ไม่รู้ใครบอกไว้ว่าเราจะไม่มีทางมองเห็นบางสิ่งแม้สิ่งนั้นจะอยู่ใกล้จนหายใจรดต้นคอเรา กระทั่งเราออกไปยืนมองมันจากอีกฝั่ง
ซึ่งก็คงจะจริง แปลกดีที่เราเป็นคนฝั่งธนบุรี แต่โชคชะตาก็เล่นตลกให้มองเห็นตึกฝรั่ง ที่ยืนสงบนิ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากฝั่งพระนครเสมอ เราไม่มีทางสัมผัสสถานที่แห่งนี้ได้เลยทั้งที่ยืนอยู่ฝั่งเดียวกัน
ใครบางคนคงตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น
ระหว่างรอเรือ ใจหนึ่งก็กลัวเรือ ในฐานะคนเมาเรือเก่ง ยืนวัดใจกันพักนึง ใจหนึ่งที่ว่าก็ชนะ “เอาวะ” แล้วเราก็เลือกลงเรือจากท่าพระอาทิตย์ที่ (เขาบอกว่า) “ใกล้ที่สุดแล้วน้องง ท่าอื่นไกลกว่านี้” โอเค ใกล้ก็ใกล้
เรือตีโค้งยูเทิร์น แล้วเเล่นเนิบๆ มาถึงท่า (ก็ใกล้อย่างที่เขาว่าจริงๆ แหละ) ปล่อยเราเดินขึ้นไปตามทางเดินเล็กๆ สู่ พระยาพาลาซโซ โรงแรมบูทีคที่ตามคำบอกเล่าคือมีชื่อเดิมว่า ‘บ้านบางยี่ขัน’ ซึ่งเคยเป็นของอำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช ขุนนางเชื้อสายจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้มีหน้าที่จัดเก็บรายได้จากเรือสินค้าท่ีเดินเรือผ่านทะเลอ่าวไทยเข้ามาสู่แม่น้ำจ้าพระยา การค้าขายกับต่างชาติในยุคนั้นเฟื่องฟูต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้บ้านบางยี่ขันแห่งนี้สร้างขึ้นโดยอิงสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียน ‘พาลาดิโอ’ (Palladio) ที่เข้ามามีอิทธิพลในยุคนั้นด้วย
แต่เหตุผลที่ทำให้เราข้ามเรือมาไม่ใช่แค่มาดูความเยือกเย็นของสถาปัตยกรรมอายุเป็นร้อยปีชัดๆ ยังเป็นเพราะ ‘อาหาร’ ที่พระยาพาลาซโซพาเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปชิมความรุ่มรวยของอาหารตั้งแต่สมัยสุโขทัยไล่ไปถึงรัตนโกสิทร์ในห้องอาหารชื่อ พระยา ไดนิ่ง เมนูอาหารไทยโบราณชื่อไม่คุ้นหู บางอย่างเป็นอาหารชาววังที่ถ้าเกิดในยุคนั้นคงไม่มีโอกาสได้กินแน่ๆ แต่โชคดีที่เราเป็นคนหิว 2019 ทำให้ได้ชิมอาหารพวกนี้อย่างง่ายดาย ในราคาสมเหตุสมผลและจับต้องไม่ยากเลย
เมนูโบราณที่เราบอกคือมีเรฟเฟอเรนซ์มาจากหลายแห่งมาก แต่ที่ลองแคะสมองจากความรู้สมัยเรียนที่พอจะคุ้นหูมาบ้างก็น่าจะเป็น กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทประพันธ์ในรัชกาลที่ 2 กับหนังสือเรื่องเล่าชาววัง หรือชีวิตในวัง โดยหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ที่จำได้ว่าพูดถึงเมนูอย่าง ล่าเตียง ออร์เดิร์ฟโบราณหากินยากที่นำกุ้งไปผัดกับเครื่องเทศต่างๆ แล้วนำไข่มาห่อเป็นร่างแห กินกับพริกชี้ฟ้าและผักชี
ส่วนอีกจานคือ กุ้งโสร่ง กุ้งห่อด้วยเส้นบะหมี่เหลืองทอดกรอบ กินกับน้ำจิ้มบ๊วย
และ แสร้งว่า เมนูหนึ่งในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ซึ่งแต่เดิมแสร้งว่าใช้กุ้งเผาหรือปลาผา แต่ที่นี่เป็น แสร้งว่ากุ้งปลาดุกฟู เสิร์ฟกับน้ำจิ้มเปรี้ยวหวานคล้ายๆ ยำปลาดุกฟู กินกับผักสด
จานที่ชอบๆ อีกจานคือ หมูผัดส้มเสี้ยว หมูผัดเครื่องแกงแบบน้ำคลุกคลิก มีมะเขือเปราะกรอบๆ คล้ายๆ แกงเขียวหวานแบบแห้ง แต่รสออกเปรี้ยวกว่า เปรี้ยวแบบธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าใบส้มเสี้ยวนั่นเอง
ส่วน แกงเขียวหวานไก่ ก็เป็นเขียวหวานที่ไม่เผ็ดมาก ไม่มีรสอะไรโดดเกินไป ไม่ฉุนเครื่องแกงเกินไป มีแต่ความละมุนๆ กลมกล่อม และดีงามตรงที่เขาอนุญาตให้เราไม่ต้องกินกับข้าว แต่กินกับแป้งโรตีก็ได้ เย้เย!
