ปี 2018 เป็นช่วงเวลาที่เรามักใช้คำว่า Smart กับอะไรก็ตามที่เรายอมรับว่ามันมีความ ‘อัจฉริยะ’ หรือบางทีเราก็เรียกอย่างหมั่นไส้เล็ก ๆ ว่า ‘แสนรู้’ โทรศัพท์มือถือแสนรู้หรือสมาร์ทโฟน คือความแสนรู้ที่คนส่วนใหญ่เราคุ้นเคยกันดี
แต่เมื่อพูดถึง “บ้านแสนรู้” หลายคนอาจสงสัยว่าถึงขั้นต้องลงทุนซื้อบ้านใหม่หรือคอนโดหรูที่เขาโฆษณาว่ามีระบบสมาร์ทโฮมแถมมาให้เลยหรือเปล่า?
ในความเป็นจริงแล้วการมีบ้านแสนรู้หรือสมาร์ทโฮมนั้นเราไม่จำเป็นต้องลงทุนทำถึงขนาดนั้นหรอกครับ เพราะว่าบ้านหลังเก่า บ้านเราที่อยู่อาศัยทุกวันนี้แหละก็สามารถทำเป็นสมาร์ทโฮมได้ด้วย 5 ไอเท่มง่าย ๆ ต่อไปนี้
1. หลอดไฟอัจฉริยะ
นี่คือไอเท่มพื้นฐานสามัญประจำบ้าน แต่ใครจะไปคิด ล่ะครับว่าหลอดไฟก็อัจฉริยะได้ แล้วมันต่างจากหลอดไฟธรรมดาทั่วไปยังไง?
หลอดไฟอัจฉริยะคือหลอดไฟส่องสว่างที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตผ่านสัญญาณ Wi-Fi ภายในบ้านของเราได้ ทำให้เราสามารถควบคุมการทำงานของหลอดไฟได้ง่าย ๆ ด้วย app ในสมาร์ทโฟน จะสั่งให้เปิดหรือปิด เพิ่มหรือหรี่ความสว่าง แม้กระทั่งเปลี่ยนสีของไฟก็ใช้นิ้วจิ้มหน้าจอสมาร์ทโฟนสั่งเอาได้เลย
หรือถ้าอยากจะให้มันดูอัจฉริยะกว่านั้นก็เพิ่มระบบสั่งงานด้วยเสียงหรือ voice assistant (Siri, Google Assistant, Amazon Alexa) ทีนี้ไม่ต้องแม้กระทั่งจิ้มที่หน้าจอสมาร์ทโฟนแล้วครับ ใช้เสียงพูดสั่งมันได้เลย
หลอดไฟอัจฉริยะที่เราอยากแนะนำให้พิจารณาก่อนก็คงหนีไม่พ้นแบรนด์ที่ชำนาญเรื่องหลอดไฟส่องสว่างอย่างยี่ห้อฟิลิปส์ ซึ่งมีทำออกมาเป็นหลอดไฟอัจฉริยะในตระกูล Philips Hue มีวางจำหน่ายตามร้านขายอุปกรณ์ไอทีชั้นนำเช่น ร้าน .Life หรือที่ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับบ้าน ๆ อย่าง HomePro ตามร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ก็มีขายเหมือนกัน
สำหรับราคาของ Philips ที่เป็นหลอดเกลียวอยู่ที่หลอดละพันกว่าบาท แต่ของยี่ห้อนี้เวลาใช้งานต้องมีอุปกรณ์อีกตัวชื่อ Hue Bridge มาพ่วงในระบบ Wi-Fi ด้วยถึงจะใช้งานได้ ราคาเจ้าตัวนี้ก็อยู่ที่พันกว่าบาทเช่นกัน
นอกจากยี่ห้อ Philips แล้ว ยังมีแบรนด์จากจีนอย่าง Xiaomi Yeelight ที่ทำหลอดไฟอัจฉริยะออกมาขายด้วย ราคาจะย่อมเยากว่า ฟังก์ชันไม่ต่างกันมากนัก แต่อาจหาซื้อยากกว่าเล็กน้อยและการ support อาจไม่ทั่วถึงเท่ากับยี่ห้อดัง
การติดตั้งใช้งานหลอดไฟอัจฉริยะนั้นก็ง่ายมาก เพียงแค่เปลี่ยนแทนหลอดไฟเดิม และอยู่ในบริเวณที่สัญญาณ Wi-Fi สามารถไปถึง จากนั้นก็ทำตามขั้นตอนใน app ของยี่ห้อนั้นๆ
2. กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ
กล้องวงจรปิดอัจฉริยะคือกล้องวงจรปิดที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตผ่านระบบ Wi-Fi ได้เช่นกัน ปัจจุบันมีขายกันตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยบาท จนถึงราคาหลักพันถึงสองพันบาท คุณสมบัติและการใช้งานก็แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดมีคุณประโยชน์ที่เหมือนกันนั่นคือ คอยเฝ้าสอดส่องดูแลบ้านแทนเจ้าของบ้าน หรือทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยคุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าตัวเล็กที่บ้าน
