“ตอนที่อาศัยอยู่นิวยอร์ก ช่วงประมาณปี 1999–2004 ผมทำงานเป็นแมสเซนเจอร์ส่งเอกสารด้วยจักรยาน เวลาเลิกงานเพื่อนก็มักจะชวนไปดื่ม แล้วชอบพูดว่า “Let’s go dring MADSAKI” ประมาณว่าไปดื่มสาเกให้สนุกไปเลย ซึ่งมันก็เลยกลายเป็นฉายาที่เพื่อนเรียก และผมก็รู้สึกว่าตรงกับบุคลิกของตัวเอง จึงเป็นที่มาของ MADSAKI เพราะจากเดิมชื่อว่า Masaki พอเพิ่มตัวดี (D) ลงไป ก็กลายเป็น MADSAKI เหมือนเพิ่มกิมมิก รสชาติอะไรบางอย่างลงไปในชื่อ” ศิลปินบอกเล่าที่มาที่ไปของชื่อตัวเองอย่างขบขัน
เขาเกิดที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น หลังจากใช้ชีวิตในดินแดนอาทิตย์อุทัยไม่นานนัก ก็หอบตัวเองมาอเมริกาตั้งแต่อายุ 6 ปี “ตอนนั้นผมยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็เลยพยายามสื่อสารด้วยการวาดรูป” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปิน หลังจากนั้นเขาพาตัวเองไปเรียนศิลปะเต็มตัว ซึ่ง MADSAKI เลือกเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังในนิวยอร์ก Parsons School of Design สาขา Fine Arts ซึ่งเป็นสถานที่ปั้นศิลปินชื่อดังมาแล้วมากมาย
“ตอนเรียนทรมานมาก” MADSAKI เล่าว่าเพียงแค่อาทิตย์แรกที่ไปเรียน มีอาจารย์คนนึงบอกว่า “ไม่มีใครอยู่รอดเพราะงานศิลปะได้หรอก ถ้าอยากออกจากวงการนี้ก็ควรจะออกเลย ประหยัดเงินด้วย” ถึงแม้สิ่งที่อาจารย์พูดอาจจะจริง แต่ก็ตลกดีเหมือนกันที่ตลอดเวลาการเป็นศิลปินเขากลับทำในสิ่งที่อาจารย์บอกว่าไม่ให้ทำทั้งหมด แต่เขาก็ยังประสบความสำเร็จแบบนี้ได้
หลายคนคงรู้จักงานของ MADSAKI อยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เล่าคร่าวๆ งานของเขาจะมีสไตล์ที่ดูตรงไปตรงมา บ้างขบขัน บ้างรุนแรง ด้วยคาแร็กเตอร์แบบนี้ งานของเขาจึงดูเหมือนงาน Street Art แต่ต่างกันที่ผลงานของเขาอยู่บนผืนผ้าใบ
SOLO SHOWS
การมีงานแสดงเดี่ยวและกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการการันตีว่าศิลปินมีผลงานที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ ปี 2003 – 2 in 1, Gas/Dyezu Experiment, Tokyo, Japan / 2004– Garden of Re-creation, Riviera Gallery, Brooklyn, New York / 2007 – All Day I Dream About Sunsex, Meguro Rice Factory, Tokyo, Japan ต่อเนื่องมาเกือบทุกปีจนถึงนิทรรศการล่าสุดของเขา 2018 – COMBINATION PLATTER จัดแสดงที่ Central Embassy ประเทศไทย ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
ความเป็น Original บนงานคลาสสิก
ตอนแรกก็วาดรูป original อยู่หลายปีเหมือนกัน แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ ยังไม่ตรงความต้องการเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงเริ่มนำคำพูดต่างๆ มาเขียนลงบนผ้าใบ เช่น การเขียนคำว่า ‘FUCK OFF’ ลงบนผืนผ้าใบ เขียนทับบนงานคลาสสิก และก็เริ่มพัฒนาสไตล์ของตัวเองเรื่อยๆ การทำแบบนี้ไม่ได้เป็นการดูถูกศิลปิน แต่กลับเป็นไอเดียความคิดสร้างสรรค์อีกสไตล์มากกว่า
การทำลายเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง
หากลองสังเกตผลงานของศิลปินคนนี้หลายคนคงรู้สึกว่า สีที่หยดย้อยลงมาอาจทำให้ภาพสวยๆ เสียหายหรือเหมือนเป็นการทำลายความสวยงามไป แต่สำหรับเขากลับไม่คิดแบบนั้น “อาจจะไม่ใช่เชิงการทำลายซะทีเดียว แต่เป็นการเพิ่มเอกลักษณ์ของตัวเองลงไปในผลงานมากกว่า เป็นวิธีการทำผลงานศิลปะอย่างหนึ่งของผม ตัวผมเองไม่ได้สนใจการสร้างสรรค์แบบสวยงามเท่าไหร่ เพราะ Original เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว” MADSAKI เล่า
Takashi Murakami ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ กับความสัมพันธ์ของ MADSAKI
ผมโพสต์ภาพผลงานลงในอินสตาแกรมไปเรื่อยๆ และคุณมุราคามิก็เริ่มติดตาม หลังจากนั้นคุณมุราคามิก็ซื้อผลงานของผมไปและก็นำผลงานนั้นไปติดตั้งในนิทรรศการที่โยโกฮาม่า ตัวผมเองก็ได้ไปดูนิทรรศการนั้น และเจอกับคุณมุราคามิ จึงเข้าไปแนะนำตัว และถูกเชิญไปจัดแสดงผลงานอีกครั้งโดยให้เวลาเพียงไม่กี่อาทิตย์ในการสร้างสรรค์ผลงาน จนตอนนี้คุณมุราคามิ เป็นเหมือนหัวหน้าและอาจารย์ในเวลาเดียวกันของผมไปแล้ว
ผลงานสร้างชื่อจากการล้อเลียนงานของ Takashi Murakami
คุณมุราคามิบอกว่าอยากให้ผมลองเอาผลงานเขาไปสร้างสรรค์ในแบบตัวเองหน่อย จริงๆ ผมก็อยากนำมาสร้างสรรค์อยู่แล้วแต่คุณมุราคามิยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่กล้าทำเอง แต่พอชวนก็ตรงกับสิ่งที่อยากทำพอดี จึงเกิดเป็นผลงานล้อเลียนในแบบ MADSAKI
ที่มาของผลงานไฮไลท์ยาวกว่า 13 เมตร
ผมเติบโตมากับการ์ตูนทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา บวกกับการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์มาด้วย ซึ่งสำหรับตัวผมเองการดูการ์ตูนและศึกษาเรื่องราวของคาแร็กเตอร์นั้นๆ ก็เหมือนเป็นการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์เช่นกัน อย่างตัวการ์ตูน Dragon Ball ก็ไม่ได้แตกต่างจากผลงานภาพวาดของศิลปินระดับโลกอย่างดาวินชีเลย ผมจึงนำการ์ตูนต่างๆ มารวมกันและตัวการ์ตูนแต่ละตัวก็มีความหมายแตกต่างกันไป
อย่าง Big Bird จาก Sesame Street ผมเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากเรื่องนี้ จึงทำให้ตัว Big Bird กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และอีกอย่างคาแร็กเตอร์ของ Big Bird ก็ไม่มีทางพูดคำหยาบอย่าง FUCK OFF แน่นอน ผมจึงลองให้ Big Bird ลองทำอะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำตามคาแร็กเตอร์จริง การสร้างสรรค์งานชิ้นนี้เป็นเหมือน SELF-PORTRAIT ที่สะท้อนตัวเองได้เช่นกัน
บางชิ้นได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์
ผมชอบดูหนังมีหนังเรื่องโปรดมากมาย แต่เรื่องที่ชอบมากดูซ้ำกว่า 300 ครั้ง คือเรื่อง Goodfellas ของ Martin Scorsese และผลงานที่เอามาโชว์ครั้งนี้ก็มีซีนหนึ่งอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย เป็นฉากที่ตัวเอกมอบปืนให้กับภรรยาของเขา
ความรู้สึกที่มาเปิดนิทรรศการที่ Central Embassy
เขาตอบไปพลางอมยิ้มเล้กน้อยว่า รู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขมากที่ได้มาประเทศไทย เพราะคนไทยจะได้เห็นผลงานของเขา
ลองชิมอาหารจานใหม่จาก MADSAKI ที่ Central Embassy
