fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT — คุยกับ ‘Gongkan’ ศิลปินหนุ่มไทยในนิวยอร์คผู้ใช้หลุมดำนำทาง
date : 21.พฤษภาคม.2018 tag :

เราต่างรู้กันดีว่าความทุกข์ ความเศร้า และความเกลียดชังอาจไม่ได้นำสิ่งที่ดีมาสู่ชีวิตใครเท่าไรนัก ศิลปินหนุ่ม อดีตนักทำโฆษณา Gongkan (ก้องกาน) ก้อง-กันตภณ เมธีกุล ก็เชื่ออย่างนั้น เขาตัดสินใจบินออกจาก safe zone บ้านเกิดที่กรุงเทพฯ เพื่อไปตามฝันกับการเป็นศิลปิน ณ มหานครนิวยอร์ก

ความทุกข์ทรมานจากการต้องใช้ชีวิตตามลำพังในดินแดนไม่คุ้นเคยผลักดันให้เขาสร้างงานศิลปะขึ้นมา จากเด็กหนุ่มผู้ไม่มั่นใจอะไรเลยแม้กระทั่งจะสั่งสตาร์บัคส์ วันนี้เขาเป็นศิลปิน Street Art ที่ชาวนิวยอร์กหลายคนรู้จักและจดจำได้

ก้องกานตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำที่ได้พบเจอในสังคมแห่งความหลากหลายที่นั่น แล้วหอบกลับมาเมืองไทยกับโปรเจ็กต์ใหม่ ‘Life is Too Short to Hate’ : ชีวิตสั้นเหลือเกินที่จะเกลียดกัน – ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างตัวเขากับไลฟ์สไตล์สโตร์ที่สนับสนุนนักออกแบบหน้าใหม่อย่าง ODS – Objects of Desire Store ร่วมเเปลงความเกลียดชังและความแตกต่างเป็นความรัก ผ่านข้าวของเครื่องใช้ประจำวันและงานศิลปะ

นี่คือ ‘(เวรี่) Brief Story’ ที่ก้องกานวัย 28 ได้พบเจอจากตอนโน้นจนถึงตอนนี้…

1.
การลาออกครั้งแรกของชายหนุ่ม

พอเรียนจบคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราทำงานโฆษณา ระหว่างนั้นก็รับงานเป็น Illustrator ด้วย มันเป็นงานที่ไม่ได้คิดเอง 100% ทุกกระบวนการขนาดนั้น เพราะต้องทำงานตามบรีฟลูกค้า ช่วงทำงานออฟฟิศเลยรู้สึกเหมือนอยู่ใน safe zone มีงานประจำ มี job วาดรูปเข้ามาเรื่อยๆ กลับบ้านมาวาดรูปทุกวัน มันก็สบายดี ทำอยู่ประมาณ 3–4 ปี จนวันหนึ่งเรารู้สึกอิ่มกับมันแล้ว อยากสร้างงานของตัวเองจริงๆ เลยตัดสินใจลาออก…

—————

2.
นิวยอร์ก (เวรี่) เฟิร์สไทม์

ตอนที่เลือกไปนิวยอร์ก แค่คิดว่างานเราค่อนข้างเป็น Pop Art ซึ่งมันน่าจะเข้ากับคัลเจอร์ของนิวยอร์กมากกว่า มีศิลปินระดับโลกที่ทำงานมินิมอล งานป๊อปอาร์ตหลายคนอยู่ก็นิวยอร์กเหมือนกัน เช่น Jeff Koons เพื่อนฝรั่งที่นั่นบอกเหมือนกันว่างานเราดูเป็นเอเชียมากๆ ซึ่งดีนะ เราพบว่ามันเป็นซิกเนเจอร์ของศิลปินฝั่งเอเชียหลายคนจริงๆ เพราะฝรั่งเขาจะไม่ได้วาดเส้นคม หรือมินิมอลแบบนี้ อาจเป็นอิทธิพลมาจากตอนเด็กๆ ชอบดูการ์ตูนญี่ปุ่นด้วยมั้ง ตัวการ์ตูนเราจะมีดวงตากลม นิ่งๆ ไม่ได้อยากให้เขาแสดงออกมาดีใจ เสียใจ หรือรู้สึกยังไง อยากให้คนดูตีความเอาเอง

เป็นการไปแบบไม่คิดมาก อยากไปก็ไป ตอนไปใหม่ๆ เรา homesick มาก ช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีแรก คืออยู่ตัวคนเดียวตลอด ไม่มีเพื่อน ต่างกับตอนอยู่เมืองไทย เรามีงาน มีเพื่อน การเป็นคนเอเชียแล้วไม่ได้มีคอนเน็กชั่นอะไรที่นั่นมันยากมาก ตอนนั้นเรารู้สึกติดขัดอยู่ในโลกของตัวเอง ก็เลยสร้าง black hole ขึ้นมา เป็น symbolic ที่ออกมาจากตัวเองจริงๆ

