ตลอดปี 2561 บริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งเสริมเรื่องผ้าขาวม้าไทยมาอย่างต่อเนื่อ ถือเป็นปีที่ 2 แล้ว ที่ผ้าขาวม้าไทยของเราถูดผลักดัน ถูกออกแบบ ให้คนไทยและคนต่างชาติได้เห็นถึงความงดงามมากยิ่งขึ้น
โดยปีนี้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึงผ้าขาวม้าได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น งานทายาทผ้าขาวม้า, งานประกวดนวอัตลักษณ์ และ ประกวด IG “ผ้าขาวม้าทอใจ” ซึ่งเป็น 3 กิจกรรมหลักของปีนี้ แต่ละกิจกรรมล้วนดึงดูดผู้สร้างสรรค์และผู้เข้าชมได้เป็นอย่างมาก ถ้าใครได้ลองไปงานสักงานหนึ่ง คงได้ลองกวาดสายตาดูแล้วว่ามีคนเข้าร่วมงานเยอะจริงๆ คือถ้าจะบอกว่าปีนี้ประสบความสำเร็จมากๆๆ ก็ไม่ผิดนัก
เริ่มต้นด้วย “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย 2561” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับการเสริมองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน และการสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเป็น “ทายาทผ้าขาวม้า” เพื่อส่งต่อวัฒนธรรม ความรัก และความเข้าใจที่มีต่อผ้าขาวม้าไทยไปสู่อีกรุ่น
ปีนี้มี “ทายาทผ้าขาวม้า” ที่โดดเด่นถึง 5 คน ซึ่งแต่ละคนทั้งน่าสนใจและเต็มไปด้วยแพชชั่น
1. คุณวิมพ์วิภา โพธิวิจิตร (ตอง)
ผสมผสานวิถีเก่า–ใหม่
กลุ่มทอผ้าและตัดเย็บบ้านหาดเสี้ยว จ. สุโขทัย
ด้วยปริญญาตรีด้านการออกแบบแฟชั่น จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ น้องตองเล่าถึงชีวิตการทำงานของเธอว่า “แต่ก่อนไม่เคยคิดจะมาทำกับแม่ แยกไปทำที่อื่น ทำงานอยู่ตามแบรนด์เสื้อผ้า แต่พอเรามีลูก ก็เริ่มคิดได้ว่าแม่ก็แก่แล้ว เริ่มไม่ไหว ก็ออกมาจากงานดีกว่า พอมาเห็นเขาทำแล้วก็รู้สึกว่า งานนี้ได้ช่วยเลี้ยงชุมชน เลี้ยงครอบครัวเราได้นะ เราจึงควรนำสิ่งที่แม่มีอยู่มาพัฒนา มาต่อยอด” จึงเป็นที่มาของกระเป๋าผ้าขาวม้าลายช้างใบโต ซึ่งเป็นการผสมผสานวิถีเก่าและใหม่ของผ้าขาวม้า ผ่านการออกแบบกระเป๋าจากน้องตองและการทอผ้าอย่างประณีตงดงามจากคุณยายทาวัย 80 ปี จนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทผ้าขาวม้าแปรรูป จากโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย 2560
2. คุณสุพัตรา แสงกองมี (แยม)
ย้อนคืนสู่สีธรรมชาติ
กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ จ. บึงกาฬ
กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อเป็นกลุ่มที่มีความเป็นมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี แต่ในปี 2559 เป็นช่วงที่กลุ่มตกต่ำลงอย่างมาก เพราะชิ้นงานที่รับมาจากเครือข่ายไม่ได้มาตรฐาน น้องแยม ซึ่งในขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความเชื่อว่าถ้าจะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งก็จะต้องรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้นมาใหม่ “เราคุยกับคุณแม่ว่าเราต้องเปลี่ยนจากสีเคมี