จากวันที่ถูกมองว่าเป็นเด็กเส้น…. น้ำตา / ชีวิต / ความฝัน ของ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา
“ตอนที่ผมคัดติดบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สายตาของคนอื่น ใครก็มองว่า ผมเป็นเด็กเส้น “ดูสิ นี่มันน้องของพี่เช็ค (สุภโชค สารชาติ) หนิ ใช้เส้นพี่ชายมาแน่ๆ” ความรู้สึกของผมมันบอกว่า ทุกคนคิดแบบนี้ แต่แล้วยังไงหล่ะ จะให้ผมลาออกเหรอ ก็ไม่ใช่ ผมไม่สนใจเลยว่า ใครจะมองยังไง ผมก็แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ผมต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้”
“ผมคิดแค่ว่า ถ้าพี่เช็คทำได้ แล้วทำไมผมจะทำไม่ได้…”
ย้อนกลับไปเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจบเกมนัดสุดท้าย รอบแรก ศึกฟุตบอล ยู-16 ชิงแชมป์เอเชีย 2018 ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทีมชาติไทย ต้องพบความผิดหวัง เนื่องจากตกรอบแรก เมื่อจบเกมด้วยการพ่ายแพ้ต่อ ทาจิกิสถาน 1-2 และพอสิ้นเสียงนกหวีดยาวของกรรมการ มีเด็กหนุ่มคนนึงได้ปล่อยโฮออกมาสุดเสียง ให้น้ำตาล้างใบหน้า เพราะความผิดหวัง ที่ไม่สามารถพาทีมชาติไทย ไปฟุตบอลโลกในระดับเยาวชนได้อีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศที่น่าเศร้าของนักเตะทุกคน รวมถึงสต๊าฟฟ์โค้ช และกองเชียร์อีกราวๆ 10 กว่าชีวิต ที่สนาม UM สเตเดี้ยม ในมหาวิทยาลัยมาลายา
นี่ไม่ใช่น้ำตาครั้งแรกที่เขาสูญเสียให้กับฟุตบอล
แต่มันก็คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะเขาเพิ่งอายุ 16 ปี
และการเดินทางของเขา บนถนนเส้นนี้ ยังเหลืออีกยาวไกล
ทุกอย่างเหมือนเพิ่งเริ่มต้นซะด้วยซ้ำ….
2 สิงหาคม 2002 ที่จังหวัดศรีสะเกษ หนุ่มน้อยรายหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นบนโลก ในบ้านที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ซึ่งมีรายได้จากการทำนา พร้อมกับการขายปุ๋ย
อันที่จริง เขาเป็นพี่ชายคนโต ของคุณพ่อ และคุณแม่ที่ให้กำเนิดเขาขึ้นมา
แต่สิ่งที่จริงกว่า คือ เขาก็มีพี่ชายต่างบิดาอีกคนที่อยู่ในครอบครัวมาตั้งแต่เขากำเนิด
และพี่ชายต่างบิดาคนนี้แหละ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล
เด็กน้อยคนนั้น ชื่อว่า “แบงค์” ศุภณัฎฐ์ เหมือนตา
และพี่ชายต่างบิดาของเขา ก็คือ “เช็ค” สุภโชค สารชาติ
“ที่บ้านของผม มีทั้งหมด 7 คน คือ พ่อ, แม่, ตา, ยาย, ผม แล้วก็พี่เช็ค กับ น้องชาย (ชื่อดอลลาร์) ตั้งแต่ผมจำความได้ ผมก็เห็นพี่เช็คเตะบอลแล้วครับ แล้วพอผมอายุ 4 ขวบ พี่เช็คก็พาผมไปเตะบอลด้วย กับเพื่อนๆ ของเขา ที่อายุประมาณ 8-9 ขวบ ก็เหมือนเด็กบ้านนอกทั่วไป วันๆ ไม่มีอะไรทำ ก็ตามพี่ชายไปเตะบอล ที่โรงเรียนซึ่งอยู่ติดกับบ้านเลย (โรงเรียนบ้านหัวเสือ จ.ศรีสะเกษ) ตอนนั้น พี่เช็คถือว่าเก่งที่สุดแล้วในโรงเรียน ในละแวกแถวบ้าน เรียกได้ว่า สุดในรุ่นเลย ตอนนั้น ผมจะอยู่ทีมเดียวกับพี่เช็ค เล่นกองหน้าคู่กัน”
