วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักมหาเศรษฐีที่สร้างตัวด้วยตนเองอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Amazon ชายหนุ่มผู้ยึดตำแหน่งคนร่ำรวยที่สุดในโลกแทนที่บิล เกตต์ ไปด้วยมูลค่าทรัพย์สินส่วนตัวราว 90,500 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 2.8 ล้านล้านบาท
ตัวเลขทรัพย์สินมหาศาล พร้อมกับธุรกิจในเครือที่หลากหลาย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ชายคนนี้มีนิสัยพารวยอย่างไร? ที่ช่วยนำพาให้บริษัทฯ ของเขาก้าวไปสู่ตำแหน่งยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพล และได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้นขนาดนี้
เจฟฟ์ เบโซส์ นึกถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก
ในปี 2014 เจฟฟ์เลือกลงทุนสร้างศูนย์ปฏิบัติงานเพิ่มเติม เพราะต้องการเพิ่มการจัดส่งสินค้าให้เร็วขึ้นให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีที่สุดจาก Amazon
การตัดสินใจลงทุนของเจฟในครั้งนั้น ท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยของผู้ถือหุ้น ทำให้หุ้นของ Amazon ได้รับผลกระทบหนัก และถูกหลายคนมองว่า ‘Amazon เป็นบริษัทฯ ที่ไม่ทำกำไร’ แต่เจฟคิดไม่ผิด เพราะนับตั้งแต่ปี 2014 หุ้นของ Amazon เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดประมาณ 285%
แต่กว่าจะนำพาให้บริษัทฯ มีมูลค่าสูงเช่นวันนี้ เจฟฟ์ใช้ทฤษฎีที่ว่า ‘Puts customers at the center’ ซึ่งซีอีโอแห่ง Amazon เขายกให้ลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางของทุกสิ่ง เพื่อสร้างความพึงพอใจขั้นสูงสุด
เจฟฟ์เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time ไว้อย่างน่าสนใจว่า “In the long run, if you take care of customers, that is taking care of shareholders.” จับใจความได้ว่า “ในระยะยาว ถ้าเราดูแลลูกค้า นั่นเท่ากับเราดูแลผู้ถือหุ้นด้วย”
เจฟฟ์ เบโซส์ หลงใหลในนวัตกรรม และเทคโนโลยี
“มองเห็นอนาคตเท่ากับชนะในธุรกิจ” ย้อนไปปี 2004 เจฟฟ์ซุ่มลงทุนหลายล้านดอลลาร์กับ Amazon Lab126 ทำวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตนวัตกรรมช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น เช่น Amazon Kindle e-reader (อุปกรณ์ไว้สำหรับอ่าน eBooks) , กล่องเซ็ตท็อป Amazon Fire TV, โทรศัพท์ Fire Phone, ลำโพง Amazon Echo
ผลงานของเจฟฟ์ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เป็นอย่างดีก็คือ ระบบคลาวด์เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ Amazon Web Services (AWS)
เห็นว่า เร็ว ๆ นี้ Amazon จะนำเสนอนวัตกรรมใหม่สุดล้ำ โดยออกแบบมาเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ด้วยการจัดส่งสินค้าที่มีน้ำหนักสูงสุด 5 ปอนด์ผ่านโดรน ภายใน 30 นาที ซึ่งคิดเป็น 86% ของสินค้าทั้งหมดของ Amazon คาดว่าจะมีการเปิดตัวใช้จริง ๆ ในปี 2019
เจฟฟ์ เบโซส์ ตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง
ด้วยความที่เจฟฟ์เป็นคนที่รักในการสร้างสรรค์เป็นชีวิตจิตใจ แทบจะยกให้เป็นประธานสมาคมชมรมรักงานก็ยังได้ ว่ากันว่า เขาค่อนข้างจะจริงจังกับทุกเรื่อง บริษัทฯ ของเขาที่เลือกจ้างพนักงานที่มีจิตใจดี และมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด
รู้กันดีว่า ขั้นตอนการจ้างงานของ Amazon เป็นไปอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานใหม่แต่ละคนมีความสามารถในการผลักดันภารกิจบริษัทฯ ให้ไปถึงเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี เจฟฟ์ เคยเขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นในปี 1998 ว่า “การว่าจ้างงานพนักงานของเรามีกฎเกณฑ์ที่สูง นั่นเป็นเพราะพนักงานคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อน Amazon.com”
เจฟฟ์ เบโซส์ ไม่ใช้เงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น
เมื่อปี 1999 ระหว่างการสัมภาษณ์นั้น นักข่าว Time เหลือบไปเห็นโต๊ะทำงานของเจ้าพ่อ Amazon
ที่มีเทปกาวยึดติดขาโต๊ะอย่างพะรุงพะรัง และด้วยความสงสัยนักข่าวจึงถามไปว่า “ทำไมคุณถึงไม่ยอมซื้อโต๊ะใหม่?” ทันใดนั้นเจฟฟ์ตอบนักข่าวว่า “ผมใช้จ่ายเงินกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น”
และเขายังส่งเสริมการใช้เงินให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ด้วยการมอบรางวัล “Door Desk Award” สำหรับพนักงานที่มุ่งมั่นในการออมเงิน ประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ เจฟฟ์ยังมุ่งมั่นลดต้นทุนการทำงาน เพื่อให้ Amazon สามารถให้ราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น
เจฟฟ์ เบโซส์ จิตใจดี
“ผมรู้ดีว่าธุรกิจแบบนี้มีอายุขัยที่ไม่ยืนยาวนัก ทำให้ Amazon ต้องต่อสู้ในทุกวัน” เจฟฟ์ บอกให้สัมภาษณ์กับสื่อ เพราะเขารู้ดีว่าธุรกิจไม่ยั่งยืน แต่กระนั้นเจฟได้เลือกสร้างให้วัฒนธรรมใน Amazon มี และสร้างให้ Amazon เป็น เห็นได้จากการให้รางวัลจริยธรรมในการทำงานร่วมไปด้วย
นอกจากการพัฒนาวัฒนธรรมในองค์กรแล้ว เจฟฟ์ทำงานหนัก เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ ๆ และต้องยอมรับว่าชายคนนี้มีส่วนทำให้ Amazon เป็นเสมือนภูติผู้มีพลังพิเศษในตำนาน เพราะ เจฟฟ์ เบโซส์ ผลักดันให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่ โดยใช้เวลาภายใน 23 ปีเท่านั้น
—————
ที่มา : time.com, voathai.com, lab126.com
เรื่อง : Butter Cutter
RECOMMENDED CONTENT
เดอะ ลีโอ เบอร์เนทท์ กรุ๊ป ประเทศไทย เอเจนซี่โฆษณาชั้นนำของประเทศไทย ในเครือปับลิซิสกรุ๊ป ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ทำแคมเปญ ลดเค็ม ลดโรค รณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคโซเดียม ที่มากเกินไปจนสะสมในร่างกายทำให้เกิดโรคร้าย และปรับพฤติกรรมนี้