fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT — Weinstein Effect (2) : ถึงร้ายแล้วรักมั้ย? คุยต่อกับ ‘ต่อ–คันฉัตร’ ถึงศิลปะ และศีลธรรมของคนทำหนัง
date : 1.ธันวาคม.2017 tag :

เมื่อศิลปินหรือคนดังสักคน ไม่ต้องถึงกับมีคดีคุกคามทางเพศ แค่นิสัยไม่ดี หรือทำความผิดอะไรก็แล้วแต่  แน่นอนเราคงรู้สึกเบ้ปาก แต่มันก็จะมีคำพูดที่ว่า ‘แต่งานเขาน่ะ ระดับมาสเตอร์พีซเชียวนะโว้ย!’ ที่มักทำให้รู้สึกหยวนๆ ได้ทุกครั้งไป

แม้จะเกิดเควชชั่นมาร์คตัวใหญ่ตามมาว่า สุดท้ายแล้ว งานศิลปะที่คนๆ นั้นสร้าง สามารถหักลบกลบความผิดของเขาได้งั้นหรือ? แล้วเราจะสามารถแยกแยะตัวงานกับตัวศิลปินออกจากกันได้หรือไม่? หนังดีๆ เรื่องหนึ่งจากผู้กำกับฯ สุดหื่น จะยังเป็นหนังดีอยู่มั้ย?

เราจะโดนเปลือกทุกเรียนตีหรือเปล่า หากยังจะชอบงานศิลปะจากใครก็ตามที่มีพฤติกรรมแบบนั้นอยู่?…

เราขอทดความสงสัยชวนปวดหัวไว้ในใจ แล้วโยนภาระให้  นักเขียน นักวิจารณ์หนัง ผู้ควบตำแหน่งอาจารย์ภาค Film อย่าง ‘ต่อ-คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง’ ตอบคำถามคลาสสิกแต่ตอบยากพอๆ กับคำถามมิสยูนิเวิร์สนี้แทนก็แล้วกัน

เราจะแยกศิลปะออกจากตัวศิลปินได้ไหม
มันจะมี 2 คำขวัญในวงการศิลปะที่คนชอบพูดกัน คือ ศิลปินนิสัยดีมักทำงานห่วย แต่ศิลปินนิสัยห่วยมักทำงานดี ซึ่งจริงๆ เขาอาจไม่ถึงกับเป็นคนเลวอะไรขนาดนั้น แต่มันต้องมีของ หรือมีความองค์ลงอะไรบางอย่าง (หัวเราะ)

อีกคำขวัญหนึ่งคือ ศิลปินมีไว้ชื่นชม ไม่ได้มีไว้รู้จัก บางทีเราแค่เสพเขาจากผลงานก็พอมั้ย อย่าไปรู้จักเขาเยอะเกิน คือพอศิลปินมีชื่อเสียงมันก็มีอีโก้ได้ เราเลยรู้สึกว่าศิลปิน กับผู้ชม หรือแฟนคลับ ควรมีระยะห่างบ้างเหมือนกัน เพียงแต่ต้องมาดูว่านิสัยไม่ดีของเขามันสร้างผลกระทบให้กับสังคมขนาดไหน ถ้าเขาแค่เหวี่ยงวีนกับคนรอบข้าง หรือมีนิสัย มีความชอบแปลกๆ ที่ไม่ได้เดือดร้อนใคร ก็คงไม่เป็นไร


Woody Allen ระหว่างถ่ายทำ Blue Jasmine (2013)

ความยากของการแยกแยะคืออะไร
ปัญหาอย่างหนึ่งของคนในสังคมไทย หรือแม้แต่สังคมโลกก็ตามคือชอบ Take Personal ชอบเอาตัวเองตั้งเป็น Subjective ชอบมีคนบอกว่า อ้าว ถ้ามันเกิดขึ้นกับคุณบ้าง จะทำไง พอตรรกะเป็นแบบนั้น มันพังทันที คือถ้าเป็นเรื่องทางกฎหมายมันต้อง Objective เราเลยรู้สึกว่าเวลามองอะไรพวกนี้ต้องมองกลางๆ อินได้ แต่สุดท้ายต้องถอยกลับมา ถ้าเป็นเรื่องของอารมณ์ไปซะหมด ก็ไม่เวิร์ค สังคมอุดมดราม่าอยู่แล้ว