คุณสมบัติของกล้องวงจรปิดอัจฉริยะที่ดีคือ มีขนาดกะทัดรัด ออกแบบให้ติดตั้งได้ง่าย จะตั้งตรง ตะแคงข้างหรือตีลังกาห้อยหัวแบบค้างคาวก็ต้องใช้งานได้หมด
คุณสมบัติสำคัญต่อมาคือ สามารถบันทึกวิดีโอที่ความคมชัดระดับ HD (720p) ได้เป็นอย่างน้อย สามารถบันทึกภาพวิดีโอในที่มืดได้ (โดยมากจะใช้อินฟราเรดช่วย) และมีเลนส์มุมกว้างมากพอที่จะครอบคลุมพื้นที่ใช้งาน
อีกหนึ่งคุณสมบัติมีต้องมีในเช็คลิสต์ของกล้องวงจรปิดอัจฉริยะปี 2018 คือ การเชื่อมต่อ application ในสมาร์ทโฟนเพื่อควบคุมการทำงาน และระบบแจ้งเตือนต่าง ๆ แน่นอนว่าapplication นี้ต้องใช้งานได้เมื่อผู้ใช้อยู่นอกบ้าน หรือแม้แต่อยู่ในระหว่างการเดินทางไปต่างถิ่นได้ด้วย สามารถเปิดเช็คการทำงานของกล้อง ดูภาพสดแบบเรียลไทม์ หรือดูวิดีโอที่ได้บันทึกเอาไว้ สำหรับการติดตั้งใช้งานก็มีขั้นตอนที่คล้ายกับการติดตั้งใช้งานหลอดไฟอัจฉริยะ
กล้องวงจรปิดอัจฉริยะมีขายกันตั้งแต่ราคาชุดละ 500-600 บาท จนถึงประมาณ 1,000-2,000 บาท หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ไอที โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบ network ถ้ายังไม่มีไอเดียแนะนำให้ค้น Google ด้วยคีย์เวิร์ด “Smart Wi-Fi Camera”
3. ลำโพงอัจฉริยะ
ลำโพงอัจฉริยะในยุคนี้ไม่ได้มีไว้แค่ใช้ฟังเพลง แต่เป็นลำโพงที่สามารถเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ในบ้านได้ สามารถทำงานร่วมกับ application ในสมาร์ทโฟนได้ ที่สำคัญคือต้องมีเทคโนโลยี “voice assistant’ หรือระบบผู้ช่วยที่สื่อสารกันได้ด้วยเสียงพูด ระบบผู้ช่วยที่รู้จักแพร่หลายก็คือเทคโนโลยี Siri ของ Apple, Google Home ของ Google และ Alexa ของ Amazon
ลำโพงอัจฉริยะที่สั่งงานด้วย Siri ในเวลานี้มีเพียงรุ่นเดียวคือ Apple HomePod ส่วนลำโพงอัจฉริยะของทาง Google และ Amazon นั้นมีมากรุ่นและหลากหลายกว่า เพราะทำออกมา 2-3 เจนเนอเรชันแล้ว
สำหรับในประเทศไทยเนื่องจากทั้ง 3 เทคโนโลยียังไม่มีการนำเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง มีขายกันเฉพาะในตลาดเกรย์ หรือเครื่องหิ้ว ดังนั้นเลยต้องทำใจว่ามันยังไม่สนับสนุน infrastructure ของประเทศไทยเราอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องภาษา สถานที่ หรือข้อมูลบางด้าน แต่ก็สามารถเอามาใช้งานได้แล้วโดยเฉพาะถ้าคุณสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ
สามารถใช้นำมาใช้งานสั่ังงานอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) หรือ อุปกรณ์อัจฉริยะอื่น ๆ ในบ้านได้แล้ว อย่างไรก็ตามแต่ละระบบก็ยังมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปเช่น Apple HomePod ซึ่งเป็นระบบปิดยังมีข้อจำกัดในการใช้งานมากกว่าระบบอื่นตามสไตล์ของ Apple