เด็กชายศุภณัฏฐ์ สวมสตั๊ดเล่นฟุตบอลแบกอายุตั้งแต่เด็ก เขาเล่นฟุตบอลกับพี่ชาย และเพื่อนๆ ของพี่ชายเป็นเวลา 3-4 ปี วันแล้ววันเล่า เวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว จนเมื่อเขาถึงเวลาเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา ก็เป็นช่วงเดียวกับที่พี่ชาย ได้ทำตามความฝันสำเร็จไปอีกหนึ่งขั้น ด้วยการคัดฟุตบอลติดที่อะคาเดมี่ของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในรุ่นอายุ 12 ปี
สุภโชค สารชาติ ต้องย้ายจากบ้านออกไปอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เรียนวิชาต่างๆ ที่โรงเรียนภัทรบพิตร และเรียนวิชาฟุตบอล ภายใต้เสาหลักใหม่ของชีวิต ณ ดินแดนปราสาทสายฟ้า
ท่ามกลางความดีใจของผู้มีพระคุณในบ้าน “น้องแบงค์” มองเห็นความสำเร็จของพี่ชาย และรอยยิ้มของคนในครอบครัว นั่นทำให้เขารู้สึกว่า พี่ชายคนนี้แหละ คือ ไอดอลของเขา แล้วถ้าพี่ชายทำได้ ทำไมแบงค์คนนี้จะทำไม่ได้หละ
“ผมมีเวลา 4-5 ปี ก่อนอายุ 12 ปี แล้วจะได้ไปคัดตัวกับบุรีรัมย์เหมือนพี่เช็ค ตอนนั้น ที่บ้านก็ส่งเสริมครับ เห็นผมชอบเตะบอลเหมือนพี่ชาย พออายุ 9 ขวบ ผมก็เริ่มเล่นฟุตบอลเดินสาย รุ่นอายุ 12 ปี ตอนนั้นผมเล่นกองกลางตัวรับครับ ไม่รู้ทำไมเขาถึงจับไปเล่นกองกลางตัวรับ แต่ผมชอบไล่บอล วิ่งไม่มีเหนื่อย ไล่ได้ทุกจังหวะ จนอายุ 10 ปี ผมก็ได้เล่นรายการใหญ่ขึ้น คือ ฟุตบอลไพร์มินิสเตอร์ คัพ เล่นให้ทีมจังหวัดสุรินทร์ และจบอันดับที่ 4 ของประเทศ (อยู่ทีมเดียวกับ กฤษณะ ดาวกระจาย กองหลัง วัย 17 ปี ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน)”
“ผมไม่รู้เลยว่า ถ้าไม่ได้เตะบอลแล้วจะไปทำอะไร ผมก็เล่นฟุตบอลไปเรื่อยๆ ฝึกฝนตัวเองเรื่อยๆ ได้เล่นกองกลางตัวรับเป็นส่วนใหญ่ และได้เล่นปีกบ้าง ยังคิดอยู่เลยว่า ถ้าคัดตัวไม่ติด เราจะไปทำอะไร ก็คงกลับมาเรียนหนังสือ โดยที่ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไรด้วยซ้ำ”
และแล้ววันที่ “น้องแบงค์” ต้องแข่งขันกับคนอื่นๆ ในการคัดตัวสู่สโมสรบุรีรัมย์ ที่เขาใฝ่ฝันก็มาถึง
เขากำลังต่อสู้ เพื่อได้เดินทางบนถนนลูกหนัง สายเดียวกับที่พี่ชายของเขาเคยเดิน…