แล้วถ้าเราสนับสนุนงานของเขา จะไม่เป็นการเพิ่มพาวเวอร์ให้เขาหรือ
เราเชื่อว่าเขาไม่มีทางกลับมามีพาวเวอร์หรอก ยกตัวอย่าง โรมัน โปลันสกี (The Pianist 2002, Chinatown 1974) ผู้กำกับฯ ที่มีคดีข่มขืน เขาก็ไม่สามารถเข้าสหรัฐฯ ได้อีกตลอดชีวิต เหมือนเขาถูกลดทอนสิทธิบางอย่างไปแล้วเหมือนกัน

ในสังคมที่เจริญแล้ว มันจะมีวิธีการลงโทษทางสังคมอยู่ ทั้งทางกฎหมาย และการลงโทษในอาชีพการงาน อย่างกรณีของเควิน สเปซีย์ที่หนัง All The Money In The World กำลังจะเข้าพอดี ดันต้องเปลี่ยนตัวนักแสดงกระทันหัน ซึ่งบางคนก็อาจรู้สึกว่าเขาได้รับโทษพอแล้ว ขณะที่บางคนรู้สึกว่ายังไม่พอ กฎหมายมันชัดว่ากระทำผิดแบบนี้ โทษเท่าไร แต่โทษในการทำงานมันไม่มีไง เลยเป็นเรื่องตัดสินได้ยาก

แต่ก็มีเคสที่บางคนยังลอยตัว
ใช่ ถามว่าเพราะอะไร เพราะมันมีมิติอื่นๆ ที่ซับซ้อนลงไปอีก อย่างเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ตำแหน่งทางสังคม ค่ายหนุนหลัง ธุรกิจ ทุนนิยม หรือเอาง่ายๆ คือพาวเวอร์ในวงการนั่นแหละ ดูอย่าง กรณีของเคซีย์ แอฟเฟล็ก กับกรณีของเนต พาร์คเกอร์ (The Birth of a Nation, 2016) ที่ค่อนข้างชัด และทำให้เราตระหนักเรื่องพาวเวอร์ หรือความไม่เท่าเทียม มันประกอบกันด้วยหลายปัจจัยมาก

แต่อย่างน้อยศิลปินที่เคยเชื่อว่ากูเลวแค่ไหนก็ยังอยู่ได้ ต่อไปจะทำเรื่องพวกนี้คงมีหน้าไวน์สตีนลอยเข้ามาบ้าง มันเหมือน Turning Point ที่บอกว่าจงอย่าเชื่อมั่นเกินไปนักว่าจะอยู่ค้ำฟ้า เพราะขนาดไวน์สตีนยังโดนล้มได้เลย


(จากซ้าย)  Matt Demon, Casey Affleck และ  Ben Affleck

มีวิธีอะไรที่ทำให้เราดูหนัง โดยแยกแยะผลงานออกจากตัวศิลปินได้
เวลาดูหนังเรา มันจะมี 2 อย่างที่เราต้องดูคือ ตัวหนัง กับบริบทหนัง เรื่องชีวิต นิสัยส่วนตัวของผู้กำกับฯ หรือคนทำหนังเองมันก็เป็นบริบทอย่างหนึ่ง ซึ่งบริบทบางอย่างก็ไม่เกี่ยวกับตัวผลงานนั้นไง พอเราดูจากตรงนี้ งานกับศิลปินมันเลยพอแยกออกจากกันได้

