“Okay Lah!”
เชื่อว่าทุกคนที่เคยเดินทางไปสิงคโปร์ ต้องเคยประสบพบเจอความ ‘Lah’ ที่มักต่อท้ายสำเนียงเสียงพูดภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์กันถ้วนทั่วทั้งเกาะ และมักจะเจอสำเนียงแปร่งประหลาด พร้อมสรรพแสงประเภทที่ไม่เคยพบเจอในโลกใบนี้มาก่อน แถมมันยากระดับที่ว่า คนสิงคโปร์ด้วยกันเองยังต้องเผลอสบถ ‘Cheem’ เพราะมันยากแท้หยั่งถึงเหลือเกิน คำพวกนี้!
Singlish หรือภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์ ถืออยู่ในหมวดภาษาพูดท้องถิ่นที่ไม่ใช่ภาษาราชการ แต่ก็เป็นภาษาที่ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 ต้องเคยพูด พูดได้ และสื่อสารกันเป็นประจำ
ย้อนไปเมื่อครั้งที่ภาษาอังกฤษเข้ามาเป็นครั้งแรกในดินแดนที่เดิมเป็นหมู่บ้านประมงและเมืองท่าค้าขายที่ชื่อเทมาเส็ก พร้อมกับมาของยุคล่าอาณานิคม British India ครองดินแดนแถบเกาะสุมาตราและชวา ชาวเมืองดั้งเดิมที่พูดภาษาจีน ทั้งฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และกวางตุ้ง รวมถึงภาษามลายู และภาษาทมิฬ ก็เริ่มรับเอาภาษาอังกฤษเข้ามาในอ้อมใจ และใช้มันเป็นดั่งภาษาที่สองสำหรับติดต่อพูดคุยกับชนชั้นนำในยุคนั้น
ก่อนที่ภาษาอังกฤษจะเริ่มแพร่หลาย มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไม่เว้นแม้แต่ตามข้างทาง ทุกชนชั้นได้มีโอกาสพูดภาษาอังกฤษกันถ้วนหน้า และช่วงเวลานั้นเองที่ภาษาอังกฤษเริ่มกลืนเข้ากับภาษาอื่นๆ และกลายเป็นวัฒนธรรมการพูดคำแทน ในกรณีที่นึกคำยากไม่ออก อังกฤษคำ จีนคำ มลายูคำ ทมิฬคำ จึงเกิดขึ้น แพร่หลาย ก่อนที่จะได้รับความนิยมเป็นดั่งภาษาท้องถิ่นผสม หรือที่เรียกกันว่า Pidgin นั่นเอง
ภาษา Singlish ถึงจุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากแพร่หลายและได้รับความนิยม ในยุคที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย ก็เกิดแคมเปญรักชาติที่ชื่อว่า ‘Speak Mandarin’ เพื่อเชิญชวนให้คนสิงคโปร์กลับไปสู่รากเหง้า และพูดภาษาจีนแมนดารินกันให้มากขึ้น นั่นเลยทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษาสูงมาก เพราะผู้คนที่ก็หลากหลายเชื้อชาติอยู่แล้ว ต่างก็พูดจาคนละภาษากัน แถมยังต้องมาพูด Singlish เพื่อให้เข้าใจตรงกันอีก ฟังดูเหมือนลำบาก แต่ที่จริงคือสนุกมาก!
Singlish จากที่เป็นแค่วัฒนธรรมภาษา ตอนนี้กลับกลายเป็นเสมือนสินค้าส่งออก เป็น Soft Power ที่นักท่องเที่ยวมองว่าน่ารัก อยากเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่ค่อยสนับสนุนให้แพร่หลายนัก เพราะยังคงอยากให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการอยู่ จึงไม่แปลกอะไรถ้าป้ายสาธารณะต่างๆ ของสิงคโปร์จึงมีภาษาให้อ่านถึง 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน ทมิฬ และมาเลย์
นั่นเลยทำให้เกิดหนังสือที่ว่าด้วยภาษา Singlish วางขายเต็มเมือง มีพจนานุกรมศัพท์เฉพาะ ถึงขั้นมีหนังสือเลียนแบบ The Coxford Singlish Dictionary เลย เช่นกันกับหนังสือน่ารักโดยสำนักพิมพ์ The little dröm store เล่มนี้
‘Singlish vs English’ ทำออกมาในขนาด A5 และพิมพ์ 4 สีออกโทนพาสเทลกำลังน่ารัก ยิ่งบวกเข้ากับภาพประกอบสุดคิ้วท์ รับรองได้เลยว่า ไม่ว่าจะเด็กรุ่นไหน ผู้ใหญ่วัยใด แค่ลองพลิกก็ต้องอยากอ่าน อยากรู้จักภาษา Singlish ให้มากขึ้นแล้ว
the little dröm store เกิดขึ้นจากสองกราฟิกดีไซเนอร์ชาวสิงคโปร์ ที่อยากทำผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนวัฒนธรรมของสิงคโปร์ได้อย่างน่ารักและน่าซื้อหา ไม่ใช่แค่หนังสือเท่านั้น ที่นี่ยังมีทั้งกระเป๋า ถุงผ้า เข็มกลัด พวงกุญแจ หรือแม้กระทั่งผ้าแขวนผนัง น่าเสียดายที่ตอนนี้ shop ของแบรนด์ที่เป็นหน้าร้านต้องปิดตัวลงไป เพื่อหาสถานที่ใหม่ แต่ทุกสิ่งทุกไอเท็มก็ยังสามารถซื้อหาออนไลน์กันได้ที่ thelittledromstore.com อยู่
อ้อ หนังสือ ‘Singlish vs English’ นี้จัดส่งทั่วโลก แถมยังมีหนังสือในซีรี่ส์อีกเล่มชื่อ ‘The Strangely Singaporean Book’ นะเออ
—————
‘Singlish vs English’
ขนาด A5 / 232 หน้า
ราคา 29.90 SGD
(ประมาณ 725 บาท)
RECOMMENDED CONTENT
หลังจากห่างหายไปร่วม 2 ปี สำหรับสองคู่หูพี่น้อง Plastic Plastic ประกอบด้วย “เพลง ต้องตา-จิตดี (ร้องนำ,คีย์บอร์ด)” และ “ป้อง ปกป้อง-จิตดี(กีต้าร์)” วงดนตรีอินดี้ป็อปดูโอ้ จากสังกัด What the duck (วอท เดอะ ดัก) ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีมานานกว่า 12 ปี เจ้าของเพลงดังอย่าง “วันศุกร์” , “อยากรู้” , “Summer Hibernation” และ “ฮัม” พวกเขาได้หวนสู่วงการดนตรีอีกครั้ง พร้อมส่งเพลงฟีลกู๊ด ทำนองน่ารัก ที่ชวนทุกคนมาคลายความเหนื่อยล้าไปกับการล้มตัวลงบนหมอนสุดสบาย ในซิงเกิลใหม่ล่าสุดอย่าง “Pillow Pillow”