“พออายุ 12 ปี ผมก็ไปคัดตัวกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งผมไปคัดตำแหน่งกองหน้านะ ทั้งที่ไม่ได้เล่นตำแหน่งนี้มาประมาณ 3 ปี ผมไม่มีความฝันอื่นเลย ผมอยากเตะบอล ผมอยากอยู่ทีมเดียวกับพี่เช็ค และในที่สุด ผมก็คัดติดอะคาเดมี่ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด รุ่นอายุ 12 ปี และได้เรียนในโรงเรียนภัทรบพิตรเหมือนพี่เช็ค”
“ตอนนั้นไม่มีใครบอกหรอกว่า ทำไมผมถึงติด แต่จากสายตาของคนอื่น ใครก็มองว่า ผมเป็นเด็กเส้นนะ “ดูสิ นี่มันน้องของพี่เช็ค (สุภโชค สารชาติ) หนิ ใช้เส้นพี่ชายมาแน่ๆ” ความรู้สึกของผมมันบอกว่า ทุกคนคิดแบบนี้ แต่แล้วยังไงหล่ะ จะให้ผมลาออกเหรอ ก็ไม่ใช่ ผมไม่สนใจเลยว่า ใครจะมองยังไง เพราะผมไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดของใครได้ ผมไม่สามารถไปอธิบายให้ทุกคนเชื่อได้ ถึงอธิบายไปก็คงไม่เชื่ออยู่ดี ผมไม่รู้สึกเซ็งไม่ได้รู้สึกนอย หรือคิดมากอะไร ผมก็แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ผมต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้”
“ผมคิดแค่ว่า ถ้าพี่เช็คทำได้ แล้วทำไมผมจะทำไม่ได้…”
โลกของน้องแบงค์ ใบใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น กดดันขึ้น จริงจังขึ้น ต่อสู้มากขึ้น และเต็มไปด้วยความคาดหวังมากขึ้นทันทีที่เขาก้าวเข้าสู้รั้วปราสาทสายฟ้า
ในช่วงเวลาที่ สุภโชค สารชาติ ต้องต่อสู้ เพื่อก้าวขึ้นไปหาตำแหน่งภายในทีมชุดใหญ่
ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ก็ต้องต่อสู้เหมือนกัน
ต่อสู้กับเงาของพี่ชาย ที่บดบังตัวเขาอยู่
ต่อสู้กับคำดูถูก คำกล่าวหาว่าเขาเป็นเด็กเส้น
และชีวิตมันไม่เคยง่ายอยู่แล้ว…
“ก่อนมาคัดที่บุรีรัมย์ ผมคิดว่า ผมก็เก่งพอตัวนะ มีจุดเด่นเรื่องของความเร็ว ยิงแรง (ในสมัยเด็ก) แต่พอมาเจอคนอื่นๆ เวลาไปแข่ง ก็เห็นเลยว่า เห้ย เขายิงคมกว่าเราอีก เขายิงแรงกว่าเราอีก เก่งกว่าเราอีก วิ่งก็เร็วกว่า โดยเฉพาะ “โชค” วรากร ทองใบ (กองหน้าฝั่งซ้ายของ ทีมชาติไทย ยู-16) คนนี้เก่งมากเลย ตอนที่ผมเจอครั้งแรก เขาเก่งมาก มีเทคนิค มีความเร็ว มีความคม ยิงก็แรง”
“จากนั้น ผมก็ได้เล่นรายการแรก (ฟุตบอล ทอ. รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี) สวมชุดบุรีรัมย์ลงสนามครั้งแรกเลยครับ ซึ่งผมฟอร์มแย่มาก เหมือนยังปรับตัวไม่ได้ ยิงไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ คิดได้ แต่ทำไม่ได้ แล้วมันก็ยิ่งทำให้คนคิดว่า ผมนี่ไม่มีอะไรเลย ผมเป็นเด็กเส้นจริงๆ”
“ตอนนั้น ผมคิดอย่างเดียวว่า ผมต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ผมต้องลบคำว่าเด็กเส้น เพราะมีพี่เช็คเป็นพี่ชายให้ได้ และรายการต่อมา ช้าง สุรินทร์ จูเนียร์ คัพ ผมตั้งใจมากขึ้น ผมพยายามมีส่วนร่วมกับเกม และผมก็ยิงไปทั้งหมด 14 ประตู (จาก 5 นัด) พาทีมเป็นแชมป์ และได้รางวัลดาวซัลโวของรายการ”