แต่ถ้าพูดถึงความรู้สึกของมนุษย์ ทุกคนจะมีความอ่อนไหวต่อเรื่องเรื่องต่างๆ ไม่เท่ากันอยู่แล้ว มันก็มีสิทธิ์ที่เราจะดูงานเรื่องนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หรือถ้าไม่ได้ชอบตัวศิลปินคนนี้มาก่อน ก็อาจจะตั้งแง่ ดูงานเขาด้วย Perception แบบลบๆ ไปเลยก็ได้


The Pianist (Roman Polanski, 2002)

งานศิลปะจำเป็นต้องมีศีลธรรม (Moral) อยู่ในนั้นไหม
ต้องแยกว่าศีลธรรมในตัวผลงาน หรือศีลธรรมในตัวศิลปิน ถ้าในตัวผลงานคิดว่าไม่ต้องมีก็ได้ มีหนังหลายเรื่องที่นำเสนอประเด็นหมิ่นเหม่ศีลธรรมให้เราเห็นกันอยู่ แล้วมันก็เป็นประเด็นที่เราถกเถียงกันมาตลอด เช่น เรื่องการทำแท้ง หรืออะไรแบบนั้น หนังที่ดีคือหนังที่ไม่บอกนี่คือความผิดหรือถูกทางศีลธรรม ควรกระตุ้นให้คนดูเกิดการตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดกันแน่ หนังมีอิทธิพลของมัน แต่เชื่อว่าในสังคมที่เจริญแล้ว คนดูต้องพิจารณาเองได้


4 month 3 weeks 2 days (Cristian Mungiu, 2007) หนังจากประเทศโรมาเนียที่ตั้งคำถามกับสังคมอย่างท้าทายถึงเรื่องการทำแท้ง

ส่วนศีลธรรมของคนสร้าง อย่างที่บอกว่าบริบทของตัวศิลปินเองก็สามารถทำให้เราเข้าใจงานของเขาได้มากขึ้น เช่น ประวัติ โคตรเหง้า รสนิยม หรือความชอบ แต่บริบทที่ว่าเขาเป็นคนดีหรือเลว เราว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวหนัง

บางทีคำว่าศีลธรรมมันก็มีความพูดยาก เราชอบคำว่ามนุษยธรรมมากกว่า คือ แค่ ‘อย่าทำเหี้ยกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็พอ’ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะดีหมดใช่มั้ย มันน่าสนใจว่าเขาจะแสดงออกต่อเรื่องพวกนี้ยังไงมากกว่า


American Beauty 1999

อาจารย์ต่อจะสอนเด็กๆ อย่างไรในยุค Post Weinstein
เราก็ยังจะฉายหนัง American Beauty ในคลาสเหมือนเดิมถึงแม้จะมีนักแสดงนำเป็นเควิน สเปซีย์ก็ตาม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เฮ้! ทุกคน มาข่มขืนกันเถอะ (หัวเราะ) เรายังมองว่ามันเป็นหนังที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่งอยู่ดี

ไม่มีสูตรตายตัวหรอกว่าเราควรหรือไม่ควรแบน สิ่งที่เราควรมีคือสติในการรับรู้เรื่องพวกนี้ ไม่ให้ Dramatic เกินไป จะพยายามดึงสติให้มากที่สุด ชีวิตเรามีแค่เพจน้องกับเพจอีจัน มันก็ดราม่าพอแล้วป่ะ (หัวเราะ)

ภาพ : กฤติพงศ์ เตชะพิเชฐวนิช

RECOMMENDED CONTENT

7.พฤศจิกายน.2022

ซีรีส์ The Last of Us เล่าเรื่องราว 20 ปีหลังจากอารยธรรมสมัยใหม่ถูกทำลาย โจเอล ผู้รอดชีวิตได้รับการว่าจ้างให้พาตัวเอลลี เด็กหญิงอายุ 14 ปี ออกจากเขตกักกัน ภารกิจเล็กๆกลับกลายเป็นการเดินทางที่โหดร้ายและน่าสลดในไม่ช้า เมื่อทั้งคู่ต้องเดินทางข้ามสหรัฐอเมริกาและช่วยเหลือกันเพื่อความอยู่รอด