ส่วน Google Home นั้นมีดีที่ระบบ search engine ที่เป็นของ Google เอง ตลอดจนสื่อบันเทิงและข้อมูลอย่าง YouTube หรือ Google Map จึงได้เปรียบในเรื่องของแพลตฟอร์มที่มีองค์ประกอบค่อนข้างสมบูรณ์พร้อม ทั้งยังมีพันธมิตรที่ช่วยทำฮาร์ดแวร์ออกมารองรับ Google Home ทั้งในกลุ่ม Andoird TV และเครื่องเสียงที่รองรับ Chromecast
ด้าน Amazon Alexa ที่มีต้นกำเนิดจากบริษัททำธุรกิจ online shopping ดังนั้นจึงเรื่อง online shopping จึงเป็นจุดเด่นของเขาโดยเฉพาะในต่างประเทศ อีกจุดเด่นหนึ่งของ Amazon Alexa คือมีฮาร์ดแวร์ที่รองรับใช้งานมากและหลากหลายกว่า Google Home ชนิดที่ยังขี่กันอยู่นิด ๆ แถมตัวแพลตฟอร์ม Amazon Alexa ยังมีความยืดหยุ่นมากกว่าอีก 2 แพลตฟอร์ม ผู้ใช้สามารถเพิ่ม skill ให้ทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ได้ง่ายและสะดวกกว่า
4. เครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะ
ไอเท่มนี้เชื่อว่าคงถูกใจคุณแม่บ้านของบรรดาพ่อบ้านใจกล้าอย่างเรา ๆ แน่นอน เพราะมันเป็นการฟิวชั่นกันระหว่างอุปกรณ์ไอทีและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เพราะมันคือ เครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะ
เครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะ มีคุณสมบัติที่ฉลาดล้ำกว่าเครื่องดูดฝุ่นทั่วไป อันที่จริงมันฉลาดจนอยากเรียกว่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมากกว่า เครื่องดูดฝุ่นแบบเดิม ๆ ให้มีคุณภาพดีแค่ไหน สุดท้ายแล้วผู้ใช้อย่างเราก็ต้องลงมือทำความสะอาดบ้านด้วยตัวเองอยู่ดี
แต่เครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับ Wi-Fi ในบ้านได้ เราแค่กดปุ่มหรือตั้งโปรแกรมให้มันทำงานแล้วนั่งจิบเบียร์เย็น ๆ เปิดแท็บเล็ตอ่านคอนเทนต์ใน Dooddot มันก็จะจัดการเดินไปทั่วบ้านเพื่อดูดฝุ่นแทนเรา เสร็จงานแล้วยังเดินกลับไปชาร์จแบตเองที่แท่นชาร์จได้ด้วย ยิ่งสมัยนี้เขาออกแบบให้มันใช้งานง่ายและฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนบอกว่าใช้แล้วแล้วการทำความสะอาดบ้านแบบเดิม ๆ ไปเลย
ข้อสังเกตเครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะคุณภาพดีและเป็นที่นิยมส่วนใหญ่ราคาจะเกิน 1 หมื่นบาท การเลือกหลัก ๆ คือต้องมีคุณสมบัติดูดฝุ่นได้สะอาดจริง สามารถเดินข้ามสายไฟหรือพื้นต่างระดับเล็กน้อยแค่พรม หรือผ้าเช็ดเท้าที่ไม่หนาจนเกินไปได้ มุดซอกซอนได้สะดวกโดยเฉพาะใต้เตียง มีศูนย์บริการพร้อมอะไหล่ที่มั่นใจได้
ข้อจำกัดของอุปกรณ์ประเภทนี้คือ เน้นดูดฝุ่นได้เฉพาะบนพื้นราบ เช่น พื้นห้องหรือบนเตียง เป็นหลัก พื้นที่ในแนวดิ่งหรือบนหลังตู้คงไม่เหมาะ และถึงมันจะถนัดทำงานพื้นห้อง แต่ก็ต้องเป็นห้องที่ไม่วางของบนพื้นรกจนเกินไปจนทำให้ตัวเครื่องซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๆ 12 นิ้วหรือมากกว่านั้นซอกซอนได้ไม่สะดวก
