ความ ‘เป็นหน้าเป็นตา’ ของแต่ละคณะในมหาวิทยาลัยอย่างหนึ่งของทั่วโลกก็คือเรื่องราวของสถาปัตยกรรม หลายที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ถ้าเอาแบบภาพจำที่ง่ายที่สุดก็อย่างมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ที่นักศึกษาและบุคลากรทุกคนต่างภาคภูมิใจในอาคารเรียนและสถาปัตยกรรมของตัวเองเป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่ทัวร์ต้องมาลง เมื่อทัวร์มาลงก็จัดทัวร์ต่างๆ บริหารจัดการประหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวมันเสียเลย
เช่นกันกับอาคารของคณะด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลายๆ แห่งโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ภายนอก ผ่านแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่คิดมาแล้ว และสร้างมันขึ้นมาอย่างสวยงาม จนเรียกได้ว่า ถ้าเอาใครก็ไม่รู้มายืนดู และให้เดาว่านี่คือตึกคณะอะไร ร้อยทั้งร้อยก็ต้องเดาคณะสถาปัตยกรรมเป็นคณะแรกอยู่แล้ว
ในแวดวงสถาปัตยกรรม เพียงแค่เอ่ยชื่อ Manuel Aires Mateus สถาปนิกชาวโปรตุเกส หลายคนอาจจะเป็นแฟนๆ ของเขาอยู่ ผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมของเขานั้น เด่นดังในเรื่องของความ ‘minimalism‘ ส่วนสไตล์อันโดดเด่นของเขา คือการเล่นกับรูปทรงพื้นฐานทางเรขาคณิตต่างๆ ทั้งลูกบาศก์ สามเหลี่ยมพีระมิด และอื่นๆ ประกอบกัน
เมื่อเราสังเกตผลงานหลายๆ ชิ้นของ Mateus จะพบว่า เขาเริ่มต้นจากรูปทรงพื้นฐานก่อน อาคารของเขาจะเริ่มต้นความง่าย เหมือนเอาดินน้ำมันหนึ่งก่อนไปวางไว้ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ใส่หรือเพิ่มเติมรูปทรงอื่นๆ เข้าไป ซึ่งไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมภายนอก แต่ยังหมายถึงสถาปัตยกรรมภายในด้วย
ยกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดมาก ก็คือโปรเจ็กต์ล่าสุดของเขา กับอาคารของคณะสถาปัตยกรรม Université Catholique de Louvain ในประเทศเบลเยี่ยม ที่เพียงแค่มองภายนอก ก็รู้เลยว่า อาคารนี้สถาปัตยกรรมของเค้าจี๊ดจริงๆ
เราจะเห็นว่า Mateus นั้นพยายามสอดแทรกรูปทรงเรขาคณิตเขาไปในสถาปัตยกรรมของเขาเท่าที่จำเป็น และฟังก์ชั่นมากพอ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เริ่มต้นจากการที่เขานั้นได้พื้นที่ว่างระหว่างอาคารรูปแบบ industrial เดิม Mateus เลือกที่จะสร้างความเชื่อมโยงกัน ผ่านการสร้างความแตกต่าง แต่ก็ยังทำให้คนรู้สึกว่า อาคารหลังนี้เหมือนกับคนที่มาขอยืนแทรกกลางอย่างเงียบๆ และเจียมเนื้อเจียมตัว
และถ้าลองเดินชมโครงสร้างและสถาปัตยกรรมภายในดีๆ จะพบว่า Mateus ตั้งใจให้อาคารหลังนี้เชื่อมโยงกับอาคารอื่นๆ เพื่อให้ความรู้สึกของการต่อเนื่องเป็นโครงสร้างเดียวกัน ด้วยความสมัยใหม่ ที่ปะทะกันกับสมัยเก่าที่ยังคงคุณค่าและประโยชน์ใช้สอยอยู่
ส่วนอื่นๆ ที่น่าสนใจภายในอาคารก็เช่น ห้อง auditorium ที่ดูเหมือน deconstruct (ลดทอนรายละเอียดจนเหลือน้อยที่สุด) จากวิหารแบบโรมัน จนกลายเป็นรูปทรงพื้นฐานที่ถูกเอามาตั้งไว้ในกล่องอีกที
จะเห็นว่าสถาปัตยกรรมชิ้นนี้นำประโยชน์ของ minimalism มาใช้ได้อย่างเรียบง่าย กลมกลืน แต่ก็โดดเด่น และสร้างซิกเนเจอร์ให้กับทั้งตัวมหาวิทยาลัย และตัวสถาปนิกเอง และก็เป็นการบอกกับทุกคนว่า นี่แหละ อาคารของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ยังไงล่ะ!
RECOMMENDED CONTENT
หลังจากที่ Red Hot Chili Peppers ปล่อยทีเซอร์ปริศนาเมื่อสัปดาห์ก่อน วันนี้ได้ฤกษ์งามยามดีที่พวกเขาส่งซิงเกิ้ลให้ลงหูคนฟังกับเพลง "Black Summer"