ไม่ใช่เพลงหรือซีรี่ส์ แต่สื่อบันเทิงจากเกาหลีที่เราซึมซับครั้งแรกมันถูกสื่อสารผ่านทางภาพยนตร์ ก่อนทุกคนจะคุ้นเคยกับกระแสเกาหลีฟีเวอร์ ภาพยนตร์จากเกาหลีก็ถูกจัดให้อยู่ในแนวหน้าของภาพยนตร์เอเชียควบคู่กับภาพยนตร์จากฮ่องกงและญี่ปุ่นแล้ว
ในยุค 90s วงการภาพยนตร์เกาหลีนิยามว่ามันเป็นช่วงของ Korean New Wave หลายๆ เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคม ผลักดันให้ผู้กำกับและคนรุ่นใหม่หลายคนใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการแสดงออกของพวกเขา และนั่นส่งผลให้ยุคนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้วงการภาพยนตร์ภายในประเทศ ผู้กำกับหน้าใหม่ที่เปิดตัวในยุคนี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญของวงการภาพยนตร์ หนึ่งในนั้นคือ Park Chan Wook ผู้กำกับคนดังที่ส่ง Old Boy มาสั่นสะเทือนเทศกาลหนังระดับโลก
Park Chan Wook ถูกนิยามว่าเป็น Quentin Tarantino แห่งเกาหลี รวมถึงเป็นเจ้าพ่อเเห่งหนังเกรด B ด้วยสไตล์การกำกับที่โดดเด่น ความโหดเหนือจริงอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาถูกยกให้เป็นหนังแห่งยุค
Park Chan Wook ไม่เพียงแค่เป็นไอค่อนคนสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนต์เกาหลี การเป็นผู้กำกับเกาหลีคนแรกที่คว้าถ้วย Grand Prix จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ของเขา ยังช่วยให้ภาพยนตร์เกาหลีกลายเป็นที่จับตาของผู้ชมทั่วโลก
แม้จะไม่ใช่แฟนหนังเกาหลีหรือเป็นคอหนังแอคชั่น แต่เราเชื่อว่าชื่อของ Old Boy น่าจะเคยผ่านหูของหลายๆ คนมาบ้าง เรื่องราวการล้างแค้นสุดโหด การดำดิ่งไปสู่ด้านมืดที่แสนจะอันตราย มุมกล้องที่แปลกประหลาด วิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ Old Boy เป็นภาพยนตร์ที่หยิบยื่นประสบการณ์ใหม่จนผู้ชมต้องประหลาดใจ และความสดใหม่นี้เองที่ทำให้ผลงานเขาคว้ารางวัลมากมายจากเทศกาลภาพยนต์ทั่วโลก
“เกาหลีในช่วงที่ผมเริ่มทำหนัง ยังไม่มีการเรียนภาพยนตร์ที่เป็นระบบ ผมเข้าชมรมภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยเเละเริ่มทำหนังไปตามยถากรรม วิธีการทำหนังของผมก็ดูไม่เป็นระบบ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สุดท้ายมันจึงออกมาในรูปแบบที่แปลกๆ ไม่เหมือนใคร ให้ความรู้สึกเหมือนมันได้ขยำทุกอย่างมารวมกัน”
ตลกร้ายและความรุนเเรงคือส่วนประกอบสำคัญในภาพยนต์ของเขา ‘ความรุนแรง’ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในภาพยนต์ของ Park Chan Wook นั้นไม่เหมือนใคร มันไม่ได้มีฉากแอ็คชั่นเท่ๆ ที่ทำให้เราตื่นตากับความเก่งกาจของตัวเอก แต่มันเต็มไปด้วยมวลของความอึดอัด ความหวาดกลัวอันแปลกประหลาด ปาร์คเคยให้สัมภาษณ์ถึงแอคชั่นของตัวเองไว้ว่า
“บางทีเพราะผมไม่ต้องการให้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการสร้างความระทึกขวัญ ผมพยายามที่จะนำเสนอว่าความรุนแรงคืออะไรบางอย่างที่น่ากลัวและเจ็บปวด มันไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดใจ ดูเท่ หรือทำให้ใครรู้สึกดี”