แหล่งที่มีวางขายอุปกรณ์ประเภทนี้คือร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้างใหญ่ ยี่ห้อที่ผู้เขียนเคยได้ยินผ่านหูผ่านตาคือSamsung และ iRobot เข้าใจว่าน่าจะเป็นที่นิยมพอสมควรเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ๆ
5. Mesh Wi-Fi ให้การเชื่อมต่อไร้สายไปได้ทั่วบ้าน
ที่จริงแล้วถ้าพูดถึง Smart Home ยังมีอุปกรณ์อีกหลายสิบรายการที่เรายังไม่ได้พูดถึงในที่นี้ ซึ่ง 4 ไอเท่มที่ผ่านมานั้นเราเน้นไปที่ไอเท่มที่ผู้ใช้สามารถดีไอวายหรือติดตั้งใช้งานเองได้
แต่สังเกตเห็นอะไรไหมครับ ทุกตัวต้องเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ภายในบ้าน ถ้าบ้านเรามี 2 ชั้นและมีสมาชิกในบ้านไม่กี่คน สัญญาณ Wi-Fi ที่มาจากเราเตอร์เดิม ๆ ในบ้านก็อาจใช้งานต่อไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าบ้านของเรามีอาณาบริเวณกว้างกว่านั้นล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?
หลอดไฟที่อยู่ชั้น 4 ของบ้าน อาจมองหา Wi-Fi ที่อยู่ชั้นล่างไม่เจอ บ้านที่กว้างมากเครื่องดูดฝุ่นอาจจะไปนอนนิ่งอยู่ที่มุมหนึ่งของบ้าน เพราะหลุดสัญญาณ Wi-Fi ไปแล้ว
ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีการกระจายสัญญาณ Wi-Fi แบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า “Mesh Wi-Fi” หรือ “Whole Home WiFi” มันถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสัญญาณ Wi-Fi ไปได้ไม่ทั่วถึงนี่แหละครับ ระบบของ Mesh Wi-Fi จะสร้างสัญญาณ Wi-Fi ขึ้นมาเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้นมันจึงมีตัวอุปกรณ์ในระบบตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป แต่ละตัวจะเชื่อมโยงกับตัวที่อยู่ใกล้ในลักษณะเหมือนใยแมงมุม ทำให้สัญญาณ Wi-Fi สามารถครอบคลุมพื้นที่ใช้งานได้ดีกว่าระบบเราต์เตอร์แบบเดิม ๆ ถ้าจะให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ก็แค่เพิ่มจำนวนจุดเชื่อมต่อเครือข่ายเข้าไป ไม่ต้องใหม่เปลี่ยนทั้งระบบ
ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้แล้วในราคาชุดละประมาณ 12,000-15,000 บาทสำหรับชุด 3 ตัว หากไม่พอใช้งานก็ซื้อมาเพิ่มได้ตามความเหมาะสม ยี่ห้อยอดนิยมก็เป็นยี่ห้อที่ทำอุปกรณ์เราต์เตอร์มาก่อนอย่างเช่น Linksys, Dlink, Netgear, TPLink ฯลฯ ราคาอาจถูก–แพงไปจากที่แนะนำก็เพราะความแตกต่างกันในด้านประสิทธิภาพและฟีเจอร์ใช้งานของแต่ละรุ่น
ข้อเสียเดียวสำหรับเทคโนโลยี Mesh Wi-Fi ก็คือเรื่องราคาที่ยังสูงอยู่ คาดว่าภายในอีก 2-3 ปี เทคโนโลยีนี้น่าจะราคาย่อมเยาลงมาอยู่ในระดับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทได้ไม่ยาก เพราะเรื่องของ ioT และ Smart Home นั้นจะเป็นเทรนด์ของปี 2019-2020 อย่างแน่นอนครับ
RECOMMENDED CONTENT
ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ขยันสร้างผลงานคุณภาพให้แฟน ๆ ได้ติดตามอย่างต่อเนื่องสำหรับ “เป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) หลังเดินหน้าปล่อยเพลงใหม่