นอกจากพิสูจน์ตัวเองให้เห็นด้วยผลงานแล้ว “น้องแบงค์” ยังสามารถลบความสงสัยทั้งหมดที่เคยถูกแสดงออกโดยภาษาร่างกายจากเหล่าเพื่อนๆ และรุ่นพี่ ที่มองว่าเขาเป็นเด็กเส้น ด้วยผลงานจากทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว
และนั่นคือ จุดเริ่มต้นของการสร้างประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาต่อมา
“พอเริ่มพิสูจน์ตัวเองได้ ผมก็แข่งฟุตบอลมาเรื่อยๆ ครับ (เล่นฟุตบอลระดับนักเรียน และระดับเยาวชน เช่น ยูธลีก และ ฟุตบอลกรมพลศึกษา ให้กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ โรงเรียนภัทรบพิตร) จนเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว พี่เช็คก็ได้ขึ้นชุดใหญ่ของบุรีรัมย์ ตอนผมอายุ 13 ขวบ ผมก็ยิ่งมองเค้าว่าเป็นไอดอลเข้าไปใหญ่ พี่เช็คอายุแค่นี้เอง ได้เล่นชุดใหญ่แล้ว เค้าทำได้ยังไงนะ แล้วเราจะทำได้ไหม ตอนนั้นที่บ้านมีไลน์กรุ๊ป ทุกคนก็จะแสดงความยินดีกับพี่เช็ค ผมก็ได้อ่านด้วย และก็คิดว่า วันนึงผมจะเป็นอย่างที่เช็คให้ได้”
เหมือนใครบางคนจะได้ยินความคิดดังกล่าว และมองเห็นในความพยายามของ “น้องแบงค์”
ปลายเดือนสิงหาคม 2016 ในวัยเพียงแค่ 14 ปี ศุภณัฎฐ์ เหมือนตา ก็ได้ลงสนามให้กับทีมชุดใหญ่เป็นครั้งแรก ในฐานะตัวสำรองในเกมอุ่นเครื่องที่บุกไปชนะ ระนอง เอฟซี 1-0 และเหนือสิ่งอื่นใด เขาได้ลงสนามเคียงข้างพี่ชายอีกครั้ง ในรอบกว่า 6 ปี นับตั้งแต่พี่ชายย้ายมาอยู่บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการลงสนามด้วยกันในสีเสื้อบุรีรัมย์ชุดใหญ่อีกด้วย
“เหมือนความฝันเลยครับ ผมไม่คิดว่า จะได้ขึ้นมาเร็วขนาดนี้ เด็กบ้านนอกจากศรีสะเกษ ผมไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้เลยครับ ผมตกใจนะ ไม่คิดว่า จะได้เล่นกับพี่ชายอีกครั้งในสีเสื้อเดียวกัน ตอนนั้น พี่เช็คบอกผมว่า เล่นให้เต็มที่นะ ทำให้ดีที่สุด เล่นแบบเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องเกร็ง ถ้าเกร็งมันจะกดดัน ทำให้เล่นไม่ดี”
จากนั้นอีก 1 ปีเศษ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่คว้าแชมป์ ฟุตบอลเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ”โค้ก คัพ” ครั้งที่ 20 ได้สำเร็จ ซึ่งเขาได้อยู่ในทีมเดียวกับนักเตะอย่าง สุภโชค สารชาติ, พีฬาวัช อรรคธรรม, คีรอน อ้อนชัยภูมิ, รัตนากร ใหม่คามิ, ศุภชัย ใจเด็ด, กฤษณะ ดาวกระจาย, เมธี สาระคำ, ธีรภักดิ์ เปรื่องนา และ นพพล ละครพล ซึ่งต่างก็อายุมากกว่า และมีประสบการณ์มากกว่าเขาทั้งสิ้น เพราะเขาเพิ่งอายุผ่านหลักที่สามารถทำบัตรประชาชนมาได้เพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น