หาวัตถุดิบที่มาจากชุมชนเอามาย้อม” จนเกิดเป็น “ผ้าขาวม้าดารานาคี” ที่มี 3 สีหลัก คือ สีส้มจากดินในชุมชน สีเขียวจากใบไม้ และสีเทาจากการผสมสีส้มและเขียว แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ น้องแยมเล่าว่า “เสียน้ำตาเยอะมากค่ะ หลายๆท่านไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ เราออกแบบเป็นผ้าขาวม้าตาไม่เท่ากัน ก็มีคนซุบซิบว่าเราทำไม่เป็น แต่เราก็รู้ว่ามันอยู่ที่คนมอง นี่คือการออกแบบ ทำแบบใหม่ๆ”
3. คุณกฤตธนทรัพย์ โยงรัมย์ (บอมม์)
นวัตกรรมเครื่องกรอไหมเส้นยืน
กลุ่มทอผ้าไหมทอมือบ้านสำโรงพัฒนา จ. บุรีรัมย์
ด้วยองค์ความรู้จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ทำให้น้องบอมม์ซึ่งได้สัมผัสหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจ ในการทอผ้านับตั้งแต่รุ่นทวด คิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของครอบครัว “เห็นแม่กรอไหมดึกๆดื่นๆ กลางวันแม่ก็ทำงาน ตกกลางคืนแม่ก็ยังต้องทำงาน แม่ทำงานหนักมากมาตลอดเลยครับ พอผมเข้าเรียนเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไฟฟ้า ผมก็คิดตั้งแต่นั้นเลยว่าอยากทำเครื่องมือที่จะช่วยแม่ได้ ให้แม่ทำงานง่ายขึ้น ผมใช้ระยะเวลาหลายเดือน ใช้งบประมาณไปก็หลายหมื่น แม่ก็สนับสนุนทุกอย่าง เพราะอยากให้เครื่องนี้ออกมาใช้ได้จริง”
4. คุณผกาวดี และคุณพงษ์สิริ แก้วชมพู (ปลื้ม และ เปรม)
สืบสานเส้นใย 4 รุ่น
กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย จ. เชียงใหม่
น้องปลื้ม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และ น้องเปรมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของกลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย ในขณะที่น้องเปรมมีเป้าหมายในการพัฒนาเครื่องกลและอุปกรณ์สำหรับการย้อม และ ทอผ้า เพื่อให้งานผ้าฝ้ายทอมือของชุมชนเติบโตอย่างมีคุณภาพ น้องปลื้มผู้เป็นพี่สาวมีความใฝ่ฝันที่จะนำภูมิปัญญาผ้าขาวม้าออกไปสู่สากลผ่านการออกแบบ การผลิต และการตลาด ที่ร่วมสมัย โดยผลงานล่าสุดของน้องปลื้มได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดออกแบบ “นวัตอัตลักษณ์” ประเภทลายผ้า เธอกล่าวถึงแรงบันดาลใจสู่ชิ้นงานของเธอว่า “ปกติลายผ้าขาวม้าจะเป็นลายตาราง แต่ของเราออกแบบให้เป็นเส้นโค้งค่ะ ให้แต่ต่างจากคนอื่นโดยนำเส้นเล็กใหญ่มาสลับทอกัน”
5. คุณณัฐชา ทองเที่ยง (แอม)
พูดไม่ได้ก็ช่วยงานได้
กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า จ. ประจวบคีรีขันธ์
แม้ว่าน้องแอมจะมีความบกพร่องทางการได้ยิน แต่ก็ได้อุตสาหะจนสามารถเรียนจบปริญญาตรีด้านภาษามือไทย จากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล น้องแอมเรียนการทอผ้าขาวม้าจากแม่ตั้งแต่อายุ 15 ปี ทั้งด้านการออกแบบลวดลาย และ ขั้นตอนการผลิตทั้งหมด ขณะนี้น้องแอมกำลังเรียนรู้เรื่องการจับคู่สีควบคู่ไปกับการทำผ้ามัดย้อมของตัวเอง เธอบอกว่า “เข้ามาช่วยพี่เพราะอยากทำงานที่หัวหิน พี่บอกว่าพูดไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ช่วยเขาขายของได้ พอขายของหมดก็มาช่วยเดินม้วนผ้า อย่างผ้าขาวม้ามีทั้งหมด 1750 เส้น เราก็ต้องลากเส้นด้าย 1750 เส้นให้ครบจำนวน 200 เมตร”