ละที่ไม่พูดถึงพี่เขาไม่ได้เลยคือ ปลากระพงเจี๋ยนน้ำมะขาม เพราะพี่ปลากระพงได้สละชีพให้เราในวันนี้โดยการเอาตัวเองไปทอดแล้วราดด้วยซอสน้ำมะขามเปรี้ยวหวานซึมลงไปถึงเนื้อปลาซึ่งเราต้องกราบขอบคุณในความกรอบของเขามา ณ ที่นี้
แต่อันดับหนึ่งในใจเราวันนี้ไม่ให้ใครนอกจาก แกงรัญจวน แกงอะไรไม่รู้เพิ่งเคยได้ยินชื่อครั้งแรกในชีวิต แกที่มีที่มาไม่ธรรมดา เกิดจากไอเดีย Zero-waste ของใครคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เสียดายอาหารเหลือจากงานเลี้ยง ได้แก่ เนื้อวัวผัดพริกอ่อนโหระพา กับน้ำพริกกะปิ เลยนำมาปรุงใหม่ ใส่น้ำซุป เติมกะปิ หอมรัญขวนสมชื่อ ไม่รู้ว่าตอนนั้นคนที่ได้ชิมแกงนี้เป็นครั้งแรกเขาตื่นเต้นกันไหม แต่เราว้าว และรู้สึกโล่งจมูกมาก
เราโบกมือลาความสงบนิ่งของพระยาพาลาซโซเป็นครั้งสุดท้ายก่อนพาพุงอิ่มๆ ลงเรือกลับไปยังฝั่งที่จากมา
เรือตีโค้งยูเทิร์นกลับ หันไปมองตึกฝรั่งที่ยังยืนอยู่ที่เดิม เหมือนที่มันยืนเงียบๆ อยู่ตรงนั้นมานานแล้ว ไม่ได้คิดจะไปไหน ไม่ได้หยิ่ง ไม่ได้เล่นตัว แค่รอให้เราข้ามฝั่งกลับไปหาอีกครั้งเมื่อนึกถึงมันเท่านั้นเอง
พระยา ไดนิ่ง (Praya Dining)
สามารถเดินทางได้โดยทางเรือเท่านั้น โดยทางโรงแรมมีบริการเรือรับส่งไปท่าต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง ตลอด 24 ชั่วโมง และ ท่าเรือหลักทั้งท่าพระอาทิตย์ และท่าเรือวัดราชาธิวาส (สามารถจอดรถได้ที่ท่านี้)
โรงแรมพระยาพาราซโซ (Praya Palazzo)
757/1 สมเด็จพระปิ่นเกล้าซอย 2 บางยี่ขัน กรุงเทพฯ
โทร. 02-883 2998, 081-402 8118
เปิดเวลา : 11.00 – 22.00 น.
ราคาอาหาร : 250 – 1,000 บาท
Facebook : https://www.facebook.com/prayapalazzo
www.prayapalazzo.com
RECOMMENDED CONTENT
Midea Group จับมือกับ “บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” ผู้กำกับมากฝีมือจากภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง และ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ สร้างสรรค์ผลงานโฆษณา จากเรื่องจริงสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นสู้เพื่อความฝันของนางแบบสาวชาวบราซิล Paola Antonini ที่ประสบอุบัติเหตุต้องใส่ขาเทียม