และด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ก็ทำให้ “น้องแบงค์” พร้อมแล้ว สำหรับก้าวที่ใหญ่กว่า โดยที่ยังไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่า ประตูสู่ไทยลีก ที่เขารอคอยเวลาเปิดออกไปผจญ ได้กำลังอ้ากว้างๆ ต้อนรับเขาแล้ว
“ผมไม่ได้รู้เองนะ ว่าสโมสรลงทะเบียนชื่อของผมด้วยในทีมชุดใหญ่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือมีคนมาบอกแม่ผม แล้วแม่ก็โทรหาผม ผมตกใจมาก แล้วบอกแม่ว่า อย่ามาหลอกกันนะ ผมอายุแค่นี้เอง เขาจะส่งชื่อผมลงจริงๆ เหรอ ผมไม่อยากจะเชื่อเลย จนกระทั่ง ผมได้เห็นด้วยตา จากข่าวในเฟสบุ๊ค”
“วันนั้น ยิ้มทั้งวันอะครับ ไม่เป็นอันทำอะไรเลย ใครพูดอะไรด้วยก็ยิ้ม เดินยิ้ม นั่งยิ้ม มันมีความสุขแบบบอกไม่ถูก แล้วก็อึ้งด้วยนะที่เขาให้โอกาสเรา ผมไม่ได้คิดเรื่องการลงสนาม หรือยิงประตูเลย แค่ได้โอกาสซ้อมกับทีมชุดใหญ่ก็ดีใจแล้วครับ”
และแล้ว เวลาแห่งความฝันก็ไม่ปล่อยให้เขารอนาน เมื่อ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ถูกส่งลงสนามครั้งแรก ในศึก โตโยต้า ไทยลีก โดยเป็นตัวสำรอง นาทีที่ 90+3 ในเกมที่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ชนะ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี 2-1 ช่วงปลายเดือนเมษายน 2561 ซึ่งถูกเปลี่ยนตัวลงแทนพี่ชาย สุภโชค สารชาติ และนั่นก็ทำให้ เขากลายเป็นนักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ลงสนามในศึกไทยลีก ด้วยสถิติ 15 ปี 8 เดือน 22 วัน ทำลายสถิติเดิมของ เอกนิษฐ์ ปัญญา จาก สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่ได้ลงสนามในศึกไทยลีก ฤดูกาล 2015 ด้วยอายุ 15 ปี 11 เดือน 5 วัน
อีก 1 เดือนต่อมา ในเดือนพฤษภาคม “น้องแบงค์” ก็จัดการทำลายอีกหนึ่งสถิติ ด้วยการเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุด ที่พังประตูได้ในเกมไทยลีก ด้วยสถิติ 15 ปี 9 เดือน 27 วัน โดยยิง 2 ประตูในเกมที่ “ปราสาทสายฟ้า” ชนะ “อินทรีทัพฟ้า” แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี 5-0 (ทำสองประตูสุดท้ายในฐานะตัวสำรอง) โดยก่อนหน้านี้ สถิติดังกล่าวเป็นของ เอกนิษฐ์ ปัญญา ที่เคยทำไว้ในเกมที่ เชียงราย ยูไนเต็ด พ่าย เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 1-4 เมื่อฤดูกาล 2015 ด้วยสถิติ 15 ปี กับ 362 วัน
“วันแรกที่ได้ลงสนาม กับโคราช ผมได้ลงสัก 10 กว่าวินาทีเองครับ แต่มันเป็น 10 วินาทีที่มีค่ามากๆ ของผม เพราะนอกจากจะทำลายสถิติได้แล้ว ผมยังได้เปลี่ยนตัวลงสนามแทนพี่เช็คด้วย ผมไม่คิดไม่ฝันว่า จะมาได้ไกลขนาดนี้ มันคือฟุตบอลลีกจริงๆ ที่มีแฟนบอลเยอะมาก”
