

_

RECOMMENDED CONTENT

26.มิถุนายน.2019

เรื่องราวอันเป็นตำนานของพิเทร่า™ จะถูกนำมาเล่าอีกครั้ง ผ่านบทเพลงรักพร้อมมิวสิควิดีโอ “Oh PITERA™” ที่กล่าวถึงผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์และขายดีที่สุดของเอสเค-ทู อย่างน้ำตบพิเทร่า ผ่านเสียงร้องและฝีมือการประพันธ์ของนักร้องหนุ่มที่กวาดหลายรางวัลทั่วโลกอย่าง จอห์น เลเจนด์