งานแรก เป็นรูปเด็กผู้ชายมุดลงไปในหลุมดำ ซึ่งไอ้เด็กผู้ชายคนนั้นก็คือตัวเราเอง ให้ตัวการ์ตูนเป็นตัวแทนของเราที่ติดอยู่ตรงนั้นได้ออกไปสู่อีกจุดหนึ่งสักที เรียกว่าเราสร้างงานจากความ suffer 1 ปีตรงนั้นก็ได้ การอยู่นิวยอร์กอาจเหมือนการบีบตัวเองว่าเราต้องสร้างงานออกมาแล้วนะ

—————

3.
บอมบ์ ทูบี…

ตอนแรกแค่เอางานลงโซเชียลฯ ของเรานี่แหละ จนได้คุยกับศิลปิน Street Art คนหนึ่ง เขาบอกว่าทำไมไม่ลองทำ sticker bomb ดูล่ะ เราก็โอเค ลองดู ทำสติ้กเกอร์ไปแปะตามที่ต่างๆ พอคนเริ่มเห็นก็เริ่มแท็กมาในอินสตาแกรม พอแท็กบ่อยๆ คนจำได้ วันหนึ่งเลยได้โอกาสเพ้นต์ตามพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ขึ้น เทคนิคของเราคือการใช้สีอะคริลิกเพ้นต์บนกำแพงไปเลย ไม่ได้สเปรย์เหมือนคนอื่นๆ เพราะด้วยคาเเร็กเตอร์งานเราที่มีเส้นค่อนข้างคม สีอะคริลิกเลยตอบโจทย์กว่า อีกอย่างเราถนัดใช้เเปรงมากกว่าด้วย

พอเริ่มได้ไปเพ้นต์ในแมนฮัตตัน ในบรูคลิน มันก็ทำให้คนเห็นเยอะขึ้นเรื่อยๆ อิมเเพ็คคนหมู่มากมากขึ้น เราว่า Street Art มันเวิร์กเพราะไปอยู่ในชีวิตประจำวันคนจริงๆ อยู่ที่ว่าศิลปินคนนั้นอยากพูดอะไรกับโลก แล้ว black hole ก็คือวิธีสื่อสารของเรา

—————

4.
ชีวิตสั้นเหลือเกินที่จะเกลียดกัน

เราเห็นความเหลื่อมล้ำเรื่องเพศ ศาสนา ชนชั้น มาตั้งแต่เด็กแล้ว พอได้ไปอยู่นิวยอร์กเหมือนยิ่งชัดมากขึ้น คนที่นั่นเขาเรียกร้องสิทธิกันเป็นเรื่องปกติ เช่น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) หรือการเรียกร้องเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ซึ่งเมืองที่เราเห็นว่าเขาเจริญแล้วมากๆ อย่างนิวยอร์ก ก็ยังเหยียดกันด้วยเรื่องแบบนี้อยู่ มันทำให้เราเกิดการตั้งคำถามว่าจริงๆ เราควรวัดกันที่ความดีงามหรือเปล่า เราไม่สามารถเปลี่ยนสีผิวหรือเชื้อชาติของตัวเองได้ แต่ทำไมเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันนัก

โปรเจ็กต์ Life is too short to hate เลยเป็นงานที่ใช้สัญลักษณ์เยอะหน่อย เรายังคงให้ black hole เป็นประตูของความอิสระ เปลี่ยนโลกที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ทำให้คนรักกันมากขึ้น symbolic อีกอันคือประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับผู้นำเกาหลีเหนือที่โผล่จากหลุมดำมาจูบกัน ทั้ง 2 คือตัวแทนของคนต่างชาติ ต่างสีผิว ต่างความเชื่อ เหมือน 2 ขั้วที่ไม่มีทางเข้ากันได้ อาจยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็เป็นโลกในอุดมคติของเรา และอาจจะเป็นของใครอีกหลายคนก็ได้

เราว่าความเกลียดชังมันไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรอก แต่กลับส่งผลเสียต่อคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ สังเกตผู้นำประเทศที่มีปัญหากันดูสิ ประชาชนไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรต้องมาพลอยรับผลไปด้วย ซึ่งศิลปะอาจทำให้เกิดมิตรภาพได้เหมือนกัน หัวข้อของงานชุดนี้คือการสื่อสารเรื่องความรัก ความไม่เกลียดชังกัน จึงเป็นเรื่องดีหากมันไปอยู่ใน Everyday Life ของคน ไม่ว่าจะผ่านรูปบนโปสการ์ด ผ่านของใช้ประจำวัน เช่น จานชาม เสื้อผ้า หรือแม้แต่เคสโทรศพท์ก็ยังได้