“ส่วนวันที่ยิงประตูได้ ผมนี่อึ้งเลยนะ ตอนที่แปบอลเข้าไป ทุกอย่างมันเงียบไปหมด สมองผมโล่ง คิดอะไรไม่ออก เหมือนผมไม่ได้ยินอะไรเลย มันสตั๊นไปเลย ตอนที่บอลไหลเข้าโกล ผมคิดอะไรไม่ออก ผมรู้ว่า มันคือลูกยิงที่พิเศษมากๆ ผมนิ่งไปชั่วขณะ มันตื่นเต้น มันดีใจ มันอะไรหมดเลย ผมอธิบายไม่ถูกจริงๆ”
แม้มันจะเป็นลูกยิงที่ดูเหมือนง่ายมาก ทั้งการแปด้วยขวาโล่งๆ และการโหม่งจ่อๆ จากการถวายพานของ ดิโอโก้ หลุยส์ ซานโต้ ดาวซัลโวไทยลีกในซีซั่นนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่า อีกกี่ปีที่จะมีคนทำลายสถิติเหล่านี้ได้ ทั้งการลงสนามด้วยอายุที่น้อยที่สุดในศึกไทยลีก, การยิงประตูในศึกไทยลีกได้ด้วยอายุที่น้อยที่สุด และสุดท้าย เขาก็คือนักเตะที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่มีดีกรีเป็นแชมป์ไทยลีก ด้วยวัยเพียงแค่ 16 ปี กับอีก 2 เดือนเท่านั้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่า ชีวิตของเขาจะสวยหรูดูดีไปซะหมด เพราะโลกที่กว้างขึ้นในประเทศไทย กลับกลายเป็นเล็กลงทันที เมื่อเขาต้องเดินทางไปลุยศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นเยาวชน และนั่นคือทัวร์นาเมนต์ที่เขาหลั่งน้ำตาอย่างไม่อายใคร
“ผมมีความฝันที่จะได้เล่นทีมชาติชุดใหญ่ แต่ผมก็รู้ว่า ผมต้องทำหน้าที่ในทีมชาติชุดเยาวชนให้ดีก่อน ซึ่งทีมชาติไทย ชุดอายุไม่เกิน 16 ปี ที่เพิ่งแข่งชิงแชมป์เอเชียผ่านมา ผมกับเพื่อนๆ คาดหวังมากเลยนะ เราเตรียมทีมมาอย่างดี เพื่อนๆ ก็เล่นด้วยกันมานาน เราตั้งใจซ้อมกันอย่างมาก ทุกคนตั้งใจสุดๆ ผมคิดว่าเราสู้ได้ และน่าจะได้ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย”
“แต่ฟุตบอลมันก็แบบนี้ มีวันที่เล่นดี มีวันที่เล่นแย่ วันนั้น ทาจิกิสถานเล่นได้ดีจริงๆ ครับ พวกเขาผิดพลาดน้อยมากในเกมรับ ต่างจากพวกเรา จริงๆ ตอนที่ผมยิงตีเสมอ 1-1 แล้วก็ร้องไห้ ตอนนั้น เหมือนร่างกายของผมต้องการปลดปล่อยอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งความกังวล ความเครียด ความกดดัน และตอนที่ยิงตีเสมอ ผมก็มั่นใจมากว่า เราจะพลิกกลับมาเข้ารอบได้ แต่สุดท้ายเราก็พลาด”
“จบเกม ผมร้องไห้แบบเต็มที่เลย ผมคาดหวังเอาไว้สูง พอผิดหวัง มันก็เสียใจครับ พวกเราเสียใจทั้งทีม ผมล้มตัวลงนอนร้องไห้กับพื้นสนาม ไม่สนใจอะไรเลย จนกระทั่งได้ยินเสียงพี่ดาท (ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ) เดินมากับพี่สต๊าฟฟ์ แล้วบอกว่า แบงค์ลุกขึ้น เอ็งต้องสู้ต่อ อย่าก้มหน้า นี่ไม่ใช่แมตช์สุดท้าย ยังมีอีกหลายทัวร์นาเมนต์ในอนาคตให้สู้ต่อ ผมก็เลยลุกขึ้น”
