Rafiki (Wanuri Kahiu)
ในโลกของหนังที่พูดถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ดูเหมือนว่าหนังชายรักชายน่าจะครองพื้นที่และครอบคลุมมากที่สุด เราเริ่มมีหนัง LGBT ซึ่งพูดถึงคนชายขอบจริงจัง เช่น Tangerine (Sean Baker, 2015) หนัง Transgender อภิมหากาพย์กระเทยตามล่าชะนี ที่ไม่ได้มีดีแค่ใช้ไอโฟน 5s ถ่ายทั้งเรื่อง หรือหนังเกย์ผิวสีสุดละเมียดละไมในใจเราอย่าง Moonlight (Barry Jenkins, 2016) ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประเด็นคนที่ถูกลืมในสังคมนั้น matter และไม่ควรถูกลืมตามไปด้วย
Moonlight (Barry Jenkins, 2016)
Tangerine (Sean Baker, 2015)
ขณะเดียวกันหนังหญิงรักหญิงกลับมีพื้นที่เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกัน แต่ก็ยังนับว่าพอมีหนังของชาว ‘L’ จากสังคมชายขอบอยู่บ้าง เช่น Pariah (2011) หนังนอกกระแสของผู้กำกับฯ Dee Rees (Mudbound, 2017) ว่าด้วยวัยรุ่นเลสเบี้ยนผิวสีในอเมริกา ซึ่งหลายคนเปรียบว่าเป็น Moonlight ในภาคผู้หญิงก็ตาม แต่ถึงอย่างไรหนังเลสเบี้ยนของคนกลุ่มนี้ก็แทบจะไม่ได้อยู่ในสปอร์ตไลต์เท่าที่ควรอยู่ดี
Pariah (2011, Dee Rees)
Rafiki (ภาษาเคนย่า แปลว่า ‘เพื่อน’) คือหนึ่งในหนัง Coming-of-Age สาย Un Certain Regard ที่ได้รับการ standing ovation อย่างชื่นชมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2018 ที่ผ่านมา
หนังเล่าเรื่องของ Kena และ Ziki เด็กหญิงวัยรุ่น 2 คน จากครอบครัวนักการเมืองท้องถิ่นในกรุงไนโรบี ที่กำลังค้นหาตัวเองผ่านความรักที่เริ่มก่อตัวขึ้นของทั้งคู่ไปพร้อมกับเรียนรู้การเติบโต ท่ามกลางบรรยากาศของโลกภายนอกที่กำลังโบกธง LGBTQ กันให้ว่อน
ย้อนแย้งกับสภาพแวดล้อมของเคนย่าที่ยังคงเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม อุดมไปด้วยกฎระเบียบ และประเพณีอันเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องเพศ การเป็น homosexual ในเคนย่า ถือเป็นอาชญากรรม เป็นเรื่องต้องห้ามอย่างยิ่ง แถมยัง ‘ผิดกฎหมาย’ ด้วย ซึ่งก็เคยมีเคสที่โดนโทษจำคุก 14 ปีเนื่องจากมีเซ็กส์กับคนเพศเดียวกันมาแล้ว
จึงไม่น่าเซอร์ไพรส์อะไร ถ้าหากหน่วยงานที่สกรีนหนังอย่าง Kenya Film Commission จะแบนหนังเรื่องนี้ไปแบบตาใสๆ ด้วยเกรงว่าหนังจะ ‘ส่งเสริม’ การรักเพศเดียวกันของคนในประเทศเข้าไปใหญ่
ใครจะนึกว่าหนังเลสเบี้ยนที่ถูกแบนในประเทศตัวเองเรื่องนี้นี่แหละเป็นหนังเรื่องแรกของเคนย่าที่มีโอกาสได้ฉายในเทศกาลหนังยุโรปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งเป็นครั้งแรก!
ก่อนหน้านี้ หนังฝรั่งเศส Blue is the Warmest Color (Abdellatif Kechiche) ที่เคยได้ปาล์มทองคำจากเวทีเดียวกันเมื่อปี 2013 ถ้าไม่นับฉากเซ็กส์อันดุเดือดยาวนาน (ที่บางคนบอกว่ารู้สึกเหมือนกำลังดูหนังโป๊มากกว่า) ก็ยังไม่พ้นถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงมุมมองของผู้กำกับฯ ‘ผู้ชาย’ ที่มีต่อเลสเบี้ยน ซึ่งผิดเพี้ยนจากธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ไปมากโข และอีกหลายๆ จุดในหนังที่ช่างห่างไกลจากความเป็นจริง และถึงอย่างไรมันก็เป็นหนังหญิงรักหญิงที่พูดถึงการเติบโตของเด็กสาววัยรุ่นในสังคมคนขาวเท่านั้นด้วย
Blue is the Warmest Color (Abdellatif Kechiche)
จริงๆ แล้วผู้กำกับฯ Wanuri Kahiu ก็หาใช่โนบอดี้ในวงการหนังเสียทีเดียว โดยเฉพาะสายหนังอินดี้ ครั้งหนึ่งหนังไซ-ไฟเรื่อง Pumzi (2009) ของเธอเคยได้ฉายในเทศกาล Sundance เมื่อปี 2010 มาแล้ว
มาถึงตอนนี้ Kahiu บอกว่า แม้สังคมโดยรวมของเคนย่าจะค่อนข้างอนุรักษ์นิยมขั้นสุด แต่น่าแปลกที่สังคมของคนเจนฯ ใหม่กลับไม่เป็นอย่างนั้น พวกเขาพร้อมเปิดใจให้กับความแตกต่างหลากหลาย ไม่แค่เฉพาะเรื่องเพศ ยังรวมถึงทัศนคติในเรื่องอื่นๆ เช่นความเชื่อหรือการเมืองด้วย
แล้วการที่ Rafiki หนังซึ่งใช้เวลาเคี่ยวกรำกว่า 7 ปี เดินมาถึงเทศกาลระดับโลกอย่างคานส์ มันหมายความว่าเสียงของเด็กผู้หญิงในแอฟริกา… มีคนได้ยินแล้ว
น่าจับตามองว่าหนังจากแดนไกลที่ท้าทายสังคมอย่างหาญกล้าเรื่องนี้อาจช่วยขยับพื้นที่ของหนังเลสเบี้ยนให้กว้างขึ้น และมีความหลากหลายขึ้นกว่าที่ผ่านมา
RECOMMENDED CONTENT
วงคู่หู “Whal & Dolph” (วาฬ แอนด์ ดอล์ฟ) ประกอบด้วย “ปอ - กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ” และ “น้ำวน - วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) กลับมาปล่อยเพลงใหม่อีกครั้งในรอบ 5 เดือน