ด้วยความชอบทำงานศิลปะ เธอจึงมีความสุขกับงานนี้ แต่ที่สำคัญที่สุด เธอบอกว่า “ภูมิใจที่ได้ทำงาน ได้ดูแลแม่”
มาต่อกันที่กิจกรรมที่ 2 กับ ‘ผ้าขาวม้าทอใจ’ อีกหนึ่งกิจกรรมที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงและสนใจผ้าขาวม้าไทยมากขึ้น โดยการจัดการประกวดภาพถ่ายบน instagram ด้วยการถ่ายภาพกับผ้าขาวม้าหรืออะไรก็ได้ที่ดัดแปลงมาจากผ้าขาวม้า โดยภาพจะต้องสื่อถึงความหมาย ‘ผ้าขาวม้าทอใจ’ ซึ่งหลังจากเริ่มกิจกรรมได้ไม่นาน ก็มีผู้เข้าร่วมประกวดอย่างมากมาย ส่วนภาพที่ถูกใจคณะกรรมการจะถูกนำไปจัดแสดง ให้คนทั่วไปได้รับชม และยังใจปั้มแจกรางวัลสำหรับคนที่เข้าร่วมสนุกครั้งนี้ แบบไม่กั๊กกันเลยทีเดียว
มาถึงกิจกรรมสุดท้ายกับการประกวดออกแบบ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย 2561” โดยโครงการนี้จัดขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาผ้าขาวม้าทอมือให้มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน เพื่อให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น และมีช่องทางการตลาดที่กว้างขึ้น นำไปสู่การสร้างรายได้ของชุมชนทอผ้าขาวม้าอย่างยั่งยืน
จึงได้เชิญนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมการประกวดผลงานที่ผลิตจากผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนภายใต้ “โครงการประกวดออกแบบผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ประจำปี 2561” ในหัวข้อ “นวอัตลักษณ์” * (นว แปลว่า ใหม่ / อัต แปลว่าตัวตน /ลักษณะ แปลว่า ประเภท สมบัติเฉพาะตัว) แน่นอนว่ากิจกรรมนี้ทำให้เราได้พบดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากทั่วประเทศ ที่มาออกแบบผ้าขาวม้าในแบบที่เราไม่คุ้นเคย แต่เต็มไปด้วย “นวอัตลักษณ์” ที่งดงาม รวมถึงสร้างการรับรู้ว่าผ้าขาวม้าทอมือของไทยมีเสน่ห์ สารพัดประโยชน์ ไม่ใช่แค่ผ้าขาวม้าคาดเอวอีกต่อไป เราเชื่อเหลือเกินว่าอีกไม่นานหลังจากนี้เราจะได้เห็นผู้คนหยิบผ้าขาวม้าไทยมามิกซ์แอนด์แมทช์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ปีหน้าอยากให้ทุกคนติดตามกันต่อไป และช่วยกันส่งเสริมผ้าขาวมาไทย ให้อยู่ต่อไปและในอนาคตเราอาจจะได้เห็นผ้าไทยผืนนี้ไปอยู่ในระดับโลก ขอขอบคุณบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยังเป็นผู้นำในการผลักดันอย่างต่อเนื่องแบบนี้ ทำให้ผ้าขาวม้าไทยดูเป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมให้คนทั่วไป หันมาสนใจและร่วมกันสนับสนุนผ้าไทยผืนนี้
ยังไงก็รอติดตามกิจกรรมดีๆ แบบนี้กันได้ที่
https://www.facebook.com/pakaomaPRS/ และ http://prsthailand.com/th/