“บรรยากาศในห้องแต่งตัว ไม่มีใครพูดกันเลย เพื่อนๆ 20 กว่าคน ทุกคนเงียบกันหมด ทั้งในห้องแต่งตัว ทั้งบนรถ ทั้งบนโต๊ะกินข้าว มันเป็นการกินข้าวที่ไม่อร่อยเลย มันกินไม่ลงเลย เหมือนกับแค่ตักข้าวใส่ปากเฉยๆ แล้วก็มีเสียงพวกพี่ๆ สต๊าฟฟ์คอยปลอบเด็กๆ อยู่ตลอดครับ”
“มันคือความผิดหวังในชีวิตครั้งหนึ่ง ที่ก็คงไม่ใช่ครั้งเดียวในชีวิตหรอก ยังไงผมกับเพื่อนๆ ก็จะสู้ต่อ ผมจะทำให้ได้ วันนี้เราผิดพลาด เราก็จะแก้ไข และฝึกฝนให้ดีขึ้น ฟุตบอลก็แบบนี้แหละ วันนึง มันก็จะเป็นวันของเราบ้าง”
“พอกลับมาบ้าน ผมก็ได้คุยกับแม่ แม่บอกว่า แม่รู้ว่าลูกทำเต็มที่แล้ว เราทำเต็มที่แล้ว อย่าไปคิดมาก กลับมาเริ่มใหม่ และสู้ต่อ ยังมีโอกาสอยู่เสมอ ขอแค่อย่าท้อถอย ส่วนพี่เช็คก็บอกผมว่า เค้าเองก็เคยผ่านความผิดหวังมาเหมือนกัน (ตกรอบแรก ยู-19 ชิงแชมป์เอเชีย 2016 แบบแพ้รวดสามนัด และตกรอบแรก เอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย) แต่สุดท้าย พี่เช็คก็บอกว่า มันก็จะผ่านไป ขอให้มันกลายเป็นบทเรียนแล้วก็สู้ต่อ”
16 ปี กับชีวิตของเด็กหนุ่ม ที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ชีวิตจริง ที่ไม่ว่าจะชีวิตไหน มันไม่เคยง่ายอยู่แล้ว
แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินหรอก หากเราตั้งใจที่จะใช้มัน…
ก่อนวางสายจากนักฟุตบอลดีกรีลงสนามลีกสูงสุดของเมืองไทยที่อายุน้อยที่สุด ผมไม่ได้จบบทสนทนาด้วยคำถาม แต่เป็นคำขอให้ “น้องแบงค์” พูดถึงคนที่ยังต่อสู้เพื่อความฝัน และยังรอคอยโอกาสที่อยู่ม้านั่งสำรอง ยังรอคอยโอกาสอยู่ที่หอพักแคบๆ รอคอยประกาศการคัดตัวนักฟุตบอลอยู่ที่โรงเรียน รอคอยเวลาที่พวกเขาจะได้พิสูจน์ตัวเอง เหมือนอย่างที่ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา เคยผ่านช่วงเวลานั้นมา
“คือชีวิตของคนเรา มันต้องมีช่วงเวลาที่แย่อยู่แล้วครับ และมันก็ต้องมีช่วงเวลาที่ดีเหมือนกันครับ มันไม่มีทางที่ชีวิตเราจะเจอแต่เรื่องแย่ๆ หรอก ถ้าเราตั้งใจทำมัน ก็อยากให้ทุกคนสู้ต่อ ใครก็ตามที่ยังไม่ถึงฝัน อย่าท้อนะครับ ถ้าเราไม่สู้ เราก็มีแต่แพ้ แต่ถ้าเราเลือกที่จะสู้ มันก็ยังพอจะมีมุมเสมอ และ มีมุมชนะครับ”
“ก็เลือกเอาว่า จะอยู่เฉยๆ แล้วแพ้แน่นอน หรือจะสู้ต่อ เพื่อให้มีโอกาสที่จะคว้าชัยชนะ และมีโอกาสที่จะทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จมากกว่านี้…”
RECOMMENDED CONTENT
Tiger Woodsที่ตอนนี้ อายุ 43 ปี ได้รับชัยชนะครั้งแรกของเขาชนะตั้งแต่ปี 2008 และ การชนะครั้งที่ 15 ของเขาในการแข่งขันกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสี่รายการด้วยคะแนน 13 อันเดอร์พาร์ ในปี 2019