—————

5.
มอง / กลับ / หลัง

การไปใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์ก เราได้เห็นว่าคนเขาเสพศิลปะกันหนักมาก เขา appreciate กับงานอาร์ตจริงจัง พอเราได้พื้นที่ทำงาน มันก็เลยได้รับความสนใจค่อนข้างเร็ว การที่คนจะเสพงานที่ประเทศไทย มันอาจอยู่แค่ในกรอบของงานอีเว้นต์หรือแฟชั่นอะไรสักอย่าง

แต่ในนิวยอร์ก เขาให้ความสำคัญกับงาน กับตัวศิลปินจริงๆ เขาจะวิจารณ์กันตรงๆ กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญคือเขาพร้อมจะเรียนรู้มัน แม้ว่าศิลปินจะเป็น nobody ก็ตาม ซึ่งตอนแรกมันอาจจะยาก แต่พอคุณมีพื้นที่ให้ได้แสดงงานปุ๊บ ถ้างานคุณเจ๋งจริง แล้วมีคนเห็น เดี๋ยวมันไปต่อได้เอง

นี่ก็เพิ่งวาดเสือดำที่นิวยอร์กไปเหมือนกัน พอดีศิลปินคนหนึ่งให้พื้นที่เราวาด เราก็เลยวาด จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครตามไปลบนะ (หัวเราะ) คือเรารู้สึกว่าที่นั่นถึงเขาจะมีความขัดแย้งกัน หรือมีความเห็นต่างกัน แต่เขาก็ไม่ได้ไปทำลายงานอาร์ต เขายังให้เสรีของการแสดงความเห็น ยังให้เกียรติมันในฐานะของงานศิลปะอยู่ดี

เราไม่ปฏิเสธว่าเป็นความโชคดีของศิลปินในยุคนี้ที่มีช่องทางให้นำเสนองานเยอะขึ้น ศิลปินสามารถทำงาน collaborate กับคนอื่นได้ มันจะต่างกับตอนเป็น Illustrator ซึ่งได้โจทย์มาแล้วเราทำงานตามโจทย์ 100% แต่การเป็นศิลปินคือเขาอยากได้งานเรามาอยู่ในเรื่องราวของเขาด้วย ตอนนี้มันเหมือนตัวเรา 60% ลูกค้าอีก 40%

ส่วนใหญ่เราจะคิดงานจากตัวเอง คิดจากสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ อย่างการที่ได้อยู่ด้วยตัวเองจริงๆ ได้กลั่นกรองช่วงเวลานั้น หลายคนที่นั่นก็เป็นเหมือนเรา คือมานิวยอร์กเพื่อมาตามหาความฝัน แต่หลายคนก็หามันไม่เจอ หลุมดำของเราอาจไป cheer up คนที่มีความคิดฝันเหมือนกันก็ได้

6.
“ไม่คาดหวัง เพราะเลยจุดคาดหวังมาแล้ว”

ย้อนกลับไปดูที่ตอนแรกเราติดขัดก็เพราะสร้างงานจากความคาดหวังนี่ละ เลยไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ อยากพูดสักที ตอนนี้เรียนรู้แล้วที่จะวาดอะไรที่อยากสื่อสารมากกว่าวาดอะไรที่อยากให้คนชอบ หลังจาก suffer กับมันจนได้หลุมดำนี้ขึ้นมา ส่วนประตูนี้จะพาตัวเราหรืองานเราไปที่ไหนต่อ เราโอเคแล้ว

พอเราอิสระกับตัวเองได้ก่อน มันก็ success ในตัวของมันแล้วนะ

—————

7.
To be continued…

Gongkan จะกลับมาพร้อม Exhibition เดี่ยวกับการเพ้นติ้งบนผืนผ้าใบในชื่อ Teleport Exhibition by Gongkan – 24 พฤษภาคมนี้ ณ Warehouse30

โปรดติดตามตอนต่อไป…  

นิทรรศการ Life is too short to hate จัดแสดงให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้–15 กรกฎาคม 2561
พร้อมช้อปฯ สินค้าไลฟ์สไตล์ อาทิ เสื้อยืด Tote Bag เข็มกลัด โปสการ์ด สติกเกอร์ และของจุกจิกน่าเอ็นดูอื่นๆ ที่ออกแบบโดย Gongkan อีกคับคั่งได้ที่ร้าน ODS Objects of Desire Store ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม https://www.facebook.com/objectsofdesirestore/

—————

Teleport Exhibition by Kongkan

24 พฤษภาคม–15 มิถุนายน 2561
ณ Warehouse30 ซอยเจริญกรุง 30
เข้าชมฟรี 11.00–21.00 น.

facebook.com/kongkanstudio

RECOMMENDED CONTENT

1.พฤศจิกายน.2017

ออกมาแล้วกับ Official Trailer หนังดีกรีเมืองคานส์ A Prayer Before Dawn ผลงานจากผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ฌอง-สเตฟาน ซูแวร์