ผลงานครั้งนี้เป็นคอลเล็กชั่นที่รวบรวมผลงานหลายอย่างในหลายสไตล์ที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำมาสร้างสรรค์งานศิลปะ หรือตัวการ์ตูน และยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก ก็ถือเป็นการรวบรวมงานของ MADSAKI อย่างละนิดอย่างละหน่อย จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ ‘Combination Patter’ (เหมือนจานอาหารที่รวบรวมอาหารเล็กๆ น้อยๆ ให้เราได้ชิม)
ซึ่งเหตุผลที่ต้องเป็นชื่อนี้ เพราะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมนูออเดิร์ฟอาหารจีนยอดนิยมที่เรียกว่า ‘Combination Platter’ ซึ่งเป็นจานที่รวมอาหารหลากหลายชนิดไว้ด้วยกัน เสิร์ฟรวมกันบนจานเดียวเพื่อให้ได้ลิ้มลองรสชาติที่แตกต่าง
ผลงานครั้งนี้ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน มีเพียงบางชิ้นเท่านั้นที่เคยจัดแสดงที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ในนิทรรศการแห่งหนึ่งเท่านั้น แล้วก็มาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ เลย ถือว่าได้ชมก่อนที่ญี่ปุ่นเสียอีก
อยากสื่อสารอะไรก็ผู้เข้าชมงานไหม
ไม่ได้มีอะไรจะสื่อสารเป็นพิเศษ ก็แค่อยากให้ทุกคนสนุกสนานไปกับงานศิลปะ และอาจจะมองศิลปะในแง่มุมที่แตกต่างกัน อย่างตัวผมเองก็สนุกสนานกับการสร้างงานศิลปะมาก ก็เลยอยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่า ‘ศิลปะเป็นเรื่องสนุก’
—————
นิทรรศการ ‘Combination Patter’ ของ MADSAKI นี้ถือเป็นครั้งแรกในไทย ที่ใครก็สามารถไปเดินชมศิลปะที่น่าทึ่งนี้ได้ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ ถึง 3 มิถุนายน 2561 บริเวณชั้น G Central Embassy และไม่เพียงผลงานศิลปะบนผืนผ้าใบที่นำมาให้ชมเท่านั้น แต่ภายในงานยังมีสินค้าคอลเล็กชั่นพิเศษที่ออกแบบขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีจำหน่ายเพียงที่ร้าน SIWILAI Store (ศิวิไล สโตร์) ชั้น 5 แห่งเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ Central Embassy ยังอยากให้ทุกคนติดตามข้อมูลข่าวสารว่าหลังจากนี้จะมีศิลปินคนไหน หรือมีงานจัดแสดงอะไรที่น่าสนใจอีกบ้างอีกบ้าง เพราะรับรองว่าทุกคนจะได้เห็นผลงานของศิลปินคนอื่นๆ ระดับโลกอีกแน่นอน อย่าลืมติดตาม!
RECOMMENDED CONTENT
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น (Ars Longa Vita Brevis) คือภาษิตของฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์ในยุคกรีกโบราณ คนไทยคุ้นเคยวลีนี้จากคำสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย ที่ซึ่งต่อมาลูกศิษย์ของท่านได้นำมาใช้เป็นคำขวัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร วลีที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัจธรรมวลีนี้ยังผุดขึ้นมาในความคิดของ เข้-จุฬญานนท์ ศิริผล หลังจากที่เขามีโอกาสพูดคุยกับผู้ใช้เวสป้า และตระหนักถึงความผูกพันของผู้คนกับความหมายของสกู๊ตเตอร์ที่เป็นมากกว่าพาหนะ เข้จึงเลือกใช้มันมาเป็นชื่อภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ของเขา - ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น