แน่นอนว่าภาพยนตร์หลายๆ เรื่องของเขาใช้ ‘ความรุนแรง’ เป็นเครื่องมือสำคัญสำคัญ แต่มันไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้สำหรับดึงดูด สร้างความตื่นเต้นหรือความสนุกสนานให้กับผู้ชม ปาร์กใช้ความรุนแรงที่ดูเหนือจริงเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการเล่าความเป็นจริงของมนุษย์ เช่นเดียวกับ ‘การล้างเเค้น’ ที่เขานำเสนอมาตั้งแต่ภาพยนต์ชุด The Vengeance Trilogy (Sympathy for Mr. Vengeance / Oldboy / Lady Vengeance) จนถึงภาพยนต์เรื่องล่าสุดอย่าง The Handmaiden
“การล้างแค้นมันเป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจการเป็นมนุษย์ แม้ว่าตั้งแต่เด็กๆ เราต่างรู้ว่าการแก้แค้นมันไม่มีความหมาย เมื่อคุณพยายามจะล้างเเค้น คุณต้องทุ่มเททุกอย่างไปกับการล้างแค้นนั้น แล้วสุดท้ายต่างก็ไม่ได้อะไรกลับมา แต่การแก้เเค้นมันเป็นเหมือนเป็นสันดาน เป็นกับดักที่นำพาเราไปสู่การกระทำที่โง่เขลาของมนุษย์”
“เช่นเดียวกับความรุนแรง ผมไม่ได้ทำหนังเกี่ยวกับความรุนแรงเพราะชอบมัน ผมนำเสนอความรุนแรงเพราะผมมันยังมีผู้คนจำนวนมากที่แสดงออกความรุนแรงเหล่านั้นบนโลกใบนี้ น้ำเสียงที่ผู้คนแสดงออกผ่านความรุนแรงมันเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนในชีวิตผม ผมไม่ได้สนใจการกระทำรุนแรงที่แสดงออกมา แต่ผมสนใจอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในการแสดงออกเหล่านั้น มันเป็นเหมือนการแสดงอารมณ์ที่สมจริงที่สุด เมื่อผมอยากนำเสนอความจริงของมนุษย์ บางครั้งมันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำเสนอความรุนแรง”
ไม่ว่าจะในภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นทริลเลอร์แบบ The Vengeance Trilogy (2002, 2003 & 2005) โรแมนติกดราม่าอย่าง The Handmaiden (2016) หรือกระทั่งแนวสยองขวัญ แฟนตาซีแบบเรื่อง Thirst (2009) Park ก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราว แรงผลักดันสู่การกระทำมนุษย์ได้อย่างสุดโต่งและไม่เหมือนใคร
งานกำกับของเขาที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวตลกร้าย ฉากแอคชั่นสุดโหดที่เล่นกับจิตใจคนดูแบบไม่ประนีประนอมเหล่านั้นทำให้หลายคนบอกว่า บางฉากภาพยนต์เขาเกินจริงเกินไป แต่ดูเหมือนว่านั้นจะเป็นความตั้งใจ เป็นภาษาสไตล์เพื่อถ่ายทอดความไม่สมเหตุสมผลของโลกความจริงในจักรวาลภาพยนต์ของเขา
ภายใต้ความรุนเเรงที่เหนือจริงเหล่านั้น Park กลับนำเสนอความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง หลายครั้งมันไม่ใช่การหาความหมายหรือพยายามทำความเข้าใจ
แต่ภาพยนตร์ของเขามันคือการยอมรับว่า บางทีการใช้ชีวิตของมนุษย์นั้นที่เเท้จริงแล้วช่างโง่เขลา เหลวไหล โหดร้าย และไร้เหตุผลสิ้นดี
ผลงานที่ผ่านมาของ Park Chan-wook : The Moon Is… the Sun’s Dream (1992), Joint Security Area (2000), Sympathy for Mr. Vengeance (2002), Oldboy (2003), Lady Vengeance (2005), I’m a Cyborg, But That’s OK (2006) , Thirst (2009), Stoker (2013), The Handmaiden (2016)
RECOMMENDED CONTENT
เบื้อหลัง The Fast and the Furious: Tokyo Drift ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2006 กำกับโดย Justin Lin เป็นหนึ่งภาคที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ถึง 5,300 ล้านบาท